ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ดีเดย์ฉีดวัคซีนแห่งชาติ 7 มิ.ย. 64 กับผู้ลงทะเบียนมากกว่า 10 ล้านคน

ดีเดย์ฉีดวัคซีนแห่งชาติ 7 มิ.ย. 64 กับผู้ลงทะเบียนมากกว่า 10 ล้านคน

7 มิถุนายน 2021


ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Rungsima Kullapat

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564 ดีเดย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศ หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนแสดงความจำนงรับการฉีดวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” “ไทยร่วมใจ” ตลอดจนช่องทางต่างๆ ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ที่ได้รับความร่วมมือจากเอกชนเป็นหลัก

แม้ไม่ได้มีการเปิดเผยจำนวนผู้ได้รับสิทธิการฉีดวัคซีนจากการลงทะเบียนข้างต้น แต่จากข้อมูลของ 3 หน่วยงานที่เป็นตัวหลักเรื่องแคมเปญฉีดวัคซีนหมู่ตั้งแต่ 7-30 มิ.ย. ไม่ว่าจะเป็น รายงานข่าวของทั้ง ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) คาดว่าการฉีดวัคซีนลอตใหญ่ครั้งนี้จะมีผู้ได้รับสิทธิไม่ต่ำกว่า 10 ล้านรายจากทุกช่องทาง แต่ในจำนวนนี้อาจมีคนลงทะเบียนมากกว่า 1 ช่องทาง ทำให้ไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริง

ตัวเลขกลมๆ 10 ล้านรายที่จะได้รับสิทธิฉีดวัคซีน (ซึ่งเลือกวันฉีดตามวันว่าง)จากแหล่งข้อมูล ดังนี้

  • เพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564 ว่ามีผู้แจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคชีนสะสมทั้งหมด (27 พ.ค.- 2 มิ.ย. 2564) 2,084,055 ราย แบ่งเป็น ผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง 1,327,412 ราย และผู้ลงทะเบียนผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com 756,643 ราย
  • เพจเฟซบุ๊ก หมอพร้อม รับผิดชอบโดยกระทรวงสาธารณสุข รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ว่ามีจำนวนการจองคิวฉีดวัคซีนผ่านแอปฯ 8,109,541 ราย แบ่งเป็นการจองคิวใน กทม. 981,453 ราย และต่างจังหวัด 7,128,088 ราย โดยหมอพร้อมจะเจาะจงเฉพาะผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม ศบค. ได้มีมติให้ไม่สามารถลงทะเบียนหมอพร้อมได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน แต่ก่อนหน้านี้ สธ. ได้เปิดตัวหมอพร้อมและให้ประชาชนลงทะเบียน จึงกล่าวได้ว่า ตัวเลขจาก ‘หมอพร้อม’ แสดงความต้องการวัคซีนของประชาชนในระยะเวลาเพียง 26 วัน

นอกจากนี้ยังมีช่องทางอื่นๆ เช่น ช่องทางของเอไอเอส ดีแทค และทรู เซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท ท็อปส์เดลี่ และบิ๊กซีมินิ แต่ไม่ได้มีหน่วยงานใดเปิดเผยข้อมูลของช่องทางเหล่านี้

วัคซีน 4.6 ล้านโดส ไม่ครอบคลุมผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคน?

แผนฉีดวัคซีนหลักดีเดย์วันที่ 7 มิ.ย. 2564 สัปดาห์แรกของการฉีดถือเป็นวาระสำคัญ ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐสำรองวัคซีนถึง 3.54 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 2.04 ล้านโดส และซิโนแวค 1.5 ล้านโดส อีกทั้งวัคซีนลอตนี้จะเป็นโควตาฉีดจนกระทั่งครบ 1 สัปดาห์ จากนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งมอบ ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ให้ทุกสัปดาห์

โดยสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน หรือช่วงวันที่ 15-21 มิ.ย. หน่วยบริการทั่วประเทศได้รับการจัดสรรอีก 8.4 แสนโดส และสัปดาห์ที่ 4 นับตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.จนถึงสิ้นเดือน จะได้รับการจัดสรรอีก 2.58 ล้านโดส (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นอ้างอิงจากกรมควบคุมโรคซึ่งรายงานเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอย่าง “สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขสาธารณสุข” รายงานตัวเลขว่าวัคซีนลอตแรกสำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมและจะได้รับการฉีดวันที่ 7 มิ.ย. 2564 จำนวนทั้งสิ้น 1.8 ล้านโดส แต่เมื่อรวมกับจำนวนวัคซีนในแต่ละจังหวัดจะทำให้มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเฉลี่ยจังหวัดละ 3,600 โดส โดยทั้งสองหน่วยงานไม่ได้ให้ข้อมูลเดียวกัน แต่ข้อมูลยังคงใกล้เคียงกัน

ดังนั้น แผนการฉีดหลักเดือนมิถุนายนอยู่ที่ราว 4.6 ล้านโดสตามจุดฉีด 993 จุด เป็นกทม. อย่างน้อย 25 จุด สำนักงานประกันสังคม 25 จุด มหาวิทยาลัยอย่างน้อย 11 จุด และจุดฉีดกลาง 10 แห่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถาบันราชานุกูล โรงพยาบาลศรีธัญญา ศูนย์การแพทย์บางรัก เป็นต้น

แต่ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ระบุให้ต้องฉีดวัคซีน 2 โดสต่อ 1 คน จึงเท่ากับว่าวัคซีนราว 4.6 ล้านโดสจะครอบคลุมประชากรเพียง 2.3 คนเท่านั้น

ขณะที่แผนแรกก็คือแผนฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงก่อนวันที่ 7 มิ.ย. 2564 ฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 4,190,503 โดส (ข้อมูลจาก ศบค. วันที่ 6 มิ.ย. 2564) โดยพื้นที่ กทม. ฉีดแล้ว 1 ล้านโดส

สำหรับพื้นที่ กทม. จะได้รับการจัดสรรวัคซีน 2.5 ล้านโดส โดยจัดสรรตรงให้ กทม. 1 ล้านโดส และจัดสรรผ่านกลุ่มต่างๆ คือ สำนักงานประกันสังคมในการฉีดผู้ประกันตนพื้นที่ กทม. 1 ล้านโดส และกลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่งของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 5 แสนโดส

จำนวนผู้ได้รับวัคซีนของทั้งสองแผนรวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านโดส หรือฉีดให้กับประชากรราว 5 ล้านคน ตามแผนที่ ศบค. กำหนด และมองว่าจำนวนนี้จะช่วยควบคุมสถานการณ์ได้ไม่มากก็น้อย

วัคซีน 10 ล้านโดสคือวัคซีนที่มีอยู่ เนื่องจากรัฐบาลยังต้องรอการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าลอตที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งบริษัทจะต้องทยอยส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นลอตๆ

แผนกระจายวัคซีนเดิม ช่วงต้นปี 2564 ก่อนที่จะมีประกาศนำเข้าวัคซีนชนิดอื่นๆ
แผนจัดหาวัคซีค ณ วันที่ 1 มิ.ย. 2564

จัดสรรวัคซีน โรงพยาบาลพร้อมฉีดไม่เต็มเดือน

3 วันก่อนดีเดย์ปูพรมฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ หน่วยบริการฉีดวัคซีนหลายแห่ง โดยเฉพาะ ‘โรงพยาบาล’ ต้องกลับลำประกาศ ‘เลื่อนฉีดวัคซีน’ เนื่องจากเหตุผลที่หลายแห่งรายงานว่า ‘ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนตามจำนวน’ ส่วนใหญ่แก้ปัญหาด้วยการเลื่อนฉีดตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 2564 จึงเท่ากับว่าหน่วยบริการหลายแห่งมีวัคซีนจะพร้อมฉีดในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 เท่านั้น

ตัวอย่างโรงพยาบาลที่พร้อมฉีดเฉพาะวันที่ 7 มิ.ย. 2564 เช่น โรงพยาบาลเครือบางปะกอกและปิยะเวท, มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลสามพราน จังหวัดนครปฐม, ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ตัวอย่างโรงพยาบาลที่พร้อมฉีดวันที่ 7-8 มิ.ย. 2564 เช่น โรงพยาบาลบ้านโป่ง เลื่อนฉีดวันที่ 9, โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา, โรงพยาบาลนครชัยศรี

นอกจากนี้ยังมีหน่วยบริการที่เลื่อนการฉีดแบบไม่มีกำหนด เช่น โรงพยาบาลสันป่าตอง, โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม, โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

ข้อสังเกตคือ หน่วยบริการที่ได้รับผลกระทบจากการจัดสรรวัคซีนที่ไม่เพียงพอมักจะเป็นโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโควต้าวัคซีนผ่านหมอพร้อม ซึ่งเป็นระบบสำหรับให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังลงทะเบียน ก่อนที่จะมีมติ ศบค. ให้ยกเลิกการลงทะเบียนในช่องทางดังกล่าว

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังคงยืนยันว่ามีวัคซีนพร้อมฉีดทุกจังหวัด และไม่มีการเลื่อนฉีดแต่อย่างใด

หลักการกระจายวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข มีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่

  1. ทุกจังหวัดจะมีวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค เฉลี่ยตามจำนวนประชากรและประชากรแฝงในพื้นที่
  2. จังหวัดที่มีการระบาดมากจะจัดวัคซีนเสริมเพื่อควบคุมโรค และสามารถปรับแผนตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
  3. จังหวัดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว กลุ่มแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หรือชายแดนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้ประกันตน รวมถึงคนที่นัดฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อม จะได้รับความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ และไม่มีการเลื่อนการฉีด

ระบาดระลอกสาม รัฐบาลเพิ่งตั้งงบพัฒนาวัคซีน 2.8 พันล้าน

นับตั้งแต่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในช่วงต้นปี 2563 ผ่านมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่ง รัฐบาลเพิ่งจะอนุมัติงบวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย

ข้อมูลจากสำนักนายกรัฐมนตรีรายงานเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ว่า ครม. อนุมัติงบประมาณกว่า 2,800 ล้านบาท แบ่งเป็นงบชุดแรก 1,810.68 ล้านบาท ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 จัดสรรให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ นำไปสนับสนุนการวิจัยแก่หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ได้แก่ พัฒนาและผลิตวัคซีนแบบ DNA โดย บ.ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด 650 ล้านบาท, พัฒนาวัคซีนต้นแบบสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ โดย สวทช. 200 ล้านบาท, ทดสอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศ โดย บ.ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด 160 ล้านบาท, เตรียมโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติเป็นสถานที่ผลิตและห้องปฏิบัติการฯ โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 562 ล้านบาท, เตรียมความพร้อมในการแบ่งบรรจุวัคซีน โดย องค์การเภสัชกรรม 156.8 ล้านบาท, ขยายศักยภาพการผลิตระดับอุตสาหกรรม โดย บ.องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด 81.88 ล้านบาท

ถัดมาคือ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นฯ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประจำปีงบประมาณ 2563 อีก 995.03 ล้านบาท หน่วยงานผู้รับทุน ได้แก่ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 365 ล้านบาท, บ.สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด 596.24 ล้านบาท และศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 33.79 ล้านบาท

ท้ายที่สุด เมื่อดูเป้าหมายวัคซีนภายในสิ้นปี 2564 ที่ 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2564 สถานะวัคซีนของประเทศไทยยังนับว่าห่างไกลจากเป้าหมายที่วางเอาไว้ แม้ว่าจะมีวัคซีนซิโนแวค 6 ล้านโดส และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอีกไม่เกิน 4-5 ล้านโดส แต่ประเทศไทยยังต้องรอแผนจัดซื้อซิโนแวคอีก 8 ล้านโดส แต่สำคัญกว่านั้นคือรอสัญญา ‘ม้าตัวเต็ง’ จาก “สยามไบโอไซเอนซ์” อีก 61 ล้านโดส เพื่อรวมกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเดิมให้ถึง 67 ล้านโดส

ส่วนดีลที่ยังไม่ลงตัวคือ วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมลงนามสัญญาจองซื้อระหว่างวันที่ 7-11 มิ.ย.64 และวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ก็อยู่ในขั้นตอนการเตรียมทำสัญญาจองวัคซีนเช่นกัน โดยวัคซีนทั้งสองคาดว่าจะได้รวมกัน 25 ล้านโดส อีกทั้งในปี 2565 ที่รัฐบาลประกาศว่าจะจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดส

รัฐบาลเคยประกาศว่าศักยภาพในการฉีดวัคซีนของไทยอยู่ที่ 500,000-1,000,000 คนต่อวัน กรณีที่ ‘มีวัคซีนเพียงพอ’ ขณะที่ปัจจุบันหน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถฉีดได้สูงสุดเพียงหลักหมื่นต่อวันเท่านั้น ทำให้ตั้งแต่วันฉีดเข็มแรกเดือน ก.พ. กระทั่งเดือน มิ.ย. สามารถฉีดได้เพียง 4.1 ล้านโดส

นับว่าศักยภาพการดำเนินการฉีดวัคซีนยังห่างไกลกับเป้าหมาย 100 ล้านโดส หรือฉีดให้ประชากร 70% ของประเทศ เพราะทุกวันนี้ฉีดไปเพียง 4.1% จากเป้าหมาย 100%

แถมยังต้องลุ้นว่าวัคซีนจะไม่ผิดนัดอีกในอนาคต