ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ThaiPublica Note > ThaiPublica Note : ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 3) – การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด

ThaiPublica Note : ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 3) – การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด

25 ตุลาคม 2021


  • ยาบ้าเป็นวาทกรรมที่ไม่เคยถูกท้าทายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
  • ยาบ้าอาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดอาการคุ้มคลั่ง
  • หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายยาเสพติดในส่วนที่เกี่ยวกับยาบ้าแล้ว จำนวนคดียาบ้าก็ลดลง

  • อ่าน
    ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 1)
    ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 2) — การลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด

    ยาบ้าเป็นวาทกรรม…

    บนเส้นทางสายการต่อสู้หรือกระทั่งทำสงครามกับยาเสพติดในประเทศไทย ยาบ้าไม่ใช่แค่วาทะกรรมหรือกรรมอันก่อด้วยคำพูด แต่คือวาทกรรม (discourse) อันหมายถึงความจริงที่สถิตสถาปนาอยู่ได้ด้วยรูปแบบหรือกรอบความคิดแบบใดแบบหนึ่งและสืบทอดต่อกันมา

    ความเป็นวาทกรรมของยาบ้าเกิดได้ด้วยกรอบความคิดทางศีลธรรมอันจัดจ้านและลักษณะการปฏิบัติต่อยาเสพติดผิดกฎหมายแบบ zero tolerance ที่แปลตรงตัวได้ว่าความอดทนอดกลั้นเป็นศูนย์ หรือให้มีสีสันหน่อยก็ต้องเรียกว่าอดรนทนไม่ได้ ต้องกวาดล้างทำลายให้หมดสิ้นไป และก็อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากความอยากสร้างผลงานของนักการเมืองด้วย

    แรกเริ่มเดิมทียาบ้าในไทยนั้นได้ชื่อว่ายาม้า บ้างก็ว่ายาขยัน ได้ชื่อทำนองนั้นก็ด้วยลักษณะการออกฤทธิ์ที่ทำให้มีกำลังวังชา เสพแล้วไม่ต้องหลับต้องนอน เป็นที่นิยมยิ่งในหมู่สิงห์รถบรรทุกที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ

    จนปี พ.ศ. 2539 เสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุขในขณะนั้น ก็มีดำริให้เปลี่ยนชื่อจากยาม้าเป็นยาบ้า ด้วยหวังว่าจะกระตุ้นความหวาดกลัวหรือกระทั่งชิงชังรังเกียจ คนจะได้ไม่เฉียดกายไปใช้เสพกัน

    สโลแกนในลักษณะอย่าง “คนกินตาย คนขายติดคุก” เคยเป็นฉลากกำกับหลักที่รัฐพยายามแปะให้ยาบ้าเพื่อเสริมภาพความเป็นมหันตภัยเม็ดจิ๋ว และช่วงหนึ่งในอดีตนั้นสื่อต่างๆ ก็นำเสนอข่าวเรื่องการเมายาบ้าจับตัวประกันให้เห็นอยู่บ่อยๆ โดยตัวประกันที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่คนอื่นแต่บางกรณีก็เป็นตัวผู้เสพเองด้วย และก็มีไม่น้อยกับข่าวอาชญากรรมในลักษณะลักเล็กขโมยน้อยไปยันปล้นจี้ชิงทรัพย์ โดยแรงจูงใจคือการหาเงินไปซื้อยาบ้าเสพ

    ทั้งหมดทั้งมวลนั้นได้ทำให้ความจริงที่รับรู้กันถึงยาบ้านั้นตั้งอยู่บนกรอบความคิดที่ว่า เป็นยาเสพติดอันตรายร้ายกาจ ที่ไม่ว่าใครเสพเข้าไปแล้วก็ต้องคลุ้มคลั่ง จนสุดท้ายจะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมที่เกินกว่าแค่การซื้อยาเสพติดผิดกฎหมายมาเสพ เป็นเหตุให้เดือดร้อนทั้งตัวเองและผู้อื่น จนนำไปสู่การปฏิบัติต่อยาบ้าแบบเห็นแล้วอดรนทนไม่ได้ ต้องกวาดล้างทำลายให้หมดสิ้นไป และกลายเป็นรากฐานสนับสนุนความรุนแรงของกฎหมายในมาตราที่เกี่ยวข้องในที่สุด

    และก็ดังบอกไปในตอนที่แล้วว่า กฎหมายที่ได้รับแรงส่งเสริมจากความจริงในลักษณะดังกล่าว กลับกลายเป็นกฎหมายที่มีลักษณะของการด่วนตัดสินเสียเอง และได้นำไปสู่การลงโทษที่ทั้งไม่ตรงกับเจตนาในการกระทำผิด จนทำให้สัดส่วนในการลงโทษนั้นเกินเจตนาในการกระทำผิดไปอย่างล้นพ้น อีกทั้งยังนำไปสู่ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ อันทำให้ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับไปอยู่ในสังคมได้โดยไม่กระทำผิดซ้ำด้อยไปด้วย

    ปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาเช่นนั้นก็คือ ความจริงของยาบ้าแบบที่ยึดถือและเชื่อกันมาไม่เคยถูกท้าทายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เลย

    จนในปี พ.ศ. 2559 มีการประชุม “ทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลกภายหลังการประชุม UNGASS (2016) กับการพิจารณาทบทวนกฎหมายและการตีความของไทยเกี่ยวกับยาเสพติด” ซึ่งกระทรวงยุติธรรมโดยสำนักกิจการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับศาลฎีกา, ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และภายหลังการประชุม ดร.คาร์ล ฮาร์ต (Carl Hart) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องยาบ้า โดยเนื้อหาตอนหนึ่งนั้นเป็นการตั้งคำถามสำคัญถึงความจริงที่คนไทยเรารับรู้และยึดถือเกี่ยวกับยาบ้ามาตลอด คือ การเสพยาบ้าแล้วมีอาการคลุ้มคลั่งนั้น แท้จริงแล้วเป็นผลจากการเสพหรือไม่ ซึ่ง ดร.คาร์ล ฮาร์ต ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ 2 ประเด็น ดังนี้

    1. เมทแอมเฟตามีน (ในยาบ้า) นั้นทำให้คนตื่นตัวตลอดเวลา ผลที่เกิดจากการใช้ก็คือทำให้ไม่ได้นอน และเมื่อใช้มากเกินไปจนไม่ได้นอนหลับติดต่อกันเป็นเวลานานย่อมมีผลกระทบต่อจิตประสาท กล่าวคือ ทำให้เกิดอาการหวาดระแวง อันสามารถนำไปสู่การคลุ้มคลั่งดังที่เห็นในภาพข่าวได้ ซึ่งหมายความว่าอาการเหล่านั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสารเคมีในยาโดยตรง แต่เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ยาทำให้ไม่ได้นอนหลับเป็นเวลานาน

    2. คนเราล้วนมีอาการทางจิตประสาทมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันมาแต่กำเนิดและระหว่างการเติบโต การใช้ยาบ้าก็อาจเหมือนตัวกระตุ้นอื่นๆ (เช่น ความเครียดจากปัญหาต่างๆ) ที่ทำให้อาการเหล่านี้กำเริบรุนแรงขึ้นมาได้ ซึ่งในกลุ่มเช่นนี้นั้น แม้จะบำบัดจนเลิกการใช้ยาได้แล้วก็จะยังคงมีอาการเหล่านี้อยู่ จึงอาจเป็นไปได้ว่าตัวยานั้นไม่ใช่สาเหตุหลักเพียงอย่างเดียวของอาการทางจิตประสาทที่เกิดขึ้น แต่มีเรื่องพันธุกรรมแฝงและสภาพสุขภาพจิตดั้งเดิมที่ติดตัวมาด้วย

    (อ่านเพิ่มเติม: กำลังจะเกิดอะไรกับยาบ้า – ทำให้ถูกกฎหมาย หรือแค่คลายความเป็นอาชญากรรม)

    สิ่งที่สรุปได้สั้นๆ จากคำให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าวของ ดร.คาร์ล ฮาร์ต ก็คือ ยาบ้าไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของอาการคลุ้มคลั่งดังที่เห็นกันจนคุ้นชิน และดังนั้น การมุ่งเป้าจะแก้ปัญหาโดยการเอายาบ้าเป็นตัวร้ายหลักที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก นอกจากจะไปทำให้ปัญหาอื่นๆ ที่แฝงอยู่ไม่ได้รับการแก้ไข ยังทำเส้นทางการแก้ปัญหาผิดเพี้ยนไป และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ดังกล่าวไปแล้ว

    หลังจากการประชุมครั้งนั้น ก็มีความพยายามแก้ไขกฎหมายยาเสพติดโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับยาบ้า จนในที่สุดก็มีเกิดเป็นพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 ที่หากให้อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำจากในมาตราต่างๆ ก็คือ พระราชบัญญัติฯ ฉบับแก้ไขนี้ ได้เปิดโอกาสให้การพิจารณามีความยื่นหยุ่นมากขึ้น ทำให้มีโอกาสสืบสวนเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบถึงเจตนาที่แท้จริงในการกระทำผิดและลงโทษตามเจตนาดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

    ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะใจความหลักที่เปลี่ยนไปคือ จากเดิมที่หากมีพฤติการณ์เช่นนี้แล้วจะถือว่ามีเจตนาเช่นนั้นในทันที ก็กลายเป็นเพียงให้สันนิษฐานว่ามีเจตนาเช่นนั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แค่นี้ก็เปิดโอกาสให้มีการสอบสวนที่ละเอียดขึ้นจนสุดท้ายโทษที่ผู้ต้องหาได้รับนั้นตรงกับเจตนาในการทำความผิด จะได้ไม่เกิดปัญหาอย่างแต่ก่อนคือเจตนานำข้ามประเทศเข้ามาเพื่อเสพเองแถมยังเป็นปริมาณน้อย แต่กลับโดนข้อหานำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย กลายเป็นโทษใหญ่ล้นพ้นตัวที่แม้สารภาพหมดสิ้นจนเป็นประโยชน์แก่รูปคดีเพียงใด ก็ยังต้องติดคุกอย่างน้อย 25 ปี (อ่านกรณีดังกล่าวได้ที่นี่)

    หากอิงจากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แม้ในปี พ.ศ. 2561 หรือ 1 ปีหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาบ้า จะยังมีจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 ถึง 29.66 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนของกลางสูงขึ้นถึง 117.50 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมาในปี พ.ศ. 2562 จำนวนคดีเกี่ยวกับยาบ้าก็ลดลง 24.54 เปอร์เซ็นต์ และของกลางลดลง 26.94 เปอร์เซ็นต์ และมาในปี พ.ศ. 2563 จำนวนคดีก็ลดลงไปอีก 34.45 เปอร์เซ็นต์ แม้จำนวนของกลางจะลดลงเพิ่มเติมเพียง 6.42 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม

    และอันที่จริง แม้ไม่มีข้อมูลเหล่านี้ เราเองก็อาจจะพอเห็นกันแล้วว่า ทุกวันนี้ ข่าวคราวเกี่ยวกับยาบ้า โดยเฉพาะกรณีที่มีลักษณะเมายาบ้าอาละวาดอย่างในอดีต ก็ห่างหายไปจากสื่อต่างๆ จนแทบไม่พบเห็นอีกแล้ว

    ตอนต่อไป จะเป็นคราวของตัวอย่างในต่างประเทศ ที่นอกจากไม่ปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรง บางประเทศยังอยู่ร่วมกันถึงขั้นแจกให้เสพ โดยที่สังคมก็ไม่ล่มสลายและประเทศก็ไม่ได้วอดวายไปแต่อย่างใด