ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ย้ำแผนจัดหาวัคซีน 2 ปี 220 ล้านโดส – มติ ครม. ขยายเยียวยาในพื้นที่ “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-อยุธยา”

นายกฯ ย้ำแผนจัดหาวัคซีน 2 ปี 220 ล้านโดส – มติ ครม. ขยายเยียวยาในพื้นที่ “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-อยุธยา”

20 กรกฎาคม 2021


การประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

นายกฯ แจงแผนจัดหาวัคซีนอีกครั้ง รวม 2 ปี 220 ล้านโดส – เล็งใช้เงินเดือน 3 เดือน ทำ “กล่องยังชีพ” แจก ปชช. – มติ ครม. ขยายเยียวยานายจ้าง-ลูกจ้างในพื้นที่ “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-อยุธยา” รวมกรอบวงเงินเยียวยาพื้นที่สีแดงเข้ม 13,505 ล้าน

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และเนื่องจากศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด19 (ศบค.) มีมาตรการให้หน่วยงานรัฐ “เวิร์คฟอร์มโฮม” เต็มจำนวน นั้น ทางทำเนียบรัฐบาลได้รับปฏิบัติตามมาตรการ เว้นแต่มีภารกิจที่จำเป็นต้องมาปฏิบัติที่หน่วยงาน เช่น การลงนามสัญญาฯ โดยในวันนี้มีเพียง ครม. จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ใชหน่วยงานเป็นที่ประชุม เนื่องจากปัจจัยด้านเทคนิค การจัดส่งเอกสารเร่งด่วน และจะให้พื้นที่ทำเนียบรัฐบาล หรือหน่วยงานเฉพาะกรณีมีเหตุจำเป็นเท่านั้น

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ยังคงมอบหมายนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทนเช่นเดิม

ฝากทุกหน่วยช่วย PR “สมุยพลัสโมเดล”

นายอนุชาระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องของสมุยพลัสโมเดลซึ่งเป็นโครงการที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดประเทศภายใน 120 วันก็ต่อเนื่องมาจากโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา โดยสมุยโมเดลเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านการตรวจคัดกรองตามเงื่อนไขให้เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีก็ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบโดยต้องการให้ประชาสัมพันธ์โครงการสมุยโมเดลพลัสให้รับทราบว่ามีความแตกต่างจากภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เนื่องจากภูเก็ตแซนด์บอกซ์เมื่อเข้ามาถึงที่ภูเก็ตแล้วสามารถที่จะเดินทางท่องเที่ยวในเกาะภูเก็ตได้เลย ส่วนสมุยพลัสโมเดลจะมีเงื่อนไงให้นักท่องเที่ยวต้องกักตัวในที่พัก เช่น ในช่วง 1-3 วันแรก จะออกจากห้องพักและใช้บริการเฉพาะในบริเวณที่พักเท่านั้น ในช่วงวันที่ 4-7 จะสามารถเดินทางท่องเที่ยวเป็นระบบติดตามเส้นทางที่กำหนด (Seal Route) และหลังจากงานวันที่ 8 – 14 นักท่องเที่ยวก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวเกาะสมุย เกาะเต่า และเกาะพะงันได้โดยไม่ต้องใช้วิธีการกักตัว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้กำลังใจกับประชาชนในเกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน และภูเก็ต โดยหวังว่าโครงการนี้จะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวและสามารถที่จะควบคุมเรื่องของการระบาดโควิด-19 ได้

สั่ง รมต. ลงพื้นที่ประสาน “ตั้ง รพ.สนาม-หาเตียง” ช่วยผู้ป่วยโควิดฯ

นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือในที่ประชุมครมซึ่งได้มีความเห็นร่วมกันว่ารัฐมนตรีมีความสมควรเหมาะสมที่จะลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประสานงานในลักษณะของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามก็ดีหรือช่วยประสานในการจัดหาเตียงให้แก่ผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมเพื่อที่จะรองรับผู้ติดเชื้อ

ทั้งนี้ รวมถึงการรับผู้ป่วยจากกรุงเทพฯหรือปริมณฑลสำหรับที่ผู้ป่วยที่มีความสมัครใจกลับไปรักษาตามภูมิลำเนา โดยให้รัฐมนตรีดำเนินการประสานกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดก็ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานช่วยดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดฯ ได้รับการดูแลรักษาอย่างเร็วที่สุดและสามารถที่จะดูแลใกล้ชิดนอกเหนือจากที่จะได้รับการดูแลในกรุงเทพฯและปริมณฑล

เล็งใช้เงินเดือน 3 เดือน ทำ “กล่องยังชีพ” แจก ปชช.

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงแนวคิดทำ “กล่องยังชีพ” โดยใช้เงินสบทบจากเงินเดือนทั้ง 3 เดือนของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และทีมโฆษกฯ โดยในกล่องยังชีพจะมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับประชาชนที่คิดว่าตนเองติดเชื้อ

“จะมีกล่องพี่จะส่งให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเข้มงวดสูงสุด ในกล่องจะมีปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว ยารักษาต่างๆ อาทิ พาราเซตามอล ยาฟ้าทะลายโจรด้วย หน้ากากอนามัย เจลแอลกฮอล เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งมอบให้กับประชาชนในพื้นที่โดยใช้เงินในส่วนที่ทางนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและทีมโฆษกฯไม่รับเงินเดือน”

นอกจากนั้นในที่ประชุม ครม. ได้รับทราบข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีที่ให้ปรับการตรวจหาเชื้อโควิดฯ โดยใช้ “แอนติเจนเทสต์คิต” (ATK) ได้ รวมทั้งได้สั่งการให้มีการสื่อสารที่ชัดเจนให้แก่ประชาชนได้ทราบขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดซื้อจัดหา ATK และขั้นตอนต่อไปหลังพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆเหล่านี้ และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกลำดับขั้นตอนการที่จะให้ประชาชนได้รับทราบในการที่จะปฏิบัติตนให้ถูกต้องด้วย

“ท่านนายกรัฐมนตรีก็ขอให้เขียนลำดับขั้นตอนให้ชัดเจนถึงการที่จะต้องทำการรักษาที่บ้านด้วยตัวเอง (Home Isolation) อย่างไรแล้วถ้าเกิดมีอาการมากขึ้นจะต้องติดต่อคณะแพทย์อย่างไรบ้าง รวมถึงเรื่องของ Community Isolation ด้วย ถ้าหากการรักษาตัวที่บ้านไม่สามารถดำเนินการได้ก็ขอให้เป็นการรักษาตัวกับตัวในชุมชนต่างๆ”

ทั้งนี้ ในประเด็นที่จะต้องรอเตียงต่างๆ พื่อเข้าทำการรักษา นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รีบดำเนินการเพื่อที่จะลดปัญหาดังกล่าวโดยขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงหรือในส่วนของพื้นที่ในส่วนของกรุงเทพฯ ดำเนินการเพื่อให้ดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ยันทำงานกับพรรคร่วมอย่างบูรณาการ-ไม่มีแทรกแซง

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณีการทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงนี้ ว่า นายกรัฐมนตรี ระบุว่าในตอนนี้ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลยังทำหน้าที่ด้วยกันด้วยความเข้มแข็ง เป็นการทำงานในโครงสร้างของ ศบค. ซึ่งในคณะกรรมการ ศบค.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการตรงก็มีทุกหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องของกรรมการอื่นๆ ที่มีการแต่งตั้งไปนั้น เป็นส่วนของคณะกรรมการชุดเล็กที่จะทำงานภายใต้การกำกับดูแลของ ศบค.ชุดใหญ่อยู่แล้ว ฉะนั้นในทุกหน่วยงานรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสามารถส่งข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำ และรับทราบปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้

“ขอให้พี่น้องประชาชนได้ทราบว่าไม่มีการแยกการทำงาน ยังคงทำงานในลักษณะเป็นการทำงานโดยบูรณาการ และยังทำงานร่วมกันได้ดี”

พร้อมเน้นยำว่า “นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีการไปแทรกแซงอะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างนายกรัฐมนตรีรับฟังข้อคิดเห็นและในเรื่องของคณะแพทย์เองก็ดีในเรื่องของเศรษฐกิจที่ต้องเยียวยาก็ดีก็จะทำควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง”

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี ถึงเรื่องของการล็อคดาวน์หรือการทำงานในปัจจุบันจะมีการดำเนินการอย่างไรเพิ่มเติมหรือไม่ ว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเห็นใจประชาชนในความไม่สะดวกสบายในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็น คณะแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมดตอนนี้ดูแลพี่น้องประชาชนมีความเหน็ดเหนื่อย ดังนั้นจึงอยากขอให้ทุกท่านได้ให้กำลังใจกัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการดำเนินงานของทุกส่วนราชการอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถที่จะสั่งการหรือมอบหมายนโยบายเพิ่มเติมให้ได้อยู่ตลอดเวลา ผ่านการประชุมและการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน โดยขอให้ประชาชนพิจารณาข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันด้วย ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามที่จะให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและชัดเจนมากที่สุดแก่ประชาชน

“ขอให้ประชาชนได้มีความเชื่อมั่นว่า ณ วันนี้ก็ยังสามารถที่จะพูดคุยกันด้วยความเข้าใจตรงกันเพื่อที่จะมีเป้าประสงค์ในการที่จะลดการแพร่ระบาดของโควิดฯ ในปัจจุบันและจะมีการที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยโดยเร็วอย่างดีและจะนำเข้าวัคซีนอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะฉีดให้กับพี่น้องประชาชนด้วยความเร่งด่วนอีกเช่นเดียวกัน”

แจงแผนจัดหาวัคซีนอีกครั้ง รวม 2 ปี 220 ล้านโดส

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีถึงแผนการกระจายวัคซีน ว่า ปัจจุบันได้มีคระกรรมการที่คอยกำกับดูแลการกระจายวัคซีนอยู่แล้ว ฉะนั้นการเร่งรัดนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์ม mRNA ไวรัลแวคเตอร์ หรือ วัคซีนเชื้อตาย รัฐบาลได้มีแผนการวางไว้จนถึงปี 2565

โดยในปี 2564 นี้ จะจัดหาให้ได้อย่างน้อย 105.5 ล้านโดสและในปีหน้าปี 2565 ก็หาเพิ่มเติมให้เพิ่มอีก 120 ล้านโดส รวมประมาณ 220 ล้านโดส และจำมีการจะนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตก็จะมีการเพิ่มเติมที่แพลตฟอร์มโปรตีนซับยูนิตซึ่งคาดว่าจะนำเข้ามาได้ในต้นปีหน้า สำหรับวันนี้ได้มีการลงนามสัญญาสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์จำนวนทั้งสิ้น 20 ล้านโด๊สโดยจะนำเข้ามาในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 นี้

ฝากหน่วยงานเศรษฐกิจคิดมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องมาตรการเยียวยาต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทางด้านเศรษฐกิจไปพิจารณาเพิ่มเติมจากมาตรการที่ได้มีการล็อกดาวน์เพิ่มเติมในหลายๆจังหวัด เพื่อให้ประชาชนหยุดการเคลื่อนที่ในช่วง 14 วันนี้ โดยพยายามที่จะหามาตรการเยียวยามเพิ่มเติมให้ได้โดยเร็ว และจะดำเนินการนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่ออนุมัติและดำเนินการให้เร็วที่สุด

“ฉะนั้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ก็อยากที่จะขอย้ำให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นนายจ้างลูกจ้างที่อยู่ในมาตรา 33 เองก็ดีหรือมาตรา 39 มาตรา 40หรือแม้กระทั่งที่ยังเป็นไม่ได้ลงทะเบียนขอให้ลงทะเบียนภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อที่จะได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการโดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพในปัจจุบันแล้วยังไม่มีการลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมก็ขอให้ดำเนินการไปเพื่อที่จะได้รับการเยียวยาในวงเงินอย่างน้อย 5,000 บาทต่อคน”

ในส่วนเรื่องของกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาหามาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ทั้งนี้ให้ประชาชนมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีมีความใส่ใจดูแลตรงนี้อยู่สามารถที่จะเพิ่มเติมในเรื่องของการเยียวยาส่วนอื่นๆได้อีก

ขอความร่วมมืองดชุมนุม-จ่อคุมราคา “Test Kit”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้พี่น้องประชาชนคำนึงถึงการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งมีตัวเลขที่สูงขึ้นในแต่ละวัน โดยสิ่งต่างๆ ที่นายกรัฐมตรีต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการห้ามรวมตัวกันอย่างผิดกฎหมาย โดยขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดฯ ซึ่งการชุมนุมอาจทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการแพร่ระบาด หรือการควบคุมราคาสินค้าต่างๆ ที่จะมีในอนาคต เช่น Test Kit เป็นต้น และที่ผ่านมาก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของการปราบปรามการพนัน หยุดกระบวนการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

“นายกรัฐมนตรีก็ยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีด้วยห่วงใยประชาชน เพราะฉะนั้นถ้าหากประชาชนมีความคิดเห็นมีข้อเสนอแนะ นายกรัฐมนตรีพร้อมยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็น แต่ขอให้นำเสนอในแนวทางที่สันติ นำเสนอแนวทางที่สามารถที่จะพูดคุยกันได้ จะทำให้เรื่องของอุปสรรคต่างๆในการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขในปัจจุบันสามารถที่จะเดินหน้าสามารถที่จะกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ในอนาคตอันใกล้นี้”

มติ ครม. มีดังนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เพิ่มวงเงิน “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ใช้จ่ายสูงสุดวันละ 10,000 บาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติการเปลี่ยนแปลงโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”   โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ขยายระยะเวลาการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้รับการสนับสนุน e-Voucher  จากเดิมระหว่าง 1 กรกฎาคม- 30 กันยายน 2564  เป็นตั้งแต่ 1 กรกฎาคม -30 พฤษจิกายน 2564
  2. เพิ่มวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ ไม่เกิน 10,000 บาท/คน/วัน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม -30 พฤศจิกายน โดยยังจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher  ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน
  3. ปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ฯ จากเดิมที่ไม่เกิน 4 ล้านคน เป็น “ไม่เกิน 1.4 ล้าน”คน ทำให้กรอบวงเงินโครงการ  ฯ ลดลงจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 9,800 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 18,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประกาศข้อกำหนดของ ศบค. ที่ผ่านมา ซึ่งให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และ ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ของประเทศ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 20.00 น. และเปิดให้เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน รวมทั้งร้านค้าและร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าต้องปิดชั่วคราว จึงมีผลให้อาจจะมีผู้ใช้สิทธิ์น้อยลง จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงการเพื่อความเหมาะสมด้วย

  • มติ ครม. ปรับ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เพิ่มวงเงินใช้จ่ายคนละ 10,000 บาท/วัน – ขยายเวลาช้อปถึงสิ้น พ.ย.นี้
  • อนุมัติกรอบวงเงินเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” 13,505 ล้าน

    นายอนุชา กล่าวว่า ครม. อนุมัติกรอบวงเงิน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ  ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชานแดนภาคใต้ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัดสำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบ 9 สาขา  จากเดิมที่ได้เห็นชอบไปแล้ว 2,519.38 ล้านบาทเพิ่ม เป็น 13,504 .696 บาท  หรือเพิ่มขึ้น 10,985.316 ล้านบาท

    ทั้งนี้ ในส่วนอีก 3 จังหวัดที่ ศบค. ได้มีประกาศเพิ่มเติม ได้แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และอยุธยานั้น ครม. ได้เห็นชอบในวันนี้ให้ขยายพื้นที่เยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด เพิ่มเติมจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด และจะนำกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป

    ขยายเยียวยานายจ้าง-ลูกจ้างในพื้นที่ “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-อยุธยา”

    ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ให้ครอบคลุมพื้นที่จากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพิ่มเติมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และอยุธยา โดยยังคงกลุ่มลูกจ้างและผู้ประกอบการใน 9 กลุ่มกิจการที่ได้รับผลกระทบ อัตราการจ่ายและวิธีการจ่ายเงินเช่นเดิม เป็นระยะเวลา 1 เดือน

    ผ่านร่าง MOU “ไทย-บราซิล” แก้ปมอุดหนุนอ้อย-น้ำตาล

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบราซิลว่าด้วย กรณีการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งเรื่องนี้สืบเนื่องจาก ในปี 2559 ทางบราซิลได้ยื่นเรื่องการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยกล่าวหาว่าไทยให้การอุดหนุนการผลิตและส่งออกสินค้าอ้อยและน้ำตาลซึ่งส่งผลกระทบต่อบราซิล และอ้างว่าระบบอ้อยและน้ำตาลของไทยไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ WTO ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

    ทั้งนี้ ไทยได้ดำเนินการการแก้ไขข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วยการออกมาตรการต่างๆ อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ การยกเลิกระบบโควตาสินค้าน้ำตาล รวมทั้งการยกร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล  เป็นต้น ส่วนบราซิลได้เสนอให้จัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับไทยในปี 2562 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันปรับแก้ MOU จนเป็นที่ยอมรับแล้ว คาดว่าจะมีการลงนามภายในเดือนกรกฎาคมนี้

    โดยสาระหลักของร่าง MOU ประกอบด้วย การรับทราบปรับแก้มาตรการของไทยที่เกี่ยวข้องกับข้อกังวลของบราซิล ได้แก่ (1)ยกเลิกระบบโควตาสินค้าน้ำตาล เมื่อ 15 มกราคม 2561 (2)ยกเลิกการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ โดยแก้ไขมาตรา17 (18)  พระราชบัญญัติอ้อยและน้าตาลทราย พ.ศ.2527 (3)ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาทต่อตันอ้อยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เมื่อ 11 ตุลาคม 2559  (4)ยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงาน ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น โดยแก้ไขมาตรา 47 และมาตรา 56 พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ซึ่งขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีการแก้ไข อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

    เห็นชอบถ้อยแถลงประชุมความร่วมมือ “ลุ่มน้ำโขง–คงคา”

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา (Mekong – Ganga Cooperation – MGC) ครั้งที่ 11 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอนุภูมิภาค ประกอบด้วย 6 ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และอินเดีย

    สำหรับสาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ที่จะรับรองในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล มี 6 ประเด็นหลัก ดังนี้

    1. หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในสาขาความร่วมมือใหม่ เช่น การบริหารจัดการลุ่มน้ำข้ามพรมแดน
    2. การค้าและการลงทุน 1)ขอให้ประเทศสมาชิกทำงานร่วมกันเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการค้าและการลงทุน และให้ศึกษาหาวิธีส่งเสริมการดำเนินธุรกิจผ่านวิธีการใหม่ๆ เช่น การจัดการประชุมทางไกลระหว่างภาคธุรกิจ เป็นต้น 2)รับทราบข้อริเริ่มของอินเดียในการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจในประเทศสมาชิก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนอินเดีย
    3. ความเชื่อมโยง 1)ควรมุ่งใช้โอกาสที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเร่งส่งเสริมโครงการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิก 2)สนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น โดยมุ่งหวังให้โครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม อินเดีย – เมียนมา – ไทย (โครงการถนนสามฝ่าย) สำเร็จโดยเร็ว และให้เร่งสรุปการเจรจาความตกลงยานยนต์ระหว่าง 3 ประเทศดังกล่าวด้วย
    4. การศึกษา การพัฒนาทักษะและการเสริมสร้าง ขีดความสามารถ 1)ไทยจัดทำโครงการเพิ่มพูนขีดความสามารถ ผ่านการให้ทุนฝึกอบรมระยะสั้นและทุนการศึกษาภายใต้หลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโท 2)ตกลงที่จะสนับสนุนเว็บไซต์ของกรอบความร่วมมือฯ ในอนาคต
    5. สาธารณสุข 1)ตกลงที่จะจัดสัมมนาทางไกลเพื่อเร่งรัดกระบวนการฟื้นฟูทางสังคมและเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดในการปรับปรุงระบบสาธารณสุขและส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์ ยา และวัคซีน 2)ไทยมีข้อริเริ่มของในการดำเนินโครงการ “การแบ่งปันประสบการณ์และการถ่ายทอดความรู้ผ่านระบบเครือข่ายการแพทย์ข้ามพรมแดน” ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรู้และขีดความสามารถให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข
    6. การท่องเที่ยวและความร่วมมือด้านวัฒนธรรม 1)พัฒนาความเชื่อมโยงระเบียงประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมเมืองหลวงโบราณ และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 2)เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรจดหมายเหตุร่วมที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งมุ่งศึกษาวิจัยความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ อารยธรรมของอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    “อนุทิน” แจงสั่งซื้อไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ชี้ส่งมอบ Q4

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้รายงานให้ที่ประชุม ครม. ทราบความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชน โดยล่าสุดช่วงเช้าของวันนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามกับผู้แทนบริษัท ไฟเซอร์ประเทศไทยและอินโดไชนา ในการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA  จำนวน 20 ล้านโดส ซึ่งจะมีการจัดส่งในไตรมาส4 ของปีนี้

    “นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่สนับสนุนให้สามารถจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส รวมถึงวัคซีนเทคโนโลยีต่างๆ มาฉีดให้แก่ประชาชน และขอให้มีการบริหารจัดการกระจายวัคซีนให้ดีมีแผนที่ชัดเจน รวมถึงการให้ข้อมูลการจัดสรรแก่ประชาชนที่ชัดเจนต่อไป”

    ซึ่งการทำข้อตกลงเพื่อจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ในครั้งนี้ จะทำให้ไทยมีวัคซีนโควิด-19 กระจายให้ประชาชนเกือบครบทุกชนิด ทั้งในส่วนของ mRNA ของไฟเซอร์ โมเดิร์นา ชนิดเชื้อตาย ของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ชนิดไวรัลเวกเตอร์ ของแอสตร้าเซนเนก้า และล่าสุดองค์การเภสัช(อภ.) อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ซึ่งคาดว่าจะนำเข้ามาเพื่อฉีดให้กับประชาชนได้ในปี 2565  และจะทำให้ไทยมีวัคซีนโควิด-19 ครบทุกเทคโนโลยีที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน

    ทั้งนี้ วัคซีนไฟเซอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนแบบมีเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 แผนการฉีดประกอบด้วยการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21 วัน และเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้  ขณะที่วัคซีนตัวอื่นเป็นวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

    ไฟเขียวแผนจัดการสมุนไพรในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 12 แห่ง

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. เห็นชอบแผนระดับที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นร่างแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ปี 2542 ฉบับที่1(ปี2564-2565) มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ อาจได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ รวมทั้งเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการเพื่อเสนอแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์รายพื้นที่อย่างน้อย 12 แห่งต่อไป โดยจะใช้จ่ายจากเงินกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ประมาณการวงเงินแผนระยะสั้น 2 ปีจำนวนทั้งสิ้น 1,735,000 บาท

    ทั้งนี้ตามร่างแผนฯดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญประกอบด้วย อนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรในเขตพื้นที่อนุรักษ์และมีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน, เสริมสร้างศักยภาพ บทบาท การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการคุ้มครองสมุนไพร, สำรวจ ศึกษาวิจัยสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร และเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศโดยการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชนและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

    สำหรับหลักเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือกพื้นที่เพื่อประกาศเป็นแผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรระดับพื้นที่เช่น  เป็นพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากการกระทำของมนุษย์ได้โดยง่ายหรือการเข้าไปใช้ประโยชน์จากสมุนไพรที่มีลักษณะเป็นการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือการลดลงของพันธุกรรม, เป็นพื้นที่ถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติหรือมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจถูกทำลาย

    รวมถึงต้องสำรวจพบสมุนไพรสำคัญในพื้นที่ คือ สมุนไพรที่มีค่าต่อการวิจัย สมุนไพรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และสมุนไพรที่อาจจะสูญพันธุ์ เป็นพื้นที่ที่ชุมชนและประชาชนมีความต้องการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างเหมาะสม และต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการเป็นแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพร

    ผ่านร่าง กม.ขนส่งทางราง – นายก ฯนั่งประธานกำกับดูแล

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางรางของประเทศ

    โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง หลักเกณฑ์การเสนอโครงการขนส่งทางรางและการดำเนินโครงการขนส่งทางราง เขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัย การกำกับดูแลการประกอบกิจการการขนส่งทางราง หลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ หลักเกณฑ์ของผู้ตรวจการขนส่งทางรางและผู้ประจำหน้าที่ การจดทะเบียนการขนส่งทางราง การคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล

    ทั้งนี้ร่างเพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง จะช่วยควบคุมและกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนส่งทางรางและการบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่นๆให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์

    นอกจากนี้ยังกำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้โดยสาร ประกอบด้วย  ผู้ได้รับใบอนุญาตจะเรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากราง และทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าธรรมเนียมอื่นเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดไม่ได้, ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้โดยสารเมื่อการเดินรถขนส่งทางรางมีเหตุล่าช้าหรือถูกยกเลิก

    ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกายของผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ และผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้มีความเหมาะสมแก่การใช้บริการขนส่งทางราง และในกรณีที่ผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ หรือบุคคลอื่น ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการขนส่งทางรางให้มีสิทธิร้องเรียนต่ออธิบดี และต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งโดยเร็วไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่ได้รับเรื่องร้องเรียน

    จัดทำเหรียญที่ระลึกครบ 70 ปี สภาพัฒน์ฯ

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า   ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกครบ 70 ปี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 โดยโครงการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกครบ 70 ปี ของสภาพัฒน์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และให้ข้าราชการของสำนักงานสภาพัฒน์เก็บไว้เป็นที่ระลึก และใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ประวัติของหน่วยงานสำหรับมอบให้แก่บุคคลสำคัญภายในประเทศและนานาประเทศ

    ทั้งนี้กรมธนารักษ์กำหนดให้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกครบ 70 ปีสภาพัฒน์ เป็นเหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว(ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท ประเภทธรรมดา จำนวนผลิตไม่เกิน 1 ล้านเหรียญ มีรายละเอียดของเหรียญดังนี้คือ ลักษณะเป็นเหรียญกษาปณ์กลม วงขอบนอกมีเฟืองจักร ส่วนผสมเป็นนิกเกิลร้อยละ 25 ทองแดงร้อยละ 75  น้ำหนักเหรียญละ 15 กรัม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร ลวดลายด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ชุดสากล ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “ครบ ๗๐ ปี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓” เบื้องล่างมีข้อความบอกราคาว่า “๒๐ บาท” และข้อความว่า “ประเทศไทย” กำหนดออกใช้ต่อเมื่อกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

    ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์ดังกล่าว จะจ่ายเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของ

    โอนเงินปันผล “KTB-BAM” ใช้หนี้ FIDF 2,875 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. อนุมัติให้โอนเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เข้าบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเติมจำนวน 2,875  ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ.2541 (FIDF 1) และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง พ.ศ.2545 (FIDF 3)

    ทั้งนี้กระทรวงการคลังรายงานว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้รับเงินปันผลจากธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) และ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพฯพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บสก.) รวมจำนวน 2,875 ล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม 2564 คณะกรรมการจัดการกองทุนจึงมีมติให้นำเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติให้โอนเงินของกองทุนฯจำนวนดังกล่าว เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF 1 และ FIDF 3 ในปีงบประมาณ 2564 เพิ่มเติมทั้งจำนวน

    โดยในปีงบประมาณ 2564 จะมีเงินของกองทุนฯที่นำส่งเข้าบัญชีสะสม เพื่อชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF 1 และ FIDF 3 รวมทั้งสิ้น 5,275 ล้านบาท  โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ยอดหนี้ต้นเงินกู้ FIDF 1 และ FIDF 3 มียอดหนี้คงค้างรวม 711,542.67 ล้านบาท

    ปรับหลักเกณฑ์สลากการกุศล 16 โครงการ 7,988 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบให้มีการปรับปรุงหลักการและแนวทางการพิจารณาการออกสลากการกุศล ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ  ทั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ดำเนินการจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และจ่ายเงินสนับสนุนโครงการสลากการกุศลให้กับหน่วยงานต่างๆ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 และ วันที่ 9 เมษายน 2562 รวม 16 โครงการ รวมเป็นเงิน 7,988 ล้านบาท เสร็จสิ้นแล้ว จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงแนวทางเพื่อให้การพิจารณาออกสลากการกุศลครั้งต่อๆไปเป็นไปอย่างเหมาะสม มีความรอบคอบ ชัดเจน และเกิดประโยชน์ และสอดคล้องกับสถานการร์และข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

    โดยปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาโครงการสลากการกุศล เปลี่ยนประธานกรรมการจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมาย เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเพิ่มเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นกรรมการ

    ซึ่งภายหลังการการปรับปรุงแล้ว คณะกรรมการพิจารณาโครงการสลากการกุศล จะประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการและเลขานุการ  ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทางการพิจารณารายละเอียดของหลักการและแนวทางพิจารณาการออกสลากการกุศลภายใต้กรอบหลักเกณฑ์ ที่ ครม. พิจารณากลั่นกรองโครงการสลากการกุศลของหน่วยงานต่างๆ

    นอกจากนี้ยัง กำหนดประเภทหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้ในปัจจุ  ทำให้หน่วยที่จะขอรับการสนับสนุนได้ประกอบด้วย หน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 (หน่วยงานของรัฐที่ขอรับหรือได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายและให้หมายความรวมถึงสภากาชาดไทยด้วย), มูลนิธิที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร

    รวมถึงให้ความสำคัญกับโครงการที่มีผลลัพธ์และสัมฤทธิ์ต่อประชาชนและสังคม เช่น เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาด้านการสาธารณสุข การป้องกันและบรรเทาโรคติดต่ออันตราย หรือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โครงการที่ก่อประโยชน์แก่ประชาชนในวงกว้าง โครงการที่ไม่ได้รับหรือได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐแต่ไม่เพียงพอ และไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่เสนอขอรับงบประมาณของรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม และให้สามารถยกเลิกโครงการได้ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้

    ตั้ง “เสธ หนุน” นั่ง ผอ.กองสลาก

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ แต่งตั้ง พันโท หนุน ศันสนาคม ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กำหนดอัตราค่าตอบแทนคงที่ในอัตรา 280,000 บาทต่อเดือน โดยในระหว่างอายุสัญญา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าตอบแทนคงที่ในวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี ในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 10 ของค่าตอบแทนคงที่ที่ผู้รับจ้างได้รับ ทั้งนี้ ให้ขึ้นกับผลการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยการปรับขึ้นค่าตอบแทนคงที่ตลอดอายุสัญญาจ้างจะต้องไม่มีผลให้อัตราค่าตอบแทนคงที่ที่ได้รับเกินกว่าอัตราขั้นสูงตามกรอบอัตราค่าตอบแทนคงที่ที่ กค. ได้ให้ความเห็นชอบไว้

    โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ระบุในสัญญาจ้างผู้อำนวยการฯ แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ  ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 และครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564

    พร้อมกันนั้น ครม. ยังอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 4 คน ได้แก่ 1. นายปรีชาพร สุวัฒโนดม     เป็นกรรมการ 2. พันเอก ศรัณยู วิริยเวชกุล      เป็นกรรมการ 3. รองศาสตราจารย์ธีร เจียศิริพงษ์กุล    เป็นกรรมการ และ4. รองศาสตราจารย์พรอนงค์ บุษราตระกูล   เป็นกรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

    นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นางสาวทิพานัน ศิริชนะ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

    และอนุมัติรายชื่อผู้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ประจำปีการศึกษา 2564-2565 รุ่นที่ 64 จำนวน 288 ราย หากผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการศึกษา แจ้งความประสค์สละสิทธิ์ หรือหากการตรวจสอบคุณสมบัติในภายหลังพบว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกขาดคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงกลาโหม ให้กระทรวงกลาโหมโดยสภาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ตัดรายชื่อออกจากที่ได้รับอนุมัคิ รวมทั้งพิจารณาผู้ที่จะเข้ารับการศึกษาทดแทนได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องขออนุมัติ ครม ใหม่ทั้ง 2 กรณี

    แก้มติ ครม. เปิดทาง “ออมสิน-ธ.ก.ส.” โยกสำรองหนี้เป็นรายได้

    รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ครม. รับทราบการแก้ไข ข้อความวรรคท้ายของเงื่อนไขในโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการการประมง ในมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 จากเดิม “ทั้งนี้ให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถนำค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้เพื่อบวกกลับเป็นรายได้ของธนาคาร และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้ และให้แยกบัญชีการดำเนินตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินางานปกติ ภายใต้ระบบบัญชี PSA (Public Service Account)”

    ทั้งนี้ เนื่องจากข้อความดังกล่าวทำให้ธนาคารออมสินไม่สามารถบัญทึกบัญชีรายได้ในงบการเงินของธนาคารได้ และไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของธนาคาร จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขข้อความเป็น “ธนาคารออมสินสามารถนำค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงงานได้…”

    โดยความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับพนักงาน ซึ่งธนาคารออมสินใช้ความนี้ในโครงการอื่นๆ เช่นเดียวกัน ด้าน ธ.ก.ส.แจ้งว่าข้อความดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.อย่างไร

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 20 กรกฎาคม 2564เพิ่มเติม