ThaiPublica > เกาะกระแส > ญี่ปุ่นสร้างความเป็นเลิศด้านการศึกษาอย่างไร จึงทำให้หลายประเทศใช้เป็นโมเดลการปฏิรูป

ญี่ปุ่นสร้างความเป็นเลิศด้านการศึกษาอย่างไร จึงทำให้หลายประเทศใช้เป็นโมเดลการปฏิรูป

31 ธันวาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

โรงเรียนประถมในอียิปต์ ใช้โมเดลการศึกษาจากญี่ปุ่น ที่มาภาพ : japantimes.co.jp

เว็บไซต์ japantimes.co.jp รายงานข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมองเห็นดอกผลจากการส่งออกวิธีการจัดการศึกษาแบบญี่ปุ่น ไปยังประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่น ตอนบ่ายวันหนึ่งในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งของอียิปต์ นักเรียนจะร่วมกันทำความสะอาดห้องเรียน และพื้นที่ส่วนรวม ทุกวันนี้ อียิปต์มีโรงเรียนกว่า 40 แห่ง ที่มีหลักสูตรการศึกษาซึ่งพัฒนาจากวิธีการศึกษาของญี่ปุ่น โดยเน้นหนักที่การอบรมทางคุณธรรม ความสมานฉันท์ทางสังคม และความรู้วิชาการ

คุณสมบัติเด่นของศึกษาญี่ปุ่น

เนื่องจากได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่ามีระบบการศึกษาที่ดูแลเอาใจใส่นักเรียนอย่างเข้มงวด ทำให้ญี่ปุ่นหันมาส่งออกวิธีการศึกษาแบบญี่ปุ่นไปยังประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการปฏิรูปการศึกษาของตัวเอง

บทความในเว็บไซต์ borgenmagazine.com ชื่อ How Japan Plans to Export Education กล่าวว่า การศึกษาของญี่ปุ่นมีคุณสมบัติเด่น 2 อย่าง คือ (1) ความมีมาตรฐานเดียวกัน (standardization) ของทุกโรงเรียน ตั้งแต่หลักสูตรไปจนถึงเครื่องแบบนักเรียน และ (2) ความมีระเบียบวินัย (discipline) นักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้องเข้าร่วมกิจกรรมทำความสะอาดห้องเรียน เป็นต้น

ระเบียบวินัยนี้คือวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น และยังเป็นวิธีการสร้างทักษะให้กับนักเรียน เรื่องการทำงานกับคนอื่น และการแก้ปัญหา

การศึกษาภาคบังคับของญี่ปุ่นมีระยะเวลา 9 ปี เป็นประถมศึกษา 6 ปี และมัธยมต้น 3 ปี การศึกษาระดับมัธยมปลายไม่ใช่ภาคบังคับ แต่ 98% ของนักเรียนที่จบมัธยมต้นจะเข้าเรียนระดับมัธยมปลาย 53% ของนักเรียนจบมัธยมปลาย เข้าศึกษาต่อระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย 63.6% ของนักศึกษาที่จบวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย จะเข้าสู่ภาคแรงงาน

ดังนั้น ระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานเดียวกัน ความมีระเบียบวินัย ความก้าวหน้า และอัตราการมีงานทำสูงของนักเรียน ทำให้ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นเป็นที่สนใจของประเทศกำลังพัฒนา เช่น อียิปต์ เมียนมา และอินเดีย

การศึกษาญี่ปุ่น ที่มาภาพ : amazon.com

เต็มใจจะเรียนรู้จากประเทศอื่น

หนังสือชื่อ What Makes a World-Class School เขียนถึงความเป็นเลิศของระบบการศึกษาญี่ปุ่นไว้ว่า…

เนื่องจากเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด ญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งพาทรัพยากรมนุษย์อย่างมากในการที่ประเทศจะแข่งขันในตลาดโลก ญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ว่าเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นอยู่ในระดับต้นๆ ในเรื่องการประเมินของนานาชาติด้านความสำเร็จทางวิชาการ และสามารถรักษาระดับผลงานเป็นเลิศทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ญี่ปุ่นใช้งบประมาณ 3.4% ของ GDP เพื่อการศึกษา ขณะที่สหรัฐฯ ใช้ถึง 5% ดังนั้น คุณภาพของครูและผู้บริหารโรงเรียนจึงมีความสำคัญกว่างบประมาณ

ประวัติศาสตร์การศึกษาของญี่ปุ่นมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง คือ ความเต็มใจที่จะเรียนรู้จากประเทศอื่น ในอดีต การศึกษาของญี่ปุ่นเอาแบบอย่างมาจากจีน มาในสมัยเมจิ (1868-1912) การส่งคณะผู้แทนไปดูงานในยุโรปและสหรัฐฯ ได้ไปเห็นความก้าวหน้าทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการเงิน ของประเทศตะวันตก ทำให้คณะดูงานมุ่งมั่นที่จะทำให้ญี่ปุ่นก้าวตามทันชาติที่เจริญแล้ว นับจากนั้นมา การศึกษาของญี่ปุ่นก็พัฒนาทัดเทียมประเทศคู่แข่ง

ปี 2003 เมื่อผลงานทางวิชาการของนักเรียนญี่ปุ่นลดลง จากการจัดอันดับของ PISA ญี่ปุ่นได้ส่งคณะดูงานที่ประกอบด้วยสื่อมวลชน เจ้าหน้าการศึกษา และนักวิชาการ ไปดูงานการศึกษาที่ฟินแลนด์ เพื่อนำบทเรียนนำมาปรับปรุง

ในปี 1996 ญี่ปุ่นปฏิรูปการศึกษาที่ส่งผลอย่างมาก โดยการรณรงค์ชื่อว่า “การกระตือรือร้นเพื่อชีวิต” (Zest for Living) ที่ต้องการส่งเสริมทักษะของนักเรียนในเรื่องความสามารถที่จะดำเนินการด้วยตัวเอง และคิดอย่างสร้างสรรค์ ในปี 2008 ระบบ

การศึกษาของญี่ปุ่นได้วางเป้าหมายสำคัญ 3 อย่าง คือ ความสามารถทางวิชาการที่หนักแน่น ความเป็นคนที่สมบูรณ์ และสุขภาพทางร่างกาย ที่สามารถดำเนินชีวิตได้ระยะยาว (solid academic abilities, rich humanity, and health and stamina)

หนังสือ What Makes a World-Class School กล่าวว่า ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นมีธรรมเนียมมานานในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนแก่ครูที่แข่งขันได้ในตลาดแรงงาน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลญี่ปุ่นกังวลว่าจะเกิดการขาดแคลนครู จึงออกกฎหมายให้ครูมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการอื่นๆ 30% ทุกวันนี้ แม้ช่องว่างเงินเดือนจะลดลงแล้ว แต่อาชีพครูก็ยังเป็นเป็นข้าราชการที่เงินเดือนสูง ครูที่เริ่มต้นทำงานมีเงินเดือนเท่ากับวิศวกรที่เพิ่งจบมาใหม่ๆ ในปี 2012 ครูมัธยมต้นทำงานมา 15 ปี มีรายได้ปีละ 49,408 ดอลลาร์ เทียบกับประเทศ OECD เฉลี่ยอยู่ที่ 41,701 ดอลลาร์

กระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียน หลักสูตรจะมีการแก้ไขทุกๆ 10 ปี เพื่อให้ระบบการศึกษามีคุณภาพสูง สามารถสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หลักสูตรทำหน้าที่เป็นแนวการศึกษา โดยครูมีอิสระที่จะนำไปใช้ในการสอน จำนวนนักเรียนในชั้นของญี่ปุ่นมีมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว แต่ขนาดชั้นเรียนที่ใหญ่กว่า ทำให้ครูใช้เวลาน้อยลงในการสอนในห้องเรียน แต่มีเวลามากขึ้นในการเตรียมการสอน

ที่มาภาพ : borgenmagazine.com

ญี่ปุ่นก้าวสู่ความเป็นเลิศอย่างไร

What Makes a World-Class School กล่าวว่า เคล็ดลับความสำเร็จอย่างหนึ่งของระบบการศึกษาญี่ปุ่นคือ การลงทุนที่บุคลากรการศึกษา ครูได้รับการยกย่องจากสังคม และได้รับการคาดหมายว่า จะทุ่มเทการทำงาน เพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นราษฎรที่มีคุณค่าต่อสังคม

หากนักเรียนประพฤติผิดขณะอยู่นอกโรงเรียน เช่น ขโมยของในร้านค้า โดยปกติแล้ว ครูจะได้รับการแจ้งข่าวก่อนผู้ปกครอง

การพัฒนาวิชาชีพครูถือเป็นลักษณะโดดเด่นของระบบการศึกษาญี่ปุ่น ในญี่ปุ่น พนักงานมีแนวโน้มทำงานในบริษัทเดียว หรือหน่วยงานรัฐแห่งเดียวตลอดอาชีพการทำงาน ทำให้นายจ้างหรือองค์กรสามารถลงทุนระยะยาวต่อลูกจ้างใหม่

ครูคนใหม่ในญี่ปุ่นไม่ถูกปล่อยให้ “จมน้ำหรือว่ายน้ำ” เอง แต่จะมีโครงการอบรมนาน 1 ปี ครูพี่เลี้ยงไม่ต้องสอนหนังสือ 1 ปี เพื่อมาทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือการสอนของครูคนใหม่

การปฏิรูปหลักสูตรการเรียนถือเป็นหัวใจความสำเร็จของระบบการศึกษาญี่ปุ่น หลักสูตรการเรียนของญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในเรื่องความเป็นเอกภาพ การเลือกสรรวิชาหลักอย่างรอบคอบ และประสิทธิผลในการสร้างความเข้าใจที่ลึก และการสร้างทักษะการคิดในระดับสูง

เวลาเรียน 70% ของนักเรียนจะเรียนวิชาหลัก 5 ด้านคือ ศิลปะภาษา สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ

การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาของญี่ปุ่น ได้เปลี่ยนจากการสอนให้นักเรียน “ทำการผลิตซ้ำ” ในเรื่องเนื้อหาการสอน มาเป็นการเน้นหนักให้นักเรียนใช้ความรู้ในสถานการณ์ที่ท้าทาย การปรับปรุงหลักสูตรในปี 2011 มีเป้าหมายรักษาความสมดุลระหว่างการสร้างฐานความรู้ทางวิชาการ กับการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 คือ การคิดสร้างสรรค์กับการแก้ปัญหา

ความสำเร็จของระบบการศึกษาญี่ปุ่น ยังมาจากอาชีพการเป็นครูเป็นอาชีพที่มีพลังดึงดูดคนมีความสามารถ ครูญี่ปุ่นส่วนใหญ่ทำงานจนเกษียณ ถือการสอนหนังสือเป็นงานตลอดชีพ ในสหรัฐฯ 50% ของครูลาออกในช่วง 1-5 ปีแรกของการทำอาชีพนี้ การลาออกของครูเป็นเรื่องที่มีต้นทุนสูง เพราะนักเรียนสูญเสียครูที่เคยมีประสบการณ์การสอน สถาบันการศึกษาต้องหาครูใหม่และการอบรมใหม่มาทดแทน และโรงเรียนมีปัญหาคุณภาพการสอนที่ลดลง

ความสำเร็จอีกประการหนึ่งของการศึกษาญี่ปุ่น คือ การลงทุนเพื่อทำให้ครูมีประสิทธิภาพมากขึ้น ญี่ปุ่นมองเห็นว่า การยกระดับความสำเร็จของนักเรียน มีปัจจัยสำคัญจากประสิทธิภาพของครู ญี่ปุ่นจึงมีระบบการปรับปรุงการสอนร่วมกันในหมู่ครูด้วยกัน เรียกว่า “ศึกษาบทเรียนการสอน” (lesson study) ผู้อำนวยการโรงเรียนจัดประชุมให้ครูได้แลกเปลี่ยนบทเรียนการสอน ในสหรัฐฯ มีการเสนอให้นำวิธีการนี้ของญี่ปุ่นมาใช้ เรียกว่า “ความโปร่งใสของครู” (transparent teacher)

สิ่งที่เป็นบทเรียนพื้นฐานจากความสำเร็จของระบบการศึกษาญี่ปุ่น คือ นักเรียนสามารถมีผลงานทางวิชาการะดับโลก เมื่อหลักสูตรการสอนมีความเป็นเอกภาพ ความรอบคอบในการเลือกสรรค์ และทำการสอนโดยคนที่มีความเชื่อมั่นในความเป็นครู โดยได้รับการฝึกฝนอย่างดีในเนื้อหาหลักสูตรการสอน

เอกสารประกอบ

Japan seeing results from effort to export education, January 26, 2021, japantimes.co.jp
How Japan Plans to Export Education, October 4, 2015, borgenmagazine.com
What Makes a World-Class School, James H. Stronge, ASCD, 2017.