ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่มาไทย?

ทำไมรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่มาไทย?

21 สิงหาคม 2021


กวี จงกิจถาวร

คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ: https://twitter.com/KamalaHarris/header_photo

รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) มีกำหนดเดินทางเยือนสิงคโปร์และเวียดนามอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 22 ถึง 26 สิงหาคมนี้ เพียงสองประเทศในอาเซียน

ประเด็นน่าสนใจคือว่า ทำไมแฮร์ริสไม่แวะมาไทย ทั้งๆ ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสิงคโปร์และเวียดนาม นอกจากนั้นไทยยังเป็นพันธมิตรและมิตรสหายที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ (old and great) ของสหรัฐอเมริกามานานถึง 203 ปี

ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) ได้เดินทางมาเยือนสิงคโปร์และเวียดนามเช่นกัน ไม่ได้แวะมาไทย ทั้งๆ ที่ไทยกับสหรัฐอเมริกามีแผนร่วมฝึกคอบร้าโกลด์ใกล้กับช่วงที่ออสตินเดินทางมาพอดีคือวันที่ 3-15 สิงหาคม ปรากฏว่าการฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้ ไม่มีการประโคมข่าวแต่อย่างไร ตามจริงน่าจะเป็นปีที่ยิ่งใหญ่เฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีของคอบร้าโกลด์

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังส่งสัญญานชัดเจนมายังไทยว่า ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไทยที่เคยมีต่อสหรัฐอเมริกานั้นได้ลดน้อยลง ไม่เหมือนสมัยสงครามเย็น ยิ่งในช่วงเวลานี้สหรัฐอเมริกามีตัวเลือกเยอะกว่า ขณะนี้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นดาร์ลิงของสหรัฐอเมริกา

น่าจะเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลไทยและกองทัพไทยจะพิจารณาดูตัวเอง ประเมินทบทวนสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐอเมริกาเสียใหม่อย่างบูรณาการ ที่ผ่านมาฝ่ายไทยไม่ได้เอาใจใส่มากนัก เพราะการเมืองภายในของไทยไม่มีเสถียรภาพมาตลอด นอกจากนั้น สัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกายัง เป็นเรื่องที่แปลก มักมีข่าวลือผสมผสานกับทฤษฎีสมคบคิดในโซเชียลมีเดียอยู่สม่ำเสมอว่า สหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โน้นเหตุการณ์นี้ที่ไม่ปกติภายในประเทศไทย ทำให้คุยกันเรื่องที่เป็นแก่นสารยุ่งยาก

สาเหตุหลักที่สหรัฐอเมริกาเข้าหาสิงคโปร์กับเวียดนามคือท่าทีของสองประเทศนี้แข็งกร้าวต่อจีน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเคยรบกับจีนมาแล้ว (อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนามบอกกับผู้เขียนในปี 1988 ตอนเปิดสำนักข่าวเดอะเนชั่นที่กรุงฮานอยว่า เวียดนามรบกับจีนมาทะเลทั้งหมด 77 ครั้ง และเวียดนามชนะ 44 ครั้ง)

ผู้นำเวียดนามต้องการต้านอำนาจและการขยายอิทธิพลจีนในภูมิภาค ถึงแม้นว่าสหรัฐอเมริกาเคยเป็นศัตรูต่อสู้รบกันในสงครามเวียดนาม แต่ตอนนี้ทั้งสองประเทศกลับมาญาติดีกัน เนื่องจากมีศัตรูร่วมกันคือจีน ในยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกากับไทยมีศัตรูร่วมกันคือคอมมิวนิสต์

Kamala Harris ที่มาภาพ: https://twitter.com/VP/status/1408507380418109442/photo/1

ส่วนสิงคโปร์นั้นเน้นนโยบายสนับสนุนท่าทีสหรัฐอเมริกาในทุกมิติ เพราะถือว่าประเทศเล็กต้องเอามหาอำนาจอย่างระดับอภิมหาอำนาจมาเป็นเกราะกำบัง ผู้นำสิงคโปร์ทั้งปวงมาจากพรรคพีเพิลแอ็กชันปาร์ตี้ มีความคิดเห็นทางความมั่นคงและยุทธศาตร์แบบเดิม ไม่มีประเด็นต่าง เป็นพรรคเดียวกุมอำนาจบนเกาะแห่งนี้มาตลอด หลังประกาศอิสระภาพออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียในปี 1963

สิงคโปร์พยายามเชียร์สหรัฐอเมริกาเพิ่มดีกรีการพัวพันทางด้านความมั่นคงกับภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น สิงคโปร์ให้ทหารสหรัฐอเมริกาใช้ท่าเรือในประเทศเป็นที่พักพิง เสริมกำลังหรือแวะเติมเชื้อเพลิงตลอดเวลาจนกลายเป็นพันธมิตรเสมือนจริง (virtual alliance) ไปแล้ว ในมุมมองนี้สิงคโปร์มีค่าทางยุทธศาตร์มากกว่าไทย

ในช่วงที่ผ่านมา หกเจ็ดปี สัมพันธ์ไทยกับสหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทั้งทางด้านนโยบายและสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทางพลเรือนและทหาร การยึดอำนาจในปี 2014 เป็นตัวแปรหลักทำให้ความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือซึ่งกันและกันได้ลดถอยลงไปมาก อย่าลืม ไทยเคยเป็นประเทศที่ถูกกล่าวขวัญในแง่ดีอยู่เสมอว่าเป็นตัวอย่างสังคมเปิดมีประชาธิปไตย ถึงแม้นจะครึ่งใบก็ตาม มีสื่อเสรี มาตอนนี้คุณสมบัติเหล่านี้ถูกลบเลือนไปหมด

ตามจริงไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเสรีประชาธิปไตย แต่บังเอิญไทยได้เกรดไม่ดีพอ จึงสอบไม่ผ่านต้องสอบซ่อมหลายวิชา เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยใหญ่เป็นที่สามของโลกก็ยังมีบางวิชาที่สอบยังไม่ผ่าน เช่น ไม่เคารพสิทธิของกลุ่มรักเพศเดียวกัน เป็นต้น

สัมพันธ์ไทยกับสหรัฐอเมริกามีความมั่นคงเป็นตัวขับเคลื่อนมาตลอด ในบางสมัยเรื่องการค้าถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นต่อรองทางการเมือง เนื่องจากไทยได้ดุลการค้าสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงต้องหมายหัวประเทศไทยให้เปิดตลาดทางด้านบริการและอื่นๆ มากขึ้น ช่วงหลังสหรัฐอเมริกาเล่นรัฐบาลไทยหนักเรื่องเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าในทางที่ดีเพราะมีการลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายอย่างจริงจัง

Kamala Harris ที่มาภาพ : https://twitter.com/VP/status/1399764650791739394/photo/2

ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐอเมริกามียังเรื่องปลีกย่อยมากมาย บังเอิญมีมิตรภาพที่เก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในยุคของโรคโควิด-19 ระบาด สิ่งท้าทายใหม่ๆ กำลังเข้ามาสั่นคลอนความร่วมมือในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นความสัมพันธ์กับจีน เพราะไทยและสหรัฐอเมริกาอยู่กันคนละขั้ว คามาลาจึงแวะสองประเทศที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์

ในอนาคต ไทยอาจจะลดการพึ่งพาสหรัฐอเมริกาทางด้านความมั่นคง เพิ่มความหลากหลายในความร่วมมือด้านนี้กับประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ที่สามารถเพิ่มศักยภาพทางด้านทหารและความมั่นคงของเราได้