นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง สิงคโปร์ และ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ตอกย้ำถึงการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและยั่งยืนระหว่างสิงคโปร์และสหรัฐฯ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พร้อมกับประกาศการขยายขอบเขตความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ สภาพอากาศ เศรษฐกิจ และการต่อสู้ กับโรคระบาด
นางแฮร์ริสเน้นย้ำว่า อเมริกาตระหนักถึงมิตรภาพอันยาวนานและยั่งยืนที่มีกับสิงคโปร์ในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินโด-แปซิฟิก ขณะที่นายกรัฐมนตรีลียืนยันว่าสิงคโปร์ตระหนักถึงบทบาทที่แข็งขันของสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้คู่ยังพร้อมที่จะร่วมให้การสนับสนุนเพื่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศบนพื้นฐานทางกฎหมายในภูมิภาค ซึ่งทุกประเทศสามารถร่วมมือและแข่งขันกันอย่างสันติและเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
การเยือนระดับสูงของนางแฮร์ริส ถือเป็นครั้งแรกภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีขึ้นในช่วงที่สิงคโปร์และสหรัฐฯ ฉลองความสัมพันธ์ทางการฑูตครบรอบ 55 ปี
นางแฮร์ริสเดินทางมาเยือนสิงคโปร์และเวียดนามเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งที่สองของเธอตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม และเธอเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่เยือนภูมิภาคนี้นับตั้งแต่นายไบเดนสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
การเดินทางของเธอมีขึ้นหลังการเยือนสิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ของนาย ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ในเดือนกรกฎาคม
ในการแถลงข่าวร่วมกันที่ทำเนียบประธานาธิบดี หลังจากที่นางแฮร์ริสได้เข้าคารวะประธานาธิบดีฮาลิมะห์ ยาคอบ และประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีลี และรัฐมนตรีสิงคโปร์จำนวนหนึ่ง นายกรัฐมนตรีลีกล่าวว่า การมาเยือนครั้งนี้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
“แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราให้คุณค่ากับความสัมพันธ์สหรัฐฯกับเพื่อนและพันธมิตรที่กลับมาอีกครั้งในภูมิภาค โดยเฉพาะสิงคโปร์” นายกรัฐมนตรีลีกล่าว
นางแฮร์ริส กล่าวว่า การระบาดใหญ่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ ครอบครัว และคนงาน และแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสหรัฐฯ หวังว่าจะได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับภูมิภาค
“ห่วงโซ่อุปทานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำให้แน่ใจว่าธุรกิจสามารถจัดหาวัสดุที่ต้องการ นำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด และช่วยให้ผู้คนสามารถซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้” นางแฮร์ริสกล่าว และว่า การขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์จะส่งผลกระทบต่อการผลิตของหลากหลายสินค้าทั้งสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และรถยนต์
“ดังนั้น การทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างสิงคโปร์ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นสิ่งสำคัญใน… การทำให้แน่ใจว่าชาวอเมริกันสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้”
นายกรัฐมนตรีลีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกับที่ได้ย้ำมาแล้วในการเยือนสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้รวมถึงในเวทีอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังกล่าวย้ำถึงการโทรศัพท์ในการประชุม Aspen Security Forum ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อต้นเดือนนี้เพื่อให้สหรัฐฯ ใช้โอกาสเพื่อร่วมมือระดับภูมิภาค ในด้านต่างๆ เช่น การค้าดิจิทัลและการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“มีวาระสำคัญที่จะเกิดผลซึ่งจะช่วยเพิ่มความร่วมมือของเรา และผมมั่นใจว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีมายาวนานและมีหลายด้านของเราจะแข็งแกร่งขึ้นทุกปี” นายกรัฐมนตรีลีกล่าว โดยชี้ว่าการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวนับตั้งแต่ มีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯ กับสิงคโปร์ในปี 2004
สิงคโปร์เป็นนักลงทุนเอเชียรายใหญ่เป็นอันดับสองในสหรัฐอเมริกา โดยลงทุนในหุ้นโดยตรง 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (88.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) การลงทุนเหล่านี้และการส่งออกของสหรัฐฯ ไปยังสิงคโปร์สนับสนุนการจ้างงานในอเมริกามากกว่า 250,000 ตำแหน่ง
สิงคโปร์ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทสหรัฐเกือบ 5,500 แห่งอีกด้วย สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด โดยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในหุ้นโดยตรงมูลค่า 315 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าการลงทุนของสหรัฐฯ ในจีน อินเดีย และเกาหลีใต้รวมกัน
ความร่วมมือระดับภูมิภาคและความมั่นคง
ในด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคและความมั่นคง นายกรัฐมนตรีลีกล่าวว่า สิงคโปร์ชื่นชมการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในอาเซียนและการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค เช่น การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน และกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค(Asia-Pacific Economic Cooperation:APEC)
“เราทำงานร่วมกันในเวทีเหล่านี้ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของเราต่อการตกลงร่วมกันจากหลายฝ่ายเพื่อจัดการกับปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายกรัฐมนตรีลีกล่าวและชี้ว่า สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญและสร้างสรรค์ในด้านการป้องกันและความมั่นคงในภูมิภาคมาเป็นเวลากว่า 70 ปี
ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างทั้งสองประเทศ เป็นผลจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU) ปี 1990 ในเรื่องการใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในสิงคโปร์ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ได้รับอนุญาตจากกองทัพให้ใช้ฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศของสิงคโปร์ และในฐานะที่เป็นพันธมิตรความร่วมมือด้านความมั่นคงหลักของสหรัฐฯ สิงคโปร์ได้สนับสนุนกบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องผ่านคำพูดและการกระทำของตนเอง นายกรัฐมนตรีลีกล่าว
“เราทั้งสองประเทศมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งในประเด็นข้ามชาติ รวมถึงการก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการต่อต้านการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอำนาจทำลายสูง……ต่อมาเราเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดสรรบุคลากรและทรัพย์สินให้กับ Global Coalition to Defeat ISIS”
นายกรัฐมนตรีลีกล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศพันธมิตรในศูนย์ข้อมูลต่อต้านการก่อการร้ายพหุภาคีที่จัดตั้งขึ้นใหม่ของสิงคโปร์ และหน่วยงานข่าวกรองและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองฝ่ายมีการหารือกันเป็นประจำ
สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกามีการนัดหมายระดับสูงเป็นประจำภายใต้การบริหารของทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ล่าสุดในเดือนกันยายน 2019 นายกรัฐมนตรีลีได้เดินทางไปนิวยอร์กในลักษณะการเยือนของบุคคลสำาคัญจากต่างประเทศในระดับ หัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเขาได้เข้าพบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในขณะนั้น
ร่วมมือทางการค้า-โรคระบาด
ทั้งสองฝ่ายยังได้ประกาศข้อตกลงจำนวนมากเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ การระบาดใหญ่ และอวกาศ
ความคิดริเริ่มใหม่ เป็นความร่วมมือระหว่างพันธมิตรสหรัฐฯ กับสิงคโปร์เพื่อการเติบโตและนวัตกรรม ซึ่งจะเสริมสร้างความร่วมมือระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคในด้านการค้าและการลงทุน โดยเริ่มจากสี่เสาหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม การผลิตขั้นสูง และการดูแลสุขภาพ
“เรากำลังยกระดับแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับสิงคโปร์ในระดับ MOU ให้เป็นพันธมิตรเพื่อการเติบโตและนวัตกรรม( Partnership for Growth and Innovation) และกำลังจะสรุปความร่วมมือจาก MOU ในระยะแรกและขยายความร่วมมือในการผลิตขั้นสูงและเศรษฐกิจดิจิทัล” นายกรัฐมนตรีลีกล่าวในการแถลงข่าวร่วม
MOU ได้มีการลงนามในปี 2016 และต่ออายุในปี 2018 ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินการเพื่อสรุปการหารือเกี่ยวกับการเป็นพันธมิตรในปลายปีนี้
นายนกรัฐมนตรีลียังแสดงความยินดีกับการเจรจาด้านซัพพลายเชนซึ่งจะมีผู้นำรัฐบาลและอุตสาหกรรมร่วมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ ยังระบุข้อตกลงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ 3 ฉบับ ซึ่งสรุปโดยหน่วยงานด้านไซเบอร์ หน่วยงานกลาโหม และหน่วยงานด้านการเงินของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนความร่วมมือด้านการระบาดใหญ่ในการถอดรหัสพันธุกรรมและวิเคราะห์การระบาด
“การวิเคราะห์จะช่วยเร่งการระบุสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ใหม่ รวมถึงภัยคุกคามจากโรคอุบัติใหม่ และเสริมความพร้อมในระดับภูมิภาคสำหรับการระบาดใหญ่ในปัจจุบันและอนาคต” นายกรัฐมนตรีลีกล่าว
ในการตอบคำถามจากสื่อในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกัน นายกรัฐมนตรีลีกล่าวว่า สิ่งที่จะมีผลต่อการรับรู้ถึงการแก้ปัญหาและความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้ คือ สิ่งที่สหรัฐฯดำเนินการ รวมถึงการที่สหรัฐฯจะวางตำแหน่งตัวเองและมีส่วนร่วมกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ และพันธมิตรในภูมิภาค และการต่อสู้กับการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง
“และสหรัฐฯ ก็อยู่ในภูมิภาคนี้… เมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว มีขึ้นมีลง มีช่วงเวลาที่ยากลำบาก ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเอเชีย เกิดขึ้นจากอิทธิพลที่นุ่มนวลและสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในฐานะผู้ค้ำประกันความมั่นคงในภูมิภาคและผู้สนับสนุนความเจริญรุ่งเรือง”
“สิงคโปร์คาดหวังและทำงานบนพื้นฐานที่ว่าสหรัฐฯ จะยังคงมีบทบาทนั้นต่อไป และยังคงมีส่วนร่วมกับภูมิภาคนี้ต่อไปอีกหลายปี”
นางแฮร์ริสเชื่อว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินโดแปซิฟิกจะกำหนดอนาคตของโลก
นางแฮร์ริสกล่าวว่า ข้อตกลงที่สหรัฐฯ ได้ทำไว้กับสิงคโปร์และภูมิภาคนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและยั่งยืนทั่วโลก
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงการให้ความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ยังเกี่ยวข้องกับความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญในอนาคต เช่น การระบาดใหญ่ในอนาคต และสิ่งที่ประเทศต่างๆ สามารถร่วมกันทำการวิจัยและหยุดการระบาด
“นี่คือความสัมพันธ์ที่มีพื้นฐานมาจากวิสัยทัศน์ร่วมกัน ทั้งในแง่ของความท้าทายที่เราประสบ และโอกาสที่เราเผชิญ… เป็นเรื่องเกี่ยวกับอนาคตในแง่ของความมุ่งมั่นร่วมกัน ความอยากรู้ และความสนใจร่วมกันของเรา” นางแฮร์ริสกล่าว
“นี่คือสิ่งที่สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกามีเหมือนกัน และด้วยจุดประสงค์เดียวกัน และด้วยแนวทางที่คล้ายคลึงกันในความรับผิดชอบของเราที่มีต่อพลเมืองของเรา และความรับผิดชอบของเราในฐานะพลเมืองโลก… เราจะยังคงเป็นพันธมิตรในลักษณะที่เป็นประโยชน์ไม่เพียงแต่ชาวสิงคโปร์และชาวอเมริกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย”
นอกจากการพบปะกับนายกรัฐมนตรีลีแล้ว นางแฮร์ริสมีกำหนดเยือนฐานทัพเรือชางงีและเรือรบ USS Tulsa ซึ่งเป็นเรือรบแนวชายฝั่งของสหรัฐฯ ซึ่งเทียบท่าเพื่อการฝึกร่วมกัน
ในวัน 24 สิงหาคม นางแฮร์ริสมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับนโยบายและเข้าร่วมการเสวนากับกลุ่มนักธุรกิจ