ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ThaiPublica Note > ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 4) – เหตุผลที่คนเสพยา มากกว่าแค่เรื่องศีลธรรม

ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 4) – เหตุผลที่คนเสพยา มากกว่าแค่เรื่องศีลธรรม

30 ตุลาคม 2021


ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 4) — เหตุผลที่คนเสพยา มากกว่าแค่เรื่องศีลธรรม

  • ยาบ้าเป็นวาทกรรมที่ไม่เคยถูกท้าทายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
  • ยาบ้าอาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดอาการคุ้มคลั่ง
  • หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติดในส่วนที่เกี่ยวกับยาบ้าแล้ว จำนวนคดียาบ้าก็ลดลง

  • อ่าน
    ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 1)
    ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 2) — การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด
    ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 3) – การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดในประเทศไทย

    การมองยาเสพติดเป็นสีดำสนิท ทำให้ไม่เคยเกิดการตั้งคำถามกันอย่างจริงจังว่า เหตุใดคนเราถึงหันไปใช้ยาเสพติด ทั้งที่ก็เห็นว่าส่วนใหญ่พอถึงจุดหนึ่งแล้ว การเสพยาเสพติดสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่นได้

    ครั้นจะตั้งคำถามขึ้นมา ค่านิยมในสังคมก็มักมีคำตอบให้ในทันทีตลอดเส้นทางการสร้างและดำรงวาทกรรมเกี่ยวกับยาเสพติดมาแล้วว่า ก็เป็นคนเลว เป็นคนไม่ดี เป็นคนไม่มีศีลธรรม เลยใช้ยาเสพติด

    หรือถ้ามีเมตตาขึ้นมาหน่อย ก็จะบอกว่าเพราะหลงผิด

    แต่คำตอบทั้งหมดนั้น ในทางหนึ่งก็กลับกลายเป็นการฆ่าตัดตอนทางการหาสาเหตุ ซึ่งนี่อาจเป็นปัญหาหนึ่งของบ้านเมืองที่ใช้ศีลธรรมมาเป็นคำตอบให้เรื่องต่างๆ กันมาก (หมายเหตุ: แต่ไม่ได้แปลว่ามีศีลธรรมอันดี) คือละเลยมิติความซับซ้อนของมนุษย์ไป สำหรับกรณีนี้ก็คือ แน่ละว่าศีลธรรมอาจจะเป็นเส้นบางอย่างที่ไม่ควรข้าม แต่คำถามคือ ในเมื่อเป็นเส้นพรมแดนที่เข้มแข็งขนาดนั้น ทำไมคนบางคนหรือกระทั่งใครหลายคนถึงตัดสินใจข้าม ศีลธรรมอาจมอบคำตอบให้ได้ในระดับหนึ่ง แต่การหยุดอยู่ที่ศีลธรรมก็อาจทำให้ไม่สามารถไปถึงสาเหตุที่แท้จริง และนั่นก็หมายความว่าไม่สามารถต่อยอดไปหาวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้

    การทดลองของบรูซ อเลกซานเดอร์

    ช่วงทศวรรษ 1980 อเมริกามีโฆษณาต่อต้านยาเสพติดซึ่งสร้างจากการทดลองที่นำเอาหนูไปใส่ไว้ในกรงที่มีน้ำสองขวด ขวดหนึ่งเป็นน้ำเปล่า อีกขวดเป็นน้ำผสมโคเคนหรือเฮโรอีน ผลปรากฏว่า หนูเก้าในสิบตัวของการทดลองดังกล่าวจะดื่มน้ำในขวดที่มียาเสพติดผสมอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ จนตายไปในที่สุด ใจความของโฆษณานั้นก็ตรงไปตรงมาว่า ถ้าคุณเสพยาเสพติดมากๆ คุณก็จะตายอย่างหนูในการทดลองนั่นแหละ

    ทว่า บรูซ อเลกซานเดอร์ (Bruce Alexander) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา เกิดความสงสัยในการทดลองดังกล่าว เขาเลยทำการทดลองโดยใช้กรงสองกรง กรงหนึ่งเป็นแบบเดียวกับที่เป็นแรงบันดาลใจให้โฆษณาต้านยาเสพติดดังกล่าว คือมีน้ำสองขวด ขวดที่เป็นน้ำธรรมดากับขวดที่เป็นน้ำผสมยาเสพติด แต่อีกกรงหนึ่งนั้น นอกจากน้ำสองขวดแบบเดียวกันแล้ว บรูซยังใส่สารพัดสิ่งที่ทำให้ที่นั่นเป็นสวรรค์สำหรับหนูๆ ที่จะถูกใส่ลงไปในกรง ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ดี ของเล่น อะไรก็ตามที่พวกมันต้องการ และผลการทดลองก็ออกมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ นั่นคือ หนูในกรงที่มีแต่น้ำสองขวดก็จะดื่มแต่น้ำที่ผสมยาเสพติดจนตายเหมือนเดิม ในขณะที่หนูที่อยู่ในกรงอันเพียบพร้อมนั้นจะไม่ชอบน้ำที่มียาเสพติด มันดื่มไปไม่ถึงหนึ่งในสี่ของเจ้าหนูผู้โดดเดี่ยวในอีกกรงหนึ่งด้วยซ้ำ

    อเลกซานเดอร์ไม่หยุดแค่นั้น เขาทำการทดลองเพิ่มเติมโดยเอาหนูตัวที่ถูกบังคับให้ติดยาเป็นเวลา 57 วันไปใส่ในกรงอลังการที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมต่อสุขภาพกายและใจของมัน ผลคือ แม้เจ้าหนูตัวนี้จะมีอาการถอนยาบ้าง แต่มันก็เลิกยาได้ในที่สุด

    การเดินทางของโยฮันน์ ฮารี

    โยฮันน์ ฮารี (Johann Hari) ออกเดินทางกว่าสามหมื่นไมล์ และผลที่ได้คือหนังสือเล่มหนึ่งที่พลิกความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุที่คนเสพยาเสพติดไป

    เขาเล่าถึงรายงานที่ระบุว่า ในสมัยสงครามเวียดนามนั้น ทหารอเมริกันกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ที่ไปรบใช้เฮโรอีนกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอจบสงครามแล้ว 95 เปอร์เซ็นต์ของทหารที่ติดยาสามารถเลิกยาได้เมื่อกลับบ้าน และมีเพียงส่วนน้อยมากๆ เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อเลิกยาเสพติด

    หรืออีกรณี ฮารียกตัวอย่างถึงคนที่บาดเจ็บกระดูกสะโพกหัก ซึ่งเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพวกเขาจะได้รับไดอะมอร์ฟีน (ชื่อทางการแพทย์ของเฮโรอีน) เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ไดอะมอร์ฟีนนี้มีความบริสุทธิ์และมีศักยภาพเหนือกว่าเฮโรอีนที่หาซื้อได้ตามท้องถนน นั่นหมายความว่า ถ้าคนเราติดยาเสพติดเพราะฤทธิ์ของสารเสพติดที่อยู่ในนั้นจริงๆ แล้วละก็ เมื่อคนไข้ออกจากโรงพยาบาล พวกเขาก็ย่อมจะต้องโหยหามันมาใช้อีก ทว่าในความเป็นจริง ทั้งที่ใช้ยาในปริมาณเดียวกันและเป็นเวลานานเท่าๆ กันกับผู้ที่ลักลอบซื้อยาตามท้องถนน เหล่าคนไข้ที่กลับไปใช้ชีวิตในบ้านที่แวดล้อมด้วยความรักกลับไม่ต้องใช้ยานี้อีก

    ฮารีค้นพบว่า จริงๆ แล้วยาเสพติดเป็นการปรับตัวทางสังคมรูปแบบหนึ่ง สารเสพติดในตัวยาอาจมีส่วนให้คนติดบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการไม่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับสังคมก็มีผลไม่แพ้กัน

    ฮารีบอกว่ามนุษย์นั้นต้องการจะผูกตัวเองเข้ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ การได้ผูกสัมพันธ์ตัวเองกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นทำให้คนเราพึงพอใจ และบางที เราอาจไม่ควรเรียกอาการเสพติดต่างๆ ว่ามันคือการเสพติด (addiction) แต่มันคือการผูกพันธะ (bonding)

    นั่นทำให้สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับการติดยาเสพติดไม่ใช่การเลิกใช้ยา แต่คือการมีสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ดีกับสังคม (อ่านเรื่องราวของบรูซ อเลกซานเดอร์ และโยฮันน์ ฮารี เพิ่มเติมได้ที่นี่)

    ความรุนแรงในครอบครัวของคาร์ล ฮาร์ต

    คาร์ล ฮาร์ต (Carl Hart) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ High Price ซึ่งพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดต่างๆ ที่มีทั้งต่อตัวยาเสพติดและผู้ใช้ยาเสพติด ด้วยหวังว่าผู้ใช้ยาเสพติดจะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมทั้งทางกฎหมายและทางสังคม

    เมื่อครั้งยังเด็ก เขาเกือบเสียแม่ไปเพราะพ่อแท้ๆ ของตัวเอง

    ครั้งนั้น พ่อของเขาเมาสุราอย่างหนักแล้วเกิดมีปากเสียงกับแม่ จนในที่สุดพ่อของฮาร์ตก็เอาค้อนทุบหัวแม่จนแน่นิ่งไป

    ดูเผินๆ เรื่องนี้ก็เหมือนตอบได้ง่ายๆ ว่า ในที่สุด การดื่มสุราอย่างหนักนั้นจะนำไปสู่ความรุนแรงภายในครอบครัว

    แต่ฮาร์ตไม่รีบสรุปแบบนั้น จากการสังเกตรวบรวมปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เขาพบรูปแบบการ “ดื่มหนัก” ของพ่อว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่หากเป็นวันทำงานแล้วจะไม่มีการดื่มเลย ดร.คาร์ล ฮาร์ต เล่าว่า พ่อของเขาเป็นคนแอฟริกันอเมริกัน (คนดำ) คนหนึ่งจากที่มีเพียงสองคนในที่ทำงาน ทั้งพ่อของเขากับคนดำอีกคนยังทำงานกันคนละแผนก เมื่อผนวกกับการเหยียดผิวที่ยังคงมีอยู่อย่างเป็นระบบในย่านที่ตนอาศัยอยู่แล้ว ฮาร์ตพบว่าการดื่มหนักในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของพ่อเขานั้น เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากความโดดเดี่ยวทางสังคมวัฒนธรรม (social and cultural isolation) ซึ่งหากสมมติฐานของเขาเป็นจริง เราจะเห็นว่าในกรณีนี้นั้น สุราหรือสิ่งเสพติดไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของความรุนแรงในครอบครัว สาเหตุที่แท้จริงคือการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบที่ทำให้คนผิวดำต้องแบกรับความตึงเครียดทางสังคมวัฒนธรรมไว้ตลอดเวลา และสุราคือตัวกระตุ้น ที่ทำให้ความตึงเครียดเหล่านั้นระเบิดออกมาเป็นความรุนแรง (อ่านเรื่องราวของคาร์ล ฮาร์ต เพิ่มเติมได้ที่นี่)

    เหตุผลที่คนเสพยา มากกว่าแค่เรื่องศีลธรรม

    ที่ยกมาข้างต้น เป็นเพียงบางตัวอย่างในต่างประเทศ ที่มีความพยายามตั้งคำถามกับสาเหตุที่ทำให้คนเราหันไปใช้หรือกระทั่งติดยาเสพติด ซึ่งการตั้งคำถามเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้การใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องที่ถูกต้องขึ้นมา แต่เป็นความพยายามทำความเข้าใจว่าเหตุใดคนเราจึงเลือกทำในสิ่งที่ไม่เพียงผิดกฎหมาย แต่สุดท้ายยังอาจเป็นอันตรายกับตัวเอง

    หากดูจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว เราจะพบว่าไม่มีตัวอย่างใดที่ปฏิเสธผลของยาเสพติด แต่สิ่งที่ผู้คนเหล่านั้นทำคือ ตั้งคำถามกับฤทธิ์ของยาเสพติดว่ามีอำนาจเท่าที่สังคมเคยเชื่อกันมาหรือไม่ และยิ่งไปกว่านั้นคือ แม้สารเคมีในยาเสพติดจะมีฤทธิ์ทำให้เกิดการเสพติดได้จริง แต่สารเคมีเหล่านั้นเป็นเหตุผลเดียวหรือเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการใช้ยาเสพติดซ้ำๆ หรือไม่ และคำตอบที่ได้ก็คือสารเคมีในยาเสพติดนั้นมีส่วน แต่ที่มีส่วนไม่แพ้กันและไม่เคยได้รับการเหลียวแลมาก่อนก็คือ สภาพจิตใจของผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งเป็นผลมาจากสังคมรอบตัว และเรื่องสำคัญอีกประการก็คือ บางทีตัวผู้เสพเองก็ไม่รู้เลยว่าตนเองมีปัญหาทางใจในเรื่องนั้นเรื่องนี้

    ตลอดเวลาที่ผ่านมา จิตใจของผู้ใช้ยาเสพติดถูกประทับตราว่าคือความอ่อนแอที่พ่ายแพ้ต่อสิ่งยั่วยุจนก้าวข้ามศีลธรรมอันดี แต่ไม่เคยได้รับการพิจารณาว่ามีปัญหาอื่นใดอยู่เบื้องหลังความอ่อนแอนั้นหรือไม่

    หลายคนเหมือนตกอยู่ในความโดดเดี่ยวด้านใดด้านหนึ่งเป็นอย่างน้อยมาก่อนแล้วจึงหันไปใช้ยาเสพติดเป็นที่พึ่ง และการจัดการกับปัญหายาเสพติดโดยมองว่าเป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลต้องจัดการตัวเองเท่านั้นก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความโดดเดี่ยวนั้นให้เลวร้ายมากขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่การใช้กฎหมายอย่างรุนแรงจะไม่อาจแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดได้ เพราะปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่อื่น และยาเสพติดเป็นเพียงสิ่งที่มากระตุ้นหรือปลดสลักให้ความอัดอั้นจากปัญหาอื่นระบายตัวตนออกมาเท่านั้น

    และจากตัวอย่างข้างต้นก็อาจพอจะทำให้เห็นขึ้นมาได้ว่า เราสามารถมองปัญหาการใช้ยาเสพติดได้ด้วยกรอบความคิดอื่นที่ไม่ใช่แค่เพียงศีลธรรม ซึ่งเมื่อทำเช่นนั้นแล้ว ก็จะพบปัญหาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง และอาจทำให้คิดหาวิธีแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยไม่เป็นการแก้ผิดจุดจนปัญหาเดิมก็แก้ไม่ได้แถมยังนำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ ที่ใหญ่กว่าเดิมอย่างที่เคยเป็นมา

    ตอนหน้าจะเป็นตอนสุดท้าย และเป็นตัวอย่างของประเทศต่างๆ ที่นอกจากไม่ปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรง บางประเทศยังอยู่ร่วมกันถึงขั้นแจกให้เสพ โดยที่สังคมก็ไม่ล่มสลายและประเทศก็ไม่ได้วอดวายไปแต่อย่างใด