ThaiPublica > สู่อาเซียน > การกลับคืนสู่อำนาจของตระกูลมาร์กอส ภาวะย้อนแย้งของคนชั้นกลางกับประชาธิปไตย

การกลับคืนสู่อำนาจของตระกูลมาร์กอส ภาวะย้อนแย้งของคนชั้นกลางกับประชาธิปไตย

14 พฤษภาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Bongbong Marcos

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายของอดีตผู้นำเผด็จการฟิลิปปินส์ ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์แบบถล่มทลาย โดยได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 30 ล้านคะแนน ซึ่งมากกว่าคะแนนเสียงของคู่แข่งถึง 2 เท่า ชัยชนะครั้งนี้เหมือนกับเป็นการฟื้นฟูชื่อเสียงตระกูลการเมือง ที่มีชื่อฉาวโฉ่มากที่สุดของฟิลิปปินส์

ตระกูลมาร์กอสถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่ออกจากอำนาจเมื่อปี 1986 หรือ 36 ปีที่แล้ว คณะกรรมการธรรมาภิบาลของฟิลิปปินส์สามารถยึดทรัพย์จากตระกูลมาร์กอสคืนได้ 1 ใน 3 หรือ 3 พันล้านดอลลาร์ จากทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติทั้งหมด 10 พันล้านดอลลาร์

ทางการฟิลิปปินส์ยังดำเนินการที่จะเรียกคืนเงินจำนวนนี้อยู่ แต่บองบอง มาร์กอส บอกว่า จะให้คณะกรรมการนี้หาทางไปยึดทรัพย์ครอบครัวการเมืองอื่นๆ ด้วย ส่วนการยึดทรัพย์สินเพิ่มจากตระกูลมาร์กอสคงไม่คืบหน้าอีกแล้ว เพราะแม้แต่ในช่วงที่ตระกูลนี้หมดอำนาจไปแล้ว ก็แทบไม่มีอะไรคืบหน้าอีกเลย

การเมืองผูกขาดโดยตระกูลชั้นนำ

บทความของ foreignaffairs.com ชื่อ The Philippines’ Strongman Problem อธิบายเหตุผลที่ว่า ทำไมตระกูลการเมืองชั้นนำจึงผูกขาดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฟิลิปปินส์ บองบอง มาร์กอส ไม่ได้เป็นผู้สมัครคนเดียว ที่มาจากครอบครัวการเมืองที่มีอำนาจอิทธิพล ซารา ดูแตร์เต ที่มีตำแหน่งเป็นเทศมนตรีเมืองดาเวา และเป็นบุตรสาวของโรดรีโก ดูเแตร์เต ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ก็ลงสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดี (ฟิลิปปินส์ใช้ระบบถ่วงดุลอำนาจ จึงเลือกตั้งโดยตรงทั้งประธานาธิบดีและรองฯ)

การที่ลูกหลานของผู้นำเผด็จการในอดีตก้าวขึ้นมามีอำนาจ สะท้อนถึงความล้มเหลวของประเทศในช่วง “ระยะการเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตย”

หลังจากมาร์กอสหมดอำนาจลงในปี 1986 ระบบการเมืองฟิลิปปินส์พัฒนาไปโดยมีองค์ประกอบสำคัญของระบบประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญแบบเสรีนิยม ระบบการเลือกที่มีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง เสรีภาพของสื่อมวลชน และประชาสังคมที่เข้มแข็ง

แต่ก็เป็นระบบที่ทำให้ความมั่งคั่งและอำนาจกระจุกตัวในอยู่ในมือกลุ่มคนไม่กี่ตระกูล ส่วนคนที่เหลืออีกหลายล้านคน จมปลักอยู่กับความยากจนทุกข์ยาก เมื่อขึ้นมามีอำนาจ ตระกูลการเมืองก็ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์แบบที่เรียกกันว่า rent-seeking คือหาทางเอาประโยชน์จากนโยบายรัฐ หรือหาทางให้ตัวเองได้ประโยชน์มากสุดจากฐานะเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม โดยไม่ได้มาจากการสร้างความมั่งคั่งใหม่ๆ ขึ้นมา

บทความของ foreignaffairs.com บอกว่า ปัญหาคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น และปัญหาความยากจนที่ยากจะแก้ไข กลายเป็นปัจจัยที่ยิ่งทำให้สภาพหยุดชะงักของระบบการเมืองประชาธิปไตยเลวร้ายลงไปอีก

ส่วนตระกูลที่มีอำนาจทางการเมืองก็ขัดขวางการปฏิรูป และทำให้การแข่งขันทางประชาธิปไตยกลายเป็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างตระกูลชั้นนำ

ทุกวันนี้ ตระกูลชั้นนำในฟิลิปปินส์ครอบงำตำแหน่งการเมืองระดับท้องถิ่น และ 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาฟิลิปปินส์มาจากครอบครัวชั้นนำดังกล่าว การได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและรองฯ ของบองบอง มาร์กอส กับซารา ดูแตร์เต หมายถึงสมาชิกตระกูลชั้นนำสามารถเข้าไปยึดครองตำแหน่งสูงสุดของประเทศ

บองบอง มาร์กอส กับซารา ดูแตร์เต ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Bongbong Marcos

การถดถอยของประชาธิปไตย

คนฟิลิปปินส์จำนวนมากมองว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นการสานต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คู่แข่งของบองบอง มาร์กอส คือ เลนี โรเบรโด รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่อดีตเป็นนักกฎหมาย การรณรงค์ของเธอพุ่งไปที่กลุ่มคนชั้นกลาง ที่เคยออกมาประท้วงมาร์กอสเมื่อ 36 ปีที่แล้ว

นักรัฐศาสตร์ของฟิลิปปินส์จึงมองว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะกำหนดว่า ฟิลิปปินส์จะถอยหลังไปสู่ระบบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง หรือว่ายังสามารถรักษาความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งยับยั้งการผุกร่อนของสถาบันประชาธิปไตย

หลายปีที่ผ่านมา ระบอบประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ถูกกดกันอย่างหนัก สร้างความผิดหวังให้กับคนที่เคยต่อสู้กับระบอบมาร์กอส และมีบทบาทฟื้นฟูประชาธิปไตยในช่วงทศวรรษ 1980

นักประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ก็เหมือนกับนักประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ คือคิดว่าประชาธิปไตยมีความมั่นคง เพราะเชื่อว่าประวัติศาสตร์อยู่ฝ่ายเดียวกับพวกเขา

แต่ในปี 2016 เมื่อดูแตร์เตได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ฟิลิปปินส์กลายเป็นอีกหนึ่งในหลายประเทศในโลกที่มีระบบการเมืองแบบผสม คือผู้นำแบบอำนาจที่นิยมเด็ดขาดได้รับเลือกตั้งขึ้นมา ใช้มาตรการรุนแรงจัดการกับคนที่เห็นต่าง จำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน และหันเหความไม่พอใจผิดหวังของคนทั่วไปต่อระบอบประชาธิปไตย ไปสู่การเล่นงานผู้อพยพ หรือคนกลุ่มน้อย ในกรณีของดูแตร์เตคือจัดการพวกค้ายาเสพติดและอาชญากรรม

การได้รับเลือกตั้งของดูแตร์เตถือเป็นสัญญาณที่ช่วยปลุกนักประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ให้ตื่นขึ้นมา แต่การที่ดูแตร์เตได้รับความนิยมสูงคือฝันร้ายของคนพวกนี้ ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น พวกสนับสนุนประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์สูญเสียความเชื่อมั่นที่ว่าตัวเองเป็นฝ่ายที่มีหลักการเหนือกว่าฝ่ายตรงกันข้าม (moral high ground) เพราะแนวคิดประชาธิปไตยเป็นหลักการสากล แต่ปรากฏว่าฝ่ายตรงกันข้ามที่ต่อต้านประชาธิปไตย กลับได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามกระบวนการประชาธิปไตย

การเมืองแบบประชานิยมของดูแตร์เตได้รับความนิยมไปทั่วฟิลิปปินส์ เมื่อพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ดูแตร์เตได้รับคะแนนสนับสนุนสูงถึง 67% มากกว่าคะแนนนิยมของลีนา โรเบรโด รองประธานาธิบดีที่ได้ 40% คนฟิลิปปินส์จำนวนมากสนับสนุนดูแตร์เตเพราะเขาสัญญาในสิ่งที่เป็นอนาคต

ดูแตร์เตอาจไม่ได้ปฏิรูปการเมืองแบบระบบครอบครัว หรือทำให้ระบบราชการขาวสะอาด แต่ดูแตร์เตสัญญาในเรื่องการให้ความปลอดภัยแก่คนฟิลิปปินส์ทั่วไป และเสนอวิธีจัดการปัญหาที่รวดเร็ว เช่น “ฆ่าพ่อค้ายาให้หมด” ความนิยมต่อตัวดูแตร์เตมีมากจนทำให้การเลือกตั้งรัฐสภากลางสมัยในปี 2019 ที่ไม่มีฝ่ายค้านพวกเสรีนิยมได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกแม้แต่คนเดียว เป็นครั้งแรกในรอบ 80 ปีที่มีผลการเลือกตั้งแบบนี้

โรดรีโก ดูเแตร์เต ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/rodyduterte

คนชั้นกลางกับประชาธิปไตย

นับจากอดีต คนชั้นกลางถูกมองว่าเป็นตัวแทนของความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย และเป็นหลักประกันการเมืองที่มีเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมามักจะมีการจับตามองอยู่ 2 ประเด็น คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเพียง 1% และเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนยากจนในประเทศกำลังพัฒนาลดน้อยลง โดยเฉพาะในจีน

แต่ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นมา สิ่งนี้ไม่ได้มีผลดีทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมาภิบาล (governance) สังคมที่มีคนชั้นกลางจำนวนมากจะเป็นรากฐานในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

คนชั้นกลางไม่เพียงแต่เป็นกลุ่มคนที่ทำให้รัฐมีรายได้มากขึ้นจากการเก็บภาษี เพื่อไปใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่คนชั้นกลางยังเป็นกลุ่มคนที่เรียกร้องสังคมให้ยึดถือกฎกติกา การบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเที่ยงธรรม และการยึดหลักนิติธรรม สิ่งเหล่านี้เรียกกันว่า “สาธารณประโยชน์” (public good) ที่จะทำให้ธุรกรรมที่มีการแข่งขัน ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบก่อนคนอื่น เป็นการสร้างระบบนิเวศของสังคมที่คนทุกคนมีโอกาสรุ่งเรืองขึ้นมาได้

แต่ในระยะที่ผ่านมา แทนที่จะถูกมองว่าคือพลังที่ปกป้องประชาธิปไตย บทบาทคนชั้นกลางกลายเป็นประเด็นการถกเถียงที่ว่าคือสาเหตุของ “การถดถอยของประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในฟิลิปปินส์ด้วย เพราะคนชั้นกลางผิดหวังต่อผลงานของระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Bongbong Marcos

หนังสือชื่อ Chasing Freedom (2022) ที่เพิ่งออกวางจำหน่าย กล่าวถึงเส้นทางประชาธิปไตยของคนชั้นกลางในฟิลิปปินส์ไว้ว่า พัฒนาการของการเมืองในฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างที่สะท้อนความล้มเหลวของคนชั้นกลาง ที่ไม่ได้มีบทบาทตามคำอธิบายของ “แนวคิดความทันสมัย” (modernization theory) เส้นทางเดินของคนชั้นกลางสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นหนทางที่เรียกว่าทั้ง “นิยมและต่อต้านประชาธิปไตย” (democratic ambivalence) หรือการที่คนชั้นกลางมีค่านิยมขัดแย้งกันในตัวเอง

สาเหตุที่คนชั้นกลางมีทัศนะขัดแย้งในตัวเองในเรื่องประชาธิปไตย ด้านหนึ่งมาจากสภาพชีวิตที่เป็นจริงในสังคม ที่ไม่เป็นไปตามอุดมคติทางประชาธิปไตย และอีกด้านหนึ่ง มาจากหลักการของความคิดประชาธิปไตยเอง ที่ถือว่าการปฏิรูป ปรับปรุง หรือแก้ไขความผิดพลาด เป็นเรื่องที่เป็นไปได้

ประชาธิปไตยอาจเป็นระบอบการเมืองเดียวที่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง คนในสังคมสามารถตั้งข้อสงสัยต่อผู้นำที่มีอำนาจ ทำให้เป็นจุดอ่อนที่จะเกิดความไม่พอใจต่อระบอบการเมืองนี้ ที่สามารถปะทุขึ้นมาได้

เอกสารประกอบ

The Philippines’ Strongman Problem, Sheila S. Coronel, May 5, 2022, foreignaffairs.com
Chasing Freedom, Adele Webb, Sussex Academic Press, 2022.