ThaiPublica > เกาะกระแส > จากเซินเจิ้นสู่เมืองใหม่บ่อเต็นของลาว สะท้อนการเป็น “รัฐโครงสร้างพื้นฐาน” ของจีน

จากเซินเจิ้นสู่เมืองใหม่บ่อเต็นของลาว สะท้อนการเป็น “รัฐโครงสร้างพื้นฐาน” ของจีน

12 กรกฎาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : รายงาน China’s Belt and Road

สิ่งที่ถือกันว่าเป็นผลกระทบสำคัญประการหนึ่งของโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt & Road Initiative – BRI) ของจีน ที่มีต่อนานาประเทศ คือ การเชื่อมโยงระหว่างโครงการ BRI กับการสร้างชุมชนเมืองใหม่ขึ้นมา ในประเทศที่อยู่ตามระเบียงเศรษฐกิจของ BRI

โครงการก่อสร้างชุมชนเมืองใหม่ของจีนในต่างประเทศ มีจุดเริ่มต้นจากการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เซินเจิ้นในปี 1979 เดิมเซินเจิ้นเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ แต่ปัจจุบันมีประชากรถึง 20 ล้านคน ในปี 2017 GDP ของเซินเจิ้นมีมูลค่าถึง 338 พันล้านดอลลาร์ มากกว่า GDP ของศูนย์กลางการเงินในเอเชีย อย่างเช่น ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ ความสำเร็จที่รวดเร็วของเซินเจิ้นทำให้ถูกเรียกว่า “เมืองที่เกิดขึ้นทันทีทันใด” (instant city) ส่วนจีนกลายเป็น “รัฐโครงสร้างพื้นฐาน” (infrastructure state)

รัฐโครงสร้างพื้นฐาน

อังกฤษเป็นประเทศแรก ที่เป็นแบบอย่างของการเป็นรัฐโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อถึงปี 1848 รัฐบาลอังกฤษสร้างเครือข่ายทางหลวงเป็นถนนกว้าง 12 เมตรทั่วประเทศ ที่เชื่อมโยงเมืองและหมู่บ้านทั้งหมดเข้าด้วยกัน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้ดำเนินการโดยรัฐบาลส่วนกลางของอังกฤษ ทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกมากขึ้น แม้แต่หนังสือพิมพ์ก็สามารถส่งไปถึงหมู่บ้านห่างไกล

หนังสือ The Belt and Road Initiative as Epochal Regionalization (2020) กล่าวว่า ในกรณีของจีน การเป็นรัฐโครงสร้างพื้นฐาน มีความหมายสำคัญคือการสร้างเมืองใหม่ (urbanization) ในระยะเวลา 40 ปีของการพัฒนาเศรษฐกิจ คนชนบทของจีนกว่า 600 ล้านคนอพยพเข้ามาอยู่ในเมือง

ที่มาภาพ : ภาพจาก routledge.com

ในปี 2018 จีนมีเมืองที่มีคนอาศัยอยู่มากกว่า 1 ล้านคน 160 เมือง ส่วนยุโรปทั้งทวีปมี 35 เมือง และสหรัฐฯ มีแค่ 9 เมือง

การสร้างเมืองใหม่ของจีนยังมีความหมายสำคัญต่อการแก้ปัญหาความยากจนของคนจีน เพราะมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนจีนกว่า 800 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่อพยพจากชนบท สามารถหลุดพ้นจากความยากจนสุดขอบ (extreme poverty)

ปัจจุบัน มูลค่า GDP ของจีนทั้งหมด 75% มาจากเศรษฐกิจเมือง ในปี 2025 จะเพิ่มเป็น 95% การขยายตัวของเมือง นอกจากจะเป็นผลดีต่อจีนแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลก ในปี 2030 เมืองต่างๆ ของจีนจะมีสัดส่วนถึง 30% ของการบริโภคของเมืองทั่วโลก

บริษัท McKinsey คาดว่า ในปี 2030 เมืองที่มีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนของจีน จะเพิ่มเป็น 220 เมือง จีนจะต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนเพิ่มอีก 170 แห่ง การขยายตัวที่รวดเร็วของเมือง ทำให้จีนที่เคยผลิตอาหารได้พอเพียง ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตร ที่อยู่ไกลออกไปถึงอาร์เจนตินา และนำเข้าวัตถุดิบจากทั่วโลก

ขอบเขตและความรวดเร็วของจีนในการพัฒนาเมืองใหม่ ก็เป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจแก่โลกเรามาแล้ว ในปี 2017 ตึกที่สูงกว่า 200 เมตรขึ้นไป และสร้างเสร็จแล้วในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จำนวนทั้งหมด 144 อาคารนั้น เป็นตึกในจีน 77 แห่ง ที่สร้างกระจายตามเมืองต่างๆ นครนิวยอร์กเองมีตึกแบบนี้ทั้งหมดแค่ 113 อาคาร

เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม

บ่อเต็น “เมืองเกิดใหม่ทันทีทันใด”

บทบาทของจีนในฐานะรัฐโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ได้จำกัดการลงทุนอยู่ภายในประเทศจีนเท่านั้น โครงการ BRI ยังทำให้โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการขนส่ง และการสร้างเมืองใหม่ของจีน ขยายออกไปตามระเบียงเศรษฐกิจของ BRI อย่างเช่นระเบียงเศรษฐกิจจีน–ลาว ที่เป็นส่วนย่อยของระเบียงอินโดจีน ที่ประกอบด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน–ลาว และการสร้างเมืองใหม่บ่อเต็น

หนังสือ The Belt and Road Initiative as Epochal Regionalization กล่าวว่า การจะเข้าใจบทบาทของจีนในการสร้างเมืองใหม่ ในประเทศกำลังพัฒนา จำเป็นต้องถือเอาเมืองเซินเจิ้นเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็น “แบบอย่าง” (template) เซินเจิ้นเป็น “นครที่เกิดขึ้นทันทีทันใด” (instant city) โดยพัฒนาจากหมู่บ้านประมงมาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และก็กลายมหานครใหญ่ ที่ประกอบด้วยสวนอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง

บ่อเต็นเป็นหมู่บ้านของลาวที่ยากจน อยู่ติดเมืองโมฮั่น เขตสิบสองปันนาของจีน ปี 2003 บริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงเคยได้รับสัมปทาน 30 ปี ที่จะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา เรียกว่าเมืองทองบ่อเต็น แต่เขตเศรษฐกิจพิเศษถูกเปลี่ยนไปเป็นแหล่งการพนันแทน สำหรับคนจีนข้ามพรมแดนมาเล่น รัฐบาลจีนจึงกดดันให้ลาวสั่งปิดแหล่งพนัน ทำให้บ่อเต็นกลายเป็นเมืองร้าง

ต่อมาในปี 2015 รัฐบาลจีนและลาวลงนามในข้อตกลงเรียกว่า Agreement for Joint Construction of the China-Lao Borten-Mohan Economic Cooperation Zone (ECZ) โดยสองฝ่ายจะร่วมกันสร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างโมฮั่นกับบ่อเต็น บนพื้นที่ 21.2 ตาราง กม. โดย16.4 ตาราง กม. อยู่ทางฝั่งบ่อเต็น และ 4.8 ตาราง กม. อยู่ฝั่งโมฮั่น เขตทางโมฮั่นจะสร้างเป็นเขตสำนักงานของบริษัทจีน ส่วนทางบ่อเต็นจะพัฒนาด้านการค้า การเงิน โลจิสติกส์ และโรงงานประกอบสินค้าสำเร็จรูป

เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ของบ่อเต็นให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่นักลงทุน คล้ายๆ กับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในช่วงแรกๆ ของเขต SEZ เซินเจิ้น เช่น ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบที่นำมาใช้ในเขต SEZ ภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บที่ 5% ภาษีเงินเงินได้ 5% และภาษีกำไรของโรงงาน 0–10% ผลกำไรของนักลงทุนได้รับการยกเว้นภาษี 3–10 ปี และการส่งออกไปต่างประเทศ สามารถติดป้าย Made in Laos

เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม

การสร้างเขต SEZ และเมืองใหม่ของบ่อเต็น ถือเป็นส่วนที่สำคัญของโครงการ BRI ในระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน สัญลักษณ์สำคัญที่สะท้อนโครงการ BRI ในบ่อเต็นคืออาคารสูง 20 ชั้น ที่จะเป็นศูนย์กลางการเงิน และอาคาร 30 ชั้นของ International Trade Center

  • สปป.ลาว ประเทศหน้าด่านของอาเซียน ภายใต้เงาโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”
  • ระบบรถไฟความเร็วสูง (HSR) ของจีน ความมหัศจรรย์ของการพัฒนาก้าวกระโดด
  • อาคารดังกล่าวสะท้อนฝีมือการก่อสร้างของ Haicheng บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนของคุนหมิง ที่ได้สัมปทานเช่าที่ดิน 90 ปี และได้ลงทุนพัฒนาที่ดินและอาคารในบ่อเต็นไปแล้วเป็นเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ และใน 10-15 ปีข้างหน้า ยังจะลงทุนอีก 10 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เศรษฐกิจลาวทั้งประเทศมีมูล GDP แค่ 12 พันล้านดอลลาร์

    การที่บริษัทก่อสร้างเอกชนอย่าง Haicheng มีบทบาทสำคัญในโครงการก่อสร้างที่สำคัญของ BRI ทำให้ภาพลักษณ์ทางการเมืองของโครงการ BRI ดีขึ้น จากเดิมที่คนทั่วโลกมองว่า BRI เป็นโครงการของรัฐบาลจีน แต่ Haicheng ก็ได้ประโยชน์จากอิทธิพลทางการเมืองของ BRI ทำให้ Haicheng สามารถขยายธุรกิจไปที่ลาว แต่ Haicheng ก็ช่วยสะท้อนถึงความร่วมมือกันระหว่าง BRI ที่เป็นนโยบายต่างประเทศของจีน กับการแสวงการโอกาสและผลกำไรของการลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจเอกชนจีน

    นอกจากการลงทุนของเอกชนจีนในด้านอสังหาริมทรัพย์ บริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านสุขภาพของจีนคือ Jinxin Medical Group ที่มีธุรกิจด้านโรงพยาบาลในจีน ก็เข้าไปซื้อกิจการด้านการดูแลสุขภาพที่บ่อเต็น ที่เป็นของบริษัท Rhea International Medical Center ทางกลุ่ม Jinxin มีแผนที่จะยกระดับการบริการทางแพทย์ เพื่อรับมือกับโควิด-19

    การขยายธุรกิจของ Jinxin ช่วยสะท้อนว่า วิกฤติด้านสาธารณสุขทำให้เกิดหุ้นส่วนและความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในการรับมือกับโรคระบาด การสร้างเมืองใหม่นอกพรมแดนจีน ที่มีธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการดูแลปัญหาสุขภาพ ทำให้คนมองเห็นว่า การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมีลักษณะที่สมดุล คือมีการบริการที่มีคุณภาพในด้านต่างๆ

    ในช่วง 40 ปี่ที่ผ่านมา จีนกลายเป็นรัฐโครงสร้างพื้นฐาน ที่สร้างเมืองในขอบเขตที่ใหญ่โตและรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โครงการ BRI ทำให้จีนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการลงทุนสร้างเมืองใหม่ในโลก กระแสโลกาภิวัตน์ที่นำโดยจีน คงจะมีลักษณะโดดเด่นที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

    เอกสารประกอบ

    The Belt and Road Initiative as Epochal Regionalization, Xiangming Chen, Taylor % Francis Group, 2020.