ThaiPublica > เกาะกระแส > เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดเผชิญหน้าและแข่งขันระหว่างสหรัฐฯกับจีน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดเผชิญหน้าและแข่งขันระหว่างสหรัฐฯกับจีน

26 สิงหาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : japantimes.co.jp

ในระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม 2564 นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาเยือนอาเซียน 2 ประเทศคือ สิงคโปร์กับเวียดนาม ช่วงที่เยือนสิงคโปร์ เธอได้กล่าวปาฐกถาที่สถาบัน Lee Kuan Yew School of Public Policy โดยประกาศวิสัยทัศน์ของรัฐบาลโจ ไบเดน เรื่องแนวคิดอินโด-แปซิฟิก

กมลา แฮร์ริสกล่าววิจารณ์จีนอย่างรุนแรงเรื่อง การรุกล้ำของจีนในทะเลจีนใต้ โดยกล่าวเตือนว่า ปฏิบัติการของจีนในพื้นที่ดังกล่าว เปรียบได้กับการขู่บังคับด้วยกำลัง และยืนหยัดว่า สหรัฐฯจะสนับสนุนพันธมิตรในภูมิภาคนี้ ต่อต้านการรุกคืบหน้าของจีน

ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ก็ได้มาเยือนอาเซียน 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ การมาเยือนอาเซียน 3 ประเทศ ทั้งๆที่อาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ เนื่องจาก 3 ประเทศดังกล่าว สนับสนุนให้สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทอย่างแข็งขันในภูมิภาคนี้

การเยือน 3 ประเทศอาเซียนของผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า ประเทศไหนในภูมิภาคนี้ ที่สหรัฐฯถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญอันดับแรก

จุดที่สหรัฐฯกับจีนมาเผชิญหน้ากัน

David Shambaugh จาก George Washington University เขียนไว้ในหนังสือที่เพิ่งออกวางตลาด Where Great Powers Meet: America and China in Southeast Asia (2021) ว่า ในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน ท่าทีสหรัฐฯต่อจีน เปลี่ยนจาก “การติดต่อสัมพันธ์” มาเป็น “การแข่งขัน” การแข่งขันนี้ได้ขยายตัวออกไปในด้านต่างๆ เช่น การทูต การค้า ความมั่นคง อุดมการณ์ ค่านิยม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่ปะทุขึ้นมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นตัวอย่างของความขัดแย้งของสองมหาอำนาจ ที่จะไปเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆของโลก ผลลัพธ์จากการแข่งขันของสองมหาอำนาจนี้ จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ดินแดนที่นับวันกำลังกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเมืองระหว่างประเทศ

David Shambaugh บอกว่า ในปี 2017 เขามีประสบการณ์ 2 อย่าง ที่เกี่ยวกับบทบาทสหรัฐฯและจีนในอาเซียน อย่างแรกคือเมื่อไปเยือนฐานทัพเรือชานงีที่สิงคโปร์ ได้มีโอกาสขึ้นไปบนเรือบรรทุกเครื่องบิน Carl Vinson ของสหรัฐฯ ที่มาจอดที่ฐานทัพเรือแห่งนี้ เรือ Carl Vinson มักจะออกไปฝึกรบในทะเลญี่ปุ่น ใกล้กับเกาหลีเหนือ และแล่นผ่านทะเลจีนใต้ เป็นการส่งสัญญาณการป้องปรามทางทหารของสหรัฐฯ ฐานทัพเรือชานงีของสิงคโปร์ จึงสะท้อนอำนาจทางทหารของสหรัฐฯแบบ hard power

เวลาต่อมา เขาได้เดินทางข้ามมายังมาเลเซีย เพื่อมาดูพื้นที่ทางใต้ของรัฐยะฮอร์ ที่เป็นที่ตั้งโครงการพัฒนาที่พักอาศัยขนาดใหญ่ ร่วมลงทุนระหว่างระหว่างจีนกับรัฐยะโฮร์ เรียกว่า “เมืองป่า” (Forest City) สร้างจากการถมทะเล โครงการที่พักอาศัยนี้สามารถรองรับคนได้ 7 แสนคน เป็นเมืองที่มีทุกอย่างสมบูรณ์ในตัวเอง บริษัทผู้พัฒนาที่ดินของจีน ขายโครงการแบบซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง คือซื้อห้องพักในเซี่ยงไฮ้ จะแถมห้องพักที่ยะโฮร์ โครงการลงทุนของจีนในมาเลเซีย จึงสะท้อนอำนาจเศรษฐกิจของจีนแบบ soft power

ความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มาภาพ : Amazon.com

หนังสือ Where Great Powers Meet กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ตรงกลาง โดยทิศใต้คือออสเตรเลีย ทิศตะวันตกคือเอเชียใต้ และทิศตะวันออกคือเอเชียเหนือ พื้นที่ของภูมิภาคยาว 3,000 ไมล์ นับจากตะวันออกมาตะวันตก และ 2,000 ไมล์ นับจากเหนือลงใต้ ประกอบด้วย 11 ประเทศ มี 10 ประเทศเป็นสมาชิกอาเซียน ยกเว้นติมอร์-เลสเต ประชากรรวมกัน 636 ล้านคน เป็นมุสลิม 240 ล้านคน พุทธ 140 ล้านคน คริสต์ 130 ล้านคน และฮินดู 7 ล้านคน

คำว่า “ความหลากหลาย” ใช้อธิบายทุกอย่างเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ เช่น ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่เรื่องอิทธิพลจากภายนอก Kishore Mahbubani อดีตนักการทูตสิงคโปร์ เคยเขียนไว้ในหนังสือ The ASEAN Miracle ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างขึ้นจากกระแสการอพยพที่เกิดต่อเนื่อง 4 คลื่นด้วยกันคือ คนอินเดีย คนจีน คนมุสลิม และชาวตะวันตก ชาติมหาอำนาจทางทะเล เช่น ดัช ปอร์ตุเกส อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้มาสถาปนาการค้าและอาณานิคมขึ้นในภูมิภาคนี้

ในทางภูมิศาสตร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกา เพราะเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่ประกอบด้วย เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย ทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกาเป็นช่องเดินเรือบรรทุก ที่หนาแน่ที่สุดของโลก แต่ละปีมีเรือบรรทุก 50,000 ลำแล่นผ่านบริเวณนี้ เทียบได้เท่ากับ 40% ของการค้าโลก การสร้างที่มั่นทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ จึงเป็นเรื่องอ่อนไหวด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้

ในปี 2018 เศรษฐกิจของอาเซียนรวมกันมีมูลค่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 6 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน และสหราชอาณาจักร เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง เกิดสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และการแพร่ระบาดของโควิด19 บริษัทข้ามชาติหันมาใช้ “กลยุทธ์จีนบวก” (China Plus Strategy) เพื่อย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมาอาเซียน

การแข่งขันของมหาอำนาจ

Where Great Powers Meet กล่าวว่า ในอดีต ภูมิภาคนี้เผชิญกับการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจมาตลอด ทำให้ประเทศในภูมิภาคนี้ต้องใช้นโยบายป้องกันตัวเอง เช่น การวางตัวเป็นกลาง หรือการไม่ผูกพันกับฝ่ายใด แต่บางประเทศก็ใช้นโยบายการเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด แต่นับจากกลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา อาเซียนมีจุดยืนและนโยบายการหารือแบบหลายฝ่ายกับบรรดามหาอำนาจต่างๆที่อยู่นอกกลุ่ม

ในปี 2011 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศนโยบายให้เอเชียเป็น “แกน” ด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยเป็นการ “ปรับดุลยภาพ” (rebalance) ที่เดิมความสำคัญอยู่ที่ตะวันออกกลาง ท่าทีสหรัฐฯดังกล่าวทำให้จีนเร่งสร้างความสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะผ่านโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่ทุกประเทศในอาเซียนเข้าร่วมในทางใดทางหนึ่ง

ทุกประเทศในอาเซียนเห็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ในการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น หนังสือ Where Great Powers Meet อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียคนหนึ่งว่า…

“คำถามที่ว่าทำไมอาเซียนและมาเลเซียเอนเอียงไปทางจีน คำตอบแบบง่ายๆก็คือเงิน จีนเสนอเงินลงทุนมหาศาล และตลาดที่ใหญ่โต”

แถบความสัมพันธ์อาเซียนกับสหรัฐฯและจีน อาเซียน 10 ประเทศใกล้ชิดสหรัฐฯหรือจีน

หนังสือ Where Great Powers Meet ยังได้ทำแถบคลื่นความสัมพันธ์ (spectrum of relations) ที่สมาชิกอาเซียนมีต่อสหรัฐฯกับจีนว่า 7 ประเทศอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และไทย ส่วนอีก 3 ประเทศของอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางสหรัฐฯประกอบด้วย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

แต่ก็จะเป็นเรื่องที่ผิดพลาด หากจะมองความสัมพันธ์ของอาเซียนกับมหาอำนาจมีเพียงทางเลือกสหรัฐฯกับจีนเท่านั้น ประเทศมหาอำนาจระดับกลางจะมีส่วนช่วยให้อาเซียนไม่ยึดติดอยู่กับการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯกับจีนเท่านั้น ญี่ปุ่นก็มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคนี้ อินเดียก็กำลังขยายบทบาทในเอเชีย ด้วยนโยบาย Act East รวมทั้งเกาหลีใต้ก็ได้เปิดเผยนโยบายต่ออาเซียนเรียกว่า Southward Policy

จุดแข็งจุดอ่อนของจีนกับสหรัฐฯ

ในความสัมพันธ์กับแต่ละประเทศในอาเซียน ทั้งสหรัฐฯและจีนต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อน จุดแข็งของจีนคือการอยู่ใกล้ทางภูมิศาสตร์และเงินทุนของจีน ทำให้จีนได้เปรียบในด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วภูมิภาคนี้ การค้าจีนกับอาเซียนก็มีมูลค่าสูงปีหนึ่ง 586 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ จีนยังไม่มีนโยบายวิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือธรรมาภิบาล แต่จุดอ่อนของจีนคือการอยู่ใกล้ทางภูมิศาสตร์กับภูมิภาคนี้ และการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ที่กว้างขวาง

ส่วนสหรัฐฯ จุดแข็งคืออำนาจทางทหาร โดยเฉพาะอำนาจทางกองทัพเรือ ในด้านเศรษฐกิจ แม้มูลค่าจะน้อยกว่าจีน แต่การค้าสหรัฐฯกับอาเซียนยังมีมูลค่าสูง ในปี 2018 เป็นเงิน 334 พันล้านดอลลาร์ การลงทุนสะสมของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้เป็นมูลค่า 329 พันล้านดอลลาร์
แต่จุดอ่อนของสหรัฐฯคือ การอยู่ห่างไกลจากภูมิภาคนี้ ทำให้เกิดสภาพไม่พึงประสงค์ของระยะห่าง (tyranny of distance) เช่นความไม่สะดวกของการเดินทางมาเยือนของผู้นำระดับสูง การที่สหรัฐฯเน้นหนักเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาล การขาดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะแข่งกับจีน การแก้จุดอ่อนในเรื่องนี้อยู่ที่สหรัฐฯยกระดับให้ภูมิภาคนี้ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอันดับแรก

David Shambaugh ผู้เขียน Where Great Powers Meet สรุปว่า จากจุดแข็งและจุดอ่อนทั้งของสหรัฐฯกับจีนดังกล่าว ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในฐานะที่จะสามารถได้ประโยชน์จากสิ่งดีๆของแต่ละฝ่าย

เอกสารประกอบ
Where Great Powers Meet: America & China in Southeast Asia, David Shambaugh, Oxford University Press, 2021.