ศบค. – สธ. – กทม. แจงปม ‘เลื่อนฉีดวัคซีน’ ตั้งแต่วันที่ 15-20 มิ.ย.64 อ้างผู้ผลิตขัดข้องทางเทคนิค จึงไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน สธ.ยืนยันการฉีดเดือนมิ.ย.ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ 6 ล้านโดส
ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ได้มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเกิดขึ้น และมีการตอบโต้กันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกรุงเทพมหานคร หลังจากโรงพยาบาลต่างๆได้ประกาศแจ้งต่อผู้ลงทะบียนผ่านเพจเฟซบุ๊กเลื่อนการให้่บริการฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่ได้ทำการจองวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ที่กำหนดรับวัคซีนช่วงวันที่ 14-20 มิ.ย. นี้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 13 มิถุนายน เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ที่ สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวชี้แจงประเด็นการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 โดยนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการกระจายวัคซีนตามการจัดสรรของที่ประชุม ศบค. โดยตั้งสมมติฐานว่าเดือนมิถุนายน จะได้รับจำนวน 6.3 ล้านโดส แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ทั้งในส่วนจังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงกองทุนประกันสังคม มหาวิทยาลัย องค์กรภาครัฐ และสำรองสำหรับสถานการณ์การระบาดฉุกเฉิน ในจำนวนนี้ กทม. จะได้รับจำนวน 1,160,000 โดส
ในวันเดียวกัน เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขยังรายงานด้วยว่า นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงหลักการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 ว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดส่งวัคซีนให้ทุกจังหวัดตามนโยบายของ ศบค. ซึ่งคิดจากตัวเลขที่แต่ละจังหวัดตั้งมาและปรับตามสูตรการคำนวณให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ส่งมอบให้กรมควบคุมโรค โดยเดือนมิถุนายนมีการกระจายวัคซีนเป็น 2 งวด ครอบคลุมการฉีดในระยะ 2 สัปดาห์ คือ งวดแรกวันที่ 7-20 มิถุนายน ประมาณ 3 ล้านโดส คือ ซิโนแวค 1 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส เบื้องต้นมีการจัดส่งไปยัง กทม. 5 แสนโดส (แอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส) สำนักงานประกันสังคม 3 แสนโดสฉีด กทม.เป็นหลัก
“กระทรวงสาธารณสุขจัดส่งวัคซีนโควิด 19 ตามนโยบายรัฐ ส่วนภารกิจการกระจายต่อไปยังโรงพยาบาลหรือจุดฉีดในแต่ละจังหวัดเพื่อให้เกิดการฉีดวัคซีนได้อย่างต่อเนื่องนั้นมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดำเนินการต่อ ซึ่งขอให้แต่ละจังหวัดปฏิบัติตามนโยบาย โดยเน้นฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมก่อน เพื่อป้องกันกลุ่มมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต”นายแพทย์โสภณกล่าวตามรายงานบนเว็บไซต์
จากนั้นในบ่ายวันเดียวกัน เพจกรุงเทพมหานครได้โพสต์ข้อความว่า จากกรณีที่ทางกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าได้ให้วัคซีนกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาแล้ว 1 ล้านโดส ตามแผน เดือน มิ.ย. 64 นั้น กรุงเทพมหานครขอให้ข้อมูลดังนี้
1. ตามแผนการจัดสรรวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข กทม. ได้รับการแจ้งว่าจะได้รับการจัดสรร AstraZeneca 2.5 ล้านโดส ซึ่งให้กทม.ไปทำแผนการฉีดให้สอดคล้อง
2. สำหรับวัคซีนที่ใช้ในวันที่ 7-14 มิ.ย 2564 กทม.ได้รับวัคซีน AstraZeneca จำนวน 350,000 โดส Sinovac 150,000 โดส
แบ่งการใช้วัคซีน AstraZeneca เป็น
-
– ระบบหมอพร้อม 181,400 โดส
– เข็มที่สอง 52,600 โดส
– ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง 8,000 โดส
– ประชาชนทั่วไป 100,000 โดส
– สำรองสำหรับควบคุมโรค 8,000 โดส
ส่วน Sinovac แบ่งการใช้เป็น
-
– เข็มที่สอง สำหรับการควบคุมโรค (พื้นที่ระบาดรุนแรง) 128,000 โดส
– ควบคุมโรคพื้นที่ระบาดใหม่ 26,000 โดส
3. การจองผ่านระบบหมอพร้อม เป็นการเปิดให้ รพ.ทุกแห่งในกรุงเทพฯ มาช่วยกันฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่เปิดพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้น กทม. จึง ไม่ใช่ผู้ควบคุมและผู้ที่จัดสรรวัคซีนซึ่งในเดือน มิ.ย.นี้ ผู้ที่ลงหมอพร้อมในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 450,000 ราย
4. กทม.ยืนยันว่า กทม.พร้อม สถานที่พร้อม บุคลากรพร้อม และหาก “วัคซีนพร้อม” ตามแผน กทม.พร้อมจะดำเนินการฉีดให้กับประชาชนทันที
ประเด็นการเลื่อนฉีดวัคซีนอยู่ในความสนใจของประชาชน จนส่งผลให้ช่วงสายของวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาธิการ สมช.) พร้อมด้วย พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวการบริหารจัดการวัคซีน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดหาวัคซีนตามที่รัฐบาลกำหนดให้กับคนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน เป็นร้อยละ 70 ของประชากรในประเทศ และต้องดำเนินการให้เสร็จในปี 2564
จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2564 มีการนำเข้าวัคซีนแล้ว 8.1 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าเซนเนก้า 2.1 ล้านโดส และซิโนแวค 6 ล้านโดส มีการฉีดสะสมแล้วทั้งหมด 6,188,124 โดส นับถึงวันที่ โดยจำนวนฉีดสูงสุดอยู่ในพื้นที่ กทม. 1,716,394 โดส ร้อยละ 27.7 ของวัคซีนที่มีทั้งหมด แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 1,346,993 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 369,401 โดส ส่งผลให้พื้นที่กทม.ได้รับอย่างน้อย 1 เข็มเป็นร้อยละ 17.5
“การจัดสรรวัคซีนจะพิจารณาถึงข้อมูลในพื้นที่ จำนวนประชากร แบ่งเป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด รวมถึงคำนึงถึงนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล และการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายจะเน้นที่บุคลากรทางกรแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ซึ่งขณะนี้ได้รับการฉีดวัคซีนเกือบครบ 100% แล้ว นอกจากนี้มีกลุ่มตำรวจ ทหาร อสม. จากที่เรามีการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 เป็นต้นมา ยังมีการฉีดให้กลุ่มอื่นๆ ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเช่น กลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา กลุ่มคนทำงานขนส่งสาธารณะ รถเมล์ รถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ กลุ่มแรงงานผู้ประกันตนมาตรา 33 ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม”
ส่วนประเด็นเลื่อนฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 15-20 มิ.ย.64 นพ.โอภาส ชี้แจงว่า
“ธรรมชาติการผลิตวัคซีนซึ่งเป็นชีวะวัตถุมีความไม่แน่นอนในการผลิตค่อนข้างสูง ไม่เหมือนกับยาที่ใช้สารเคมีตั้งต้นซึ่งจะควบคุมได้ดีกว่า ดังนั้นการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ จึงมีมาตรฐานสากลที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะหน่วยงานเรื่องควบคุมคุณภาพ (quality assurance) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ได้มีในท้องตลาดแล้วเราไปสั่งซื้อ บริษัทวัคซีนที่เรากำหนดทำสัญญากันก็จะทยอยส่งเป็นงวดๆ ตามสัญญาที่กำหนดไว้ ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย”
ทั้งนี้ เดือนมิถุนายนมีกำหนดการกระจายวัคซีน 2 งวด แบ่งเป็น
- งวดแรกตั้งแต่ 7-20 มิถุนายน มีการส่งวัคซีนประมาณ 3 ล้านโดส ซึ่งประกอบด้วย วัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดสในจำนวนนี้จะจัดส่งไปยัง กทม. 5 แสนโดส ประกอบด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 3.5 แสนโดส ซิโนแวค 1.5 แสนโดส ส่วนกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อมใน 76 จังหวัด สธ.จะมส่งวัคซีน 1.1 ล้านโดสไปตามจุดฉีดต่างๆ สำหรับและองค์กรภาครัฐ เช่น กลุ่มคนส่งสาธารณะ กลุ่มทหารตำรวจในการกักกันผู้ป่วยและครูอีก 1 แสนโดส
- ส่วนงวดที่ 2 จะต้องกระจายไปอย่างช้าที่สุด 21 มิถุนายน -2 กรกฎาคมอีก 3.5ล้านโดส เป็นซิโนแวค 2 ล้านโดส แอสตร้าเซเนก้า 1.5 ล้านโดส
“ภาพรวมวัคซีนกระจายไปจังหวัดต่างๆ 7-8 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว 6 ล้านกว่า สัปดาห์นี้ (14-20 มิ.ย.) ก็จะมีการทยอยฉีดใหม่ คาดว่าเดือนนี้เป้าหมายฉีดได้ 10 ล้านโดส เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส” นพ.โอภาสกล่าว
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ตั้งแต่วันที่ 7 -14 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นงวดแรกของการจัดส่ง กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งวัคซีนให้กทม. 5 แสนโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซเนก้า 3.5 แสนโดส ชิโนแวค 1.5 แสนโดส ซึ่งเป็นซิโนแวคที่ใช้เป็นเข็มที่สอง 1.26 แสนโดส อีก 2.4 หมื่นโดสใช้สำหรับควบคุมโรคและสถานการณ์ฉุกเฉิน
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า กทม.จัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าให้ ‘หมอพร้อม’ วันที่ 7-14 มิ.ย. ทั้งสิ้น 182,000โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 2 จำนวน 52,000 โดส และสำรองวัคซีนให้ผู้ป่วยติดเตียงกับคนชรา 8,000 โดส และให้ผู้ลงทะเบียนไทยร่วมใจ 1 แสนโดส
“ทีแรกคาดหวังว่าวัคซีนจะได้มาก่อนที่ 14 มิถุนายน แต่อย่างที่ท่านอธิบดีกรมควบคุมโรคบอกว่า มันอาจจะขัดข้องทางเทคนิคของผู้ที่จะส่งให้ สธ.จึงยังไม่ได้รับวัคซีน”
“กทม.เลยแก้ปัญหาโดยการแจ้งไปยังผู้ลงทะเบียนที่ลงไว้ใน 15-21 มิถุนายน ให้เลื่อนไปก่อน โดย กทม.จะหยุดฉีด โดยจะฉีดให้เร็วที่สุด สมมติเราได้รับวัคซีนวันที่ 19 มิ.ย. เราก็จะแจ้งไปเลยว่าพี่น้องจะมาฉีดวันที่ 20 มิ.ย.เลยไหม หรือให้ท่านเลือกวันเวลา วันรุ่งขึ้นจะฉีดให้เลย ผู้ที่เสียสิทธิ์ที่ไม่ได้ฉีดวันที่ 15-21 มิถุนายน พวกนี้เป็นกลุ่มแรก ท่านได้รับการฉีดก่อนคนอื่นเลย” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม. ได้รับการอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ ตัวอย่างเช่น สธ.ช่วยกลุ่มลงทะเบียนกับหมอพร้อม กระทรวงแรงงานมาช่วยฉีดให้ผู้ประกันตนในพื้นที่ของกทม.กว่า 2.1 แสนโดส ส่วนกลุ่มบริการขนส่งสาธารณะก็มีกระทรวงคมนาคมมาฉีดให้ที่สถานีกลางบางซื่อ กระทรวงอว.ก็ช่วยในหลายพื้นที่
“ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้ง มีแต่กระทรวงสาธารณสุขจะช่วยกทม. เพราะไม่งั้นศักยภาพของ กทม.เองจะฉีดเดือนละ 2.05 ล้านโดสมันยากมาก ต้องขอขอบคุณทางสาธารณสุขด้วย ถ้ากทม.ได้รับวัคซีนเมื่อไร เราจะรีบฉีดวันรุ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อมตั้งแต่วันที่ 15-20 มิ.ย.อยู่ที่ 1.4 แสนคน และลงทะเบียนกับไทยร่วมใจกับไทยร่วมใจ 1.7 แสนคน
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า ตามแผนการนำเข้าและกระจายวัคซีนคือวัคซีนซิโนแวค 8 ล้านโดส แอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส จอนสันแอนด์จอนสัน 5 ล้านโดส ซึ่งจอนสันแอนด์จอนสันจะมีค่าเท่ากับวัคซีนชนิดอื่น 2 เท่า รวมแล้ว 99 ล้านโดส ตลอดจนวัคซีนที่จะสั่งซื้อเพิ่มในอนาคต
พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า แผนการฉีดวัคซีนที่ศบค.หารือกับสธ. คือเดือนมิ.ย.จะฉีดประมาณ 6 ล้านโดส และเดือนถัดไปเดือนละอย่างน้อย 10 ล้านโดส ทำให้ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกครบ 50 ล้านคนภายในเดือนกันยายนหรือไม่เกินตุลาคม
“ยันว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา ศบค.บูรณาการร่วมกับ สธ.ในทุก ๆ เรื่อง ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เราทำงานอย่างเต็มขีดความสามารถ แต่การวางแผนที่ดีที่สุดหรือไม่เกิดปัญหาเลยคือ เมื่อได้วัคซีนมาแล้วค่อยมาวางแผนฉีด แต่จะทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ ดังนั้น ศบค.จึงวางแผนล่วงหน้า แต่เมื่อเกิดความคลาดเคลื่อนวัคซีนไม่ได้เข้าตามแผน ก็ต้องมีการปรับแผน ต้องมีการเลื่อนการฉีดกันบ้าง ก็ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนด้วย”
พล.อ.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ประชาชนบางส่วนอาจเข้าใจว่า 6 ล้านโดสเข้ามาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน แต่ความจริงทยอยมาเป็นงวดๆ การส่งวัคซีนเข้ามาในราชอาณาจักรบริษัทที่ผลิตไม่ได้เกิดปัญหา ยังถือว่าอยู่ในกรอบของเดือนมิถุนายน แต่ก็ได้เตรียมการแก้ปัญหาโดยให้คนที่ถูกเลื่อนจะได้รับการฉีดเป็นอันดับแรก
“ในโอกาสนี้ ตั้งแต่ผมบริหารสถานการณ์โควิดมาเป็นเวลากว่า 14 เดือน ผมรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เกิดเป็นคนไทย เพราะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราพบว่าพี่น้องประชาชนคนไทยให้ความร่วมมือกับมาตรการศบค.เป็นอย่างดี พวกเราทุกคนมีความตั้งใจทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ สิ่งใดก็ตามที่อาจทำให้พี่น้องได้รับผลกระทบต้องกราบขออภัยมาโอกาสนี้”
พล.อ.ณัฐพล ทิ้งท้ายว่า “ทุกคนทำงานตามกรอบนโยบายของศบค. ไม่มีประเด็นทางการเมือง”
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชี้แจงประเด็นเดียวกัน ในการแถลงของศบค.ประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ว่า ปัญหาการกระจายวัคซีนเป็นเรื่องของเงื่อนไขเวลา ทำให้มีปัญหาปริมาณกับความต้องการไม่เท่ากัน โดยครึ่งเดือนแรกของมิถุนายน ได้ส่งมอบมาแล้วตามแผนการจัดหาวัคซีน ส่วนครึ่งเดือนหลัง มีติดขัดจากการจองวัคซีนที่สูงมากจนแน่นระบบ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า การจองแบบเดิมใช้ระบบหมอพร้อม ซึ่งเปิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ระบุทั้งข้อมูลวันเวลา สถานที่ และจำนวนวัคซีน ทำให้ข้อมูลแน่นในระบบ แม้ภายหลังได้มีระบบรับลงทะเบียนอีกหลายระบบ แต่ปริมาณวัคซีนที่คาดว่าจะได้มาก็ไม่ได้มา ขณะที่มีความต้องการมารอแล้ว เพราะระยะหลังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชาจองคิวเต็มทุกวัน และมากเกินปริมาณ จึงเกิดปัญหาขึ้น
นพ.ทวีศิลป์ เสริมว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้แผนของการฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนที่ คือ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด จึงต้องมีการจัดสรรวัคซีนจำนวนหนึ่งมาให้กรุงเทพมหานครด้วย โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,346,993 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 369,401 ราย
สำหรับภูเก็ต ซึ่งเป็นแซนด์บอกซ์ ฉีดวัคซีนได้ถึง 60.9% สำหรับเข็มหนึ่ง ส่วนเข็ม 2 อยู่ที่ 25.1%
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น 106,882 รายทำให้ยอดรวม สะสม 6,188,124 ล้านราย โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขซึ่ง เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่จะได้ รับวัคซีนให้มากที่สุดมีการฉีดเข็มที่ 1 และ 2 รวมกันประมาณ 86.5% เจ้าหน้าที่ด่านหน้า 12.7% อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอยู่ที่ 10.4% ส่วนกลุ่มของผู้ที่มีกลุ่มโรคเรื้อรังรองลงมาเป็น 1.5% ประชาชนทั่วไป 2% กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 0.3%
กทม.เลื่อนฉีดวัคซีนผู้ลงทะเบียน “ไทยร่วมใจ”
อย่างไรก็ตามเพจ “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์” ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนผู้ลงทะเบียน “ไทยร่วมใจ” ที่ได้รับนัดตั้งแต่ 15 มิ.ย. เป็นต้นไป โดยมีข้อความว่า ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน สำหรับผู้ลงทะเบียนในโครงการ “ไทยร่วมใจ” ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป
“ไทยร่วมใจ” ยืนยันว่าจะรีบดำเนินการ จัดฉีดวัคซีนให้ทุกท่านโดยเร็วที่สุด ทันทีที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน จะมี SMS แจ้งให้ท่านสามารถเลือกวันและเวลานัดหมายใหม่หากท่านใดไม่ได้รับ SMS ดังกล่าว ให้ไปตามนัดหมายวันและเวลาเดิมที่เคยลงทะเบียนไว้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการฉีดวัคซีนผ่านช่องทาง www.ไทยร่วมใจ.com, FB FANPAGE/ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย แอปฯ เป๋าตัง ,สายด่วนวัคซีน 1516