ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมศุลกากรแจงยอดนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก” กว่า 1,500 ตู้ ก่อนกรมโรงงานฯ งดออกใบอนุญาตชั่วคราว

กรมศุลกากรแจงยอดนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์-พลาสติก” กว่า 1,500 ตู้ ก่อนกรมโรงงานฯ งดออกใบอนุญาตชั่วคราว

26 มิถุนายน 2018


เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ร่วมกับนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม แถลงข่าวจับกุม อายัด พร้อมผลักดันตู้สินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และเศษโลหะ รวมกว่า 100 ตู้ (ตู้คอนเทนเนอร์) ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ร่วมกับนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม แถลงข่าวจับกุม อายัด พร้อมผลักดันตู้สินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และเศษโลหะ รวมกว่า 100 ตู้ (ตู้คอนเทนเนอร์) ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานตรวจสอบการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า หลังจากที่นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ได้มีการหารือร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อสกัดกั้นการลักลอบ หลีกเลี่ยง นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และเศษโลหะมาทิ้งในประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 นายกุลิศได้สั่งการด่านศุลกากรทุกแห่ง ยกระดับการตรวจสอบ การนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด

ล่าสุด สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้อายัดการนำเข้าสินค้าประเภทซากอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งสำแดงบัญชีรายการสินค้าสำหรับเรือเป็น metal scrap นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้ประกอบการไม่มาดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากรภายในระยะเวลาที่กำหนด กรมศุลกากรจึงเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อทำการตรวจสอบ พบขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทคาปาซิเตอร์ หม้อแปลงไฟฟ้าใช้แล้ว ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภท 5.2 ตามอนุสัญญาบาเซล ต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนนำเข้า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้นำตัวอย่างไปตรวจสอบ

สำหรับสถานการณ์การนำเข้าเศษพลาสติก (plastic scrap) ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2561 พบว่ามีการนำเข้าเศษพลาสติกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง มาที่ท่าเรือกรุงเทพแล้วประมาณ 428 ตู้ (ตู้คอนเทนเนอร์) มีรายละเอียดดังนี้

    1. กรณีสินค้ามาถึงท่าเรือเกินกำหนดระยะเวลา 30 วัน และกรมศุลกากรได้แจ้งตัวแทนเรือแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร (List A) มีจำนวน 47 ตู้ กับกรณีที่กรมศุลกากรได้แจ้งตัวแทนเรือแล้ว แต่ไม่มาดำเนินการผ่านพิธีการศุลกากร (List F) มีจำนวน 42 ตู้ในกรณีนี้อยู่ระหว่างการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตรวจสอบร่วม 3 ฝ่าย คือกรมศุลกากร การท่าเรือกรุงเทพ และตัวแทนเรือ

    2. สินค้าเข้ามาอยู่ในเขตท่าเรือภายในกำหนด 30 วัน โดยผู้รับสินค้ากำลังดำเนินการนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรมีจำนวน 339 ตู้

ส่วนการนำเข้าเศษโลหะ เช่น เศษทองแดง ทองเหลือง อลูมิเนียม สแตนเลส กลุ่มนี้ไม่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้า แต่เจ้าหน้าที่พบข้อสงสัย จึงได้สั่งอายัดตู้สินค้า รวมทั้งสิ้น 40 ตู้ ในจำนวนนี้กรมศุลกากรร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ทำเปิดตู้ตรวจสอบสินค้าแล้ว 11 ตู้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอฟังผลการตรวจสอบจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลืออีก 29 ตู้ อยู่ระหว่างการสั่งอายัดสินค้า และรอการตรวจสอบร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับที่ท่าเรือแหลมฉบัง ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2561 ยังมีการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกทั้งหมด 1,058 ตู้ ในจำนวนนี้มีการนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจปล่อยสินค้า 325 ตู้, ยังไม่มีการนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร แต่ยังอยู่ในกำหนดเวลา 30 วันมีจำนวน 433 ตู้ และที่เหลือ 300 ตู้ เกินกำหนดเวลา 30 วัน ยังไม่มีการนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร กลุ่มนี้กำลังอยู่ระหว่างการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตรวจสอบ

ด้านนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยให้ชะลอการพิจารณาอนุญาตนำซากอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และเศษพลาสติกที่ใช้งานแล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว หรือจนกว่าคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบจะได้มีแนวทางหรือนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่มีการพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ส่วนการรายงานผลการตรวจสอบร่วมกับกรมศุลกากรนั้น เป็นการสำหรับปริมาณนำเข้าสินค้ากล่มนี้ก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมยกร่างประกาศกระทรวง ห้ามโรงงานนำเข้าเศษพลาสติกใช้แล้วมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 32 (2) คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ สำหรับบริษัทที่ปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขของกรมโรงงานอุตสาหกรรมถูกต้อง และยังมีโควตาการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์เหลือ หากประสงค์ที่จะนำเข้า ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็จะทำเรื่องเสนอคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ พิจารณาต่อไป

นายวิชา อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการทางเรือและสินค้าท่าเรือกรุงเทพ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศระงับการขนถ่ายตู้สินค้า ประเภทซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป หลังจากกฎหมายมีผลบังคับ ผู้นำเข้าจะไม่สามารถขนสินค้าลงจากเรือได้

ทั้งนี้ กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการร่วมตามมาตรการดังนี้ ดังนี้

    1. จัดทำฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม (big data) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และนำมาวิเคราะห์บริหารความเสี่ยง (risk management)

    2. กรมศุลกากรจะนำระบบควบคุมทางศุลกากร โดยใช้ระบบเอกซเรย์เข้ามาตรวจสอบตู้สินค้าทุกตู้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะทำงานร่วมกัน โดยการเปิดตรวจตู้สินค้าดังกล่าว ซึ่งหากท่าเรือที่มีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกในปริมาณมาก กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำ ณ ท่าหรือที่ดังกล่าว (contact person/contact point) เช่น สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง เป็นต้น

    3. เมื่อพบการกระทำความผิดจะทำการผลักดันสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกออกนอกประเทศ และให้ผู้นำเข้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

    4. ทำการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) สำหรับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตในการนำเข้า เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้ว กรมศุลกากรแจ้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ไปทำการตรวจสอบ ณ โรงงานต่อไป

    5. ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่ออุดช่องโหว่ในการนำเข้า นำส่ง นำผ่านไปยังปลายทาง และกำหนดมาตรการเพิ่มโทษในกรณีกระทำความผิด

    6. กรณีบริษัทกระทำความผิด ทางกรมศุลกากรจะส่งข้อมูลให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกใบอนุญาตต่อไป