ThaiPublica > เกาะกระแส > ความสำเร็จของโมเดล “ประเทศนอร์ดิก” การค้าเสรี ความรักชาติ และทุกคนมีส่วนร่วม

ความสำเร็จของโมเดล “ประเทศนอร์ดิก” การค้าเสรี ความรักชาติ และทุกคนมีส่วนร่วม

17 มกราคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ซานนา มาริน (Sanna Marin) นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของฟินแลนด์ ที่มาภาพ :https://eu2019.fi/artikkeli/-/asset_publisher/sanna-marin-euroopan-unioni-uuden-ajan-kynnyksella

เว็บไซต์ theguardian.com รายงานว่า ซานนา มาริน (Sanna Marin) นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของฟินแลนด์ ที่มีอายุเพียง 34 ปี ได้เสนอความคิดเรื่อง การทำงาน 6 ชั่วโมงต่อวัน และ 4 วันในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้คนฟินแลนด์ใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น และการเวลาทำงานที่ลดลงนี้ ยังจะส่งผลดีต่อผลิตภาพการทำงานของพนักงานอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ฟินแลนด์ได้รับความชื่นชมจากทั่วโลกมาแล้ว ในเรื่องความสำเร็จทางการศึกษาของเด็กนักเรียนฟินแลนด์ จากการสำรวจของนานาชาติ นับจากปี 2000 เป็นต้นมา เยาวชนฟินแลนด์ได้คะแนนสูงสุด หรือเกือบสูงสุดมาตลอด ในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทำให้นักการศึกษาจากทั่วโลกเดินทางไปดูงานโรงเรียนของฟินแลนด์ จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความมหัศจรรย์ฟินแลนด์”

ประเทศน่าอยู่ที่สุดในโลก

หนังสือชื่อ The Nordic Theory of Everything ของ Anu Partanen เขียนไว้ว่า ในปี 2010 นิตยสาร Newsweek ได้สำรวจภาวะความสุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ใน 5 ด้าน คือ การศึกษา สุขภาพ คุณภาพชีวิต ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมทางการเมือง ผลการสำรวจปราฏว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลก

ในปี 2012 สหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานชื่อ World Happiness Reportปรากฏว่า ฟินแลนด์ติดอันดับที่ 2 โดยอันดับ 1 คือเดนมาร์ก และอันดับ 3 คือนอร์เวย์ ทั้ง 3 ประเทศนี้ รวมทั้งสวีเดนและไอซ์แลนด์ อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าประเทศนอร์ดิก (Nordic Nations)

ที่มาภาพ : amazon.com

ความสำเร็จด้านวัฒนธรรมของระเทสนอร์ดิก ก็ได้รับการชื่นชมเช่นเดียวกัน สวีเดนสร้างคณะนักดนตรีชื่อดัง Abba ร้านเสื้อผ้า H&M ร้านเฟอร์นิเจอร์ Ikea และรถยนต์ Volvo ส่วนเดนมาร์ก เป็นเจ้าของ LEGO บริษัทของเล่นเด็ก ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้นิตยสาร Vanity Fair เขียนไว้ว่า โลกเราได้มีประสบการณ์กับ “ความสำเร็จของสแกนดิเนเวีย”

โมเดลนอร์ดิก

ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ในโลก กำลังเผชิญปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น ความเป็นเอกภาพของสังคมอ่อนแอลง และสังคมประสบวิกฤติด้านอัตลักษณ์ เกิดการประท้วงขึ้นในหลายประเทศ จากฝรั่งเศสไปจนถึงชิลี สิ่งที่คนทั่วไปมองเห็นว่าเป็นผู้ร้ายคือ การค้า เทคโนโลยี และผู้อพยพ ส่วนความเชื่อมั่นในรัฐบาล ก็มีน้อยลง

บทความชื่อ The New Nordic Model ในนิตยสาร Foreign Affairs กล่าวว่า ประเทศแถบนอร์ดิกได้ให้แบบอย่างสำหรับทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โมเดลนอร์ดิกที่บุกเบิกมาหลายทศวรรษ มีองค์ประกอบพื้นฐานไม่กี่อย่าง คือ

    (1) รัฐสวัสดิการ ที่ประกอบด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพสูงและฟรีแก่ประชาชน รวมทั้งระบบดูแลสุขภาพ
    (2) การจ้างงานที่ยืดหยุ่น พร้อมกับการประกันสังคมที่เข้มแข็ง
    (3) เศรษฐกิจที่เปิดกว้าง เก็บภาษีนำเข้าต่ำ และมีการกีดกันการค้าที่น้อยมาก
ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/2e/Nordiske-flag.jpg

นอกจากลักษณะพื้นฐานดังกล่าว โมเดลนอร์ดิกยังประกอบด้วยความคิดชาตินิยมที่สร้างสรรค์ (constructive nationalism) ความคิดชาตินิยมไม่ได้มีความหมายว่าคนเรามีต้นกำเนิดอย่างไร หรือมีชาติพันธุ์อย่างไร แต่อยู่ที่ว่าคนคนนั้นมีส่วนอย่างไรต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน เมื่อประสานกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่เป็นไปในทางบวก องค์ประกอบดังกล่าวทำให้เกิดโมเดลด้านธรรมาภิบาล ที่ผสมผสานการเติบโตกับพลวัต รวมทั้งความเท่าเทียมกันและภาวะสันติสุขของสังคม

บทความ The New Nordic Model กล่าวว่า คนทั่วไปในโลกมักมองว่า แบบอย่างของประเทศนอร์ดิกคือระบบรัฐสวัสดิการที่กว้างขวาง จริงๆ แล้วโมเดลนอร์ดิกเป็นความคิดที่มุ่งมั่นดำเนินการใน 3 ด้าน คือ โมเดลเศรษฐกิจสังคม ทัศนคติด้านสังคม และความคิดที่แก้ปัญหาโดยใช้วิธีการปฏิบัติ (pragmatism)

โมเดลเศรษฐกิจสังคม

โมเดลเศรษฐกิจสังคมนี้ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ระบบรักษาสุขภาพฟรีถ้วนหน้า การศึกษาที่มีคุณภาพ และบ้านพักอาศัยที่คนสามารถซื้อได้ เสาหลักทั้ง 3 ดังกล่าวเป็นหลักประกันที่แสดงให้เห็นถึงการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าโอกาสที่เท่าเทียมกัน และยังถือเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายรัฐ

โมเดลนี้ยังรวมถึงนโยบายที่มีต่อตลาดแรงงานแบบยืดหยุ่นและมีหลักประกัน คำว่ายืดหยุ่นหมายความว่า นายจ้างสามารถปรับลดคนงานได้อย่างรวดใดเร็วตามสภาพตลาดธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนคำว่าหลักประกันหมายถึง การที่ลูกจ้างสามารถอยู่ได้ในช่วงยากลำบากนี้ เพราะรัฐให้หลักประกันจากการว่างงาน ที่เป็นเงินมาจากภาษี

ลักษณะสุดท้ายของโมเดลเศรษฐกิจสังคมคือ การค้าเสรีและการแข่งขัน นโยบายนี้ทำให้ผู้ประกอบการของประเทศนอร์ดิกสามารถแข่งขันในตลาดโลก และยังส่งเสริมการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศนอร์ดิกมีเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและสามารถแข่งขันได้มากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ครั้งหนึ่ง เดนมาร์กเคยเป็นประเทศชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมต่อเรือ ปัจจุบัน อุตสาหกรรมดังกล่าวหันมาทำธุรกิจการผลิตเครื่องยนต์คุณภาพสูงแทน

ที่มาภาพ : https://twitter.com/valtioneuvosto/status/1211911082933194752/photo/1

ทัศนคติชาตินิยมสร้างสรรค์

บทความ The New Nordic Model กล่าวอีกว่า ส่วนที่สำคัญอีกอย่างนึ่งของโมเดลนอร์ดิกคือ ความคิดชาตินิยมที่สร้างสรรค์ การเป็นคนสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ หรือฟินแลนด์ หมายถึงการมีทัศนคติทางสังคมในเชิงบวก ความคิดรักชาติของนอร์ดิกคือการมีความมุ่งมั่นต่อโมเดลทางเศรษฐกิจสังคม ที่ส่งเสริมความไว้วางใจในหมู่ประชาชน ภาคธุรกิจ และรัฐบาล เพื่อให้แต่ละภาคส่วนมีคุณูปการต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมโดยรวม

ความเชื่อมั่นไว้วางใจที่คนนอร์ดิกมีต่อกันและกัน ทำให้เกิดคุณประโยชน์มหาศาล รัฐบาล สหภาพแรงงาน และธุรกิจ สามารถทำงานร่วมกัน แทนที่จะเป็นปรปักษ์ต่อกัน สร้างหลักประกันให้รัฐบาลทำงานที่มีความโปร่งใสที่สูง และให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบริการสุขภาพ

ความคิดชาตินิยมของนอร์ดิก ยังกลายเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ ในยามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจสังคม ประเทศนอร์ดิกกลายเป็นประเทศบุกเบิกด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และนวัตกรรมอื่นๆ การเน้นการศึกษาที่มีคุณภาพ และการฝึกอบรมที่ต่อเนื่อง ทำให้แรงงานสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

บทความ The New Nordic Model เสนอว่า โมเดลนอร์ดิกสอดคล้องกับยุคสมัยที่เป็นอยู่อย่างมาก โดยสามารถเป็นแนวทางให้แก่ประเทศอื่นๆ ที่ต้องการรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี สิ่งที่เป็นพื้นฐานคือความคิดที่ว่า เศรษฐกิจจะประสบความสำเร็จ ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องมีส่วนร่วม การทำให้ประชาชนมีความเท่าเทียมทางโอกาส สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจตลาดเชิงสังคม (social market economy)

ประเทศอื่นๆ สามารถนำโมเดลนอร์ดิกไปเป็นบทเรียน เช่น การสร้างความไว้วางใจระหว่างกันและกันในหมู่ประชาชน และภาคส่วนต่างๆ การส่งเสริมพลวัตเศรษฐกิจและการแข่งขัน โดยมีการปกป้องแรงงาน และคัดค้านการกีดกันการค้า มีเศรษฐกิจเปิดกว้าง และภาคเอกชนที่สามารถแข่งขันได้ และประเทศยังสามารถมีรายได้เพียงพอจากการเก็บภาษี เพื่อนำมาใช้ด้านรัฐสวัสดิการ

เอกสารประกอบ
The Nordic Theory of Everything, Anu Partanen, Harper, 2017.
The New Nordic Model, Borge Brende, January 2, 2020, foreignaffairs.com