ThaiPublica > เกาะกระแส > ความโปร่งใสหายไปไหน? : ถามหาข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง “การประมูลเมกะโปรเจกต์”

ความโปร่งใสหายไปไหน? : ถามหาข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง “การประมูลเมกะโปรเจกต์”

5 กรกฎาคม 2021


ความโปร่งใสหายไปไหน: ถามหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทำไมไม่เปิดเผยข้อมูลให้ภาคประชาชน–สื่อ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลับ ที่ 147/2564 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเหนือ-อีสาน โดยมีนายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เข้าไปตรวจสอบกระบวนการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ตั้งแต่ประเด็นการกำหนด, การเปิดเผยข้อมูลราคากลาง, การจัดทำ TOR, การเผยแพร่ประกาศ, เอกสารประกวดราคา และการประมูลแบบ e-bidding ได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาแข่งขันประกวดราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 หลังจากที่เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมา มีสื่อมวลชนหลายสำนักพยายามใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมดค้นหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน?” ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-government procurement: e-GP) ของกรมบัญชีกลาง พบว่าข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยวงเงินเกิน 4,000 ล้านบาท ที่อยู่ในฐานข้อมูลของเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน?” มีแต่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน 5 โครงการ ลงนามในสัญญาว่าจ้างฯ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ส่วนงานประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือและอีสานในปี 2564 ไม่มีข้อมูล

จากนั้นค้นหาข้อมูลจากแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ “ACT Ai” ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลมาจากระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลางเช่นกัน เป็นเครื่องมือในการติดตามและตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาโดยขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) พบว่ามีข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของ รฟท. ในปีงบประมาณ 2560 วงเงินรวม 191,806 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ 7 สาย เช่น โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-บางน้ำโพ เป็นต้น ส่วนโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของ รฟท. ในปีงบประมาณ 2562 วงเงินรวม 62,088 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2563 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของ รฟท. อยู่ในระบบ e-GP วงเงินรวม 7,667 ล้านบาท และส่วนโครงการจัดซื้อจัดจ้างของ รฟท. ในปีงบประมาณ 2564 มีอยู่ในระบบ e-GP แค่ 441 ล้านบาท

หากเข้าไปดูข้อมูลเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (www.gprocurement.go.th) ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นฐานข้อมูลหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังเว็บไซต์ภาษีไปไหน และ ACT AI โดยกำหนดหัวข้อในการค้นหา คือ ประกาศร่าง TOR/ร่างเอกสารประกวดราคาของ รฟท. สังกัดกระทรวงคมนาคมในช่วงวันที่ 20 มีนาคม ถึง 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ รฟท. ออกประกาศเชิญชวนและขายเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟทางคู่ สายเหนือ ในระหว่างวันที่ 19 มีนาคมถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 กำหนดวันยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิควันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ประกาศผลผู้ชนะเสนอราคา วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 และลงนามในสัญญาวันที่ 2 สิงหาคม 2564

ส่วนสายอีสาน ประกาศเชิญชวนและขายเอกสารประกวดราคาในวันที่ 26 มีนาคมถึง 24 พฤษภาคม 2564 กำหนดยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 และยื่นข้อเสนอด้านเทคนิควันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคา 23 กรกฎาคม 2564 และลงนามในสัญญาวันที่ 17 สิงหาคม 2564

  • ACT จี้นายกฯสั่งทบทวนประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ – อีสาน
  • ปรากฏว่าไม่สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ เนื่องจากระบบไม่แสดงรหัสผ่าน กดรีเฟรชหลายครั้งก็ยังเหมือนยังเดิม คือ ไม่ขึ้นรหัสผ่านให้เข้าไปตรวจค้นข้อมูล

    เหลือเครื่องมือตัวสุดท้ายที่ใช้ในการตรวจค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงาน คือ ประกาศจัดซื้อจัดจ้างที่เว็บไซต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยตรวจดูทั้งในส่วนของการประกาศร่างขอบเขตของงาน หรือ TOR ตั้งแต่ฉบับแรก, ฉบับปรับปรุง 1, ฉบับปรับปรุง 2, ฉบับไม่มีผู้เสนอแนะ และฉบับยกเลิก ในช่วงวันที่ 19 มีนาคม ถึง 31 พฤษภาคม 2564 ก็ไม่พบประกาศร่าง TOR โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือและอีสาน ส่วนประกาศจัดซื้อจัดจ้างของ รฟท. เดือนมีนาคม 2564 นั้นขึ้นคำว่า “ไม่พบข้อมูล”

    คำถาม การประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ทั้งสายเหนือและสายอีสาน ได้ปฏิบัติตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ที่กำหนด “ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหากิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ลงประกาศจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งวิธีสอบราคา ประกวดราคา และประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (www.gprocurement.go.th) และเว็บไซต์ของหน่วยงานหรือไม่ อย่างไร ควรจะชี้แจงให้สาธารณชนทราบเหตุผล ทำไมถึงไม่ลงประกาศเปิดเผยข้อมูล

    นอกจากโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือและอีสานแล้ว ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 หรือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 หรือ “โครงการ PPP” หลายโครงการ ที่ไม่มีข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ในระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง เช่น โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์, การประมูลโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น แต่ก็มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี บางโครงการลงประกาศข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-GP อย่างเช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

    สำหรับความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หลายรัฐบาลพยายามพัฒนาเครื่องมือในการแก้ปัญหาการทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่จะทำให้หน่วยงานของรัฐ สื่อมวลชน และภาคประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเพื่อร่วมกันตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 รวมทั้งลงทุนสร้างฐานข้อมูล e-GP โดยจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ บันทึกข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเข้าสู่ระบบ e-GP ได้อย่างง่ายดาย และการสร้างเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน เช่น เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง, ภาษีไปไหน? และ ACT AI เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบ เช่น สตง., ป.ป.ช., ป.ป.ท., สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงข้อมูล มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ได้ตั้งแต่เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การกำหนดราคากลาง การประมูลงาน จัดทำสัญญาว่าจ้างไปจนถึงการส่งมอบงาน

    อย่างไรก็ตาม หากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐไม่ใส่ข้อมูลไปในระบบ เครื่องมือที่ภาครัฐและเอกชนช่วยลงทุนพัฒนาขึ้นมา ไม่ว่าจะมีความทันสมัย หรือมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะไม่มีข้อมูลให้ค้นหา

    อนึ่ง หากย้อนกลับไปดูดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ใช้ในการจัดอันดับประเทศที่มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะเห็นว่าสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยนับวันมีแต่ถอยหลัง โดยในปี 2558 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก ปี 2563 ถูกปรับลงมาอยู่อันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

    ที่ผ่านมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเจตนารมย์ต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการและเป็นตัวอย่างที่ดี หากไม่ลงมือจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง อนาคตประเทศไทยอาจจะไม่อยู่ในสายตานักลงทุนต่างชาติอีกต่อไป