ThaiPublica > เกาะกระแส > ACT จัดเสวนาออนไลน์ จับพิรุธประมูลรถไฟทางคู่ “เหนือ-อิสาน” จี้นายก ฯทบทวนโครงการ

ACT จัดเสวนาออนไลน์ จับพิรุธประมูลรถไฟทางคู่ “เหนือ-อิสาน” จี้นายก ฯทบทวนโครงการ

9 กรกฎาคม 2021


ACT ระดมพลคนต้านคอร์รัปชัน จัดเสวนาออนไลน์ จับพิรุธ 5 สัญญา 5 บริษัท ประมูลรถไฟทางคู่ “สายเหนือ – อีสาน” 1.28 แสนล้านบาท “ผู้สังเกตการณ์” ค้าน รฟท.เปลี่ยนกติกา กีดกันผู้รับเหมาขนาดกลาง-ต่างชาติ เข้าประมูลงาน-จี้นายก ฯทบทวนโครงการ

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 เวลา 19.00-21.30 น. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “การประมูลรถไฟทางคู่ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ” โดยมี ดร.สุเมธ องกิตติคุณ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ , ดร.ประจักษ์ ทรัพย์มณี ผู้สังเกตการณ์โครงการรถไฟทางคู่ และ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กร์ต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมเสวนาผ่านทางเฟซบุ๊กขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ รับฟังได้พร้อมกันทาง Clubhouse

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ถ้าดูจากข้อมูลที่เผยแพร่โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ – อีสาน นี้ต้องตอบคำถามสังคมหลายประเด็น ทั้งเรื่องการประมูลและรายละเอียดของการประมูล เรื่องไม่โปร่งใสนั้นต้องมีหลักฐานที่ชี้ชัดว่ามีความไม่โปร่งใส แต่ผลที่ออกมาเป็นอย่างไร น่าจะมีข้อข้องใจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติม

“ข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบกันคือราคาประมูลที่ต่ำกว่าราคากลางเพียงแค่เล็กน้อย ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมา หลายคนพูดถึงข้อมูลว่าการแข่งขันด้านราคาการก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความโปร่งใส การแข่งขันด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการของการรถไฟในอดีตการประมูลทางคู่สายใต้ มีการแข่งขันที่สูงกว่านี้แล้วราคาที่ได้คือ ถูกลงพอสมควร แต่พอมาเจอทางคู่สายเหนือกับสายอีสาน ซึ่งราคาถูกลงเพียงเล็กน้อยหลายคนก็เลยตั้งคำถาม” ดร.สุเมธ กล่าวว่า

ดร.ต่อตระกูล กล่าวว่า กฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนดให้โครงการของรัฐทุกโครงการต้องเปิดเผยข้อมูล ต้องรวมถึงข้อมูลที่ประชาชนต้องการทราบ ไม่ใช่ข้อมูลที่รัฐอยากให้รู้ หรือ ตอบก็ตอบไม่ตรงความสำคัญของการประมูลคือให้ความเป็นธรรม การที่มีสัญญา 5 โครงการและมีบริษัทเข้าประมูล 5 รายพอดี คำตอบคือให้เข้ามาแล้ว แต่ไม่มีใครเข้า เขาไม่มายื่นเองจะทำอย่างไร มี 5 งานยื่น 5 รายแล้วไม่มีใครได้ซ้ำ มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ที่จะชนะ 5 รายไม่เหมือนกัน การประมูลต้องให้มีการแข่งขัน ที่ประเทศไทยไม่ให้ต่างชาติเข้ามาก็เพราะผู้รับเหมาเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล”

“การที่นักประมูลชอบมากที่สุดคือการล็อคผู้เข้าแข่งขัน ล็อคกันจนเหลือ 2 รายก็มี สมัยก่อน 2 รายนั้นเป็นญาติพี่น้องกัน ที่อยู่เดียวกันเบอร์โทรศัพท์เดียวกัน แต่ปัจจุบันที่เรียกว่าฮั้วประมูล ไม่มีใครเขาทำแล้ว การให้มีคนเข้าแข่งขันเยอะๆเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ในฐานะที่ผมเป็นวิศวกรบริหารโครงการเราก็รู้ว่าถ้าปล่อยให้เข้ามาเสรีเป็นร้อยๆรายไม่ได้ ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์พอ ถ้าเรายังปล่อยให้มีแค่ 5-6 บริษัท อีกกี่ปีก็ไม่เกิดความเจริญในบริษัทรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย การประมูลที่ไม่ยุติธรรมทำให้คนรุ่นใหม่ ตั้งใจดีมีวิชาความรู้ มีเทคนิค มีสมองไม่ได้เกิด” ดร.ต่อตระกูล กล่าว

ในขณะที่ ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ในฐานะผู้สังเกตการณ์ต้องตอบว่าโปร่งใสภายใต้กรอบนโยบายที่ทางกระทรวงจัดทำมาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำ แต่การกำหนดกรอบมีปัญหา ทำให้เกิดการตัดไม่ให้มีผู้เข้าร่วมประมูลรายย่อยเข้ามาได้ โดยคณะผู้สังเกตการณ์ได้แจ้งว่า “ไม่เห็นพ้องด้วยกับเหตุผลที่ รฟท.เปลี่ยนกติกาการประมูล คือ ยกเลิกกติกาที่ทางซูเปอร์บอร์ดของการจัดซื้อจัดจ้างทำไว้ตั้งแต่ปี 2560 ว่าให้แยกงานออกเป็นงานย่อยๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กขนาดกลางเข้าร่วมได้ แต่ TOR นี้ไปรวบงานโยธา ระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณเข้าด้วยกันทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง หรือ แม้แต่รายใหญ่ก็เข้าร่วมไม่ได้ ต้องเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งก็มีอยู่เพียง 5 รายเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยถูกผูกขาดอยู่เพียง 5-6 บริษัทใหญ่ๆเท่านั้นเอง”

ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงกำหนดเลยว่า Thai First เพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้ภายในประเทศ ต้องให้บริษัทไทยเท่านั้นเข้าประมูล เราไม่เห็นด้วย กับการกีดกันบริษัทต่างชาติเข้ามา ทำให้ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยน TOR รวบระบบราง ทำให้มีผู้ประมูลเพียง 5 สัญญา การกำหนดราคากลางส่วนใหญ่ในโครงการรัฐจะสำรวจเส้นทางและโหวตราคาเพิ่มกำหนดงบประมาณให้สูง โดยไม่มีใครไปดูว่าตรงตามสัญญาที่ระบุหรือไม่ เช่น ระบุว่าบริเวณนี้มีสะพาน แต่ถ้าไปดู กลับไม่มีแม่น้ำ เมื่อปฏิบัติจริงๆแล้วเงินจะเหลือ โดยหลักก็คือจะต้องคืนรัฐบาล แต่วิธีการคือมีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้าง เช่น บอกว่าประชาชนร้องขอให้ทำสะพาน ทำถนนลอด บางโครงการใช้เงิน 400 ล้านบาทก็มี แค่ทำแบบมาขออนุมัติจากรถไฟ สามารถก่อสร้างได้เลย ปัญหาคือมันคุ้มค่าหรือไม่ มีทางเลือกอื่นหรือไม่

ด้าน ดร.มานะ กล่าวว่า โครงการนี้ดูเหมือนจะโปร่งใส แต่อยู่ภายใต้กรอบของนักการเมือง กรอบกระทรวงคมนาคม แล้วหน่วยงานต้องปฏิบัติ เมื่อการรถไฟทำก็บอกว่าเป็นไปตามกรอบกระทรวง โปร่งใส ถูกต้อง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโครงการนี้เป็นโครงการที่อื้อฉาวและถูกตั้งคำถามมากที่สุดของการรถไฟ ทำไมสังคมจึงตั้งคำถามมาก กติกาในการประมูล ข้อมูลที่ให้สังคมรับรู้เกิดอะไรขึ้น การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่าจะทำให้ประเทศไทยปลอดคอร์รัปชัน ทำให้การปลอดคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็น การจัดซื้อจัดจ้าง ให้สิทธิสัมปทาน ต้องใช้ข้อตกลงคุณธรรม เดือนที่แล้วยังเห็นรัฐบาลถอดร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร หลังจากที่ภาคประชาชนชี้ว่าไม่ถูกต้องหลายๆอย่างและขัดต่อการปฏิรูปประเทศที่วางแผนไว้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรรมนูญมาตรา 144 และ 185 นี่เป็นการหยุดการคอร์รัปชันที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นหากยังเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมคลางแคลงใจ คนข้องใจว่ายังไม่เปิดเผย ไม่ทำอะไรตรงไปมา อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไม่มีการโกง

“โครงการใหญ่ขนาดนี้ไม่ใช่แค่คนไทยเห็น ต่างชาติก็เห็น ถ้าคอร์รัปชันขนาดใหญ่ เสียงประชาชนทักท้วงกันมากมาย สื่อมวลชนทักท้วง นักวิชาการทักท้วงใครๆก็พูดแล้ว ยังปล่อยเลยตามเลยให้ออกไปได้ มันจะทำให้ต่างชาติ หรือ นักลงทุนใหญ่ เขาตั้งข้อสงสัยว่ามีประเทศไทยมีมาตรฐานการลงทุนอย่างไร ถ้าเข้ามาจะเชื่อมั่นเรื่องความโปร่งใสตรงไปตรงมาได้อย่างไร สิ่งที่ตามมาคือเสียภาพลักษณ์ของประเทศ เมื่อจัดอันดับประเทศที่คอร์รัปชันระดับโลกแล้ว อันดับตกก็อย่าไปร้องแรกแหกกระเชอ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐกระทำ เราไม่อยากให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาล เพราะประชาชนคาดหวังตลอดว่ารัฐบาลที่เข้ามาจะปราบปรามคอร์รัปชัน อยากให้รัฐบาลทั้งคณะได้ฟังแล้วใช้อำนาจในการควบคุมทำให้ เป็นที่ยอมรับของสังคม” เลขาธิการองค์กร์ต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวทิ้งท้าย