ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯให้โอกาส “การบินไทย” ครั้งสุดท้าย รื้อทั้งองค์กร – มติครม.ใช้น้ำประปาฟรี 10 คิวแรก ส่วนเกินลด 20%

นายกฯให้โอกาส “การบินไทย” ครั้งสุดท้าย รื้อทั้งองค์กร – มติครม.ใช้น้ำประปาฟรี 10 คิวแรก ส่วนเกินลด 20%

5 พฤษภาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯให้โอกาส “การบินไทย” ฟื้นฟูกิจการครั้งสุดท้าย ยันต้องปรับโครงสร้างทั้งองค์กร รมว.คลัง เล็งปรับสัดส่วนการถือหุ้น แต่ยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจ-มติครม.ใช้น้ำประปาฟรี 10 คิวแรก ส่วนเกินลด 20% เป็นเวลา 3 เดือน

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

คลายล็อกฯ เฟส 2 เล็งเปิดห้างสรรพสินค้า

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงมาตรการผ่อนปรนในระยะต่อไป ว่า ตนยังมองเห็นว่ามีหลายอย่างที่ยังคงต้องปรับปรุงโดยเฉพาะในเรื่องของความร่วมมือของภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ รวมความไปในถึงเรื่องของพี่น้องประชาชนในระดับฐานรากด้วย ที่จะต้องมีรายได้ในช่วงวันเวลาอันยากลำบากนี้

โดยได้เน้นย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้มีรายได้น้อย แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นต่อไปด้วย

“เรายังวางใจในเรื่องนี้ไม่ได้ในภาพของการเปิดร้าน ผมเห็นว่าหลายผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายเล็กที่ได้มีการผ่อนปรนไปแล้วก็ได้มีการปรับมาตรการของตัวเองในเรื่องของ social distancing อย่างดียิ่งขึ้นแต่หลายอย่างก็ยังคงต้องปรับให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกันไปต้องดูและคำนึงถึงมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขเป็นประเด็นสำคัญ”

พล.อ. ประยุทธ์  กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้รัฐบาลก็ได้เตรียมการไปสู่การผ่อนปรนระยะที่ 2 หากสามารถผ่านระยะที่ 1 ไปได้ใน 14 วันนี้ ซึ่งมีหลายกิจการ กิจกรรมด้วยกันที่จะต้องเปิดในโอกาสต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดก็คือกรณีที่จะต้องมีประชาชนจำนวนมากที่จะเข้าไปในสถานประกอบการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าต่างๆ ซึ่งจะต้องมีมาตรการรองรับที่รัดกุม

ทั้งนี้ สถานประกอบการขนาดใหญ่หรือศูนย์การค้าจะต้องกำหนดจำนวนปริมาณคนที่เข้าไปในสถานที่เหล่านั้นในจำนวนจำกัด ให้ทยอยเข้าไปและใช้เวลาอยู่ในสถานประกอบการเหล่านั้นไม่เกิน 2 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นอาจมีเหตุการณ์ที่คนกรูเข้าไป มีปัญหาการแย่งชิงต่างๆ เกิดขึ้น โดยจะต้องจัดเตรียมเต้นหรือพื้นที่สำหรับคอยอยู่ข้างนอกเมื่อถึงเวลาก็ให้เข้าไปตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ตามจำนวนที่กำหนด และจะต้องมีมาตรฐานในการคัดกรองคนที่จะเข้าไปสถานที่เหล่านั้น ซึ่งต้องมีการวัดอุณหภูมิ การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

“ก็กำลังพิจารณาในศูนย์โควิดฯ อยู่ว่าจะเปิดอะไรบ้างในระยะต่อไป ก็ขอให้ท่านเตรียมการให้พร้อมด้วย ให้มีมาตรฐานที่รัดกุม”

ตำหนิเหตุการณ์แย่งซื้อ“เหล้า-เบียร์” เล็งออกมาตรการคุม ฝ่าฝืนสั่งปิด

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีเหตุการณ์รุมซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า เรื่องนี้ตนขอตำหนิและได้สั่งการลงไปแล้วว่าจะต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยต้องมีมาตรการจำกัดปริมาณที่จะซื้อได้ในแต่ละราย มีการเปิดขายตามเวลาที่กำหนด ไม่ให้มีภาพการแย่งเช่นนั้นอีก

“หากพบเห็นจะถือว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ ก็ขอให้ภาคเอกชนร้านค้าต่างๆ ที่มีการขายสุราปฏิบัติตามมาตรการที่ออกไป ไม่เช่นนั้นจะถูกปิดไม่ให้ขายอีกต่อไป”

ย้ำแม้ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ แต่ “ห้ามการ์ดตก”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงอัตราผู้ติดเชื้อใหม่ที่มีจำนวนลดลงจนเหลือเลขหลักเดียว และมีการประกาศว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่เป็นศูนย์นั้นจะทำให้ประชาชนชะล่าใจแล้วการ์ดตกหรือไม่ โดยได้ถามย้อนกลับว่าสื่อจะสร้างความเข้าใจกับคนได้หรือไม่เพราะตนเองฝ่ายเดียวก็ตัดสินอะไรไม่ได้ต้องเป็นหน้าที่ประชาชน หน้าที่ของสื่อ สิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดียต่างๆ ต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนด้วย การ์ดจะต้องไม่ตก

“ไม่ว่าจะศูนย์หรือไม่ศูนย์ (ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่) ก็ตามการ์ดจะตกไม่ได้เลย ผมขอย้ำตรงนี้ห้ามการ์ดตกโดยเด็ดขาด”

ต่อกรณีการใช้บริการรถไฟฟ้าที่มีจำนวนคนใช้มากจนแน่นขนัด นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องของความขัดข้องหลายอย่างหลายประการด้วยกัน ซึ่งตนได้ตรวจสอบแล้วพบว่าช่วงที่สัญญาณชำรุดเป็นช่วงที่มีประชาชนมารอกันเป็นจำนวนมาก ก็ได้ให้มีมาตรการแก้ไขแล้ว อันนี้ก็เป็นเรื่องทางเทคนิคที่เกิดขึ้น เราก็ไม่สามารถที่จะกำหนดไว้ได้ล่วงหน้า แต่ก็ขอให้มีแผนงานในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจทุกจังหวัด

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการเดินสายพบภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กในช่วงที่ผ่านมาว่า นอกจากการขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ประกอบการขนาดใหญ่ 20 ราย รวมถือในระดับรองลงมา ในช่วงที่ผ่านมาตนและบรรดารองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายท่านก็ได้ใช้เวลาในช่วงวันหยุดราชการลงไปยังพื้นที่ เพื่อตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตามจุดตรวจต่างๆ

ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดรองลงมา เป็นผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินจำนวนมากอยู่แล้วตนก็จะขอความร่วมมือ ซึ่งวันนี้รัฐบาลก็ได้รับคำตอบมาครบหมดแล้วว่าแต่ละแห่งมีแผนการดำเนินการในการดูแลลูกจ้างพนักงานอย่างไร และมีอะไรที่รัฐในส่วนของกระทรวงแรงงานจะต้องดูแลบ้าง

“ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบการเหล่านี้จะร่วมในการฟื้นฟูกับเราด้วย คือเขาจะมาช่วยดูแลในเรื่องของประชาชนหรือเกษตรกรหรือกลุ่มอาชีพต่างๆ ในแต่ละจังหวัดด้วย จะมาช่วยในการพัฒนาจังหวัดทุกจังหวัดตามศักยภาพที่เขามีอยู่ในห่วงโซ่ต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นประโยชน์”

พิษโควิดฯดึงเศรษฐกิจทรุด 6-9 เดือน สั่งทุกหน่วยจัดทำแผนฟื้นฟูฯ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากได้มีมาตรการการเยียวยาไปแล้วจากหลายกระทรวงด้วยกัน เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา ฯลฯ โดยใช้เงินตามที่ พ.ร.ก. กู้เงินฯ ให้อำนาจจำนวนหนึ่ง ในช่วงของการใช้เงินเยียวยาตนต้องตามไปดูว่าที่รัฐบาลหรือ ครม. อนุมัติไปแล้วมีปัญหาอะไรบ้าง ให้มาตรการการดูแลเยียวยาต่างๆ เหล่านั้นสอดคล้องกับเวลาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดูว่าควรจะขยายอะไรอย่างไรต่อไปในอนาคต ซึ่งต้องเตรียมแผนการไว้ล่วงหน้า

“เราคาดการณ์ว่าสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของเรานั้นจะมีผลกระทบไปอีกนานพอสมควรคงไม่ใช่แค่ 3 เดือนแต่อาจจะถึง 6 เดือนถึง 9 เดือนซึ่งต้องเตรียมมาตรการไว้รองรับในโอกาสต่อไปด้วย ขณะเดียวกันผมได้เน้นย้ำไปว่าในวันนี้ เราอาจค่อนข้างที่จะชินแล้วกับคำว่า new normal ก็คือความปกติใหม่ หรือความธรรมดาใหม่ คือให้ความสำคัญกับสุขภาพวิถีชีวิตของทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงไป ก็มีการวางแผนไว้ด้วยนะครับ”

นอกจากนี้ ตนได้ใช้เวลาวันเสาร์อาทิตย์ในวันหยุดราชการเพื่อไปตรวจเยี่ยมหารือกับประชาชน รับฟังปัญหาจากประชาชนโดยตรง ทั้งนี้เพื่อจะมาขับเคลื่อนในการที่จะไปดูแลเขาให้มากยิ่งขึ้น ตอนนี้ต้องขอเวลา หลายอย่างต้องใช้งบประมาณ หลายอย่างติดปัญหาข้อกฎหมาย ต้องให้เวลาตนแก้ปัญหา ซึ่งตนยืนยันที่จะเดินหน้าไปพบปะประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเร่งจัดทำแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งกรอบนี้มีมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการเร่งทำแผนให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลังและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม รวมไปถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กกว่าเอสเอ็มอี และประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งกระทรวงการคลังต้องไปจัดทำรายละเอียดว่าครอบคลุมประชาชนกี่คน และต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่

และต้องสรุปแนวทางการเยียวยาประชาชนในกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น กลุ่มผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยความพิการ และกลุ่มคนไร้บ้าน โดยจะต้องสรุปหลักเกณฑ์ จำนวน และวงเงินให้ชัดอีกครั้งว่าจะเยียวยารายละเท่าใด เป็นเวลากี่เดือน ก่อนเสนอ ครม. พิจารณา

“แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะมีการเร่งจัดทำให้เร็วที่สุด โดยจะต้องเสร็จเป็นรูปร่างภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อเริ่มดำเนินการได้ทันทีหลังเหตุการณ์โรคระบาดสิ้นสุดลง” นายอุตตมกล่าว

อนึ่ง รายงานข่าวจากกระทรวง พม. ล่าสุดได้มีการสรุปตัวเลขจำนวนกลุ่มผู้เปราะบางเบื้องต้นแล้ว จะรอบคุลมประมาณ 14 ล้านคน ซึ่งในการประชุมความร่วมมือระดับปลัดกระทรวง ได้รับทราบแนวทางการเยียวยาเบื้องต้นแล้ว

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้แสดงความห่วงใยเรื่องอาหารของเด็กนักเรียนหลังจากที่ต้องยืดระยะเวลาปิดภาคเรียนให้ยาวขึ้น อาจจะทำให้ไม่ได้รับนมที่ปกติจะได้รับจากโรงเรียน จนอาจจะทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารได้ โดยประเด็นนี้กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานว่า แม้จะปิดภาคเรียนยาวขึ้น แต่กระทรวงศึกษายังมีการรับนมเพื่อมาแจกจ่ายให้โรงเรียนตามปกติ ซึ่งจะเป็นการบริหารของแต่ละโรงเรียนต่อไปที่จะกระจายนมไปยังนักเรียนทุกคน

พร้อมกันนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 นี้ จะไปประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (บอร์ด ธ.ก.ส.) นัดพิเศษ เพื่อเตรียมการโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยภายใต้โครงการนี้จะใช้เงินกู้ตามพระราชการกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจและสังคม จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในวงเงินรวม 1 ล้านล้านบาทนั้น จะแบ่งวงเงิน 400,000 ล้านบาทไว้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

ให้โอกาส“การบินไทย”ครั้งสุดท้าย ยันต้องปรับทั้งองค์กร

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงแผนการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เสนอมา ซึ่งการบินไทยฯ อยู่ในรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลต้องฟื้นฟูอยู่แล้ว และใช้เวลามานานหลายปีพอสมควร ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะดูแลไม่ให้แย่ไปกว่านี้

“เพราะมันค่อนข้างยากที่จะปรับทั้งในองค์กร บุคลากร และโครงสร้างต่างๆ รวมถึงกรรมการในส่วนของผู้บริหารทั้งหมดทุกคนต้องร่วมมือกัน รวมความไปถึงสหภาพแรงงานทั้งหมดด้วยหากท่านยังคงไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟู ก็จะเกิดปัญหายิ่งลำบากไปกว่านี้ เพราะในแต่ละระยะมีกฎหมายกำกับ หากเข้าเกณฑ์ตรงไหนก็ไปดูตรงนั้น หากหลุดจากตรงนี้ไปแล้วรัฐบาลก็จะดูแลไม่ได้”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ประมาณ 10 ประการที่อยู่ในแผนการฟื้นฟู เพราะฉะนั้นต้องทำให้ได้ การที่จะให้เงินกู้หรืออะไรต่างๆ ไปไม่ใช่ว่าให้ไปใช้หมดแล้วทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม ครั้งนี้จะต้องปรับโครงสร้างขององค์กรทั้งหมด

“ขอกราบเรียนให้ทราบด้วย ผมไม่ได้อยากจะไปก้าวล่วงอำนาจของใครทั้งสิ้นเพราะมีกฎหมายของเขาอยู่ ก็ต้องหามาตรการที่มีความเหมาะสมในเรื่องของรัฐวิสาหกิจซึ่งมีภารกิจที่มีหลายส่วนเกี่ยวข้องกับการบินเหล่านี้ ก็ขอให้ติดตามความก้าวหน้าต่อไป”

วันนี้ยังไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้า ครม. ซึ่งตนพยายามให้ชี้แจงให้เกิดความชัดเจน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือ ตนขอร้องบรรดาลูกจ้าง พนักงานของการบินไทยทุกคนต้องร่วมมือ ไม่อย่างนั้นไปไม่ได้แน่นอน

“การบินไทยอยู่ยังมีโอกาสอีกมากไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ generate การลดรายจ่ายต่างๆ ที่เกินความจำเป็น เหล่านี้จะต้องนำมาแก้ทั้งหมด ผมให้เวลาในการแก้ไขไป 5 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ได้ตามนั้น ก็ขอความร่วมมือจากสหภาพต่างๆ ด้วยเพราะนี่ก็ถือเป็นความเป็นความตายของท่าน”

พร้อมกันนี้ พล.อ. ประยุทธ์  กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอร้องเรื่องใดที่ทำไปแล้วมีปัญหาให้เสนอเข้ามาในช่องทางเหมาะสมถูกต้องที่รัฐบาลจะสามารถนำไปขับเคลื่อนได้ เช่น การร้องเรียนต่างๆ เข้ามาผ่านส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี ผมก็ได้นำแจ้งใน ครม. ทราบว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องตรวจ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลเอาใจใส่ทุกอย่างก็ขอร้องกัน ขอให้ทุกคนได้อดทนเพียรพยายามกันต่อไปในการที่จะนำพาประเทศของเราไปข้างหน้า ไม่ใช่ด้วยนายกรัฐมนตรี แต่ต้องไปด้วยคนไทยทุกคน นั่นคือความร่วมมือของเราในช่วงเวลานี้และวันต่อๆ ไป

คลังเล็งปรับสัดส่วนถือหุ้นการบินไทย แต่ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทการบินไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการฟื้นฟูและเสริมสภาพคล่องเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการบินไทย ซึ่งแผนการฟื้นฟูฯ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยเร็วที่สุด

โดยในเรื่องสำคัญที่ต้องมีการพิจารณาในส่วนของแผนการฟื้นฟูฯ เช่น สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง โดยยังคงสถานะของการบินไทยในการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่การปรับสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังอันนี้ต้องดูว่าสัดส่วนที่เหมาะสมคือเท่าไหร่

ทั้งนี้นายอุตตมรับว่า การบินไทยได้เสนอขอให้ค้ำประกันเงินกู้จำนวน 5 หมื่นล้านบาทเข้ามาจริง แต่การจะค้ำประกันเงินกู้เท่าไหร่ก็ได้ตั้งเงื่อนไขและได้ให้การบินไทยไปดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1) เจรจากับเจ้าหนี้รายเดิม การเจรจาน่าจะทำได้ส่วนหนึ่ง 2) ดูถึงความจำเป็นที่แท้จริงว่ามีความจำเป็นจะต้องใช้เงินกู้ในการเสริมสภาพคล่องเท่าไหร่ ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีการพิจารณาให้รอบครอบ และให้การบินไทยทำแผนให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ซึ่งตัวอย่างของเงื่อนไขก็อย่างเช่น เรื่องการปรับระบบการขายตั๋ว การดูแลบุคลากร การจัดซื้อต่างๆ  นอกจากนี้อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างในการเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่รัฐจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และคงความเป็นรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพูดถึงประเด็นการลดพนักงานของการบินไทย เพราะจริงๆ แล้วบริษัทยังมีหน่วยธุรกิจที่ยังสร้างรายได้ได้ หากขยายธุรกิจได้ก็ไม่จำเป็นต้องลดคน เช่น ธุรกิจกลุ่มกราวด์  กลุ่มบำรุงรักษา กลุ่มอาหาร

“เวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่จะฟื้นฟูการบินไทยที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ยังมีปัญหาเดิมสะสมอยู่ให้เรียบร้อยที่สุด” 

อย่างไรก็ตาม นายอุตตมยืนยันว่าในแผนฟื้นฟูฯ ไม่มีเรื่องการลดขนาดหรือลดจำนวนคน เพราะที่จริงแล้วการบินไทยไม่ได้มีแต่ธุรกิจการบิน แต่ต้องดูถึงธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถทำให้เติบโตมากขึ้นในอนาคต เช่น ธุรกิจอาหารและการให้บริการอาหาร (catering) ธุรกิจให้บริการภาคพื้นดิน (ground) และธุรกิจซ่อมบำรุงสายการบิน

“ในแผนไม่มีเรื่องของการลดขนาดองค์กร และปรับลดคน เราไม่ได้ตั้งเงื่อนไขแบบนี้ เพราะในการทำธุรกิจหากเราทำให้ธุรกิจขยายตัวก็จะมีการเติบโต การบินไทยมีของดีๆ เยอะ อย่าไปคิดว่าการบินไทยย่ำแย่แล้ว เพราะการบินก็แข่งขันกันไปแต่การบินไทยยังมีธุรกิจอย่างอื่นด้วย 2-3 อย่างเป็นสิ่งดีๆ ทั้งนั้นถ้าเราจัดโครงสร้างดีๆ ก็จะมีรายได้เข้ามาเพิ่ม”  นายอุตตมกล่าว

 มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ใช้น้ำประปาฟรี 10 คิวแรก ส่วนเกินลด 20% นาน 3 เดือน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำประปาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อการประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาคจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้

มาตรการของการประปานครหลวง (กปน.) ส่วนเพิ่มเติมจากมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ดังนี้

  • มาตรการที่ 1 ลดค่าน้ำประปาให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภท เริ่มตั้งแต่รอบการใช้น้ำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 (ใบแจ้งค่าน้ำประปาเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563) แบ่งเป็นกรณีที่ 1 ผู้ใช้น้ำที่ใช้น้ำน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ลูกบาศก์เมตร ยกเว้นการจัดเก็บค่าน้ำประปา ค่าบริการรายเดือน และค่าน้ำดิบ  และกรณีที่ 2 ผู้ใช้น้ำที่ใช้น้ำมากกว่า 10 ลบ.ม. ยกเว้นค่าน้ำประปาสำหรับน้ำ 10 ลูกบาศก์เมตรแรก และส่วนที่ใช้เกิน 10 ลูกบาศก์เมตร ลดค่าน้ำในอัตราร้อยละ 20
  • มาตรการที่ 2 คืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่พักอาศัย และประเภทที่ 2 ธุรกิจ ราชการ รัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรม และอื่น
  • มาตรการที่ 3 ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการชำระค่าน้ำประปา เมื่อชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส, 7-11, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี และ CenPay เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563
  • มาตรการที่ 4 ยกเว้นการตัดน้ำประปาทั้งชั่วคราวและถาวร (งดผูกลวด และถอดมาตรวัดน้ำ) เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม – 30 กันยายน 2563

มาตรการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ส่วนเพิ่มเติมจากมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ดังนี้

  • มาตรการที่ 1 ลดค่าน้ำประปาให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภท ในอัตราร้อยละ 20 ยกเว้นผู้ใช้น้ำส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ลดค่าน้ำประปาในอัตราร้อยละ 3 (ไม่รวมค่าบริการรายเดือน) เริ่มตั้งแต่รอบการใช้น้ำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 (ใบแจ้งค่าน้ำประปาเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563)
  • มาตรการที่ 2 ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการชำระค่าน้ำประปา เป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส และ 7-11 ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 และที่เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – วันที่ 30 มิถุนายน 2563
  • มาตรการที่ 3 ขยายเวลารับชำระผ่านตัวแทนรับชำระค่าน้ำประปาจากภายใน 10 วัน เป็น ภายใน 20 วัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ใบแจ้งค่าน้ำประจำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563)

“การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำประปาประมาณ 23 ล้านราย แบ่งเป็นของกปน. 5.5 ล้านราย กปภ. 17.6 ล้านราย และคิดเป็นวงเงินประมาณ 6,077 ล้านบาท”

ผ่อนปรนแรงงานต่างด้าวอยู่ต่ออีก 1 เดือน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคีตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ

ในรายละเอียดให้กระทรวงมหาดไทยขยายระยะเวลาการยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานและโดยใช้บัตรผ่านแดน เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ขณะที่กระทรวงแรงงานให้ออกประกาศกระทรวงขยายระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าว สามารถทำงานไปพลางก่อนได้ ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 พฤษภาคม 2563 เช่นเดียวกัน

“หลังสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ มติมีที่มาจากเดิมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานไปพลางก่อนจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด แต่มาตรการดังกล่าวของไทยปัจจุบันได้ขยายต่อไปอีกเดือน ส่งผลให้คนต่างด้าวดังกล่าวไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ต่อไปอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงต้องขยายประกาศนี้ตามมาด้วย”

พลเอกประวิตรเผย คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติฯ ตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานฯ ขึ้นเพื่อส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ พร้อม เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของทรัพยากรและการประกอบอาชีพประมง

เห็นชอบ กฟภ. กู้เงินลงทุน 14,197 ล้าน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  กู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2563 จำนวน 6 แผนงาน ภายในกรอบวงเงินรวม 14,197 ล้านบาท โดยให้ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นรายปีจนกว่าการดำเนินงานจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้เงินกู้ดังกล่าวคิดเป็น 75% ของงบประมาณลงทุนด้วย ส่วนอีก 25% จะใช้แหล่งเงินจากรายได้ของกฟภ. โดยแผนงานทั้ง 6 สรุปได้ดังนี้

  1. แผนงานปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพสถานีไฟฟ้า ปีงบประมาณ 2563: เพื่อปรับปรุงระบบควบคุมและระบบป้องกันของสถานีไฟฟ้าในพื้นที่การไฟฟ้าทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ เพื่อความมั่นคงในระบบการจ่ายไฟ ลดปัญหาไฟดับ และการสูญเสียโอกาสในการจ่ายไฟของสถานีไฟฟ้า และปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่มีฟังก์ชันการทำงานอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามมาตรฐาน IEC 61850 มีระยะเวลาดำเนินการ 2563-2565 วงเงินรวม 53 ล้านบาท
  2. แผนงานย้ายแนวและเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ปี 2653-2570: 1) เพื่อย้ายแนวระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้าของ กฟภ. ตามแผนงานก่อสร้างขยายถนนและการคมนาคม และ 2) เพื่อเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความมั่นคงและความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า โดยจะดำเนินการในพื้นที่ให้บริการของ กฟภ. จำนวน 12 กฟข. โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 2563-2570 วงเงินรวม 9,03 ล้านบาท
  3. แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านระบบงานและแพลตฟอร์ม: เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของระบบจำหน่ายและบริการลูกค้าอย่างรวดเร็ว มีระยะเวลาดำเนินการ 2563-2567 วงเงินรวม 2,62 ล้านบาท
  4. แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านสื่อสารและโทรคมนาคมของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปี 2563: 1) เพื่อพัฒนาระบบสื่อสารของ กฟภ. ให้มีช่องสัญญาณ (Bandwidth) เพียงพอต่อการใช้งาน 2) เพื่อเพิ่มความพร้อมในการให้บริการ (Service Availability) และ 3) เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความรวดเร็ว ตอบสนองต่อความต้องการของสายงานต่างๆ ของ กฟภ. มีระยะเวลาดำเนินการ 2563-2565 วงเงินรวม 1,279.28 ล้านบาท
  5. แผนงานการใช้พื้นที่สำนักงานใหญ่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการตามแผนแม่บท Phase B: เพื่อดำเนินการตามแผนแม่บทการใช้พื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟภ. Phase B โดยการยกระดับภาพลักษณ์โดยรวมขององค์กร และการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2563-2569 วงเงินรวม 2,81 ล้านบาท
  6. แผนงานจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทดสอบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค: 1) เพื่อปรับปรุงและเพิ่มขีดความสามารถการทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าของ กฟภ. ให้รองรับกระบวนการจัดซื้อและตรวจรับการบริการทดสอบเพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า การทดสอบเพื่องานวิจัยและนวัตกรรม และ 2) เพื่อสร้างศูนย์ฯ ที่มีระบบห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 จำนวน 5 แห่ง มีระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2563-2568 วงเงินรวม 1,876 ล้านบาท

บิ๊กป้อมเตรียมแผนสำรองรับน้ำฝน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้จัดเตรียมแผนสำรองในการรองรับน้ำในช่วงหน้าฝนนี้  เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีฝนตกในหลายพื้นที่  และจากรายงานพบว่ามีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ 423 ล้านลูกบากศ์เมาตร (ลบ.ม.) โดยเฉพาะในพื้นที่  EEC ได้น้ำต้นทุนเพิ่ม 18 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม หากไม่มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ให้นำน้ำก้นอ่าง 37 ล้าน ลบ.ม. มาใช้ให้เพียงพอถึง 30 มิ.ย. 63 เพื่อสร้างความมั่นใจให้ภาคอุตสาหกรรม

สำหรับการกำจัดผักตบชวาในลำน้ำรองรับ น้ำหลากฤดูฝน  รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลความก้าวหน้าจากกรมโยธาธิการและผังเมือง  กรมชลประทาน  กรมเจ้าท่า  กรมการปกครอง และกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการกำจัด ผักตบชวา ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 – 17 เมษายน 2563 รวม ทั้งสิ้น 1.4 ล้านตัน โดยให้หน่วยงานรายงานผลการปฏิบัติงานต่อกองอำนวยการน้ำแห่งชาติทุกสัปดาห์

รับทราบรายงานนโยบายการประมงแห่งชาติ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม. ถึงการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ในการติดตามความก้าวหน้า และการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาผลกระทบของประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน

สำหรับการทำประมงน้ำจืด และการเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ รวมถึงแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการครอบคลุมทุกภาคส่วน   พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ สร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของทรัพยากรและการประกอบอาชีพ ตั้งแต่การผลิต การจับ การแปรรูป รวมถึงความมั่นคงทางอาหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่ผู้บริโภค ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ

ทั้งนี้ ในวันแรงงานแห่งชาติที่ผ่านมา พล.อ. ประวิตร  ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกระทรวงแรงงานเพื่อขับเคลื่อนมาตรการในการให้ความช่วยเหลือ และเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19   พร้อมกับให้กำลังใจ  และขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการ ในการให้ความช่วยเหลือ และเยียวยา แรงงานผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และแรงงานต่างด้าว

พร้อมกันนี้ยังขอให้สนับสนุนการบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไวรัสโควิด-19  สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว  และเร่งรัดการจ่ายสิทธิประโยชน์ กรณีว่างงานเพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างเร็วที่สุด  พร้อมทั้งกำหนดมาตรการส่งเสริม การจ้างงาน  การพัฒนาทักษะและการประกอบอาชีพในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มแรงงาน ทั้งในระบบ และนอกระบบ  รวมถึงให้วางระบบการป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ให้ครอบคลุม รัดกุม  และชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าวทุกขั้นตอนจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยให้ประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

กนง.แจงผลการดำเนินงาน ครึ่งหลังของปี 62

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย  (ฉบับที่ 4)  พ.ศ. 2551 มาตรา 28/7 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  1. เป้าหมายนโยบายการเงิน ในปี 62 ได้กำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5±1.5 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสาหรับระยะปานกลาง ส่วนในปี 63 ได้กำหนดเป้าหมาย นโยบายการเงินใหม่ โดยใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1 – 3
  2. การประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินและแนวโน้ม
    2.1 ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้ม เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 ต่ำลงจากช่วงครึ่งแรกของปี 62 ที่ร้อยละ 2.7 จากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลง การส่งออกมีทิศทางปรับดีขึ้นในบางหมวดสินค้า  การส่งออกบริการปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง

    เศรษฐกิจไทยในปี 63 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2.8 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าและภาคการท่องเที่ยวของไทย

    2.2 ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้ม ในช่วงครึ่งหลังปี 62 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ลดลงจากครึ่งแรกของปี ที่ร้อยละ 0.92 โดยอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน ซึ่งเกิดจาก ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.71 ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน โดยเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.46 ลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปีที่ร้อยละ 0.58 เนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่ลดลง ในปี 63 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 0.7

    2.3 เสถียรภาพระบบการเงิน ระบบการเงินของไทยมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1) ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่ลดลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว 2) แนวโน้มพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น และ (3) ความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์

  1. การดำเนินนโยบายการเงิน
    3.1 นโยบายอัตราดอกเบี้ย ในช่วงครึ่งหลังของปี 62 กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.75 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดการเงิน และสถาบันการเงินผ่อนคลายมากขึ้น

    3.2 นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน กนง. ให้ความสำคัญกับการติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไป โดยได้สนับสนุนให้ ธปท. ดำเนินการต่างๆ เช่น กำหนดมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และดำเนินการเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในประเทศของภาครัฐและภาคเอกชน

    3.3 การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ให้ความสำคัญกับการดูแลและป้องกันความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน โดยการลดความเสี่ยงในระยะต่อไปจาเป็นต้องได้รับการดูแลด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาตรการกำกับดูแลรายสถาบันการเงิน และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

    3.4 การสื่อสารนโยบายการเงิน กนง. ดำเนินนโยบายการเงินโดยติดตามพัฒนาการของข้อมูล และให้ความสำคัญกับการสื่อสารเชิงรุกและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้รับสารกลุ่มต่างๆ รวมทั้งมีการเผยแพร่บทวิเคราะห์เชิงลึกในรายงานนโยบายการเงินด้วย

ผ่านร่างกฎกระทรวงดูแลความปลอดภัยนักประดาน้ำ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานประดาน้ำ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง อาทิ

กำหนดให้กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับงานประดาน้ำที่ทำในน้ำลึกตั้งแต่ 10 ฟุต แต่ไม่เกิน 300 ฟุต โดยให้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานประดาน้ำสถานที่ใด ต้องแจ้งให้พนักงานตรวจความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีการทำงานทราบ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานประดาน้ำได้รับการตรวจสุขภาพตามที่กำหนด และจัดทำบัตรตรวจสุขภาพลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด และกำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของลูกจ้างที่ปฏิบัติงานประดาน้ำในตำแหน่งต่างๆ

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ต้องมีตำแหน่งหน้าที่ตามที่กำหนดต่อไปนี้ คือ หัวหน้านักประดาน้ำทำหน้าที่วางแผนการทำงานและควบคุมการดำน้ำ พี่เลี้ยงนักประดาน้ำทำหน้าที่ตรวจสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับงานประดาน้ำ เป็นต้น โดยให้นายจ้างมีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงาน การพัก และจัดให้มีลูกจ้างซึ่งทำงานประดาน้ำ เจ้าหน้าที่เวชศาสตร์ใต้น้ำ แพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำ หรือแพทย์เวชศาสตร์ทางทะเล การบริการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงอุปกรณ์สำหรับการประดาน้ำ ลูกจ้างซึ่งทำงานประดาน้ำอาจปฏิเสธการทำงานหรือนายจ้างอาจสั่งให้หยุดการปฏิบัติงานใต้นำในกรณีที่อาจก่อให้เกิดอันตราย รวมถึงต้องมีอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน และการบำรุงรักษาที่ได้มาตรฐาน

เห็นชอบร่างกฎกระทรวงประมูลงานกรมทางหลวง

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาต การกำหนดอัตราค่าตอบแทน ระยะเวลา และเงื่อนไขการลงทุนจัดให้มีหรือเข้าบริหารจัดการท่าเรือ เรือหรือพาหนะสำหรับขนส่งข้ามฟาก ที่พักริมทาง หรือสิ่งก่อสร้างอื่นใดในเขตทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ในการอนุญาตเป็นผู้ลงทุน ผู้อำนวยการทางหลวงอาจกำหนดอัตราค่าตอบแทน ระยะเวลา และเงื่อนไขในการอนุญาต ตามหลักเกณฑ์วิธีการ ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุนด้วย

  1. อัตราค่าตอบแทนเป็นเงินหรือทรัพย์สิน โดยคำนึงถึงขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีการลงทุน ประมาณการต้นทุนค่าใช้จ่ายและรายได้ของการลงทุน ประมาณการผลตอบแทน ระยะเวลา และเงื่อนไขการลงทุน
  2. ระยะเวลาในการอนุญาต ให้มีระยะเวลาไม่เกิน 50 ปี นับแต่วันที่ผู้อำนวยการทางหลวงออกหนังสืออนุญาต โดยคำนึงถึงมูลค่าการลงทุนและผลตอบแทนที่ผู้ขออนุญาตแต่ละรายจะได้รับ
  3. เงื่อนไขในการอนุญาตที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม การป้องกันอุบัติภัยและการแก้ไขปัญหาจราจร การปรับสภาพที่ดินและการรื้อย้ายสาธารณูปโภค การกำหนดลักษณะ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ การกำหนดสัดส่วนพื้นที่ใช้สอย การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้าง การปรับปรุงต่อเติม หรือการกระทำใดๆ ในลักษณะเดียวกัน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและจำเป็นแก่งานหรือผู้ใช้ทาง

“สำหรับรายละเอียดการดำเนินงาน กำหนดให้ผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยวิธีประมูลในการลงทุนในเขตทางหลวง ยื่นคำขออนุญาตเป็นผู้ลงทุนต่อผู้อำนวยการทางหลวง เมื่อผู้อำนวยการทางหลวงได้รับคำขอแล้ว ให้เสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ผู้อำนวยการทางหลวงอนุญาตเป็นหนังสือให้ผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกดังกล่าวต่อไป”

ไฟเขียวโครงการพัฒนาระบบคลาวด์ภาครัฐ 4,752 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Services: GDCC) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต่อเนื่อง 3 ปี พ.ศ.2563-2565 เป็นวงเงิน 3,954 ล้านบาท และจากงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปี 2563 วงเงิน 798 ล้านบาท รวม 4,752 ล้านบาท

โครงการดังกล่าววัตถุประสงค์เพื่อ ให้มีระบบกลางในการให้บริการจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ (cloud service) สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีมาตรฐานปลอดภัย เป็นระบบสำรองเพื่อการกู้คืนข้อมูลกรณีเกิดภัยพิบัติ  และหน่วยงานฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทันต่อความต้องการในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล

เพื่อรองรับการใช้งานการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (big data) โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute: GBDI) และพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมด้านดิจิทัล เพื่อเป็นกำลังในการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เป้าหมายเบื้องต้น 2,500 คน เข้ารับการอบรมหลักสูตรระดับสูงขึ้นจนมีความเชี่ยวชาญด้าน cloud computing

ทั้งนี้ โครงการฯ มีเป้าหมายการให้บริการจัดเก็บและบริหารข้อมูล มีหน่วยประมวลผลรวม (เครื่องคอมพิวเตอร์เสมือน virtual machine) สูงสุดจำนวน 20,000 VM ซึ่งเท่ากับความสามารถในการประมวลผล CPU ของคอมพิวเตอร์ปกติ 4 เครื่อง และมีหน่วยความจำรวมอย่างน้อย 160,000 GB ซึ่งปัจจุบันนี้ ระบบที่ใช้อยู่คือ G-Cloud ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ที่ให้บริการอยู่มีจำนวน 3,500 VM ซึ่งจะต้องโอนย้ายระบบงาทั้งหมดมายังโครงการ GDCC นี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เป็นต้นไป

“กระทรวงดิจิทัลฯได้สำรวจความต้องการใช้บริการ พบว่าจะมีหน่วยงานรัฐเข้าร่วมโครงการอีก 100 กว่าหน่วยงานระดับกรม จะมีความต้องการใช้งาน จำนวน 8,955 VM และเมื่อรวมความต้องการระดับกระทรวง จะมีความต้องการใช้งาน ทั้งหมดอยู่ที่ 18,000-24,000 VM ระหว่างปี 2563-2565”

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลนี้ จะทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณในส่วนที่เป็นค่าเช่าCloud ของหน่วยงานต่างๆได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59% (คิดจากราคากลางของค่าเช่า cloud ในระยะเวลา 3 ปี)

นอกจากนี้ โครงการคลาวด์กลางภาครัฐ ยังทำให้ระบบการจัดเก็บข้อมูลของประเทศมีความมั่นคงปลอดภัย เนื่องจากข้อมูลและระบบงานของทุกหน่วยงานรัฐจะถูกจัดเก็บในระบบเดียวกันที่เป็นมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยและตั้งอยู่ในประเทศ และจะมีการออกแบบระบบการเข้าถึงข้อมูลตามชั้นความลับของข้อมูลแต่ละประเภท มากไปกว่านั้น ยังทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ข้อมูลจาก big data เพื่อการวางแผนและตัดสินใจ

ส่งผู้แทนไทยนั่งองค์กรอุทธรณ์อาเซียน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบรายชื่อผู้แทนไทยที่มีคุณสมบัติเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิจารณาและสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ภายใต้พิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

“ทั้งนี้เป็นไปตามข้อกำหนดของพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเลือกผู้แทนที่มีคุณสมบัติสอดคล้องตามที่พิธีสารฯ กำหนด เพื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ โดยมีบุคคลที่จะทำหน้าที่ในคณะพิจารณา (panel) ไม่เกิน 3 คน และองค์กรอุทธรณ์ (appellate body) ไม่เกิน 2 คน”

โดยมีมีรายชื่อผู้แทนไทย ดังนี้ ผู้พิจารณา (panelists) จำนวน 3 คน ได้แก่

  1. ดร.พรชัย ด่านวิวัฒน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการกรอบความร่วมมือเอเชีย (อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้)
  2. ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ปัจจุบันดำรงตำแน่ง ประธานกรรมการ บริษัทเศรณี โฮลดิ้ง จำกัด (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์)
  3. นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ  (อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม)

สมาชิกองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) จำนวน 2 คน ได้แก่

  1. ดร.อนันต์ จันทรโอภากร ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการในคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 14 (อดีตศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
  2. ดร.สุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย (อดีตรองเลขาธิการอาเซียน)

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการว่า หากมีเหตุจำเป็นที่ผู้พิจารณาของไทยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือหากจะมีการปรับปรุงรายชื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่ในคณะผู้พิจารณาในอนาคต มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ สามารถดำเนินการสรรหาผู้พิจารณาคนใหม่ได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

อนุมัติ 20 ล้าน แก้ปัญหายาเสพติดลุ่มน้ำโขง

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติโครงการเสริมสร้างและยกระดับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการยุติแหล่งผลิตยาเสพติดและทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 20 ล้านบาท เป็นการจัดสรรงบประมาณให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านคือ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อการพัฒนาศักยภาพในการปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ และส่งเสริมการปฏิบัติงานและพัฒนาบุคลากรตามแผนปฏิบัติการลุ่มน้ำโขงปลอดภัยเพื่อควบคุมยาเสพติด 6 ประเทศ (ไทย จีน เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ระยะ4ปี (พ.ศ.2562-2565) ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.)

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ไฟเขียว ปปง.ต่ออายุสมาชิก APG อีก 8 ปี

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการต่ออายุกรอบข้อบังคับของกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia/Pacific Group on Money Laundering – APG) ซึ่งกลุ่ม APG เป็นองค์การระหว่างประเทศก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ.2540 โดยปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวมทั้งสิ้น 41 ประเทศ มีภารกิจหลักในการต่อต้านการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยให้เป็นมาตรฐานสากล

“ทั้งนี้กรอบดังกล่าวมีอายุระยะเวลา 8 ปี และจะสิ้นผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคมปีนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) จึงจำเป็นต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อต่ออายุกรอบข้อบังคับไปอีกรอบหนึ่ง คือ พ.ศ. 2564-2571 ซึ่ง ป.ป.ง. ได้ประมาณการรายจ่ายค่าสมาชิกของกลุ่มฯ ไว้แล้ว รวม 13.5 ล้านบาท”

กรอบข้อบังคับที่ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติ อาทิ

    1) ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการในการต่อต้านการฟอกเงิน

    2) ประเมินระดับมาตรฐานภายในประเทศว่าสอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากน้อยเพียงใดผ่านการประเมินร่วมกันของประเทศสมาชิก

    3) จัดให้มีการออกกฎหมายเพื่อต่อต้านการฟอกเงิน และการออกมาตรการต่างๆ ตามมาตรฐานสากล

    4) ประสานงานและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างประเทศ

สำหรับผลการประเมินของประเทศไทย ล่าสุดเมื่อปี 2560 มีการดำเนินการด้านกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลจำนวน 27 ข้อ จาก 40 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุงในข้อด้อย และในส่วนของ ป.ป.ง. จะต้องจัดทำรายงานส่งกลุ่มAPGตามรอบการประเมินทุกปี เมื่อตุลาคมปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงกับลูกค้า เป็นการยกระดับมาตรฐานการทำงานของ ป.ป.ง. ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน/สนับสนุนการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

จ่ายเงินอุดหนุนกองทุนโลกต่อสู้เอดส์-วัณโรค-มาลาเรีย 5 ปี

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติ ขยายเวลาการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนโลกเพื่อการต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค  และมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria: GFATM)  ปีละ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 5 ปี (ปีงบฯ 63 – 67) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

“กองทุนโลกฯ ช่วยแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งระบาด ในประเทศกำลังพัฒนาและได้สนับสนุนโครงการต่างๆ ของไทยในรูปแบบของการป้องกัน ควบคุม และรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงช่วยลดปัญหาสาธารณสุขจากโรคดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชน มีสุขภาพที่ดี เช่น อัตราการติดเชื้อเอชไอวีที่ลดลง อัตราการหายจากวัณโรคสูงขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2562 ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และที่กลับเป็นซ้ำได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ ในอัตราร้อยละ 82.9อัตราผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียลดลงร้อยละ 25”

นอกจากนี้ การสนับสนุนจากกองทุนโลกฯ ในไทยประมาณปีละ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยสามารถขยายการดำเนินงานไปยังกลุ่มเฉพาะได้ เช่น แรงงาน ต่างด้าว เป็นต้น และทำให้ประชาชนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศยากจน สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2563เพิ่มเติม