ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน สิงคโปร์ประสบกับภาวะน้ำท่วมฉับพลันเพราะฝนตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้เจ้าหน้าที่จากสถานีดับเพลิงชางงีต้องเร่งรุดไปให้ความช่วยเหลือชาวเมืองที่กำลังสัญจรและติดอยู่ในกระแสน้ำรอบๆ สถานี
คณะกรรมการสาธารณูปโภคสาธารณะ (Public Utilities Board — PUB) ได้ระดมทีมเฉพาะกิจเพื่อให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากมีหลายพื้นที่ที่ประสบกับน้ำท่วมฉับพลัน นอกจากนี้ ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักยังทำให้ต้นไม้ริมทางด่วนหักโค่นล้ม
ในวันที่ 23 มิถุนายน 2020 ฝนตกหนักโดยมีระดับน้ำฝนที่วัดได้ถึง 108 มิลลิเมตร ในเบโดะก์ใต้ ช่วงเช้าเวลา 7.10-9.05 น. ซึ่งสูงเกินครึ่งของค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนในของเดือนมิถุนายนทั้งเดือน และมีปริมาณน้ำมากถึงสระว่ายน้ำโอลิมปิก 880 สระ อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำที่เอ่อท่วมอย่างฉับพลันในบางพื้นที่ได้ลดลงภายใน 10-20 นาที และลดลงหมดทุกพื้นที่ในหนึ่งชั่วโมง
ไม่เพียงทีมเฉพาะกิจของ PUB เท่านั้นที่ได้ออกไปให้ความช่วยเหลือทันทีในทุกพื้นที่ ยังมีทีมจาก Singapore Civil Defence Force (SCDF) หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาด้านอัคคีภัยและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายใต้การดูแลของ Ministry of Home Affairs (กระทรวงกิจการภายใน เทียบได้กับกระทรวงมหาดไทยของไทย) ที่ได้ออกไปให้ความช่วยเหลือเคลื่อนย้ายรถยนต์ที่จมน้ำ
ก่อนหน้านี้ ฝ่ายงานด้านอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Service Singapore — MSS) ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency) ได้พยากรณ์ว่า ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนสิงคโปร์จะมีฝนฟ้าคะนองในช่วงสายและช่วงบ่ายของวัน ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดผ่านตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งจะส่งผลให้ในบางวันมีฝนฟ้าคะนองไปจนถึงช่วงบ่าย
MSS ยังคาดว่า ฝนที่ตกในเดือนมิถุนายนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ
ท่วมซ้ำซากจากฝนตกแรงและตกหนัก
ทุกปีเมื่อเข้าสู่ช่วงมรสุม เริ่มเป็นสัญญานให้สิงคโปร์เตรียมพร้อมและเฝ้าระวังกับภาวะน้ำท่วมฉับพลัน เพราะมีฝนตกมากขึ้น และในช่วงหลายปีนี้สิงคโปร์ประสบกับภาวะน้ำท่วมฉับพลันหลายครั้ง ถนนเบโดะก์สาย 4 และทางแยกถนนชางงีตอนบนที่น้ำท่วมสูงในปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เคยประสบกับน้ำท่วมในลักษณะเดียวกันมาแล้วในปี 2018
วันที่ 8 มกราคม 2018 น้ำท่วมฉับพลันใน 9 พื้นที่ ทางด้านตะวันออกเพราะฝนตกแรงและหนัก ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาภายใน 4 ชั่วโมงมีมากพอๆ กับค่าเฉลี่ยของเดือนมกราคมทั้งเดือน และบางพื้นที่ยังประสบกับกระแสน้ำทะเลหนุน
ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้สูงสุดในเช้าวันนี้อยู่ที่ 118.8 มิลลิเมตร โดยฝนตกแรงสุด 56 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงในเวลา 8.00-8.30 น. อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำท่วมได้ลดลงภายในเวลา 15 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
ออร์ชาร์ด ถนนชอปปิงที่มีชื่อเสียง ก็ประสบกับน้ำท่วมฉับพลันในวันที่ 26 เดือนพฤษภาคม 2018
PUB ทวีตเตือนประชาชนให้เลี่ยงการเข้าพื้นที่และเลี่ยงการใช้เส้นทางถนนใกล้เคียง แต่หลังจากนั้นแจ้งว่าน้ำลดลงภายใน 10 นาที รวมทั้งระบุว่าถนนบางเส้นทรุดตัวลง ซึ่งอาจจะต้องประเมินความเป็นไปได้ในการยกระดับถนนขึ้น นอกจากนี้ยังเตือนเรื่องน้ำท่วมสูงในพื้นที่อื่นของตอนกลางหลังจากฝนตกทั่วประเทศ
ถนนออร์ชาร์ดประสบปัญหาน้ำท่วมหลายรอบในช่วงปี 2010-2012
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2018 ฝนที่ตกหนักก็ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ หลังจากที่วันก่อนหน้าเกิดน้ำท่วมฉับพลันในทางฝั่งตะวันตก
นอกจากนี้ระดับน้ำในระบบระบายน้ำหลายแห่ง รวมทั้งระดับน้ำในคลองบางสาย ก็เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 90% ระหว่างที่ฝนตก
ในปีต่อมา วันที่ 3 มิถุนายน 2019 สิงคโปร์ประสบกับน้ำท่วมฉับพลัน โดยสาเหตุหลักมาจากฝนตกหนักเช่นกัน ถนนหลายสายมีน้ำท่วมสูง รถยนต์ที่สัญจรไปมาต้องขับฝ่าสายน้ำ
ในวันนั้นสำนักงานสิ่งแวดล้อมเตือนผ่านทวิตเตอร์ว่า จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ และ PUB เตือนว่าอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันจากฝนที่ตกหนัก
เดือนธันวาคมปี 2019 น้ำท่วมฉับพลันที่จูร่งอีสต์และเชาชูกังหลังจากฝนตกหนัก ซึ่ง PUB โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ฝนตกหนักมากที่สุดที่วัดได้มีปริมาณ 93 มิลลิเมตรภายในหนึ่งชั่วโมงทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าเฉลี่ยของฝนที่ตกในเดือนธันวาคม
รายงานพยากรณ์อากาศของ MSS ระบุว่า ลมมรสุมจะพัดแรงขึ้น และทั่วทุกภาคของประเทศจะมีฝนตกหนักเกินค่าเฉลี่ยในช่วงสองสัปดาห์แรกเดือนธันวาคม
ในปี 2020 นี้น้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในตอนกลางและฝั่งตะวันออกของสิงคโปร์ก็ประสบกับน้ำท่วมอันเนื่องจากฝนตกหนักมาก จน PUB ต้องออกคำเตือนภัยน้ำท่วม โดยบางพื้นที่ในตอนกลาง มีปริมาณน้ำฝนที่วัดได้สูงถึง 103 มิลลิเมตร
MSS ได้พยากรณ์สภาพอากาศสิงคโปร์เดือนพฤษภาคมว่า จะมีฝนตกมากกว่าระดับปกติในทั่วทุกภาคของประเทศ
ก่อนหน้านั้นหลายปีสิงคโปร์ก็ประสบกับภาวะน้ำท่วมฉับพลันหลายรอบ เช่น ในวันที่ 5 กันยายน 2013 หลายพื้นที่รวมทั้งในตอนกลาง เกิดน้ำท่วมฉับพลันจากฝนฟ้าคะนองและฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติ
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2013 น้ำท่วมในทางตะวันตกของประเทศ ฝนตกหนักถึง 8.6 เซนติเมตรภายในเวลา 1.5 ชั่วโมง อาคารบางแห่งได้รับความเสียหาย และถนนบางสายไม่สามารถสัญจรได้ กระแสน้ำได้ไหลไปยังพื้นที่ที่กำลังปรับปรุงระบบระบายน้ำ ส่งผลให้ประชาชนในบริเวณนั้นเดือดร้อน
ปล่อยคาร์บอนน้อยสุด แต่รับผล Climate Change
สิงคโปร์เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก คือเพียงแค่ 0.11% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันทั้งโลก
แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีผลกระทบต่อสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ล่างสุดของคาบสมุทรมาลายา และมีความเปราะบางกว่าเมืองใหญ่ริมฝั่งทะเลของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนและเอเชีย โดยมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะประสบกับน้ำท่วมจากฝนที่ตกหนักมากขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น รวมทั้งประสบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก MSS แต่ละปีปริมาณฝนที่ตกลงมานับตั้งแต่ปี 1980 เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 97 มิลลิเมตรทุกๆ 10 ปี ส่วนวันที่ฝนตกหนักและตกนานจนมีระดับน้ำฝนที่วัดได้เกิน 40 มิลลลิเมตรขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 วันทุกๆ ทศวรรษ และวันที่ฝนตกหนักมากและตกนานจนมีระดับน้ำฝนที่วัดได้เกิน 70 มิลลลิเมตรขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 0.5 วันทุกๆ ทศวรรษ
ทั้งนี้เป็นข้อมูลฝนตกรายปีที่บันทึกได้จากจาก 28 สถานีทั่วประเทศซึ่งทุกแห่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยลูกศรสีแดงหมายถึงแนวโน้มที่ชัดเจน ส่วนตัวเลขบ่งชี้อัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นมิลลิเมตรต่อปีในช่วงปี 1980-2018
MSS ยังระบุอีกว่า สิงคโปร์ประสบกับแนวโน้มฝนที่มากขึ้น ทั้งค่าเฉลี่ยปริมาณฝนแต่ละปี และความถี่ของฝนที่ตกหนักในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา
สำนักงานเลขาธิการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Climate Change Secretariat — NCCS) ให้ข้อมูลบนเว็บไซต์ว่า สิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน โดยสิงคโปร์ฝนตกแรงและตกหนักมากขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับที่ 2 (Singapore’s Second National Climate Change Study) พบว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนรายปีเพิ่มขึ้นจาก 2,192 มิลลิเมตรในปี 1980 เป็น 2,727 มิลลิเมตรในปี 2014
ในปี 2001 สิงคโปร์ยังประสบภัยจากพายุไซโคลนในเขตร้อนบริเวณใกล้ศูนย์สูตรเป็นครั้งแรก โดยพายุไต้ฝุ่นฮัวเหม่ย (Vamei) พัดผ่านทางตอนเหนือของสิงคโปร์ ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในบริเวณนั้น และยังไม่แน่นอนว่าในอนาคตจะเกิดขึ้นถี่หรือไม่
เปิดยุทธศาสตร์จัดการน้ำท่วม
สิงคโปร์มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมไม่เฉพาะจากฝนที่ตกแรงและหนักขึ้นเท่านั้น แต่ยังมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นด้วย เพราะเป็นเกาะที่มีความสูงราว 15 เมตรจากระดับน้ำทะเล ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจึงเป็นภัยคุกคามใหญ่สำหรับสิงคโปร์ เพราะพื้นที่ราว 30% ของประเทศสูงไม่เกิน 5 เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ในช่วงปี 1972-2014 ระดับน้ำทะเลในช่องแคบสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 1.2-1.7 มิลลิเมตรทุกปีในช่วงปี 1975-2009
สิงคโปร์ซึ่งประสบกับพายุที่เกิดถี่และรุนแรงขึ้น รวมทั้งฝนที่ตกแรงและหนักขึ้นไม่ต่างจากเมืองอื่นๆ ของโลก จึงได้วางยุทธศาสตร์ในการป้องกันและจัดการกับน้ำท่วมอย่างครอบคลุม
โดย PUB ซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจัง ได้ประเมินสาเหตุและหาแนวทางในการรับมือกับฝนที่ตกหนักและน้ำฝนไว้หลายด้าน รวมทั้งประสานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อปรับปรุงระบบระบายน้ำ ยกระดับถนนเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดน้ำท่วม ตลอดจนได้กำหนดให้เจ้าของอาคารมีมาตราการป้องกันน้ำท่วม เช่น วางระบบระบายน้ำก่อนการก่อสร้างอาคาร และยังติดตามการปรับปรุงระบบระบายน้ำต่อเนื่อง
PUB ได้พัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายระบบระบายน้ำครั้งใหญ่ครอบคลุม 8,000 กิโลเมตร ด้วยการขยายระบบให้กว้างและลึกขึ้น ทั้งของท่อระบายน้ำและคลองที่มีอยู่ ตลอดจนปรับปรุงแนวปฏิบัติของการระบายน้ำผิวดิน
นายโหยว เกง ซุน ผู้บริหารจากฝ่ายระบบชลประทานและระบบกักเก็บน้ำ (Catchment and Waterways Department) ของ PUB ให้สัมภาษณ์ในปี 2018 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมเดือนมกราคม 2018 ว่า เมื่อระบบระบายน้ำปรับปรุงเสร็จ สถานการณ์จะดีขึ้น “ระบบระบายน้ำจะสามารถระบายน้ำในเวลาสั้นกว่าเดิม แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าน้ำจะไม่ท่วม”
สำหรับระบบระบายน้ำเดิมนั้นยังระบายน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ 100% ไม่มีการอุดตันของท่อ แต่น้ำท่วมฉับพลันเพราะฝนหนักเกินกว่าระบบจะรองรับได้ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาภายใน 4 ชั่วโมงของวันที่ 8 มกราคม 2018 นั้นมีมากพอๆ กับค่าเฉลี่ยของเดือนมกราคมทั้งเดือน
ในปี 2018 พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมีเพียง 30 เฮกตาร์ ไม่ถึง 10% ของพื้นที่เสี่ยงในปี 1970
นอกจากปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีขีดความสามารถในการระบายน้ำและรองรับน้ำฝนที่ตกหนักได้มากขึ้นแล้ว PUB ยังได้นำระบบใหม่มาใช้ในการคาดการณ์ระดับน้ำอีกด้วย โดยระบบจะตรวจจับระดับน้ำในระบบและส่งสัญญานแจ้งเตือนหากระดับน้ำล้นระบบ
PUB ได้ปรับระบบการบริหารจัดการน้ำมาเป็นการติดตามระดับน้ำในระบบระบายน้ำทั้งท่อและคลองแบบเรียลไทม์ เมื่อระดับน้ำในระบบระบายน้ำสูงขึ้นมาที่ระดับสูงสุดที่ระบบจะรับได้ เจ้าหน้าที่จะได้รับการแจ้งเตือนจากระบบเพื่อบริหารจัดการก่อนที่น้ำจะท่วม
ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมของ PUB เจ้าหน้าที่ซึ่งตรวจสอบโครงข่ายระบายน้ำผ่านกล้องวงจรปิดและเซนเซอร์ระดับน้ำในท่อระบายน้ำและคลอง สามารถใช้ระบบตรวจสอบปริมาณน้ำฝนและการทำนายผ่านหน้าจอที่แสดงภาพปริมาณน้ำฝนจากเรดาร์ทั่วสิงคโปร์ ระบบสามารถคาดการณ์พื้นที่ที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักทำให้ JOC ส่งทีม Quick Response Team (QRT) ไปยังพื้นที่ที่คาดว่าน้ำจะท่วม เจ้าหน้าที่จะประเมินสถานการณ์และช่วยเหลือจัดการการจราจรโดยตรง หรือทำแนวพนังกั้นน้ำเพื่อลดความผลกระทบต่ออาคารและทรัพย์สินหากจำเป็น
ทีมงานของ PUB ได้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในประเทศ เช่น พื้นที่ต่ำ ซึ่งจะทำให้ทีมงานที่ลงพื้นที่สามารถเตรียมการรับน้ำท่วมได้ดีขึ้นในกรณีที่ฝนตกหนัก
ทีมงานจะใช้ข้อมูลเดิมที่เก็บได้จากระบบเซนเซอร์ระดับน้ำที่ติดตั้งในท่อระบายน้ำและคลอง มาทำการวิเคราะห์ข้อมูลหลังเหตุการณ์ ซึ่งจะช่วยให้ทีมสามารถตรวจวัดระดับน้ำที่สูงผิดปกติในช่วงที่มีฝนตกลงมาน้อย เพราะอาจเป็นสัญญาณของการอุดตันซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดน้ำท่วมฉับพลันหากไม่ป้องกันไว้ก่อน
เพื่อให้ระบบเซนเซอร์และการจัดการน้ำแบบเรียลไทม์มีประสิทธิภาพ ระบบท่อระบายน้ำและคลองต้องใช้งานได้ดีด้วย PUB จะลงทุนเพิ่มในโครงการพื้นฐานระบบระบายน้ำอีก 190 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปีนี้ รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ ที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ชั่วคราวเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต และการถมที่ให้สูงขึ้น เช่น การสร้างอาคารสนามบินชางงีแห่งใหม่ต้องสูง 5.5 เมตรจากระดับน้ำทะเล
นอกจากนี้จะขุดสระกักเก็บน้ำในบริเวณที่พักอาศัยแห่งใหม่ ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำที่ไหลลงระบบระบายน้ำ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2020 ที่ผ่านมา PUB ได้พัฒนาระบบตรวจสอบปริมาณน้ำฝนและการคาดการณ์ ที่สามารถแจ้งเตือนฝนตกหนักได้ล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยยกระดับการตอบสนองต่อเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่อาจเกิดขึ้นทั่วสิงคโปร์ได้เร็วขึ้น
ระบบนี้เป็นการรวมความสามารถในการตรวจสอบปริมาณน้ำฝนของเรดาร์ X-band (เรดาร์แบบ X-band มีความถี่ 6,200 -10,900 MHz มีความยาวคลื่น 2.75-4.84 เซนติเมตร เป็นเรดาร์ขนาดเล็ก มีความสามารถในการตรวจจับวัตถุในระยะใกล้ได้เป็นอย่างดี ) ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้สำหรับการตรวจสอบสภาพอากาศในท้องถิ่น รวมถึงการควบคุมการจราจรทางอากาศและการเดินเรือในทะเล และด้วยโมเดลที่คาดการณ์การเคลื่อนไหว การก่อตัว และการหดตัวของก้อนเมฆ ทำให้สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ถึง 30 นาทีก่อนฝนตก เป็นการเสริมกับข้อมูลแจ้งเตือนฝนตกที่ PUB ได้รับจาก MSS
ในปี 2016 PUB ได้ทำงานกับ Hydroinformatics Institute และ บริษัท Furuno Singapore เพื่อพัฒนาระบบที่สามารถให้ข้อมูลการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนเชิงปริมาณได้ โดยติดตั้งเรดาร์ X-band ซึ่งมีขนาดกะทัดรัดและเหมาะสำหรับการตรวจสอบปริมาณน้ำฝนในระยะสั้นๆ 30-50 กิโลเมตรในทางตอนเหนือ ทางตะวันออก และตะวันตกของสิงคโปร์ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปลายปี 2018 ระบบสามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในเวลา 30 นาทีด้วยความแม่นยำ 65%
ในอีกสองปีข้างหน้า PUB จะใช้เรดาร์ X-band อีก 3 ตัวทั่วทั้งเกาะ การเพิ่มจำนวนเรดาร์เป็น 2 เท่าจะขยายขอบเขตพื้นที่ที่สัญญานเรดาร์ทับซ้อนให้กว้างออกไป ในขณะเดียวกันก็จัดการปัญหาที่มีอยู่ เช่น การลดทอนสัญญาณเรดาร์และการกั้นสัญญาณจากตัวอาคาร และจะนำอัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่องมารวมเข้ากับระบบ ซึ่งจะช่วยให้การทำนายปริมาณน้ำฝนแม่นยำมากขึ้น
นายโหยวกล่าวว่า “ระบบตรวจสอบและพยากรณ์น้ำฝนตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและปรับปรุงมาตรการจัดการน้ำท่วมที่มีอยู่”
“ในการคาดการณ์เหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงที่เกิดบ่อยครั้งมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรากำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ของเราสามารถนำไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วที่สุดในกรณีที่มีฝนตกหนัก เราหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยลดความไม่สะดวกให้กับประชาชนและป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย”
การป้องกันชายฝั่ง
PUB ยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น หน่วยงานดูแลชายฝั่ง (Coastal Protection Agency) คอยป้องกันชายฝั่งซึ่งมีความเสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
การดำเนินการเป็นความพยายามอย่างยั่งยืนของรัฐบาลในการปกป้องสิงคโปร์จากการคุกคามของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ในฐานะที่เป็นเกาะซึ่งมีพื้นที่ต่ำ สิงคโปร์มีความอ่อนไหวต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น นอกเหนือจากการจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยทางบกแล้ว PUB จะเป็นผู้นำและประสานงานความพยายามในการพัฒนากลยุทธ์ระยะยาว เพื่อจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยชายฝั่งและ แสวงหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อปกป้องสิงคโปร์จากฝนที่ตกหนักและน้ำที่มากขึ้น
การรวมความรับผิดชอบในการป้องกันชายฝั่งเข้ากับการจัดการน้ำฝน ทำให้ PUB อยู่ในสถานะที่บริหารจัดการน้ำท่วมในแผ่นดินด้านในและน้ำท่วมชายฝั่งแบบองค์รวม ซึ่งจะเสริมความเข้มแข็งโดยรวมของสิงคโปร์ต่อการปรับตัวให้รับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในสิงคโปร์ ได้ระบุไว้ในการศึกษาการปรับตัวชายฝั่ง (Coastal Adaptation Study) ของหน่วยงานด้านอาคารและการก่อสร้างที่จัดทำในปี 2013 และเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาความเปราะบางของแนวชายฝั่งสิงคโปร์ต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและผลกระทบจากน้ำท่วมบริเวณชายฝั่ง การศึกษาได้ข้อสรุปในปี 2019 ซึ่งพบว่า เกาะจูร่งและแถบชายฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด จึงให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนคุ้มครองทั้งสองพื้นที่
PUB จะดำเนินการศึกษาและทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพัฒนากลยุทธ์ระยะยาวและการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปกป้องพื้นที่เป้าหมายของแนวชายฝั่งของแถบชายฝั่งตะวันออกและเกาะจูร่ง โดยจะเริ่มการศึกษาในปี 2020 พร้อมกับศึกษาจากประสบการณ์ของเมืองชายฝั่งอื่นๆ และประเทศที่อยู่ในพื้นที่ต่ำ
รองนายกรัฐมนตรี เฮง สวี เคียต ได้ประกาศว่า รัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนป้องกันชายฝั่งและน้ำท่วม (Coastal and Flood Protection Fund — CFPF) ขึ้นด้วยเงินทุนเริ่มต้น 5 พันล้านสิงคโปร์ดอลลาร์จากรัฐบาล และมี PUB ทำหน้าที่บริหาร กองทุน CFPF จะให้ทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันชายฝั่งและโครงสร้างพื้นฐานการระบายน้ำ เนื่องจากมาตรการเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก กองทุนนี้จะเป็นแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนและพึ่งพิงได้
“ผลกระทบของทะเลที่สูงขึ้นซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นภัยพิบัติอย่างแน่นอน และหากไม่เตรียมพร้อม สิงคโปร์ก็จะถูกทำลาย นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลนั้นไม่ได้เป็นเพียงความท้าทายสำหรับประเทศของเรา ความท้าทายจะยังคงอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะไม่มีวันชนะ แต่เราต้องทำให้แน่ใจว่าเราจะไม่แพ้”
นาย อึ้ง จู ฮี ผู้บริหารของ PUB กล่าวว่า “เราไม่สามารถห้ามน้ำทะเลไม่ให้สูงขึ้นได้ เแต่เราต้องปรับตัวให้ได้ และเป็นไปได้มากที่เราจะปรับตัวได้ดีและได้ประโยชน์ นี่เป็นภาระกิจใหม่สำหรับ PUB ในการเป็นผู้นำสำหรับการวางแผน การป้องกันสิงคโปร์จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
ปัจจุบันประมาณ 70% ของชายฝั่งสิงคโปร์ได้รับการปกป้องจากการกัดเซาะของคลื่นและพายุ โดยการใช้โครงสร้าง เช่น กำแพงคอนกรีตและเขื่อนหิน ส่วนที่เหลือของชายฝั่งประกอบด้วยพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ชายหาดและป่าโกงกาง มาตรการป้องกันชายฝั่งแบบทั่วไปอื่นๆ รวมถึงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและประตูน้ำขึ้นน้ำลงที่ปากแม่น้ำ รวมถึงประตูกั้นคลื่นพายุและเขื่อนกั้นน้ำ อ่างเก็บน้ำชายฝั่งของสิงคโปร์ยังเกิดขึ้นจากการปิดทางน้ำที่สำคัญด้วยเขื่อนและเขื่อนกั้นน้ำ พร้อมกับระบบประตูน้ำขึ้นน้ำลง ทางน้ำล้ม และเครื่องสูบน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำจืดในช่วงฤดูฝน การปรับปรุงอ่างเก็บน้ำชายฝั่งเพื่อปรับให้เข้ากับระดับน้ำทะเลที่ที่คาดว่าจะสูงขึ้น
ตั้งแต่ปี 2011 การถมทะเลแห่งใหม่มีข้อกำหนดว่าอย่างน้อยต้องสูงกว่าระดับน้ำทะเล 3-4 เมตรเพื่อรองรับระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นในระยะยาว โดยสถานที่ต่างๆ แห่งใหม่ เช่น อาคารสนามบินชางงีแห่งที่ 5 และท่าเรือทุอาสขนาดใหญ่ จะต้องสร้างบนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 5 เมตร