ThaiPublica > เกาะกระแส > การเป็นมหาอำนาจของจีน ทำให้ทั่วโลกได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น

การเป็นมหาอำนาจของจีน ทำให้ทั่วโลกได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น

5 กรกฎาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : ภาพจาก japantimes.co.jp

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารโลกเปิดเผยรายงาน Commodity Markets Outlook ว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงฟื้นตัวเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะยังมีระดับราคาในปัจจุบันไปตลอดทั้งปี ราคาพลังงานในปีนี้ จะสูงขึ้นราว 1 ใน 3 ของราคาในปีที่แล้ว โดยน้ำมันดิบจะมีราคาเฉลี่ยที่ 56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาแร่โลหะจะเพิ่มขึ้น 30% สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 14% ทั้งนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์แทบทั้งหมด สูงกว่าราคาก่อนเกิดโรคระบาด

ส่วนเว็บไซต์ Bloomberg.com ก็รายงานว่า นับจากต้นปี 2021 เป็นต้นมา สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาพุ่งสูงขึ้นมาในระดับที่ไม่ได้เห็นมาหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ทองแดง หรือข้าวโพด

นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของกลุ่ม UBS Group กล่าวว่า แรงผลักดนสำคัญที่สุดต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์คือ การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และการเร่งเปิดทำการธุรกิจขึ้นมาใหม่ ส่วนจีนยังมีบทบาทสำคัญ ทั้งในฐานะแหล่งผลิต และความต้องด้านวัตถุดิบต่างๆ

ยุคทองสินค้าโภคภัณฑ์ 2002-2013

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา สินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบมีราคาพุ่งสูงขึ้นใน 3 ช่วงด้วยกัน ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงปี 1951-1953 เมื่อโลกอยู่ในระยะที่ต้องการวัตถุดิบ เพื่อบูรณะประเทศ หลังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างปี 1973-1975 ที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นเป็นครั้งแรก และช่วงที่ 3 คือระหว่างปี 2002-2013 หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)

แต่ยุคทองของสินค้าโภคภัณฑ์ช่วงปี 2002-2013 ถือเป็นช่วงความรุ่งเรืองที่ยาวนานที่สุด และมีขอบเขตครอบคลุมสินค้ามากที่สุด ความต้องของจีนต่อสินค้าโภคภัณฑ์และวัตถุดิบต่างๆ คือแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้น และแม้ว่ายุคที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะสิ้นสุดลงไปแล้ว ชะตากรรมและอนาคตของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ก็ยังมีความผูกพันอย่างมากกับจีน อย่างแยกกันไม่ออก

หนังสือ How China Is Reshaping the Global Economy (2019) กล่าวว่า จีนไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงการผลิตด้านอุตสาหกรรมของโลก แต่ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โลก ความต้องการทรัพยากรและวัตถุดิบต่างๆ ทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีรายได้จากการส่งออกเพิ่มมากขึ้น และรายได้ที่มากขึ้น กลายเป็นปัจจัยสำคัญช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

ในปี 1978 เศรษฐกิจจีนมีขนาดเล็กกว่าเนเธอร์แลนด์ แต่นับจากเปิดประเทศในปี 1978 เป็นต้นมา ทุก 7-8 ปี ขนาดเศรษฐกิจจีนจะเพิ่มเท่าตัว ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนใหญ่กว่าญี่ปุ่น 2.5 เท่า ดังนั้น นอกจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศจีนเองแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกว่าคือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆทั่วโลก

ช่วงทศวรรษ 1970 เศรษฐกิจจีนแยกตัวจากเศรษฐกิจโลก พึ่งพาตัวเองในด้านวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหาร รัฐผูกขาดการค้ากับต่างประเทศ จีนจึงมีอิทธิพลน้อยมากต่อตลาดโภคภัณฑ์โลก

แต่นับจากกลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา จีนกลายเป็นผู้นำเข้าสุทธิด้านน้ำมันดิบและถั่วเหลือง การพัฒนาสู่อุตสาหกรรมหนักและเคมี ทำให้จีนพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ ทำให้รัฐบาลจีนวางนโยบายเรื่องความมั่นคงด้านแหล่งวัตถุดิบ

จีนกับสินค้าโภคภัณฑ์โลก

ในแง่มุมของอุปสงค์ (demand) ความต้องการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน ที่เติบโตเพิ่มมากขึ้น มีปัจจัยที่แตกต่างกันไปตามประเภทสินค้า สินค้าพวกอาหารและเครื่องดื่ม เป็นความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน เพราะการมีรายได้มากขึ้น การเติบโตของประชากร และการขยายตัวของเมือง การบริโภคอาหารเพิ่มมากขึ้นยังทำให้เกิดความต้องการเพิ่มขึ้นในน้ำมันพืช และอาหารสัตว์ ส่วนความต้องการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น ฝ้าย หรือแร่โลหะ ขึ้นกับการพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งออก และการลงทุนด้านนี้ของจีน

ส่วนในด้านของอุปทาน (supply) สินค้าโภคภัณฑ์แต่ละประเภท ก็มีความแตกต่างกันไปในเรื่องระยะเวลาการผลิตออกสู่ตลาด วัตถุดิบพวกแร่และน้ำมันดิบต้องอาศัยการลงทุนสูง แต่สินค้าเกษตรสามารถเพิ่มการผลิตมากขึ้นได้ในแต่ละปี โดยการเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูก สินค้าโภคภัณฑ์แต่ละชนิดก็มีการจัดการด้านการตลาดที่แตกต่างกัน แร่โลหะบางอย่างซื้อขายผ่านตลาดโภคภัณฑ์ London Metal Exchange บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งมีบทบาทสำคัญในการค้าสินค้าสินค้าเกษตรเช่น Cargill เป็นต้น

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือ How China is Reshaping the Global Economy ให้ตัวเลขความสำคัญของสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดที่มีความสำคัญต่อจีน นับจากปี 2000 เป็นต้นมา

ตัวเลขที่แสดงฐานะของจีนต่อตลาดโภคภัณฑ์โลก ประกอบด้วย (1) และ (2) บ่งบอกถึงสัดส่วนของจีนเทียบการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ของโลก ตัวเลขนี้ช่วยชี้วัดฐานะของจีน ที่จะมีผลกระทบต่อราคาในตลาดโลก (3) และ (4) คือสัดส่วนของจีนในการค้าสินค้าโภคภัณฑ์โลก ตัวเลขนี้สำคัญต่อประเทศส่งออกสินค้าเกษตร เพราะตลาดจีนไม่ได้กำหนดมาตรฐานสูงเหมือนประเทศตะวันตก และ (5) กับ (6) แสดงถึงการพึ่งพาที่สูงหรือต่ำของจีน ต่อสินค้านำเข้าแต่ละอย่าง

สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มแรกที่จีนเป็นทั้งผู้บริโภคและนำเข้ารายใหญ่สุดของโลกคือโลหะและแร่ ความต้องการของจีนมาจากการลงทุนด้านอุตสาหกรรม การก่อสร้างการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากความต้องการใช้มีมากกว่ากำลังการผลิตในประเทศ ทำให้เกือบ 90% ของแร่เหล็กจีน มาจากการนำเข้า

สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มที่ 2 ที่จีนนำเข้าสูงได้แก่ ถั่วเหลือง ฝ้าย ปลาป่น หนังสัตว์ และไม้แปรรูป ถั่วเหลืองและปลาป่นเป็นอาหารสัตว์ เพราะคนจีนรายได้สูงขึ้น จึงบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้น ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆใช้เป็นวัตถุดิบในด้านสี่งทอ เครื่องหนังและเฟอร์นิเจอร์

กลุ่มที่ 3 เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนมีการบริโภคสูง เนื่องจากจำนวนประชากรที่มีมาก คือธัญพืช เนื้อหมู และเนื้อไร่ แต่จีนพึ่งตัวเองได้แทบทั้งหมด เพราะรัฐบาลมีนโยบายสร้างความมั่นคงในการผลิตสินค้าพวกนี้ นอกจากนี้ จีนสามารถผลิตสินค้าเกษตรพวกข้าว ข้าวสาลี ได้เกือบ 95% ทำให้จีนมีบทบาทและอิทธิพลไม่มาก ต่อสินค้าเหล่านี้ในตลาดโลก

อานิสงส์ต่อประเทศทั่วโลก

ในปี 2001 หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในช่วง 2002-2013 ถือเป็นยุคทองของสินค้าโภคภัณฑ์โลก โดยเฉพาะสินค้าพวกแร่โลหะและน้ำมันดิบ แต่สินค้าเกษตรไม่ได้มีราคาสูงมากเหมือนสินค้าพวกโลหะและพลังงานสาเหตุหนึ่งที่ราคาสินค้าเกษตรไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มผลผลิตทำได้รวดเร็ว เพียงแค่เกษตรกรเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูก นอกจากนี้ รัฐบาลจีนมีนโยบายความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้จีนสามารถพึ่งตัวเองได้เกือบทั้งหมดในการผลิตข้าว ข้าวโพด หรือข้าวสาลี แต่จีนจะยังมีบทบาทสำคัญต่อสินค้าพวกอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลืองและปลาป่น ที่ราคาของสินค้าสองอย่างนี้ เดินคู่ขนานกันไป เนื่องจากเป็นสินค้าทดแทนกันได้

การก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประเทศกำลังพัฒนามีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้น และมีอิสระมากขึ้นในการกำหนดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง อย่างเช่นประเทศในแอฟริกา

นับจากปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อสหรัฐฯเริ่มก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ได้อาศัยการขับเคลื่อนจากตลาดภายในประเทศและวัตถุดิบที่ผลิตในสหรัฐฯเป็นส่วนใหญ่ แตกต่างจากจีน ที่ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกืจ โดยมีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ทั้งการส่งออกและการนำเข้าวัตถุดิบจากทุกมุมโลก

เอกสารประกอบ
How China Is Reshaping the Global Economy, Rhys Jenkins, Oxford University Press, 2019.