รายงานโดย อิสรนันท์
ทั่วโลกต่างเสียวสันหลังวูบเมื่อคิดว่านิทานอิสปภาคพิสดารเรื่อง “พญาอินทรีกระหายเลือดกับลูกแกะผยอง” กำลังจะบังเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามา สวมบทอินทรีอหังการ ประกาศจะทำสงครามจำกัดเขตสั่งสอนประธานาธิบดีบาชาร์ ฮาเฟซ อัล อัสซัด แห่งซีเรีย โทษฐานบังอาจกวนน้ำที่ปลายน้ำให้ขุ่นไปจนถึงต้นน้ำ จากกรณีใช้อาวุธเคมีรวมทั้งก๊าซพิษซารินโจมตีที่มั่นฝ่ายกบฏบริเวณชานกรุงดามัสกัสเมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,429 ราย ในจำนวนนี้รวมไปถึงเด็ก 426 ราย โดยก๊าซพิษซารินที่สหรัฐอ้างว่ารัฐบาลซีเรียใช้สังหารประชาชนนั้นเป็นก๊าซพิษแบบเดียวกับที่อดีตสาวกกลุ่มคลั่งศาสนาลัทธิโอมชินริเกียวหรือลัทธิปรมัตถ์สัจจะในญี่ปุ่นใช้สังหารเพื่อนร่วมชาติที่โดยสารรถไฟฟ้าเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บกว่า 6,000 คน
นายโอบามาซึ่งอ้างแต่เพียงข้อมูลข่าวกรองที่เชื่อถือได้โดยปราศจากหลักฐานใดๆ มายืนยันยังกล่าวด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวว่า การกระทำของรัฐบาลซีเรียส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ รวมถึงความมั่นคงของประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง อาทิ อิสราเอล จอร์แดน ตุรกี เลบานอน และอิรัก ทั้งนี้ การสั่งสอนซีเรียอย่างเบาะๆ โดยจะไม่ส่งกำลังบุกทางภาคพื้นดิน ก็เพื่อบีบบังคับให้นายอัสซัดต้องรับผิดชอบกับการใช้อาวุธเคมี ตลอดจนลดขีดความสามารถของซีเรียไม่ให้ใช้อาวุธเคมีซ้ำอีก เพราะเท่ากับกระตุ้นให้มีการแข่งขันกันพัฒนาและสะสมอาวุธเคมีทั่วโลก จนอาจทำให้อาวุธร้ายแรงชนิดนี้ตกไปถึงมือของกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงในวงการทหารเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ยุทธการสั่งสอนนายอัสซัดนั้นจะใช้กองเรือรบสหรัฐฯที่ทยอยไปเสริมกำลังนอกชายฝั่งซีเรียและที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นหลักในการยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์กโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในซีเรีย ขณะนี้ เรือพิฆาตของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ไปประจำการที่น่านน้ำแถบนั้น 6 ลำ แล้ว อาทิ เรือพิฆาตซาน อันโตนิโอ ซึ่งเป็นเรือพิฆาตสะเทินน้ำสะเทินบกพร้อมนาวิกโยธิน 300 คน ได้เดินทางมาจากทะเลแดงไปเสริมกำลังที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้วจากขณะนี้ที่มีเรือพิฆาตสเตาท์, มาฮาน, เกรฟลี, แบร์รี และ มิราจ ประจำการอยู่ รวมแล้วมีขีปนาวุธโทมาฮอว์กพร้อมปฏิบัติการทันทีถึง 200 ลูก นอกจากนี้ เรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ นิมิตซ์ พร้อมเรือบริวาร ประกอบด้วยเรือพิฆาต 4 ลำ และเรือลาดตระเวน 1 ลำ ก็ยังมุ่งหน้าไปจ่อคอหอยซีเรียเพิ่มอีกลำหนึ่ง
พันธมิตรไม่เล่นด้วย
อย่างไรก็ดี ปฎิบัติการสายฟ้าแลบเพื่อถล่มซีเรียแต่ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ พลันสะดุดกึกอย่างคาดไม่ถึง เป็นเหตุให้สายเหยี่ยวในทำเนียบขาวต้องชะลอแผนนี้ออกไปชั่วคราวระหว่างปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยกระหยิ่มใจว่าแผนขย้ำลูกแกะตัวนี้คงจะสำเร็จสมประสงค์เหมือนกับที่เคยขย้ำลูกแกะอิรักจนแหลกยับเยินเมื่อสิบปีที่แล้ว
โดยจุดผกผันสำคัญมาจากการที่สมาชิกรัฐสภาอังกฤษได้ลงมติ 285 ต่อ 272 เสียง คัดค้านการใช้มาตรการทางทหารเข้าแทรกแซงซีเรียที่นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรี ได้ยื่นญัตติเสนอให้พิจารณา ปรากฏว่าเสียงคัดค้านส่วนหนึ่งมาจาก ส.ส. พรรคอนุรักษนิยมซึ่งเป็นพรรครัฐบาลถึง 30 เสียง อีก 32 คน รวมถึงรัฐมนตรี 10 คน งดออกเสียง ทั้งๆ ที่อดีตเมืองแม่ในยุคของนางสิงห์เหล็กมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ยอมให้ลูกชายผู้ยิ่งใหญ่อย่างประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน กับประธานาธิบดีจอร์จ บุช ช่วยกันร่วมทำสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก เรื่อยมาจนถึงยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่จูงมือนายโทนี แบลร์ ทำสงครามบุกอิรักล้มรัฐบาลประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จว่าเตรียมการพัฒนาอาวุธที่มีประสิทธิภาพทำลายล้างสูง
มติของรัฐสภาอังกฤษครั้งนี้เท่ากับปล่อยเกาะอินทรีผยองอเมริกาให้ต้องลอยคอกลางทะเลคลั่งตามลำพัง เนื่องจากจีน รัสเซีย และเยอรมนี ต่างประกาศท่าทีชัดเจนก่อนหน้านี้ว่าคัดค้านแผนโจมตีซีเรีย ขณะที่ภาคีสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยืนยันว่าต้องได้รับอาณัติจากสหประชาชาติก่อนเท่านั้น เท่ากับว่าขณะนี้มีแดนคอนยัคฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคมของซีเรียเพียงประเทศเดียวที่ประกาศจะร่วมมือกับสหรัฐฯ โจมตีอดีตประเทศอาณานิคมของตัวเอง ท่าทีนี้สวนทางกับจุดยืนดั้งเดิมของแดนตราไก่ที่เคยคัดค้านสหรัฐฯ คราวกรีฑาทัพไปโจมตีอิรักเมื่อสิบปีที่แล้วและจับประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน มาแขวนคอสนองนโยบายแข็งกร้าวของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ต้องการจัดระเบียบโลกใหม่ใต้อุ้งมือของอินทรีอหังการอเมริกา
“มิตรในยามยากคือมิตรแท้” ตอนนี้ทำเนียบขาวจึงหันมาโอ๋ฝรั่งเศสยกใหญ่ ยกย่องว่าเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุด ทำเป็นลืมคราวที่เคยประกาศตัดเป็นตัดตายกับแดนคอนยัคเมื่อสิบปีที่แล้ว ถึงขั้นมีการรณรงค์ให้เลิกเสิร์ฟเลิกกิน “เฟรนช์ฟราย” เพราะเป็นชื่อฝรั่งเศสขนานแท้กันเลยทีเดียว
นอกเหนือจากถูกรัฐสภาแดนผู้ดีกำราบแล้ว ท่าทีแข็งกร้าวของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งแดนหมีขาวรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของซีเรียที่ยืนกรานว่าปัญหานี้เป็นปัญหาภายในของซีเรียที่สหรัฐฯไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย มีส่วนทำให้นายโอบามาต้องชะลอแผนสั่งสอนนายอัสซัดออกไปก่อน นายปูตินยังได้พูดดักคอนายโอบามาว่า ถ้าหากมีหลักฐานจริงทำไมจึงไม่รีบนำหลักฐานนั้นไปมอบให้กับคณะตรวจสอบอาวุธของยูเอ็นที่กำลังตำรวจอาวุธอยู่ในซีเรียในขณะนั้น ไม่ใช่ไปบีบให้ผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นต้องรีบเดินทางออกจากซีเรียทั้งที่ยังปฏิบัติภารกิจไม่ลุล่วง
บุรุษเหล็กแห่งทำเนียบวังเครมลินยังได้ประชดประชันนายโอบามาว่าควรทำตัวให้เหมาะสมกับการเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2552 เพราะต้องตระหนักให้ดีว่าหากโจมตีซีเรียเมื่อใดหมายถึงจะต้องมีประชาชนผู้บริสุทธิ์ล้มตายจำนวนมาก แต่ผู้นำวังเครมลินยังคงสงวนท่าทีไม่ยอมแบไต๋ว่าหากพันธมิตรของแดนหมีขาวถูกพญาอินทรีสหรัฐฯโจมตี รัสเซียจะตอบโต้หรือไม่และด้วยวิธีการใดเพื่อช่วยเหลือพันธมิตรรายใหญ่ และเพื่อคงอิทธิพลของรัสเซียในตะวันออกกลาง ตลอดจนรักษาที่มั่นสำคัญในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไว้ต่อไป
ย้อนรอยโกหกคำโตบุกอิรัก
สิ่งที่สายเหยี่ยวในทำเนียบขาวพลาดไประหว่างวางแผนขย้ำลูกแกะซีเรีย ก็คือการลืมคิดไปว่าทั่วโลกยังไม่ลืมภาพสยดสยองของการขย้ำอิรักอย่างตะกละตะกลาม ตามด้วยการไล่ล่าและสังหารพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบียอย่างน่าอเนจอนาถ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในอิรักหรือในตะวันออกกลางได้ ทุกวันนี้ยังคงเป็นภาระหนักหน่วงที่แดนอินทรีต้องกล้ำกลืนแบกรับไว้ เหมือนกับสมัยหนึ่งที่ต้องแบกรับผลพวงจากการติดหล่มสงครามในเวียดนาม
และที่ประชาคมโลกรวมไปถึงพันธมิตรของสหรัฐฯเองไม่มีวันลืมเลือนเป็นอันขาดก็คือ การสำนึกว่าถูกประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช หลอกใช้ด้วยการโกหกคำโตอย่างหน้าซื่อตาใสว่าประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ได้แอบพัฒนาอาวุธที่มีประสิทธิภาพทำลายล้างสูง ไม่ว่าจะเป็นอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ ขีปนาวุธพิสัยไกล รวมไปถึงการเตรียมผลิตระเบิดนิวเคลียร์ จนประชาคมโลกรวมไปถึงสื่อใหญ่น้อยและมะกันชนหลายล้านคนต่างหลงเชื่อ เห็นชอบให้ยกพลไปบุกยึดอิรักและจับตัวนายซัดดัมมาสำเร็จโทษ
กว่าความจริงจะปรากฏก็สายเกินการณ์ไปเสียแล้ว เมื่อมีการตีแผ่ในภายหลังว่าข้ออ้างของนายบุชนั้นเป็นเท็จทั้งเพ ทั้งจากคำให้การของอดีตซีไอเอ ทั้งจากผลการตรวจสอบของทีมตรวจสอบอาวุธของสหประชาชาติ และจากเอกสารต่างๆ ที่ยึดได้หลังการโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ที่ล้วนชี้ไปในทางเดียวกันว่านายซัดดัมได้ยกเลิกแผนจะผลิตอาวุธทำลายล้างสูงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 แล้ว จนไม่ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงในตะวันออกกลางหรือต่อโลกตามที่สหรัฐฯ แอบอ้างแต่อย่างใด อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซีไอเอบางคนยังรับสารภาพหลังจากนั้นว่าจำใจต้องปั้่นหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ทำเนียบขาวใช้เป็นข้ออ้างที่จะกรีฑาทัพไปยึดอิรักโดยชอบธรรม
แต่ 10 ปีให้หลัง ผู้นำทำเนียบขาวอย่างประธานาธิบดีบารัก โอบามา กลับหยิบวาทกรรมนั้นมาปัดฝุ่นใช้อีกครั้ง ใส่ไคล้ซีเรียด้วยหลักฐานที่เบาบางขาดความน่าเชือถือว่าใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชนเพื่อเป็นข้ออ้างที่จะทำสงครามจำกัดเขตกับซีเรีย โดยลืมคิดไปว่าทั่วโลกต่างเข็ดหลาบกับการถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือถล่มอิรัก จึงไม่ผลีผลามปักใจเชื่อคำของเด็กเลี้ยงแกะอีกแล้วหากยังไม่มีหลักฐานมายืนยัน
จากผลสำรวจล่าสุดของเอ็นบีซี นิวส์ ชี้ว่ามะกันชนมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อซีเรีย เทียบกับ 42 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นชอบด้วย แต่เมื่อถามความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่า ถ้าจะจำกัดเขตในการใช้ปฏิบัติการทางทหาร อาทิ โจมตีด้วยขีปนาวุธ ปรากฏว่ามีคนเห็นด้วยมากขึ้น
จับผิดโอบามา “ปั้นน้ำเป็นตัว”
นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาคมโลกต่างไม่เชื่อนายโอบามาก็คือการจับผิดตัวเลขที่นายโอบามา “ปั้นน้ำเป็นตัว” ว่าไม่สมเหตุสมผล กรณีกล่าวหานายอัสซัดว่าเป็นคนสั่งการให้ทหารและตำรวจสังหารฝ่ายตรงข้ามถึงกว่า 100,000 คน ตลอดช่วง 29 เดือนที่ผ่านมา ขนาดนำตัวเลขเหยื่อชาวอิรักในยุคของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสซัน เหยื่อชาวลิเบียในยุคของพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี และเหยื่อบริสุทธิ์จากน้ำมือการก่อการร้ายจากกลุ่มอัล ไกดา ใต้การนำของนายโอซามา บิน ลาเดน มารวมกันก็ยังไม่ถึงครึ่งของชาวซีเรียที่นายโอบามาบอกว่าถูกนายอัสซัด สังหารในช่วงแค่ 2 ปีครึ่งเท่านั้น
ยิ่งถ้าย้อนดูประวัติของนายอัสซัด วัย 47 ปีด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำใจให้เชื่อง่ายๆ ว่าเป็นทรราชย์ผู้เหี้ยมโหด กระหายเลือด และบ้าดีเดือดถึงขั้นกล้ากระตุกหนวดเสืออย่างประธานาธิบดีบารัก โอบามา แบบเดียวกับที่ซัดดัม ฮุสเซน หรือโมอัมมาร์ กัดดาฟี และโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มอัลไกดา เคยทำมาก่อน และต่างถูกสั่งสอนจนมีอันด่าวดิ้นอย่างน่าสยดสยองยิ่ง
จะว่าไปแล้ว ชีวิตที่เลือกไม่ได้ของนายอัสซัดก็คล้ายกับนายราชีพหรือราจิฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีแดนภารตะอินเดียที่ถูกกบฏทมิฬลอบสังหารดับอนาถ ในฐานะลูกชายคนที่ 2 ของประธานาธิบดีฮาเฟซ อัสซัด ผู้นำตลอดกาลของซีเรียซึ่งปกครองประเทศด้วยกำปั้นเหล็กมานาน 30 ปี ตราบจนสิ้นชีวิตเมื่อกลางปี 2543 นายอัสซัดจึงไม่เคยวาดฝันจะเล่นการเมืองหรือก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ตรงกันข้ามกลับมุ่งมั่นเรียนแพทย์ กระทั่งสำเร็จการศึกษาแพทยศาตร์ที่มหาวิทยาลัยดามัสกัส จากนั้นได้ไปประจำการที่โรงพยาบาททหารนอกกรุงดามัสกัส ก่อนจะเดินทางไปดูงานเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลจักษุในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
แต่เมื่อนายบาสเซล พี่ชายคนโตซึ่งเป็นทายาทการเมืองของพ่อมีอันล่วงลับจากอุบัติเหตุ ดอกเตอร์บาชาร์ อัล อัสซัด จึงถูกเรียกตัวกลับกรุงดามัสกัสเพื่อเตรียมตัวเป็นทายาทการเมืองของพ่อ ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปยิ่งกว่าหน้ามือเป็นหลังมือ จากนายแพทย์กลับต้องไปเรียนวิชาทหารเพิ่มเติมที่เมืองฮอมส์ ทางตอนเหนือของกรุงดามัสกัส จากนั้นก็ได้เลื่อนยศสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนมียศเป็นถึงพันเอกภายในช่วง 5 ปีเท่านั้น และระหว่างนั้นทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับประธานาธิบดีฮาเฟซผู้เป็นพ่อ
เมื่อประธานาธิบดีฮาเฟซ อัสซัด เสียชีวิตเมื่อกลางปี 2543 นายบาชาร์ อัล อัสซัด ซึ่งมีอายุแค่ 34 ปี ก็ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน เพราะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำรุ่นใหม่ มีการศึกษาดี ทุกคนจึงต่างหวังว่านายอัสซัดจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นายอัสซัดเองก็กระตือรือล้นที่จะเปลี่ยนแปลงซีเรียให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นตามไปด้วย นอกเหนือจากให้สัญญาจะปราบการทุจริตคอร์รัปชัน และจะนำพาซีเรียให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เนต และโทรศัพท์มือถือภายในศตวรรษที่ 21
แต่ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศมีแต่เลวร้ายลงโดยเฉพาะเมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอดีตสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายแล้ว หนำซ้ำยังถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในตะวันออกกลางและตะวันตก สืบเนื่องจากการสานต่อนโยบายต่างประเทศของพ่อในส่วนของอิสราเอลที่มีความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ความสัมพันธ์กับเลบานอนที่เสื่อมทรามลงเมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการลอบสังหารนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุน กล่มติดอาวุธต่างๆ อาทิ กลุ่มฮามาส กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ และอิสลามิกจิฮัด แต่ซีเรียปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น
แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ สหรัฐฯ และสื่อตะวันตกจับมือกันใส่ร้ายป้ายสีนายอัสซัดมาตลอดโดยเฉพาะการประนามว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการจับกุมคุมขัง ทรมาน และสังหารผู้มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล การโจมตียิ่งหนักข้อมากขึ้นในช่วงที่เกิดปรากฎการณ์ “อาหรับสปริง” ขึ้นในตะวันออกกลางเมื่อปี 2554 ระหว่างนั้นชาวซีเรียกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวประท้วงเรียกร้องให้นายอัสซัดลาออกจนเกิดปะทะกับตำรวจที่เข้าไปคุมสถานการณ์ ช่วงนั้นสื่อตะวันตกโหมประโคมข่าวใหญ่ว่าการปราบปรามเป็นไปอย่างโหดเหี้ยม มีคนตายเป็นร้อยเป็นพันแล้วเพิ่มเป็นหมื่นจนถึงหลักแสน กระทั่งนายอัสซัดเหลืออดให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เอบีซีของสหรัฐฯ ว่ามีผู้นำที่บ้าอำนาจเท่านั้นที่เข่นฆ่าประชาชนเช่นนั้น
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนฟันธงว่าในสายตาของสายเหยี่ยวในทำเนียบขาวแล้ว ความผิดร้ายแรงเพียงประการเดียวของนายอัสซัดก็คือเป็นมิตรกับอิหร่าน อภิมหาศัตรูของแดนอินทรี เข้าตำรา “มิตรของศัตรูเท่ากับศัตรู” โดยแท้ และหากจะบุกยึดอิหร่านให้ได้หมายถึงต้องผ่านปราการด่านสุดท้ายคือซีเรียก่อนเท่านั้น
เตือนโอบามาได้ไม่คุ้มเสีย
นักการทูตและผู้สันทัดกรณีในตะวันออกกลางหลายคนต่างเตือนนายโอบามาว่าอาจได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะการมองข้ามผลกระทบที่คาดไม่ถึง เช่น กระแสต่อต้านสหรัฐฯ และตะวันตกที่อาจลุกโชนขึ้นอีกครั้ง และอาจบานปลายกลายเป็นโดมิโนลุกลามไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตุรกีและอิสราเอล ทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางเต็มไปด้วยเปลวสงครามที่สหรัฐเป็นผู้ก่ออีกครั้ง ที่สำคัญก็คือไม่มีใครเดาใจนายอัสซัดได้ว่าจะตอบโต้เช่นใด โดยเฉพาะการตอบโต้ด้วยวิธีการที่เหนือความคาดหมายจนสหรัฐฯ ยากจะรับมือได้ เพราะนายอัสซัดอาจอ้างได้ว่าเป็นเหยื่อการรุกรานอธิปไตยและการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ จนเรียกคะแนนเห็นใจจากประชาคมโลกได้ไม่น้อย
นายไรอัน ซี. คร็อกเกอร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำซีเรียและเลบานอนยังเตือนว่าสหรัฐฯ ไม่ควรลืมบทเรียนครั้งสำคัญที่ได้รับจากสงครามในอิรักเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นั่นคือความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงที่มาจากการประเมินผิดพลาดของหน่วยข่าวกรอง ทำให้สถานการณ์ในอิรักแทบไม่ดีขึ้นแม้แต่น้อยแม้นายซัดดัมจะถูกแขวนคอแล้วก็ตาม นอกจากนี้ นายโอบามาและสายเหยี่ยวในทำเนียบขาวจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อพันธมิตรในภูมิภาคด้วย เพราะอาจเปิดช่องให้กลุ่มก่อการร้ายอัล ไกดา และกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงอื่นๆ อาทิ กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลซีเรีย รวมไปถึงอาจบังคับทางอ้อมให้อิหร่านแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นแม้ว่าผู้นำคนใหม่จะมีนโยบายเปิดกว้างมากขึ้นก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมอิหร่านได้ขู่จะโจมตีอิสราเอล หากนายอัสซัดตกอยู่ในอันตรายจากน้ำมือของสหรัฐ
อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำซีเรียและเลบานอนยังได้เสนอทางออกว่านายโอบามาควรจะหาแนวทางอื่นที่ดีและเหมาะสมกว่าการคิดจะใช้กำลัง ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาตามที่คิดไว้หรือไม่
โอบามาถอยตั้งหลักใหม่
ไม่ว่าจะเป็นผลพวงจากการถูกพันธมิตรโดดเดี่ยวไม่ยอมร่วมวงศ์ไพบูลย์ด้วย หรือผลจากการเปิดใจรับฟังคำเตือนรอบด้าน หรือผลจากการถอยมาตั้งหลักใหม่ หรือเพื่อหาทางลงอย่างสวยงามหรือในทางกลับกันคือหาทางเพิ่มอำนาจล้นฟ้ามากขึ้น นายโอบามาได้โยนเผือกร้อนไปให้รัฐสภาพิจารณาว่าจะอนุมัติให้โจมตีซีเรียหรือไม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยากจะทำนายได้ว่าผลจะเป็นบวกหรือลบ เนื่องจากนายโอบามาเองมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับบรรดาสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรครีพับลิกัน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นว่าจะตกที่นั่งเดียวกันกับนายเดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ซึ่งแม้จะเทใจเต็มร้อยสนับสนุนให้โจมตีซีเรีย แต่ถูกรัฐสภามัดมือมัดเท้าไม่ให้ทำอะไรดังใจนึก
อย่างไรก็ดี นายโอบามาก็เตรียมทางหนีทีไล่ไว้พร้อมแล้ว อ้างว่าประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งโจมตีในเวลาใดก็ได้ ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมและความมั่นคงของประเทศ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภาก่อน แต่ในเมื่อรัฐสภาอยากจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ตัวเองก็ไม่ขัดข้องเพราะอยากให้เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของตัวแทนประชาชนชาวอเมริกันในรัฐสภา ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่านายโอบามากำลังทิ้งไพ่สำคัญเดิมพันว่ารัฐสภาจะไฟเขียวเห็นชอบเพิ่มอำนาจให้ตัวเองในการทำสงครามจำกัดเขตกับซีเรียหรือไม่ ถ้าหากเห็นชอบ นายโอบามาก็จะมีอำนาจชอบธรรมมากขึ้นในการสั่งการต่างๆ
เท่าที่ผ่านมา รัฐสภาเคยมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีในการประกาศสงคราม 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเห็นชอบในมติอ่าวตังเกี๋ยเมื่อปี 2508 ไฟเขียวให้สหรัฐฯ กระโจนเข้าสู่สงครามเวียดนามเวียดนาม อีกมติหนึ่งมีขึ้นเมื่อปี 2554 ให้อำนาจในการใช้กำลังทหารตอบโต้วินาศกรรมโจมตีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ทั้งสองมาตรการนี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวกระฉ่อนไปทั้งเมืองว่าบรรดาประธานาธิบดีต่างใช้อำนาจกันเกินเลยขอบเขตที่ให้ไว้
ขณะที่รัฐสภาสหรัฐฯ เองต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลข่าวกรอง เพราะเกรงว่าสหรัฐฯ จะถูกลากเข้าสู่สงครามยืดเยื้อเพียงเพราะข้อมูลผิดๆ เหมือนกรณีอิรัก