ThaiPublica > เกาะกระแส > เส้นทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำที่ได้รับความเคารพมากที่สุดของโลก

เส้นทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำที่ได้รับความเคารพมากที่สุดของโลก

11 พฤศจิกายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นางอังเกลา แมร์เคิล ที่มาภาพ : https://www.bundeskanzlerin.de/bkin-en/news/kanzlerin-bei-generaldebatte-1699808

เมื่อวันพุธที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นางอังเกลา แมร์เคิล ได้เดินทางไปเยือนเมือง Beaune แคว้น Burgundy ฝรั่งเศส เพื่อเป็นการอำลาจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมัน ที่เธอดำรงตำแหน่งมานานถึง 16 ปี การมาเยือนครั้งนี้เป็นแขกรับเชิญของแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่มอบเครื่องอิสริยาภรณ์สูงสุด Grand Cross of the Legion of Honor ให้แก่เธอ

ในงานมอบรางวัล ประธานาธิบดีมาครงกล่าวว่า “นับตั้งแต่ที่คุณขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศฝรั่งเศสได้เรียนรู้ที่จะรู้จักคุณ และหลงรักคุณ คุณทำงานเพื่อให้ยุโรปเป็นหนึ่งเดียวกัน ในท่ามกลางวิกฤติต่างๆ ผมหวังว่าบทเรียนที่คุณทิ้งไว้ให้แก่เรา ที่ให้หนักแน่นเมื่อเผชิญกับลมแรง ให้มั่นใจว่าทุกคนเป็นหนึ่งเดียว และสิ่งต่างๆ ไม่แตกสลายเป็นชิ้นๆ สิ่งนี้แหละที่จะยังคงอยู่กับเรา”

บุตรสาวของบาทหลวง

หนังสือชีวประวัติของอังเกลา แมร์เคิล ชื่อ The Chancellor (2021) ที่เพิ่งออกวางจำหน่าย เขียนไว้ว่า กุญแจที่ไขประตู่สู่ความสำเร็จทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของอังเกลา แมร์เคิล อยู่ที่ชีวิตในช่วงวัยเริ่มต้นของเธอ ที่ใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งอยู่ในเยอรมันตะวันออก เธอสามารถอยู่รอดมาได้โดยไม่ยอมจำนนต่อ Stasi ตำรวจลับของเยอรมันตะวันออก

ในเยอรมันตะวันออก เธอเรียนรู้ถึงคุณค่าของเสรีภาพในทางความคิดและการกระทำ การเป็นบุตรสาวของบาทหลวงนิกายลูเทอรันทำให้เธอเชื่อว่า การมีเมตตา ความรัก และการช่วยเหลือคนอื่น ความสำคัญอยู่ที่การกระทำ

แม้เธอจะเป็นนักฟิสิกส์ชั้นแนวหน้า แต่ก็เป็นคนที่มีความสนใจในเรื่องที่กว้างขวาง เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังลงในปี 1989 ได้เปิดโอกาสให้เธอเข้าสู่วงการการเมืองของเยอรมัน ที่ได้รวมเป็นประเทศเดียวกัน

บทแรกของหนังสือ The Chancellor เขียนเริ่มต้นไว้ว่า ครั้งหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล เดินทางอย่างเงียบๆ มาโบสถ์ Oberlinkirche ในเมือง Potsdam ที่ตั้งอยู่นอกนครเบอร์ลิน ในคืนนี้ ผู้นำเยอรมันจะกล่าวแบบเป็นกันเองกับคนที่มาฟังเธอพูดที่โบสถ์แห่งนี้

“ทุกเช้าในช่วงวัยเด็กของฉัน เสียงระฆังของโบสถ์จะดังขึ้น และก็จะดังอีกครั้งเมื่อเวลาหกโมงเย็น ฉันคิดถึงสิ่งนี้” คำพูดของเธอสร้างความประทับใจแก่คนฟัง ทำให้เห็นชีวิตส่วนตัวผู้นำสูงสุดของประเทศ เธอเล่าต่อถึงชีวิตการเป็นลูกสาวของบาทหลวง ที่เติบโตในประเทศคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออกว่า “วันแรกที่ไปโรงเรียน นักเรียนต้องยืนขึ้นแล้วบอกว่าผู้ปกครองทำอาชีพอะไร” เธอจำได้ว่าเพื่อนนักเรียนแนะนำให้บอกไปว่า “คนขับรถ” เพราะเป็นอาชีพแบบคนงาน แต่เธอบอกกับครูว่า “บาทหลวง”

The Chancellor บอกว่า อังเกลา แมร์เคิล ไม่จำเป็นต้องบอกคนฟังว่า การพูดความจริงในเยอรมันตะวันออก เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างไร หน่วยงานตำรวจลับชื่อ Stasi มีสายข่าวแทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนของสังคมได้กว้างขวางมากกว่าตำรวจลับ Gestapo ในสมัยนาซี Stasi มีเจ้าหน้าที่รวมทั้งสายข่าวถึง 173,000 คน ขณะที่พวก Gestapo มีเพียง 7,000 คน

Angela Merkel ทีีมาภาพ : amazon.com

เบอร์ลิน 1989 ฤดูใบไม้ผลิของแมร์เคิล

กำแพงเบอร์ลินพังทลายลง นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ กลางปี 1989 คนเยอรมันตะวันออกเริ่มหาทางมาเยอรมันตะวันตก โดยข้ามพรมแดนที่ฮังการีและออสเตรีย วันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ในการแถลงข่าวทางโทรทัศน์ของโฆษกรัฐบาลเยอรมันตะวันออก เมื่อถูกถามว่าการเดินทางไปตะวันตกยังต้องขออนุญาตหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” คำถามที่ตามมาคือ “เริ่มมีผลเมื่อไหร่” คำตอบ “ทันที” คำพูดเพียงคำเดียวนี้ทำให้กำแพงเบอร์ลินล้มพังลงทันที

The Chancellor เขียนถึงเหตุครั้งนี้ที่มีผลต่อชีวิตของอังเกลา แมร์เคิล โดยเธอกล่าวในเวลาต่อมาว่า “เมื่อได้ยินข่าวนี้ ฉันโทรศัพท์ไปหาแม่ เรามักจะพูดคุยกันภายในครอบครัวว่า หากกำแพงล้มพังลง เราจะไปหาอะไรทานที่โรงแรม Kempinski” ในเวลานั้น Kempinski เป็นโรงแรมหรูหร่าที่สุดของเบอร์ลินตะวันตก

แม้จะเกิดเหตุการณ์ไม่แน่นอนขึ้น แต่อังเกลา แมร์เคิล ยังใช้ชีวิตตามปกติ เธอกล่าวว่า “ไม่กี่วันหลังจากการพังทลายของกำแพง ฉันเดินทางไปร่วมประชุมทางวิทยาศาสตร์ที่โปแลนด์ มีบางคนบอกว่า ก้าวต่อไปคือการรวมเป็นหนึ่งเดียวของเยอรมัน ตัวฉันเองไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น” แต่ดูเหมือนว่า ในยุคเกิดเสรีภาพขึ้นมานั้น เธอสนใจจะทำงานเป็นนักวิจัยในห้องทดลองน้อยลงแล้ว

ภายในไม่กี่สัปดาห์ต่อมา การรวมเยอรมันดำเนินไปตามแผนงานของเฮลมุต โคห์ล นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ที่จะให้มีการเลือกตั้งในเยอรมันตะวันออก โดยเปิดโอกาสแก่ทุกพรรคได้ลงแข่งขัน รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และการยกเลิกระบบเศรษฐกิจที่รัฐวางแผน แต่การรวมประเทศไม่ได้ราบรื่นในระยะแรก เพราะทุกอย่างในเยอรมันตะวันออก เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล โรงงาน หรือโรงละคร ล้วนดำเนินการโดยรัฐ

อังเกลา แมร์เคิล ลงหาเสียงเลือกตั้งครั้งแรกปี 1990 ที่มาภาพ : bbc.com

เข้าสู่การเมืองเมื่ออายุ 35 ปี

เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังลง อังเกลา แมร์เคิล มีอายุ 35 ปี เธอเข้าสู่วงการการเมืองในปลายปี 1989 สังกัดพรรคใหม่ของเยอรมันตะวันออกชื่อว่า พรรคตื่นตัวทางประชาธิปไตย (Demokratischer Aufbruch หรือ DA) เวลาต่อพรรค DA ได้รวมกับ CDU (Christian Democratic Union) พรรคใหญ่ของเยอรมันตะวันตก ที่เป็นพรรครัฐบาลในเวลานั้น

ปี 1991 อังเกลา แมร์เคิล ขึ้นเป็นรัฐมนตรี กระทรวงสตรีและเยาวชน ของรัฐบาลเฮลมุต โคห์ล ที่ตั้งขึ้นหลังจากเยอรมันรวมเป็นประเทศเดียวกันแล้ว เธอเป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยสุดเพียง 36 ปี ความก้าวหน้าที่รวดเร็วทางการเมืองของเธอ มาจากการเป็นนักการเมืองสตรี จากอดีตเยอรมันตะวันออก และผู้นำพรรค DA คนอื่นๆ ต้องหมดอนาคตการเมือง เพราะเคยเป็นสายข่าวให้กับตำรวจลับ Stasi มาก่อน เธอเองกล่าวยอมรับว่า “สิ่งนี้คงไม่เกิดขึ้น หากฉันเติบโตขึ้นมาในเยอรมันตะวันตก”

The Chancellor บอกว่า เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก อังเกลา แมร์เคิล ตกใจมากที่สังคมให้ความสนใจกับการแต่งตัวของเธอ ในเยอรมันตะวันออก ร้านสรรพสินค้าแทบไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสินค้า “แฟชั่น” หรือของฟุ่มเฟือย คนทั่วไปอาจจะสวมเสื้อผ้าเก่าๆ แต่ทุกคนก็แต่งตัวเหมือนๆ กัน ดังนั้น อังเกลา แมร์เคิล จึงเริ่มถูกตรวจสอบตั้งแต่ทรงผมที่ไม่มีสไตล์ รองเท้าแบบเรียบๆ หรือเสื้อคลุมที่ไม่มีรูปทรง

หลังจากประสบการณ์ในรัฐบาลเพียง 2 ปี ในปี 1994 อังเกลา แมร์เคิล ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี กระทรวงสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสำคัญมาก นายกรัฐมนตรีเฮลมุต โคห์ล ต้องการให้อังเกลา แมร์เคิล เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่เยอรมันสองฝ่ายรวมเป็นประเทศเดียวกัน

แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า “ทำไมต้องเป็นอังเกลา” ในเมื่อคุณภาพและผลงานของเธอยังมีไม่พอสำหรับตำแหน่งนี้ ภาษาอังกฤษของเธอก็ไม่ดีพอที่จะเผชิญหน้ากับผู้ฟังนานาชาติ เสียงวิจารณ์ดังกล่าว ทำให้อังเกลาต้องใช้เวลาตอนเย็นเรียนภาษาอังกฤษ แต่เธอยอมรับว่า งานกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมอย่างเยอรมันเป็นงานที่หนัก เพราะมีแรงกดดันจากหลายฝ่ายเรื่องกฎระเบียบสิ่งแวดล้อม

ปี 2005 เยอรมันมีการเลือกตั้งทั่วไป ไม่มีใครในพรรค CDU ที่อังเกลา แมร์เคิล เป็นหัวหน้าพรรค คิดว่าเวลาการเป็นผู้นำประเทศของเธอได้มาถึงแล้ว ผลการเลือกตั้งมีคะแนนใกล้เคียงกันระหว่างพรรค CDU กับพรรค Social Democrat ของนายกรัฐมนตรี แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ (Gerhard Schröder) แต่ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2005 อังเกลา แมร์เคิล ก็สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของเยอรมัน และเป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ เวลานั้นเธอมีอายุ 50 ปี

อดีตนายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ บอกกับเธอว่า ขอให้ประสบความสำเร็จในการทำงานเพื่อประเทศชาติ อังเกลา แมร์เคิล กล่าวตอบว่า

“ฉันขอขอบคุณในสิ่งที่คุณได้ทำเพื่อประเทศของเรา ฉันจะปฏิบัติต่อผลงานของคุณที่ทิ้งไว้อย่างรับผิดชอบ”

ที่มาภาพ : The Chancellor (2021)

The Chancellor บอกว่า อังเกลา แมร์เคิล เป็นบุคคลสาธารณะและนายกรัฐมนตรีเยอรมันที่มีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด ในช่วงดำรงตำแหน่งนาน 16 ปี ไม่มีข่าวรั่วในเรื่องส่วนตัวของเธอ คนที่ทำงานใกล้ชิดกับเธอไม่มีใครออกมาเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวของเธอ หรือเขียนบันทึกใดๆ ปี 2016 เมื่อบารัก โอบามา ไปเยือนเบอร์ลิน เห็นทีมคณะทำงานของเธอยังคงเป็นคนเดิมๆ ก็พูดว่า “พวกคุณยังอยู่อีกหรือ” เพราะโอบามาเห็นคนพวกนี้ตั้งแต่ขึ้นเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2008

แม้จะไม่รู้อะไรมากในเรื่องชีวิตส่วนตัวของอังเกลา แมร์เคิล แต่เป็นเวลาหลายสิบปีที่คนเยอรมันไม่เคยเบื่อหน่ายในภาพลักษณ์หรือน้ำเสียงการพูดของเธอ เพราะพวกเขามองเห็นว่า เธอไม่ได้มีชีวิตที่แตกต่างไปจากคนเยอรมันทั่วไป บางครั้ง คนเยอรมันอาจเห็นเธอแต่งตัวไปร่วมงานดนตรี Wagner Festival แต่ก็ประทับใจที่เห็นภาพเธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เกตด้วยตัวเอง เธอจึงได้รับเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องกันมา 3 ครั้ง

ความสำเร็จทางการเมืองของอังเกลา แมร์เคิล มาจากการเดินทางเผชิญวิกฤติที่ตามมาด้วยวิกฤติ เป็นนักการเมืองที่ไม่ได้มีฐานะอยู่ในกระแสหลักของสังคม แต่เป็นอดีตคนจากเยอรมันตะวันออก เป็นนักวิทยาศาสตร์ และเป็นสตรี ที่สามารถสร้างเยอรมันให้กลายเป็นผู้นำยุโรป เป็นผู้นำโลกที่ปกป้องค่านิยมเสรีประชาธิปไตย และผู้นำด้านมนุษยธรรม ที่รับผู้อพยพจากตะวันออกกลางถึง 1 ล้านคน

เอกสารประกอบ
The Chancellor: The Remarkable Odyssey of Angela Merkel, Kati Marton, William Collins, 2021.