ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > บันทึก “อนุทิน ชาญวีรกูล” กับวิกฤติโควิด-19

บันทึก “อนุทิน ชาญวีรกูล” กับวิกฤติโควิด-19

13 มิถุนายน 2021


จากการระบาดระลอกใหม่ (ระบาดใหญ่ครั้งที่ 2) ในช่วงสิ้นปี 2563 จากเคส “ตลาดกุ้ง” สมุทรสาคร สู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงการระบาดระลอก 3 ต้นเดือนเมษายน เดือนแห่งเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาว กับคำถามมากมายว่าการ์ดใครตก จนถึงประเด็นโรงพยาบาลสนาม ความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาด และการสั่งซื้อและกระจายวัคซีน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกจับตาพิเศษในฐานะ “หมอหนู” เจ้ากระทรวงหลักในการรับมือวิกฤติโควิด-19

ในทุกรอบของการระบาด การตัดสินใจอยู่บนข้อมูลที่ทีมแพทย์นำเสนออย่างต่อเนื่อง ดังเช่นที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า…

การแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 คือการลดจำนวนคนไข้รายใหม่ เป็นหน้าที่ของฝ่ายไหนก็ต้องไปดำเนินการ หากคนไข้โควิด-19 รายใหม่ล้นเกิน จะทำให้การดูแลคนไข้โควิดเสียชีวิตมากขึ้น และคนไข้ทั่วไปที่ไม่ใช่โควิดก็ได้รับผลกระทบ เพราะการที่คนไข้ล้นเกินศักยภาพของบุคคลากรทางการแพทย์ กระทบกับคนไข้ทุกส่วน ไม่ใช่แค่คนไข้โควิด-19 อย่างเดียว

“บุคคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักมาก เพราะเกินกำลังศักยภาพที่เราแจ้งทางความมั่นคงไปตั้งแต่แรกแล้วว่า เรารับคนไข้ใหม่ต่อวันได้ไม่เกิน 1,500 คนต่อวัน เป็นเวลาประมาณ 30 วันทั่วประเทศ แต่ตอนนี้มันปาเข้าไปมากกว่านั้นมาอย่างต่อเนื่อง มันเกิน 2 เท่าที่เราเตรียมขยายศักยภาพรองรับไว้ ถามว่าจะรองรับได้นานแค่ไหน หากยังต้องเกิน 1,500 คนต่อวัน…ยังไม่มีใครรู้ มัน(ระบบสาธารณสุข)จะล้มเมื่อไหร่ ไม่รู้ แต่มีโอกาสล้มได้ ถ้าศักยภาพ(กำลังของบุคคลากรทางการแพทย์)มันถูกดึงมาจากคนไข้ทั่วไปที่ไม่ใช่โควิด-19 ซึ่งคนเจ็บป่วยอื่นๆ ยังเจ็บป่วยกันอยู่บ่อยๆ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย”

  • “หมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล” มุมมอง(คนนอก)กับการจัดการโควิด-19 หวั่นระบบ “สาสุข” ล้มได้
  • ทางรอดคือการลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลงเรื่อยๆ ไปพร้อมๆกับการฉีดวัคซีนควบคู่กันไป แต่สถานการณ์วัคซีนวันนี้วัคซีนยังไม่มาตามนัด โรงพยาบาลต่างๆประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนในช่วง 14-20 มิถุนายน เพราะยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลนมะรักษ์ถึงกับหมายเหตุว่า หากท่านมีข้อสงสัยติดต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข สาเหตุความไม่พร้อมของวัคซีน สำหรับวัคซีนผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง

    การพูดข้อเท็จจริงไม่ครบ ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำงานหนัก จากงานที่หนักอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มภาระมากขึ้น

  • เมื่อวัคซีนไม่มาตามนัด…รพ.นมะรักษ์เดินหน้าชนประกาศให้ประชาชนถามตรง “รมต.สาธารณสุข”!!!

  • หากย้อนไปเมื่อ 16 มกราคม 2564 เป็นช่วงสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายจากที่ก่อนหน้านี้มีการระบาดจนทำให้มีผู้ติดเชื้อมากถึง 700 คนต่อวัน แต่วันที่ 16 ม.ค. ผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 230 ราย ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ลักลอบข้ามแดนจากมาเลเซียก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นายอนุทินย้ำว่าสาธารณสุขไทย ไม่ว่าโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ตลอดจนโรงพยาบาลสนามบางส่วนยังสามารถรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามมากกว่านี้

    9 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 186 ราย สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง จนสถาบันโลวี ออสเตรเลีย จัดให้ไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก ด้วยคะแนน 84.2  ควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ได้ดี จากทั้งหมด 98 ประเทศ ทำให้นายอนุทินย้ำความสำเร็จดังกล่าว

    ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สังคมเริ่มตั้งคำถามถึงประเด็น ‘วัคซีน’ จนนำมาสู่ความไม่ชัดเจนในเรื่องวัคซีนของรัฐ

    วัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยไม่ได้ล่าช้าหรือมีอุปสรรคใดๆ วันนี้ไทยมีวัคซีนอยู่ในมือมากที่สุดในอาเซียน หากนับจำนวนประชากรหรืออัตราส่วนประชากรประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกนี้

    นายอนุทิน กล่าวเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ในงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนประเด็นวัคซีน ใจความว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนแล้วจำนวนรวม 317,600 โดส จากซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนลอตแรกจากซิโนแวค 200,000 โดส และแอสตร้าเซนเนก้า 117,600 โดส ยืนยันว่าพร้อมฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง

    28 กุมภาพันธ์ 2564 มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในไทยให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรมว.วัฒนธรรม และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ

    ย้อนกลับไปก่อนที่นายอนุทินและคณะฉีดวัคซีนกลุ่มแรกของไทย นายอนุทินได้ออกมาบอกว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมณ์ว่าจะฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ทว่าสุดท้ายนายกฯ กลับชะลอการฉีด จนกระทั่งนายอนุทินต้องออกมารับหน้าที่นี้แทน โดยให้สัมภาษณ์ว่า

    “กรณีของท่านนายกรัฐมนตรี ผมไม่เคยพูดว่าท่านจะฉีดวัคซีน ‘ซิโนแวค’ ท่านแค่แสดงเจตนารมณ์ว่าจะฉีดเข็มแรก เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในความปลอดภัยของวัคซีนเท่านั้น”

    นายอนุทินกล่าวเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 64 และต่อมาวันที่ 8 มี.ค. 64 นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า “นายกรัฐมนตรีมีอายุมากกว่า 60 ปี อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับวัคซีนได้ นอกจากเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ มีการประชุมและพบปะผู้คนจำนวนมาก ยังสร้างความเชื่อมั่นในการฉีดวัคซีนด้วย

    โดยนายกรัฐมนตรีฉีดวัคซีนเข็มแรก วันที่ 16 มี.ค. 2564

    29 มีนาคม 2564 นายอนุทิน เดินสายพบปะนักลงทุนสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และกล่าวว่าตั้งแต่มีการฉีดวัคซีน นักลงทุนมีความมั่นใจขึ้น ภาคการลงทุนเริ่มฟื้นตัว พร้อมเดินหน้าฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงให้ได้ตามเป้า 100% เน้นพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สมุย และมาตรการลดวันกักตัว กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว

    จนกระทั่งการแพร่ระบาดระลอก3กลับมาอีกครั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งคลัสเตอร์ ‘ปาร์ตี้รัฐมนตรี’ และ ‘สถานบันเทิง’ ทำให้การแพร่ระบาดมีผู้ติดเชื้อทะลุ 1,000 รายต่อวัน นายอนุทินจึงสั่งคุมเข้มเป็นรายพื้นที่ ถึงกระนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนประสบปัญหา ‘เตียงไม่พอ’ ต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามมากขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2564

    สถานการณ์ช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 สาธารณสุขไทยยังคงประสบปัญหาผู้ติดเชื้อไม่มีเตียง ขาดรถรับผู้ป่วย การประสานงานระหว่างผู้ติดเชื้อกับการจัดหาเตียงมีปัญหา

    หลายพื้นที่เร่งมือจัดทำโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ต่างๆ ด้วยความร่วมมือของภาคเอกชนที่ออกโรงอย่างแข็งขันร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ โรงพยาบาลในหัวเมืองหลักๆ จึงทำให้ ปัญหา “เตียงไม่พอ” เริ่มคลี่คลาย

    เดิมทีมีการเสนอให้ใช้พื้นที่ของวัดธรรมกาย ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อได้เป็นหลักแสนราย และเป็นการรวมศูนย์การบริหารจัดการที่ดีได้ แต่ด้วยเหตุผลบางประการจึงไม่ใช้วัดธรรมกาย สำหรับกรุงเทพมหานครจึงต้องเช่าพื้นที่อาคารศูนย์ประชุมอิมแพคเมืองทองธานีแทน

    13 พฤษภาคม 2564 นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ถึงการ Walk-in ฉีดวัคซีนโควิด 19 ว่า นายกรัฐมนตรีและตนเห็นพ้องตรงกันเรื่อง ‘นโยบายการฉีดวัคซีนโควิด Walk-in’ ซึ่งจะเริ่มได้เมื่อมีวัคซีนจำนวนหลายล้านโดสคือเดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป และได้เตรียมสถานที่ฉีดที่รองรับคนจำนวนมากได้ เช่น ความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมที่เสนอให้ใช้สถานีกลางบางซื่อ หรือมีหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันการศึกษา หรือภาคเอกชน ที่มีสถานที่กว้างขวาง เสนอตัวเป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะส่งวัคซีนไปให้

    “ทุกศูนย์บริการฉีดวัคซีน นัดผ่านหมอพร้อม 30% นัดเป็นกลุ่มมาฉีด 50% และ Walk-in 20% คนที่เดินเข้ามาฉีดวัคซีน หากวันนั้นคนเต็มวัคซีนไม่พอก็อาจต้องมาวันหลัง”

    แต่ 5 วันถัดมา (18 พ.ค.2564) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกการฉีดวัคซีนแบบ Walk-in ทั้งหมด

  • รัฐบาลปรับวอล์คอินฉีดวัคซีนเป็นลงทะเบียน On-site เพิ่มกลุ่มคนทำงานในระบบประกันสังคม
  • เมื่อการระบาดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ปมประเด็นวัคซีนกลายเป็นข้อกังขาของรัฐบาล เพราะมีการนำเข้าเพียง 2 ชนิดเท่านั้นคือ ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า

    เหตุผลที่เป็นแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากรัฐบาลชื่นชมถึงประสิทธิภาพของวัคซีน อีกทั้งบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ยังเป็นผู้รับจ้างผลิตและสามารถส่งมอบให้ได้

    ส่วนซิโนแวค นายอนุทินให้เหตุผลเรื่องราคาดี ประสิทธิภาพสูง และไทยกับจีนเป็นพี่น้องกัน จีนจึงบริจาคให้ ทั้งที่ ณ เวลานั้น WHO ยังไม่รองรับซิโนแวค ต่างกับวัคซีนชนิดอื่นๆ

    ท่ามกลางข้อสงสัยมากมายในเรื่องวัคซีนว่าทำไมไม่ให้เอกชนนำเข้าเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน เมื่อภาคเอกชนเรียกร้องกดดันมากขึ้น รัฐบาลยอมกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติให้เอกชนนำเข้าได้ แต่ด้วยเงื่อนไขที่เข้มมาก ไม่ได้ผ่อนคลายให้รวดเร็วสอดรับกับภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดแต่อย่างใด จากการสอบถามภาคเอกชน ได้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า

    “รัฐบาลประกาศให้นำเข้าได้ แต่เบื้องหลังก็มาบอกว่า ถ้าคุณนำเข้ามา คุณมีขีดความสามารถในการรับผิดชอบแค่ไหน หากฉีดแล้ว มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์… ทั้งที่รัฐสามารถเอื้ออำนวยความสะดวกให้วัคซีนถึงมือประชาชนเร็วและทั่วถึงมากที่สุด เพราะขีดความสามารถของเอกชนน่าจะรวดเร็วและมีคอนเน็คชั่นในการสั่งซื้อวัคซีนได้ดีกว่า”

    ขณะที่การลงทะเบียนเพื่อการกระจายวัคซีนมีปัญหา เมื่อ “หมอพร้อม” ไม่สามารถรองรับได้ และปรับ “หมอพร้อม” ทำงานการติดตามการฉีดวัคซีนและออกใบรับรองแทน

  • ศบค.ชะลอลงทะเบียนหมอพร้อม
  • จึงทำให้ธนาคารกรุงไทยและเอกชนรายอื่นๆต้องออกแพลตฟอร์มการลงทะเบียนเพื่อเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงอย่างแท้จริง

  • กทม.ผนึกภาคีเปิด “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย” ระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนเริ่ม 27 พ.ค.นี้
  • สถานการณ์โควิด-19 เดือนพฤษภาคมยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เนื่องจากยังคงมีคลัสเตอร์ในพื้นที่ต่างๆ โดยนายอนุทิน กล่าวว่า คลัสเตอร์หลักมาจากเรือนจำซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและไซต์ก่อสร้างเขตหลักสี่ที่สั่งปิดแล้วได้ทำเป็นโรงพยาบาลสนาม ทั้งหมดใช้มาตรการ Bubble and Seal ไม่ให้มีการแพร่เชื้อสู่ภายนอก คัดแยกประเภทผู้ป่วยเป็นกลุ่มเขียว เหลือง แดง ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อยังเป็นกลุ่มสีเขียว เมื่อครบ 14 วันก็จะหายดี เช่น เรือนจำติดเชื้อ 9 พันกว่าคนเป็นกลุ่มสีเขียวประมาณร้อยละ 70 เมื่อครบ 14 วันจะมีประมาณ 5 พันกว่าคนที่กลายเป็นจำนวนผู้รักษาหาย

    แต่ยังยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการหรือถึงขั้นล็อกดาวน์ โดยศบค.จะเป็นผู้พิจารณา แต่ทั้งนี้ นายอนุทินกล่าวว่า

    “มาตรการที่ผ่อนคลายและกลับมาเข้ม ไม่ได้แปลว่าบริหารล้มเหลว หลายประเทศมีการผ่อนคลายและกลับมาเข้มเช่นกัน”

    เมื่อมีรายงานว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไม่ได้ส่งมอบในจุดฉีดวัคซีนหลายโรงพยาบาลนั้น แต่จะเปลี่ยนไปส่งมอบวัคซีนในเดือนมิถุนายน ด้านนายอนุทินยืนยันว่าจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเดือนมิถุนายน แต่ไม่สามารถเปิดเผยจำนวนโดสได้ วันนี้(13 มิถุนายน 2564) เป็นที่ประจักษ์เมื่อแต่ละโรงพยาบาลได้ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนสำหรับผู้จองวันที่ 14- 20 มิถุนายน 2564

  • เมื่อวัคซีนไม่มาตามนัด…รพ.นมะรักษ์เดินหน้าชนประกาศให้ประชาชนถามตรง “รมต.สาธารณสุข”!!!
  • แอสตร้าเซนเนก้า รับมอบวัคซีนโควิด-19 ผลิตในไทย โดยสยามไบโอไซเอนซ์ล็อตแรกตามกำหนด
  • ดีเดย์ฉีดวัคซีนแห่งชาติ 7 มิ.ย. 64 กับผู้ลงทะเบียนมากกว่า 10 ล้านคน
  • “วัคซีนโควิด 19 มีพร้อมสำหรับทุกคน ไม่ต้องซื้อขาย ทุกคนได้ฉีดแน่นอน เมื่อฉีดวัคซีนวันละ 3-4 แสนคน ผ่านไป 2-3 เดือนจะฉีดได้ 20-30 ล้านคน” นายอนุทิน กล่าวเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 

    เมื่อถึงวันดีเดย์ 7 มิถุนายน 2564 โรงพยาบาลและจุดฉีดวัคซีนหลายแห่งประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเพียงพอกับจำนวนผู้ลงทะเบียน แต่นายอนุทินยังให้สัมภาษณ์ว่า

    “ยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีคำว่าขาดวัคซีน เนื่องจากมีทั้ง ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ และ ‘ซิโนแวค’ จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เราจะมีคนฉีดวัคซีนรวมกว่า 10 ล้านคน และอีกประมาณ 3 เดือนคาดว่าจะมีวัคซีนของผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่เซ็นสัญญาทยอยส่งมา”

    เป็นการให้สัมภาษณ์ที่สวนทางกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่ต้องแจ้งเลื่อนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

    อย่างไรก็ตามหากเป็นไปตามคำพูดของนายอนุทิน เท่ากับว่าเดือนมิถุนายน 2564 ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปทั้งสิ้น 10 ล้านโดส หรือ 10% ของประชากรเป้าหมาย โดยรัฐบาลตั้งเป้าการฉีด ณ สิ้นปีที่ 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรทั้งประเทศ และต้องมีวัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส

    วิกฤติโควิด-19 ยังไม่จบ แต่ “อนุทิน ชาญวีระกูล” ได้ถูกจดบันทึกไว้แล้ว