ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ThaiPublica Note > ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 5) — ยาเสพติด อยู่ร่วมกันได้ สังคมไม่ล่มสลาย (ตัวอย่างในต่างประเทศ)

ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 5) — ยาเสพติด อยู่ร่วมกันได้ สังคมไม่ล่มสลาย (ตัวอย่างในต่างประเทศ)

13 พฤศจิกายน 2021


ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 5) — ยาเสพติด อยู่ร่วมกันได้ สังคมไม่ล่มสลาย (ตัวอย่างในต่างประเทศ)

  • สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ลองจัดการกับยาเสพติดมาแล้วทั้งด้วยวิธีที่ลิดรอนเสรีภาพสุดๆ และให้เสรีภาพสุดๆ แต่ก็ล้วนไม่ได้ผล
  • สวิตเซอร์แลนด์สามารถจัดการกับยาเสพติดได้ในวันที่ยอมรับการดำรงอยู่ของยาเสพติด และหาทางอยู่ร่วมกันภายใต้การควบคุมดูแลเป็นอย่างดี
  • ความสำเร็จของสวิตเซอร์แลนด์เกิดขึ้นได้ด้วยการพร้อมจะลองใช้วิธีใหม่ๆ อยู่เสมอ และเอาสุขภาพของประชาชนเป็นที่ตั้งโดยมีแรงสนับสนุนจากการวิจัยอันเป็นวิทยาศาสตร์

  • อ่าน
    ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 1)
    ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 2) — การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด
    ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 3) – การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดในประเทศไทย
    ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 4) — เหตุผลที่คนเสพยา มากกว่าแค่เรื่องศีลธรรม

    ทุกครั้งทุกทีที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการควบคุมยาเสพติดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น ก็จะเห็นความกังวลเกิดขึ้นเป็นกระแสว่า จะทำให้ศีลธรรมเสื่อมทราม สังคมล่มสลาย กลายเป็นกลียุค เพราะภาพดั้งเดิมที่มีไว้แต่ไหนแต่ไรมาก็คือ ยาเสพติดเป็นความชั่วร้ายสีดำสนิท ที่สุดท้ายจะทำให้เดือดร้อนทั้งตนเองและผู้อื่น

    แต่ในความเป็นจริง มีหลายประเทศในโลกนี้ที่นอกจากจะเลิกปราบปรามยาเสพติดด้วยความรุนแรง ยังหันมาอยู่ร่วมกันจนถึงขั้นรัฐเป็นผู้แจกให้เสพภายใต้การควบคุม โดยที่สังคมเหล่านั้นก็ไม่ได้ล่มสลายไปแต่อย่างใด

    สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีประวัติการต่อสู้กับยาเสพติดมายาวนานและน่าสนใจ โดยหลังจากประสบปัญหาการใช้เฮโรอีนอย่างหนักในทศวรรษ 1950 พอถึงปี ค.ศ. 1975 นิวซีแลนด์ก็ใช้วิธีเดียวกับประเทศอื่นๆ คือใช้การปราบปรามอย่างรุนแรง ทว่า ผลที่ได้คือจำนวนผู้ใช้เฮโรอีนนั้นเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 4,000 รายในปี ค.ศ. 1975 เป็นประมาณ 10,000 รายในปี ค.ศ. 1985, 20,000 รายในปี ค.ศ. 1988 และ 30,000 รายในปี ค.ศ. 1992

    เมื่อเป็นเช่นนั้น พอถึง ค.ศ. 1987 สวิตเซอร์แลนด์ก็หันมาลองใช้วิธีใหม่ คือแทนที่จะพยายามไล่ล่าจัดการกับกิจกรรมเหล่านี้ที่ไปเกิดไปทำกันลับๆ สวิตเซอร์แลนด์ก็เปลี่ยนเป็นปล่อยให้มาทำกันอย่างเสรีในพื้นที่ที่จัดให้ นั่นก็คือ “สวนสาธารณะพลาตซ์สปิตซ์” (Platzspitz Park) หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สวนเข็ม” (Needle Park)

    ที่มาภาพ : https://www.sdf.org.uk/wp-content/uploads/2017/03/31st-August-2016-Thilo-Beck.pdf
    Platzspitzที่มาภาพ : https://www.sdf.org.uk/wp-content/uploads/2017/03/31st-August-2016-Thilo-Beck.pdf

    สวนเข็มที่ว่านี้ คือพื้นที่ที่เปิดให้เข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับยาเสพติดได้โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย กล่าวคือ ไม่ว่าจะเสพ จะขาย หรือจะซื้อ ขอแค่มาทำในสวนสาธารณะแห่งนี้ ก็จะไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาจับกุม

    ความพยายามของสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เป็นไปเพื่อควบคุมยาเสพติดเท่านั้น แต่เพราะการเสพยาเสพติดโดยเฉพาะเฮโรอีนนั้นนำมาซึ่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบไวรัสเอชไอวีที่นำไปสู่โรคเอดส์ด้วย ทว่าแม้สวนเข็มจะทำให้กิจกรรมเกี่ยวกับยาเสพติดมาอยู่ในที่โล่งแจ้งให้เห็นได้กระทั่งในทางสาธารณะ แต่นั่นกลับไม่ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีและเชื้อไวรัสตับอักเสบแม้จะมีโครงการป้องกันการแพร่ระบาดควบคุมไปกับการเปิดพท้นที่เสรีทางยาเสพติดก็ตาม

    นอกจากนี้ พอนานเข้าสวนเข็มก็กลายเป็นโรงมหรสรรพแห่งความอนาถอเนจเวทนา เพราะความที่เป็นสวนสาธารณะ คนที่ผ่านไปผ่านมาก็พากันได้เห็นสภาพของผู้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับยาเสพติดในทกรูปแบบ และแน่นอนว่าได้เห็นกระทั่งคนที่เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด ยิ่งไปกว่านั้น สวนดังกล่าวยังนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้ภาวะจำยอมของผู้เสพที่ต้องยอมเป็นทาสเพื่อให้ได้ยามา และสุดท้าย แม้จะควบคุมกิจกรรมการซื้อ-ขาย-เสพให้อยู่ในสวนได้ แต่ก็กลายเป็นเกิดอาชญากรรมเกี่ยวเนื่องทะลักล้นออกมา ทั้งหมดนี้ทำให้พอถึงปี ค.ศ. 1992 แล้วสวนเข็มก็ต้องถูกปิดลงในที่สุด

    สวิตเซอร์แลนด์จึงเหมือนตกอยู่ในสุญญากาศของการจัดการกับยาเสพติด รวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสตับอักเสบและเอชไอวี ลิดรอนเสรีภาพเรื่องนี้หมดสิ้นก็แก้ไม่ได้ เสรีมากไปก็เกิดความวุ่นวายตามมา แต่นั่นก็กลายเป็นบทเรียนสำคัญให้สวิตเซอร์แลนด์หันมาเลือกเดินทางสายกลาง และในปีเดียวกับที่สวนเข็มต้องปิดไปนั้น แนวทางใหม่ภายใต้ชื่อ HAT ก็กำเนิดขึ้น

    “ถ้าเราให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอันดับแรก เรายังควรจะลงโทษผู้คนอีกต่อไปหรือ การลงโทษผู้คนจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายสุขภาพหรือไม่ ซึ่งข้อสรุปที่ชัดเจนก็คือ คุณไม่สามารถใช้อำนาจควบคุมบังคับและลงโทษผู้คนไปพร้อมกับบอกพวกเขาว่า ‘ได้โปรดเถิด คุณกำลังป่วย ให้เราช่วยคุณเถอะนะ’ มันไม่มีทางไปด้วยกันได้”

    รูท ไดรฟัสส์
    อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

    HAT ย่อมาจาก Heroin-Assisted Treatment เป็นการเปิดศูนย์บริการให้ผู้เสพเฮโรอีนเข้ามารับเฮโรอีนตามใบสั่งจ่ายภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญและใช้ภายในสถานที่ที่ทางการจัดไว้ให้ ข้อดีที่ชัดเจนเบื้องต้นตามแนวคิดของ HAT ก็คือ ผู้เสพจะได้รับเฮโรอีนบริสุทธิ์ที่รู้ชัดเจนว่าเสพแล้วจะเกิดผลเช่นไรและไม่มีสารพิษอื่นๆ ปนเปื้อน นอกจากนี้ยังป้องกันไม่ให้ยาหลุดไปสู่ตลาดนอกกฎหมาย รวมทั้งทำให้สามารถป้องกันการเสพยาเกินขนาดด้วย เพราะการเสพนั้นจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

    แต่ทั้งนี้ ผู้ที่จะมารับเฮโรอีนไปเสพตามโครงการ HAT นั้น จะต้องมีหลักฐานชัดเจนว่าไม่มีการรักษาใดๆ ที่จะทำให้เลิกขาดจากการใช้เฮโรอีนได้

    แนวทางแบบ HAT ของสวิตเซอร์แลนด์ก็คือลักษณะหลักซึ่งเป็นแนวโน้มการจัดการกับยาเสพติดในปัจจุบัน ที่นอกจากลดทอนความเป็นอาชญากรรมแล้วยังลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด หรือก็คือหลัก Harm Reduction ที่เป็นการยอมรับว่าในเมื่อไม่มีทางขจัดยาเสพติดให้หมดไปได้ สิ่งที่ทำได้และควรทำก็คือ การอยู่ร่วมกันโดยทำให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด

    ทั้งนี้ HAT ของสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มีการสร้างการควบคุมดูแลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ประชาชนชาวสวิสสามารถได้รับข้อมูลหลักฐานจากการวิจัย ทางการสวิตเซอร์แลนด์ได้ทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการจ่ายเฮโรอีนตามใบสั่งของแพทย์อยู่เป็นเวลา 5 ปี โดยผู้ขอรับเฮโรอีนจะต้องตอบคำถามมากมายภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ และในที่สุด สวิตเซอร์แลนด์ก็สามารถเผยแพร่รายงานทางวิทยาศาสตร์ออกสู่สาธารณะ และสามารถบอกกับสาธารณชนได้ว่าแนวทางของการลดความรุนแรงจากการใช้ยาเสพติดนี้เป็นสิ่งที่ดี ผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากรอีกต่อไป ไม่ต้องก่ออาชญากรรมเพื่อหาเงินมาซื้อยา สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และยังได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

    ห้องเสพยามีทั่วทุกจุดตามสถานีรถไฟในเจนีวา การจัดให้มีห้องเสพยาเพราะมีคนใช้ยาหลายมารวมตัวกันฉีดเฮโรอีน โดยจัดห้องและมีอุปกรณ์ พร้อมเจ้าหน้าที่คอยดูแล ภาพโดย Taylor Knopf ที่มาภาพ : https://www.northcarolinahealthnews.org/2019/01/21/switzerland-couldnt-stop-drug-users-so-it-started-supporting-them/

    ทั้งนี้ ในกรณีของสวิตเซอร์แลนด์ มีการวิจัยและรวบรวมผลดีที่เกิดขึ้นจาก HAT เอาไว้ ดังนี้

    • สุขภาพของผู้ที่เข้าร่วมในการ “สวมหมวก” นั้นดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
    • ภายในสองถึงสามเดือน ปริมาณการใช้เฮโรอีนนั้นก็คงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่กังวลกัน
    • การใช้เฮโรอีนและโคเคนอย่างผิดกฎหมายนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
    • การทำผิดกฎหมายเพื่อหาเงินไปซื้อยาในหมู่ผู้ที่เข้าร่วมการ “สวมหมวก” นั้นลดลงอย่างมหาศาล
    • เฮโรอีนที่ใช้ในโครงการนี้นั้นไม่หลุดไปสู่ตลาดนอกกฎหมาย
    • การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้หน้าใหม่นั้นลดลง รวมทั้งการค้ากันตามท้องถนนและการหาผู้เสพหน้าใหม่จากผู้ขายและผู้ใช้ก็ลดลงด้วย (เพราะการทำให้กลายเป็นเรื่องของการบำบัดรักษาได้ทำให้การใช้เฮโรอีนมีความดึงดูดใจลดลง)
    • การบำบัดรักษาด้วยการรับสารทดแทนนั้นเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลงดังที่หลายคนกังวลกัน

    และหากจะให้สรุปบทเรียน ว่าสวิตเซอร์แลนด์มาถึงจุดนั้นได้อย่างไร ก็คงเป็นไปดังนี้

    • ยอมรับความจริงว่าแนวทางการลงโทษที่รุนแรงนั้นใช้การไม่ได้ผล
    • หันหาแนวทางใหม่ที่ใช้มุมมองทางสาธารณสุขและยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นตัวตั้ง
    • แก้ไขทัศนคติที่มองว่าผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นคนเลว
    • สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งเรื่องการตัดสินใจใช้ยาเสพติดและเรื่องผลทางเภสัชวิทยาที่ยาเสพติดกระทำต่อผู้ใช้
    • ไม่กีดกันผู้ใช้ยาเสพติดออกไปจากสังคม แต่ต้องหาทางให้เขากลับเข้ามาอยู่ร่วมกับสังคมได้
    • ในการนำแนวทางแก้ไขแบบใหม่ซึ่งอยู่ภายใต้หลักการของการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดมาใช้ ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อันน่าเชื่อถือได้ รวมทั้งผลการวิจัยที่ได้จากการติดตามการใช้แนวทางใหม่นั้น ออกสู่สังคมให้รับรู้โดยทั่วกันเพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

    อ่านเพิ่มเติม
    การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด: ประสบการณ์ของ รูท ไดรฟัสส์ อดีตประธานาธิบดีหญิงสวิตเซอร์แลนด์คนแรก
    วันที่สวิตเซอร์แลนด์สวมหมวกเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติด
    แนวทางการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด ว่าด้วยผลการศึกษาจาก 5 ประเทศในยุโรป