ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > “หมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล” มุมมอง(คนนอก)กับการจัดการโควิด-19 หวั่นระบบ “สาสุข” ล้มได้

“หมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล” มุมมอง(คนนอก)กับการจัดการโควิด-19 หวั่นระบบ “สาสุข” ล้มได้

7 มิถุนายน 2021


รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล (https://www.facebook.com/photo?fbid=3671131952992461&set=pcb.3671132129659110)

รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความเห็นพร้อมออกตัวว่าตนเป็นคนนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 โดยมองว่าการแพทย์ถูกการเมืองแทรกแซงในเชิงระดับบริหาร ระดับนโยบาย ที่ทำให้ข้อมูลทางการแพทย์ อย่างเรื่องวัคซีน ต้องยึดหลักวิชาการทางการแพทย์ในการกระจายวัคซีน ไม่ใช่ให้การเมืองเป็นฝ่ายชี้นำ หรือการบันทึกสาเหตุการตายที่ไม่ถูกต้องกับวิชาการทางการแพทย์ การปกปิดข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จะทำให้การตระหนักถึงปัญหาน้อยลง และฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจจะเห็นว่าไม่ได้เป็นปัญหามาก

“นอกจากนี้ปัญหาของความสับสนของประชาชนเกี่ยวกับการจัดการวิกฤติโควิดที่ผ่านมา เป็นเพราะไม่มีการบูรณาการข้อมูล มีผู้รับผิดชอบหลายส่วน พยายามพูด พูดในทิศทางที่ขัดแย้งกันทำให้ประชาชนและสังคมสับสน การที่จะขอความร่วมมือจากสังคมจึงทำได้ไม่เต็มที่ อย่างเรื่องวัคซีน พูดกันคนละทีสองที เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา” รศ. นพ.นิธิพัฒน์ให้ความเห็น

ขณะนี้การแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 คือการลดจำนวนคนไข้รายใหม่ เป็นหน้าที่ของฝ่ายไหนก็ต้องไปดำเนินการ หากคนไข้โควิด-19 รายใหม่ล้นเกิน จะทำให้การดูแลคนไข้โควิดเสียชีวิตมากขึ้น และคนไข้ทั่วไปที่ไม่ใช่โควิดก็ได้รับผลกระทบ เพราะการที่คนไข้ล้นเกินศักยภาพของบุคคลากรทางการแพทย์ กระทบกับคนไข้ทุกส่วน ไม่ใช่แค่คนไข้โควิด-19 อย่างเดียว

“บุคคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักมาก เพราะเกินกำลังศักยภาพที่เราแจ้งทางความมั่นคงไปตั้งแต่แรกแล้วว่า เรารับคนไข้ใหม่ต่อวันได้ไม่เกิน 1,500 คนต่อวัน เป็นเวลาประมาณ 30 วันทั่วประเทศ แต่ตอนนี้มันปาเข้าไปมากกว่านั้นมาอย่างต่อเนื่อง มันเกิน 2 เท่าที่เราเตรียมขยายศักยภาพรองรับไว้ ถามว่าจะรองรับได้นานแค่ไหน หากยังต้องเกิน 1,500 คนต่อวัน…ยังไม่มีใครรู้ มัน(ระบบสาธารณสุข)จะล้มเมื่อไหร่ ไม่รู้ แต่มีโอกาสล้มได้ ถ้าศักยภาพ(กำลังของบุคคลากรทางการแพทย์)มันถูกดึงมาจากคนไข้ทั่วไปที่ไม่ใช่โควิด-19 ซึ่งคนเจ็บป่วยอื่นๆ ยังเจ็บป่วยกันอยู่บ่อยๆ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย”

เมื่อถามว่าบุคคลการทางการแพทย์ต้องควงกะกันมากน้อยแค่ไหน รศ. นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า แต่เดิมอาจจะหยุด 3-4 วันต่อเดือน แต่ตอนนี้หยุดน้อยลง ต้องหมุนกันมาช่วยเหลือในส่วนของโควิด-19 หากมีบุคคลากรทางการแพทย์เจ็บป่วย ทำให้ปริมาณคนหมุนเวียนมาช่วยก็น้อยลง ก็เหนื่อยมากขึ้น ทำให้หมอ พยาบาล ที่ต้องดูแลคนไข้ที่ไม่ใช่โควิด ซึ่งยังมีต้องดูแลคนไข้โรคเรื้อรัง ก็เริ่มขาดแคลน เพราะต้องมาช่วยทางคนไข้โควิด-19 ทำให้คนไข้อื่นๆ ที่เคยได้รับประโยชน์ก็เสียประโยชน์ของคนไข้อื่นๆ ไป

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล (https://www.facebook.com/photo?fbid=3671131952992461&set=pcb.3671132129659110)

เมื่อถามต่อว่าถ้าย้อนกลับไปความผิดพลาดในการจัดการอยู่ตรงไหน รศ. นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า “ปล่อยให้มีคนไข้โควิด-19 มากเกินไป เราเตือนแล้วว่าไม่ควรเห็นแก่เศรษฐกิจมากเกินไป สุดท้ายจะสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าการที่ยอมเคร่งครัดทางการแพทย์ซึ่งสูญเสียเศรษฐกิจน้อยกว่า แต่ก็ปล่อย ผ่อนให้เศรษฐกิจ แต่สุดท้ายเศรษฐกิจก็ไม่รอดอยู่ดี สูญเสียมากกว่า”

พร้อมกล่าวย้ำว่า “ทางการแพทย์เตือนมาทุกระลอกการระบาด เพื่อให้สมดุลทั้งทางการแพทย์ ความมั่นคง และเศรษฐกิจ แล้วแต่ผู้ตัดสินทางนโยบายจะตัดสินใจจะเลือกอย่างไร ให้ข้อมูลไปครบแล้ว ข้อมูลที่ให้ เช่น ภาคการแพทย์ เราดูแลได้แค่นี้ หากมามากเกินเราดูแลไม่ไหว ถ้าหากดูไม่ไหว จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากคนไข้ล้นเกินจะทำให้ศักยภาพที่มีถูกใช้หมด คนไข้ที่ไม่ใช่โควิดจะถูกรบกวน หากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก็ยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจประเทศยิ่งเสียหาย”

เมื่อถามต่อว่าจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักมากขึ้นจำเป็นต้องทำห้องความดันลบมากขึ้นไหม รศ. นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า “ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ เพิ่มก็ไม่มีประโยชน์ ประเด็นมันไม่มีหมอ ไม่มีพยาบาล ตอนนี้จะสร้างห้องความดันลบ ไม่ใช่ที่แล้ว เพราะว่าเราไม่มีคนทำงาน มันเกินกำลัง ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการสร้างถาวรวัตถุแล้ว ตอนนี้คงได้แต่พยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้เร็วที่สุด พร้อมฉีดวัคซีน อาจจะไม่เห็นผลเร็วแต่ก็ต้องทำควบคู่กันไป”

ส่วนประเด็นเรื่องงบประมาณสำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ คือค่าเสี่ยงภัย ที่ผ่านมางบประมาณหมดแค่ 31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้จัดสรรงบค่าเสี่ยงภัยให้บุคคลากรทางการแพทย์ใหม่ โดยค่าเสี่ยงภัยในส่วนงานโควิด-19 สำหรับพยาบาลและบุคคลการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง 1,000 บาทต่อ 8 ชั่วโมง แพทย์ 1,500 บาทต่อ 8 ชั่วโมง

อนึ่ง รศ. นพ.นิธิพัฒน์ ได้โพสต์ใน FB นิธิพัฒน์ เจียรกุล มาอย่างต่อเนื่อง เล่าเรื่องราวการรับมือวิกฤติโควิด-19 ของระบบสาธารณสุขและชีวิตการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นเรื่องราวและข้อมูลข้อเท็จจริงของผู้ปฏิบัติงานที่สะท้อนความจริงของระบบสาธารณสุขไทย เช่น…

    เสริมกำลังแพทย์ ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

    แพทยสภามอบหมายราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ให้ดำเนินการปรับวิธีการประเมินผลการฝึกอบรมแพทย์เพื่อวุฒิบัตร ให้เหมาะสมกับสถานการณ์โดยยังคงมาตรฐานตามที่ราชวิทยาลัยและคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ เห็นสมควรเป็นการเฉพาะปี โดยขอให้กระบวนการเสร็จสิ้นภายในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อให้ผู้รับการฝึกอบรมมีโอกาสได้ทุ่มเทช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินนี้ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ และทันสถานการณ์…

    สรุปผลการประชุมว่า…

    ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ได้ปรับการประเมินผลแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จำนวน 395 คน โดยใช้การประเมินผลที่ได้ดำเนินการมาแล้ว แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 ทั้งหมดจึงสามารถปฏิบัติงานหลักในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ในสถาบันฝึกอบรมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และพร้อมที่จะกลับไปปฏิบัติงานให้กับต้นสังกัดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

    สำหรับการประเมินผลการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาทางอายุรศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับเวลาการสอบเพื่อวุฒิบัตร/ประกาศนียบัตรให้เป็นไปตามมติของแพทยสภาที่ให้เสร็จภายในกลางเดือนมิถุนายน 2564 ได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้มีการสอบขั้นตอนต่าง ๆ มาล่วงหน้าเช่นเดียวกับอายุรศาสตร์ทั่วไป มีผู้สอบที่เข้าสอบซ้ำจำนวนมากทำให้ไม่สามารถประเมินผลโดยสถาบันฝึกอบรมได้ การสอบต้องมีการจองสถานที่ล่วงหน้าในการสอบเพื่อให้มีการเว้นระยะห่าง การสอบต้องมีการนัดผู้ป่วยล่วงหน้าเป็นเวลานาน และได้แจ้งผู้สอบล่วงหน้าไปแล้วการเลื่อนการสอบให้เสร็จสิ้นก่อนกลางเดือนมิถุนายนจะมีผลต่อการทบทวนก่อนการสอบของผู้สำเร็จการฝึกอบรม

    อย่างไรก็ตามทุกอนุสาขาจะไปทบทวนกระบวนการประเมินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ยังคงคุณภาพของกระบวนการประเมินผลเพื่อวุฒิบัตรอีกครั้งหนึ่ง โดยดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และไม่ให้เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อให้ผู้จบการฝึกอบรมกลับไปปฏิบัติงานให้กับต้นสังกัดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และราชวิทยาลัยฯ จะรวบรวมส่งให้แพทยสภาทราบ และขอมติผ่อนผันต่อไป

    พร้อมทั้งเน้นว่า ขอให้แพทย์ประจำบ้านอนุสาขาชั้นปีสุดท้ายให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ตามที่สถาบันฝึกอบรมให้ปฏิบัติ จนกว่าจะเสร็จสิ้นสุดการฝึกอบรมในวันที่ 30 มิถุนายน 2564

    ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 อย่างเต็มที่ แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์เป็นกำลังสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 มาโดยตลอด แต่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์และองค์กรวิชาชีพทางอายุรศาสตร์ ยังต้องคงไว้ซึ่งคุณภาพการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางไปพร้อมกัน

    พล.อ.ท. นพ.อนุตตร จิตตินันทน์
    ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย