ThaiPublica > เกาะกระแส > สปป.ลาว ประเทศหน้าด่านของอาเซียน ภายใต้เงาโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

สปป.ลาว ประเทศหน้าด่านของอาเซียน ภายใต้เงาโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

22 กุมภาพันธ์ 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้รายงานข่าวเรื่อง ความรุ่งเรือง ความตกต่ำ และโอกาสที่อาจจะกลับมารุ่งเรืองใหม่ของบ่อเตน เมืองทางเหนือของแขวงหลวงน้ำทา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่อยู่ติดกับชายแดนจีน ชะตากรรมที่พุ่งขึ้นและพังทลายของบ่อเตน เกิดจากชีวิตทางเศรษฐกิจของเมือง ที่ตกอยู่ภายใต้เงาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของจีน

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือในช่วงปี 2010 บ่อเต็นเคยเป็นเมืองที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองจากธุรกิจบ่อนคาสิโน ที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวจากจีนได้เดือนหนึ่งหลายพันคน ให้ข้ามพรมแดนจากมณฑลยูนานเข้ามาบ่อเตน บ่อนคาสิโนไม่เพียงแต่ทำให้เศรษฐกิจของบ่อเตนเจริญรุ่งเรือง แต่ทำให้ตกต่ำพังทลายเช่นเดียวกัน

ความรุ่งเรืองแบบยุคตื่นทอง

ปี 2003 บริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง ได้สัมปทานเช่าที่ดิน 30 ปีจากรัฐบาลลาว เพื่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone – SEZ) เรียกว่า “เมืองทองบ่อเตน” (Boten Golden City) โครงการนี้มีเป้าหมายให้เขต SEZ ของบ่อเตนเป็นศูนย์กลางการค้าและท่องเที่ยวสำหรับภาคเหนือของลาว แต่เมื่อการพนันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในจีน นักลงทุนพวกนี้จึงหันเหไปสร้างบ่อนคาสิโนขึ้นมาแทน

บ่อนคาสิโนในบ่อเตน ทำให้เกิดเศรษฐกิจบริวารต่างๆ ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เช่น บาร์ คาราโอเกะ และแม้แต่การแสดงโชว์คาบาเรต์ที่นำมาจากไทย ด่านศุลกากรกรของลาวที่บ่อเตนก็ย้ายลึกเข้าไปในดินแดนลาว โดยอยู่ห่างจากชายแดนจีน เพื่อทำให้คนจีนเข้าออกสะดวก

บ่อเตนจึงมีสภาพคล้ายด่านชายแดนของจีน ที่ตั้งอยู่นอกประเทศ นาฬิกาในบ่อเตนจะถูกตั้งให้ตรงกับเวลาที่ปักกิ่ง และธุรกรรมต่างๆ ก็ใช้เงินหยวน

ปลายปี 2010 เกิดเหตุการณ์เจ้าของบ่อนคาสิโนในบ่อเตนกักตัวนักพนันจีนที่ไม่สามารถจ่ายหนี้พนัน หลังจากนั้น กระทรวงต่างประเทศจีนสั่งปิดบ่อนคาสิโนต่างๆ ทั้งๆ ที่ตั้งอยู่ในดินแดนลาว ทางการจีนเข้มงวดคนจีนข้ามแดนไปลาวมากขึ้น และตัดไฟฟ้าจากจีนที่ป้อนให้เมืองบ่อเตน เศรษฐกิจบ่อเตนพังทลายทันที ร้านค้าและภัตตาคารของคนจีนปิดกิจการ โรงแรมต่างๆ กลายเป็นตึกร้างไม่มีแขกเข้าพัก

แต่เศรษฐกิจบ่อเตนก็ได้โอกาสฟื้นตัวกลับมาใหม่ นักลงจีนได้ทุ่มเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาเขต SEZ ขึ้นมาใหม่ ที่จะประกอบด้วยโรงงาน สำนักงาน ร้านค้าปลอดภาษี สถานีรถโดยสารประจำทางนานาชาติ และสนามกอล์ฟ รวมทั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง มูลค่าการลงทุนเกือบ 6 พันล้านดอลลาร์ ที่เชื่อมนครคุนหมิงกับเวียงจันทน์ นักวิเคราะห์บอกว่า จีนหันมาสนใจบ่อเตน สร้างให้เป็นศูนย์กลางการขนส่ง เพื่อสนับสนุนการที่จีนจะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ต่างๆ ของลาว

ทำไมจีนสนใจลาว

หนังสือชื่อ Under Beijing’s Shadow (2020) ของ Murray Hiebert กล่าวว่า การก่อสร้างเขต SEZ ใหม่ขึ้นมา นับเป็นการลงทุนครั้งที่สองของจีนในบ่อเตน บริษัทที่เป็นเจ้าโครงการคือ Yunnan Haicheng Industry Group และ Hong Kong Fuk Hing Travel Entertainment Group โครงการเขต SEZ ใหม่นี้ คาดว่าจะเสร็จในปี 2040 โดยได้สัมปทานการเช่าที่ดินจากรัฐบาลลาวนาน 50 ปี และขยายเวลาไปครั้งละ 20 ปีได้อีก 2 ครั้ง

ที่มาภาพ : amazon.com

บริษัทจีนที่เข้ามาพัฒนาบ่อเตนกล่าวว่า ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 4.5 พันล้านดอลลาร์ และกล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Vientiane Times ว่า จะลงทุนทั้งหมด 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหนังสือ Under Beijing’s Shadow บอกว่าเป็นตัวเลขที่เกินจริง เพราะจะเท่ากับ 60 เท่าของมูลค่า GDP ลาว ซึ่งในปี 2017 มีมูลค่า 17 พันล้านดอลลาร์

แต่ Keith Barney อาจารย์จาก The Australian National University ที่ทำวิจัยเรื่องลาว และเพิ่งเดินทางไปเมืองบ่อเตนมา แสดงความกังวลว่า โครงการ SEZ จะไม่ช่วยอะไรลาว โครงการนี้ทำให้คนงานและผู้ประกอบการจากจีนหลั่งไหลเข้ามาพื้นที่ของลาว เขาเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวของคนลาวรายหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในตัวเมืองบ่อเตน ส่วนคนลาวที่ขายของในตลาดสดบอกว่า มีคนลาวไม่ถึง 100 คนทำงานในเขต SEZ และต้องพูดจีนได้ จึงจะถูกจ้าง

หนังสือ Under Beijing’s Shadow ตอบคำถามที่ว่า ทำไมจีนจึงสนใจลาว ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล และมีประชากรแค่ 7 ล้านคน ก็เพราะทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มหาศาลของลาว พื้นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเกษตร โอกาสมากมายจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งน้ำ และลาวเป็นสะพานเชื่อมมณฑลยูนานกับประเทศไทย ที่เศรษฐกิจพัฒนามากกว่า

โครงการรถไฟความเร็วสูง

โครงการรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์ ระยะทาง 422 กิโลเมตร ถือเป็นส่วนดีที่สุดของโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 5.9 พันล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของมูลค่า GDP ของลาว เส้นทางรถไฟจะผ่าน 75 อุโมงค์ 167 สะพาน และเสาคอนกรีตหลายพันต้นที่จะยกรางรถไฟในผ่านช่วงหุบเขา เจ้าหน้าที่ลาวบอกว่า โครงการนี้จะเปลี่ยนลาวจาก “ประเทศไม่มีทางออกทะเล” เป็น “ประเทศที่มีทางเชื่อมจากแผ่นดิน”

หนังสือ Under Beijing’s Shadow บอกว่า บริษัทร่วมทุนรถไฟจีน-ลาว ได้เงินกู้ 4.1 พันล้านดอลลาร์จากธนาคาร EXIM ของจีน หรือ 70% ของมูลค่าโครงการ จีนร่วมลงทุนเป็นเงิน 1.3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนฝ่ายลาวลงทุน 531 ล้านดอลลาร์ โดยลาวจะกู้เงิน 480 ล้านดอลลาร์จากธนาคาร EXIM ในอัตราดอกเบี้ย 2.3% ระยะเวลาชำระหนี้ 25 ปี และระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี

โปสเตอร์โครงการรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว ที่มาภาพ : nytimes.com

นักเศรษฐศาสตร์ได้ตั้งคำถามถึงความสามารถของลาว ที่จะเริ่มชำระหนี้เงินกู้ของโครงการนี้ จากการศึกษาของฝ่ายจีนเองคาดว่า โครงการจะขาดทุนใน 11 ปีแรก โดยการคาดการณ์ดังกล่าวมีสมมติฐานว่า ประเทศไทยจะสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ มาถึงหนองคาย

แม้จะเป็นประเทศเล็กและด้อยพัฒนา แต่ลาวก็ได้รับคำชื่นชมในเรื่องการเจรจาต่อรองกับจีน เช่น สัดส่วนการลงทุนของลาว ที่น้อยกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือแค่ 8% ของมูลค่าโครงการ โดยจีนคือฝ่ายที่ลงทุนเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ อัตตาดอกเบี้ยเงินกู้ของจีนก็ลดลงจากเดิมอยู่ที่ 3% สิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินสองข้างทางรถไฟ ลดจากที่จีนเคยเรียกร้อง 50 เมตร มาเหลือ 14 เมตร แต่จีนได้พื้นที่ใช้ประโยชน์บริเวณรอบสถานีรถไฟเพิ่มมากขึ้น

แต่นาย Philip Alston ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านความยากจนและสิทธิมนุษยชน วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อโมเดลการพัฒนาของลาว ที่มุ่งอาศัยโครงการลงทุนแบบเมกะโปรเจกต์จากจีน การพัฒนาเศรษฐกิจของลาวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ได้ทำให้ความยากจนลดลงอย่างได้สัดส่วน การทุ่มเทให้กับโครงการขนาดใหญ่สร้างงานน้อยมากให้แก่คนลาว และยังสร้างภาระการชำระหนี้คืนก้อนใหญ่อีกด้วย

ตัวเลขของผู้แทนสหประชาชาติระบุว่า เขตเศรษฐกิจ SEZ ทั้งหมด 11 เขต ส่วนใหญ่เป็นโครงการของจีนในลาว ในปี 2017 สร้างรายได้ให้แก่งบประมาณรัฐของลาวแค่ 20 ล้านดอลลาร์ รายได้จากเขื่อนพลังงานไฟฟ้าสร้างรายได้แก่ลาวแค่ 1% ของ GDP หรือ 170 ล้านดอลลาร์ เขตเศรษฐกิจ SEZ ทั้งหมดมีการจ้างงาน 28,000 คน เป็นคนลาว 1 ใน 3 หรือ 9,000 กว่าคน

ทิวทัศน์ใหม่ของเวียงจันทน์

หนังสือ Under Beijing’s Shadow กล่าวว่า จนถึงปี 2016 จีนให้เงินสนับสนุนแก่โครงการต่างๆ ในลาว 764 โครงการ โดยเป็นโครงการที่จีนให้เงินสนับสนุนทั้งหมด 552 โครงการ และส่วนที่เหลือเป็นโครงการแบบร่วมลงทุน บางโครงการจีนให้เงินช่วยเหลือให้เปล่า เช่น สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ห้วยทราย และอาคาร 3 ชั้นในเวียงจันทน์ ที่เป็นสำนักงานของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว

ส่วนการลงทุนของบริษัทต่างๆ ของจีน ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของลาว เพราะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในด้านเขื่อนผลิตไฟฟ้าจากน้ำ เขตเศรษฐกิจ SEZ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จีนและลาวไม่ได้เปิดเผยว่า บริษัทจีนลงทุนมูลค่าเท่าไหร่ในลาว หรือจีนลงทุนมากขนาดไหน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง แต่กลุ่ม RWR Advisory Group ในสหรัฐฯ ที่ติดตามโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ระบุว่า ระหว่างปี 2013-2018 จีนได้ลงทุนในลาว 11.4 พันล้านดอลลาร์

บริษัทจีนกลายเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในเวียงจันทน์ โดยเฉพาะบริเวณริมแม่น้ำโขง อย่างเช่น โรงแรม Landmark Mekong Riverside ที่บารัก โอบามา เคยเข้าพักเมื่อมาเยือนลาวในปี 2016 บริษัทก่อสร้าง CAMCE Investment (Laos) ที่ร่วมทุนระหว่างจีนกับลาว เป็นผู้ลงทุนในโรงแรมแห่งนี้ รวมทั้งอพาร์ตเมนต์และบ้านพักแบบวิลลาระดับหรูหราในเวียงจันทน์

ส่วนเวียงจันทน์ชอปปิงมอล ตั้งอยู่ใกล้ตลาดเช้า สร้างโดยบริษัท Yunnan Construction Engineering Group ที่ประกอบด้วยร้านค้าปลีก ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ที่ดำเนินงานโดยหัวเหว่ย และสำนักงานให้เช่า ที่มีผู้เช่าอย่างเช่น บริษัท China Railway Materials และ ZTE บริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่ของจีน

บริษัทจีนยังมีแผนที่จะสร้างบ่อนคาสิโนและเขตเศรษฐกิจ SEZ ในทางตอนใต้ของลาว โครงการ Mahanathy Siphandone SEZ ในแขวงจำปาสัก จะใช้เงินลงทุน 6 พันล้านดอลลาร์ ที่จะประกอบด้วยโรงแรม 5 ดาว บ่อนคาสิโน คาดว่าจะเสร็จในปี 2021

ลาวนับเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การลงทุนจากจีนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างเห็นได้ชัด รถไฟความเร็วสูงทำให้ประเทศไม่ติดทะเล สามารถเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ความช่วยเหลือจากจีนในโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ทำให้ลาวมีรายได้จากการส่งออก แต่สิ่งนี้ก็เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงชีพ และวิถีชีวิตของคนที่อยู่ใต้แม่น้ำลงไป

ปัญหาท้าทายประการแรก คือ การสร้างโอกาสในการดำรงชีพที่ดีขึ้นให้คนลาว ที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ทำมาหากินเดิม เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูง การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า และเขตเศรษฐกิจ SEZ

ปัญหาท้าทายที่สอง คือ การอพยพของคนจีนเข้ามาทางตอนเหนือของลาว ในอนาคตข้างหน้า สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบของกลุ่มชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมของท้องถิ่น

เอกสารประกอบ
Under Beijing’s Shadow: Southeast Asia’s China Challenge. Murray Hiebert, 2020, Rowman & Littlefield.
The Rise, Fall and Possible Renewal of a Town in Laos on China’s Border, July 6, 2016, nytimes.com
Behind China’s $1 Trillion Plan to Shake Up the Economic Order, May 13, 2017, nytimes.com