ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค.ชะลอลงทะเบียนหมอพร้อม สถิติใหม่เสียชีวิต 41 ราย

ศบค.ชะลอลงทะเบียนหมอพร้อม สถิติใหม่เสียชีวิต 41 ราย

26 พฤษภาคม 2021


รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7139

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชี้แจงในการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ในประเด็นการลงทะเบียนและแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ที่ประชุมศบค.ขอให้มีการชะลอการลงทะเบียนในระบบ ‘หมอพร้อม’ ไปก่อน

หมอพร้อมเป็นระบบของการลงทะเบียนและมีระบบงานสนับสนุนที่มีความสำคัญอยู่ 3 ด้านได้แก่ 1. ลงทะเบียน 2. ติดตามการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 และผลข้างเคียงและ 3. คือการออกใบรับรองการฉีดที่ครบถ้วน

“ตอนนี้จะมีการปรับให้หมอพร้อมเน้นการทำงาน 2 ข้อหลัง คือ การติดตามการฉีดวัคซีนและออกใบรับรอง”

ส่วนการลงทะเบียนรับวัคซีนมีทางเลือกให้กับประชาชนหลากหลายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง จังหวัดภูเก็ต หรือ นนทบุรีจะมีแอปพลิเคชันหรือระบบของจังหวัด ทางด้านกรุงเทพมหานคร จะมีการระบบเปิดลงทะเบียนในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจังหวัดอื่น ๆ สามารถนำโมเดลเหล่านี้ไปปประยุกต์ใช้ได้ หรือการเปิดลงทะเบียนผ่านโรงพยาบาลและ อสม. และข้อมูลจากทั่วประเทศทั้งหมดจะถูกนำมารวมอยู่ในระบบหมอพร้อม

“เพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นหน้าด่านที่จะเป็นลงทะเบียน เพื่ออำนวยความสะดวกไม่เป็นคอขวดอย่างเดิม”

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนในหมอพร้อมไว้แล้ว ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ก็จะยังได้รับวัคซีนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ตามวันหรือขึ้นอยู่กับวัคซีนที่จะเข้ามา และจะได้รับเป็นลำดับต้นๆ

“โดยสรุปก็คือชะลอการลงทะเบียนของหมอพร้อม และมีระบบอื่นเข้ามาช่วยตรงนี้แทน”

ทางด้านการกระจายวัคซีน นพ.ทวีศิลป์ รายงานว่า ได้มีการปรับแผนจากเดิมมีการใช้เกณฑ์การจัดสรรให้จังหวัดตามจำนวนที่จอง ซึ่งมีบางจังหวัดจองวัคซีนจำนวนมากแต่จำนวนติดเชื้อน้อย รวมทั้งจัดสรรตามปริมาณการจองวัคซีนของแต่ละจังหวัด แต่จากการประชุมหารือของพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโควิด – 19 (ศปก.ศบค.) กับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้มีการปรับเกณฑ์การกระจายวัคซีนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีเกณฑ์เพิ่มเติมขึ้นดังนี้

  • จำนวนผู้ติดเชื้อ เช่น ในจังหวัดเพชรบุรีมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็จะมีการนำวัคซีนเพิ่มให้กับจังหวัดเพชรบุรี เพื่อควบคุมการติดเชื้อ
  • เพื่อการขับเคลื่อนในแง่มุมเศรษฐกิจ สังคม ท่องเที่ยว และอื่นๆ
  • กลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มแรงงาน ทั้งแรงงานก่อสร้าง กลุ่มผู้ที่ขับรถสาธารณะ หรือในมหาวิทยาลัยที่จะมีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเฉพาะเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียน

“แผนการแจกจ่ายวัคซีนจะถูกปรับใหม่โดยใช้หลายเกณฑ์ ซึ่งผอ.ศบค.ได้รับทุกข้อเสนอและนำมาสู่การจัดสรรใหม่ แล้วมอบให้ผอ.ศปก.ศบค เข้ามาดูแลในรายละเอียดแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด”

ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-25พ.ค. 2564 มีการฉีดวัคซีนแล้ว 3,147,227 โดส โดยเป็นเข้มที่ 1 สะสม 2,157,609 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 989,618 ราย

เสียชีวิตทำสถิติใหม่ 41 ราย พื้นที่ขาวลดเหลือ 16 จังหวัด

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นพ.ทวีศิลป์ รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 2,455 ราย แบ่งเป็นจากเรือนจำ / ที่ต้องขัง 1,960 ราย จากต่างประเทศ 16 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสมในระลอกเมษายน 109,031 ราย

ผู้เสียชีวิตมีจำนวน 41 รายเป็นเพศชาย 25 ราย หญิง 16 ราย อายุ 29-86 ปี พบมากมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง 27 เบาหวาน 24 ไขมันสูง 14 ไตเรื้อรัง 10 โดยมีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากครอบครัว 13 จากคนอื่น ๆ อาทิ เพื่อน เพื่อนบ้าน ผู้ร่วมงาน ร่วมที่พัก และร่วมโต๊ะสนุกเกอร์ 13 ราย เดินทางในพื้นที่ระบาด 8 ราย ไปสถานที่แออัด (เรือนจำ สนามชนวัว ตลาด) 5 ราย และ พนักงานรักษาความปลอดภัย 1 ราย ระบุไม่ได้ 1 ราย

“ผู้เสียชีวิตในวันนี้นิวไฮ 41 คน รวมเสียชีวิตสะสม 779 คน และถ้ารวมปีที่แล้วจะเป็น 873 คน”

นพ.ทวีศิลป์ เสริมว่า ในวันนี้ได้มีรายงานระยะเวลาจากวันที่ทราบผลติดเชื้อถึงเสียชีวิตยาวนานสูงสุด 69 วัน ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวมากขึ้น ซึ่งอาจเพราะความสามารถทางการแพทย์ในการรักษาชีวิตผู้ป่วย หรือลักษณะของโรคก็ได้ และมีค่ากลางระยะเวลาจากวันที่ทราบผลถึงเสียชีวิตอยู่ที่ 14 วัน

ทางด้านผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลตอนนี้มีทั้งหมด 45,256 ราย อยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 18,631 ราย และโรงพยาบาลสนาม 26,625 ราย มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 1,210 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 402 ราย และรักษาหายแล้ววันนี้ 2,571 ราย

ในรายจังหวัดพบว่า ผู้ติดเชื้อสูงสุดยังอยู่ที่กรุงเทพ 975 ราย รองลงมาคือเพชรบุรี 259 ราย นนทบุรี 122 ราย สมุทรปราการ 100 ราย และปทุมธานี 61 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในช่วงตั้งแต่ 22-25 พฤษภาคม มีจังหวัดที่พบผู้ป่วยโควิด-19 หรือจังหวัดสีขาวเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเมื่อวานนี้มีพื้นที่สีขาวทั้งหมด 29 จังหวัด แต่ในวันนี้พื้นที่สีขาวลดลงเหลือ 16 จังหวัด

“นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรื่องของการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ แม้พื้นที่ที่เคยมีรายงานเป็น 0 ถ้าเราการ์ดไม่ตก ก็คงจะต้องปกป้องพื้นที่ของเราได้”

สำหรับสถานการณ์ COVID -19 ในประเทศไทยระลอก เม.ย. – พ.ค.2564 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 26 พ.ค. 2564 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 109,031 คน จำนวนหายป่วยสะสม 64,339 ราย เสียชีวิตสะสม 779 คน คิดเป็น 0.71% ของผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกนี้ทั้งหมด

ผู้ป่วยยืนยันสะสมเชื้อตั้งแต่ปี 2563 มีจำนวน 137,894 คน จำนวนหายป่วยสะสม 691,765 ราย เสียชีวิตสะสม 873 คน คิดเป็น 0.63% ของผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด

พบ 5 คลัสเตอร์ใหม่ในกทม. 1 แห่งในสุราษฎร์ธานี โรงงานตลาด-แคมป์ก่อสร้าง จุดเสี่ยง

นพ.ทวีศิลป์ รายงานการระบาดที่พบในจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 โดยกรุงเทพฯ

  • เขตบางกะปิ บริเวณตลาดบางกะปิ และชุมชนโดยรอบ พบผู้ติดเชื้อชาวไทย เมียนมา กัมพูชา และลาว มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 96 คน มียอดสะสมในคลัสเตอร์ตลาดบางกะปิ 438 ราย และแคมป์ก่อสร้าง 19 ราย
  • เขตหลักสี่ ในคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้าง พบผู้ติดเชื้อ 161 ราย มียอดสะสม 1,413 ราย
  • เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พื้นที่ตรอกมะขาม 2 พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 16 ราย มียอดสะสม 403 ราย
  • เขตคลองเตย ในชุมชนและตลาดคลองเตย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 78 ราย มียอดสะสม 1,376 ราย
  • เขตพระนคร พบคลัสเตอร์ใหม่ ที่สะพานเหล็ก มีผู้ติดเชื้อ 12 ราย

ส่วนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบคลัสเตอร์ใหม่เป็นผู้ติดเชื้อในโรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง อำเภอดอนสัก 11 ราย

ในพื้นที่กรุงเทพฯ จากข้อมูลในวันที่ 14-25 พฤษภาคม 2564 พบการระบาดใน 38 คลัสเตอร์ รวม 30 เขต มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด 29 แห่ง กลุ่มเฝ้าระวัง 4 แห่ง และมีรายงาน 5 คลัสเตอร์ใหม่ 5 แห่งได้แก่

  • เขตบางกะปิ ได้แก่ ห้างค้าส่ง และเคหะคลองจั่น
  • เขตสวนหลวง พบในแคมป์ก่อสร้างต่อเนื่องจากไซต์งานเขตดุสิต
  • เขตยานนาวา พบในโรงงานเย็บผ้า
  • เขตหนองจอก พบที่ตลาดหนองจอก

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19ในปัจจุบัน ภาพรวมของในทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อลดลง แต่สำหรับประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มคงตัวทั้งกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ซึ่งมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนต่อเนื่องจากกลุ่มเดิม ทั้งโรงงาน แคมป์ก่อสร้าง ชุมชน และกลุ่มใหม่ (โรงงาน) ส่วนที่เจอต่อเนื่องมา พบผู้ติดเชื้อผ่านทางชายแดนโดยเฉพาะ กัมพูชามาเลเซียและเมียนมาร์ ซึ่งเป็น 3 ชายแดนที่จะต้องให้ความสำคัญสูง

นอกจากนี้สถานที่เสี่ยงยังคงเป็นโรงงาน ตลาด ชุมชนแออัด แคมป์ก่อสร้าง และชุมชนรอบๆ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการคลุกคลีกัน ทั้งในสถานประกอบการ ที่พัก ชุมชน ครอบครัว และการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ