ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > มติ ศบค.ขยายล็อกดาวน์ 14 วัน-เพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด เริ่ม 3 ส.ค.นี้

มติ ศบค.ขยายล็อกดาวน์ 14 วัน-เพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด เริ่ม 3 ส.ค.นี้

1 สิงหาคม 2021


นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

มติ ศบค.ขยายล็อกดาวน์ 14 วัน เริ่ม 3 ส.ค.นี้ หากไม่ดีขึ้นต่อถึงสิ้นเดือน พร้อมปรับเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มอีก 16 จังหวัด รวมเป็น 29 จังหวัด-งดเดินทางข้ามจังหวัดในพื้นที่ควบคุมที่มีสีต่างกัน

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลา 13.30 น. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 11/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยในวันนี้ที่ประชุม ศบค.มีมติให้เพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มอีก 16 จังหวัด รวมเป็น 29 จังหวัด และให้ขยายระยะเวลาการใช้มาตรการ ตามข้อกำหนดฉบับ ที่ 28 งดออกนอกเคหะสถานหลัง 21.00 – 04.00 น.ออกไปอีก 14 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมนี้

นายกรัฐมนตรีแจ้งในที่ประชุม ศบค.ว่า ระยะเวลา 1-2 เดือนข้างหน้า เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ซึ่งทั่วโลกมีทิศทางการแพร่ระบาดรุนแรงและเพิ่มมากขึ้น ศบค.จึงเร่งดำเนินการ ทั้งการยกระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด – 19 โดยการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้กำหนดมาตรการกำกับดูแลอย่างรัดกุม และกำหนดแนวทางการในการบริหารจัดการตรวจ Antigen Test Kit รวมทั้งกำชับให้บริหารจัดการระบบการรักษาพยาบาลทุกระบบให้มีประสิทธิภาพ และให้มีการประสานงานโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนจัดทำระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) เพิ่มเติม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพและต่างจังหวัด ขณะเดียวกันการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในสถานประกอบกิจการ ทั้งโรงงาน แคมป์แรงงาน บริษัท ในรูปแบบการป้องกันควบคุมโรคเฉพาะพื้นที่ หรือ Bubble and Seal โดยเฉพาะโรงงานใหญ่ ๆ เพื่อชะลอกการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานให้มากที่สุด

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีการรับมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่รัฐบาลต่างประเทศส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประกอบด้วย รัฐบาลสหรัฐอเมริกา มอบวัคซีนไฟเซอร์ ไบโอเอนเทค (Pfizer-BioNTech) จำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งมาถึงประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา , วัคซีนแอสตร้า เซเนกา ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร จำนวน 415,040 โดส , รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสมอบอุปกรณ์ทางแพทย์ ได้แก่ ชุดตรวจหาเชื้อโควิด – 19 แบบเร่งด่วน (Rapid Antigen Test) จำนวน 1,100,000 ล้านชุด และ เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 102 เครื่อง ซึ่งได้จัดส่งถึงไทยแล้ว เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 และรัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบวัคซีนแอสตร้า เซเนกาจำนวน 1,053,090 โดส เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564

สำหรับแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนนั้น นายกรัฐมนตรียังยืนยันการจัดหาโควิด-19 ในเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 10 ล้านโดส ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ , กลุ่ม 7 โรคเสี่ยง , กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้า , กลุ่มโรงงาน และกลุ่มประกันสังคม รวมทั้งคนต่างประเทศที่อยู่ประเทศไทย พร้อมทั้งได้เร่งให้มีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัคซีนสปุ๊กนิก ขณะเดียวกันก็สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศ เร่งเจรจาจัดหาวัคซีน เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ ขณะนี้ได้เร่งการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เชื่อว่าจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุได้ครอบคลุมร้อยละ 50 ภายในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับเกณท์การจัดสรรวัคซีน Pfizer จำนวน 1.5 ล้านโดส ยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์ (เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ) จำนวน 700,000 โดส , ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงจำนวน 645,000 โดส , ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจำนวน 150,000 โดส , ทำการวิจัย 5,000 โดส และสำรองส่วนกลางจำนวน 3,450 โดส มั่นใจว่าหลังจากนี้ไทยจะสามารถจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม รวมทั้งการให้มีการรายงานการจัดหายาฟาวิฟิราเวียร์ และยาตัวอื่นๆ ซึ่งจะเป็นยารักษาโควิด-19 ตัวใหม่ ๆเพิ่มด้วย ในการประชุมนายกรัฐมนตรียังกำชับการทำงานที่บ้าน (WFH) ให้มากที่สุด โดยเฉพาะภาครัฐ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ให้มีการ WFH ขั้นสูงสุด ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือภาคเอกชนลดการทำงานในออฟฟิศสำนักงาน โดยขอให้ปรับทำงานที่บ้านให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าว่าในนามของผู้อำนวยการ ศบค.มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนและสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้มาก จึงสั่งให้ศบค.มีทั้งมาตรการทั้งในเชิงรุก เชิงรับ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทุกวัน พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานต้องเร่งประชาสมัพนธ์ สร้างความเจ้าใจถึงความจำเป็นที่ทุกคน ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข DMHTT เพื่อลดโอกาสในการแพร่หรือติดเชื้อ เน้นในการประชาสัมพันธ์ ขณะเดียวกันก็ฝากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย แสดงแผนที่จัดหวัดให้พื้นที่สีฟ้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งบางจังหวัด ไม่ใช่พื้นที่แดงทั้งจังหวัด ยังมีพื้นที่ปลอดภัย หรือ พื้นที่สีฟ้าสะท้อนถึงเห็นถึงความร่วมมือของประชาชนในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ทั่วประเทศในทุกจังหวัด โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังห่วงใยเจ้าหน้าที่ด่านหน้าผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งอาสาสมัคร จิตอาสา ย้ำให้จัดมีอุปกรณ์ เพื่อป้องกันในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมชน ให้เป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ด้วย

แพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ด้านแพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมศบค.ได้มีมติที่สำคัญ ดังนี้

1.การยกระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ปรับเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัด เพิ่มเป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร , จังหวัดกาญจนบุรี , จังหวัดชลบุรี , จังหวัดฉะเชิงเทรา , จังหวัดตาก , จังหวัดนครปฐม , จังหวัดนครนายก , จังหวัดนครราชสีมา , จังหวัดนราธิวาส , จังหวัดนนทบุรี , จังหวัดปทุมธานี , จังหวัดประจวบคีรีขัน , จังหวัดปราจีนบุรี , จังหวัดปัตตานี , จังหวัดพระนครศรีอยุธยา , จังหวัดเพชรบุรี , จังหวัดเพชรบูรณ์ , จังหวัดยะลา , จังหวัดระยอง , จังหวัดราชบุรี , จังหวัดลพบุรี , จังหวัดสงขลา , จังหวัดสิงห์บุรี , จังหวัดสมุทรปราการ , จังหวัดสมุทรสงคราม , จังหวัดสมุทรสาคร , จังหวัดสระบุรี , จังหวัดสุพรรณบุรี , จังหวัดอ่างทอง และไม่มีพื้นที่เฝ้าระวัง (พื้นที่สีเขียว)

2. การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

    2.1 การปรับมาตรการจำหน่ายอาหารแบบสำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือ สถานประกอบการอื่น ผ่าน Delivery , ร้านยา/เวชภัณฑ์ ซุปเปอร์มาณ์เก็ต เปิดได้ไม่เกิน 20.00 น. โดยผู้ประกอบการจัดทำมาตรการ DMHTT จัดพนักงานในการส่งอาหารไปยังจุดส่งอาหาร ห้ามเปิดบริการหน้าร้าน
    2.2 ปิดร้านเสริมสวย ร้านนวด สถานเสริมความงาม
    2.3 งดการเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับสถาบันกวดวิชา ไม่ให้มีการจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก
    2.4 ปิดสถานที่เล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬา
    2.5 งดการเดินทางข้ามเขตจังหวัดในพื้นที่ควบคุมที่มีสี หรือ ความเข้มงวดแตกต่างกัน

แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ศบค.ได้มีการเน้นย้ำการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งในกทม.และจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง รวมทั้งเร่งรัดฉีดวัคซีนให้ได้ 50% ของจำนวนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

ส่วนประเด็นการกำหนดเงื่อนไขของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ศบค.พบว่ามีความต้องการเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 3 ประมาณ 4 แสนโดส แต่ทั้งนี้ที่ประชุม ศบค.เห็นว่าการจัดสรรวัคซีนในกลุ่มนี้จะไม่จำกัดเฉพาะแพทย์ แต่จะกระจายให้ครอบคลุมทุกสาขา

แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวต่อว่า ประกาศฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2564 เป็นเวลาต่อเนื่อง 14 วัน และจะทบทวนมาตรการซ้ำอีกครั้งในวันที่ 18 สิงหาคม หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อยังไม่ดีขึ้น อาจขยายเวลาประกาศไปจนถึง 31 สิงหาคม 2564