ThaiPublica > เกาะกระแส > การทดลองยิงขีปนาวุธ 4 ลูกของเกาหลีเหนือ โลกมีทางออกหรือไม่ กรณี “รัฐล้มเหลว” แต่มีอาวุธนิวเคลียร์

การทดลองยิงขีปนาวุธ 4 ลูกของเกาหลีเหนือ โลกมีทางออกหรือไม่ กรณี “รัฐล้มเหลว” แต่มีอาวุธนิวเคลียร์

11 มีนาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

วันที่ 6 มีนาคม เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพร้อมกัน 4 ลูก

เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐฯและเกาหลีใต้กำลังซ้อมรบทางทหาร เกาหลีเหนือก็ทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยกลางพร้อมกัน 4 ลูก ขีปนาวุธ 3 ลูกตกลงในเขตเศรษฐกิจจำเฉพาะ (EEZ) ของญี่ปุ่น ทำให้นายชินโซะ อาเบ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงร่วมกันว่าภูมิภาคเอเชียเหนือได้เข้าสู่ “ขั้นตอนใหม่ของภัยคุกคาม” คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ก็ประชุมฉุกเฉิน และออกแถลงการณ์ประณามการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือว่า เป็นการละเมิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ

การทดลองยิงจรวด Thaad ที่ใช้ต่อต้านขีปนาวธุธ ภาพจาก Nikkei
ร้าน Lotte ของเกาหลีใต้ในจีนต้องหยุดดำเนินงาน เพราะเกาหลีใต้อนุญาตให้สหรัฐฯติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ Thaad ภาพจาก Nikkei

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็ส่งระบบต่อต้านขีปนาวุธชื่อ Terminal High-Altitude Area Defense (THAAD) เข้าไปติดตั้งในเกาหลีใต้ทันที เพื่อเป็นการปกป้องเกาหลีใต้และทหารสหรัฐฯ 2 หมื่นกว่าคน ที่ประจำการอยู่ในเกาหลีใต้ จากการโจมตีด้วยขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากจีน ที่เห็นว่า ระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD มีสมรรถนะที่เกินขอบเขตการปกป้องเกาหลีใต้ แต่สามารถจับตาการเคลื่อนไหวต่างๆเหนือน่านฟ้าของจีน จึงเท่ากับเป็นการปิดล้อมทางทหารต่อจีน

ก้าวกระโดดทางยุทธศาสตร์

การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ กำลังเดินมาถึงจุดที่จะเป็นความก้าวหน้าสำคัญทางยุทธศาสตร์ ทั้งความก้าวหน้าในแง่ปริมาณ คือการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้เป็นจำนวนมากขึ้น และความก้าวหน้าในแง่คุณภาพ คือสามารถผลิตหัวรบระเบิดนิวเคลียร์ขนาดเล็กลง และการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล นักวิเคราะห์คาดหมายว่า ในปี 2020 เกาหลีเหนืออาจจะมีระเบิดนิวเคลียร์ในครอบครอง 20-100 ลูก

วิกฤตินิวเคลียร์เกาหลีเหนือเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1994 เมื่อเกาหลีเหนือผลิตสารพลูโตเนียม ที่มีปริมาณพอจะนำมาผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้หลายลูก ทำให้เกิดข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือในปี 1994 โดยเกาหลีเหนือจะระงับการดำเนินงานที่โรงงานปฏิกรณ์ปรมาณู Yongbyon แลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือจากสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการสร้างโรงปฏิกรณ์ปรมาณูแบบใหม่

วิกฤติครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 2002 สมัยรัฐบาล George W Bush เมื่อสหรัฐฯพบว่า เกาหลีเหนือลักลอบผลิตสารยูเรเนียม ที่สามารถนำมาผลิตระเบิดนิวเคลียร์ การเจรจา 6 ฝ่าย ที่ประกอบด้วยเกาหลีเหนือ สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่จะระงับโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ส่วนความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีในขณะนี้ ถือเป็นวิกฤตินิวเคลียร์ครั้งที่ 3 เพราะเกาหลีเหนือกำลังจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ในเอกสารชื่อ Preventing North Korea’s Nuclear Breakout (2017) ของ Woodrow Wilson International Center for Scholars ผู้เขียนคือ Robert S. Litwak กล่าวว่า สำหรับสหรัฐฯแล้ว ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เป็นประเด็นที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ในเรื่องการเปลี่ยนระบอบการเมืองของเกาหลีเหนือ

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ความก้าวหน้าทางยุทธศาสตร์ด้านอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ไม่ได้ดำเนินไปที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านระบอบการเมืองของเกาหลีเหนือ คือ ความก้าวหน้าด้านอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ กลายเป็นเรื่องที่อันตรายแบบปัจจุบันทันด่วน ขณะที่การเปลี่ยนแปลงด้านระบอบการเมืองของเกาหลีเหนือ ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ภาพถ่ายดาวเทียม เห็นภาพที่ตัดกันระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ที่มาภาพ: slideshare.net

ที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯต่อเกาหลีเหนือ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ระบอบเกาหลีเหนือกำลังจะล้มพัง รัฐบาลประธานาธิบดี George W Bush กำหนดกลยุทธ์ต่อเกาหลีเหนือ บนความเชื่อที่ว่า ระบอบคิมจองอิล (Kim Jong-il) กำลังง่อนแง่นซวนเซ สหรัฐฯจึงยกเลิกความข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ ที่ทำขึ้นในปี 1994 เพื่อระงับโครงการพลูโตเนียมของเกาหลีเหนือ แต่รัฐบาลของ George W Bush ไม่เคยกล่าวชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของสหรัฐฯคือ ต้องการให้เกาหลีเหนือเปลี่ยนพฤติกรรม หรือต้องการเปลี่ยนระบอบเกาหลีเหนือ

ในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา สหรัฐฯไม่ได้เรียกเกาหลีเหนือว่า ประเทศ “อันธพาล” แต่บอกว่าเป็นประเทศที่แปลกปลอม (outlier) จากนานาชาติ และเสนอเกาหลีเหนือให้เลือกว่า จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ห้ามการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ หรือไม่ก็ต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากนานาชาติ หากว่าเกาหลีเหนือยังฟื้นฟูโครงการนิวเคลียร์และการทดลองขีปนาวุธ รัฐบาลโอบามาใช้นโยบายต่อเกาหลีเหนือ ที่มักจะเรียกว่า “ความอดทนทางยุทธศาสตร์” แต่การดำเนินการทางการทูตก็ไม่คืบหน้า เพราะเกาหลีเหนือต้องการให้โลกยอมรับว่า เกาหลีเหนือมีฐานะเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์

ส่วนจีนที่พยายามแสดงบทบาทการรักษาเสถียรภาพในเอเชียเหนือ ก็มีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่ขัดแย้งกันเอง ด้านหนึ่ง จีนต้องการให้เกาหลีเหนือมีความมั่นคง เพราะหากระบอบเกาหลีเหนือล้มพังลง ก็จะเกิดวิกฤตผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาทางจีนตอนเหนือ นอกจากนี้ หากเกาหลีที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว จะกลายเป็นประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และมีพรมแดนติดกับจีน เวลาเดียวกัน จีนก็ไม่ต้องการที่จะให้เกาหลีเหนือเกิดความก้าวหน้าทางยุทธศาสตร์ด้านอาวุธนิวเคลียร์ เพราะจะส่งผลลบต่อความมั่นคงของจีน เช่น ทำให้สหรัฐฯนำเอาระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD เข้ามาติดตั้งในเกาหลีใต้

รัฐล้มเหลว

สหรัฐฯกำหนดนโยบายต่อเกาหลีเหนือ บนสมมติฐานที่ว่า ประเทศนี้เป็นรัฐล้มเหลว และระบอบการเมืองกำลังพังทลาย เป็นที่ยอมรับกันว่า เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ปิดตัวเองจากโลกภายนอกมากที่สุด การใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเอง ที่เรียกว่า Juche ยิ่งทำให้ประเทศนี้อยู่อย่างโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกมากขึ้นไปอีก นักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจเกาหลีเหนือมีมูลค่าเพียงแค่ 31 พันล้านดอลลาร์ พอๆกับเยเมน หรือมีขนาดเพียงแค่ 1 ใน 50 ของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ที่มีมูลค่าถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์

นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต เคยเรียกระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือว่าเป็นปรากฏการณ์โบราณ แม้จะเป็นประเทศที่มีระบบการเมืองล้าหลัง แต่ในปี 2016 เกาหลีเหนือก็ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ 2 ครั้ง และทดลองยิงขีปนาวุธ 20 ครั้ง เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ยิงขีปนาวุธแบบใช้เชื้อเพลิงแข็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป ที่สามารถโจมตีสหรัฐฯ และในอนาคตข้างหน้า อาจมีระเบิดนิวเคลียร์ในครอบครองถึง 1 ใน 2 ของที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสมีอยู่

การประเมินอนาคตของเกาหลีเหนือ นักวิเคราะห์มักจะเปรียบเทียบกับเครื่องบิน คือ จะเป็นประเทศที่จบลงแบบเครื่องบินตก (hard landing) หรือ ว่าจะจบลงแบบเครื่องบินที่ลงจอดอย่างนุ่มนวล (soft landing) รัฐบาลสหรัฐฯสมัย George W Bush เห็นว่า ระบอบเกาหลีเหนือกำลังสั่นคลอน เพราะการพังทลายของเศรษฐกิจ จึงใช้นโยบายสร้างแรงกดดัน ส่วนรัฐบาลโอบามามองว่า เกาหลีเหนือจะยังไม่พังลงทันทีแบบ hard landing จึงใช้นโยบายอดทนทางยุทธศาสตร์ โดยอาศัยการคว่ำบาตรจากนานาชาติ รัฐบาลเกาหลีใต้เองก็มีทัศนะแบบเดียวกันนี้ และคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะใช้วิธีการทางทหาร เพื่อเปลี่ยนระบอบของเกาหลีเหนือ เหมือนกับที่สหรัฐฯเคยทำกับระบอบซัดดัม ฮุสส์เซน

คนที่สนับสนุนให้อนาคตของเกาหลีเหนือจบลงแบบ soft landing ให้เหตุผลว่า การใช้วิธีการทางทหารไปเปลี่ยนระบอบ ไม่ใช่ทางเลือกที่เป็นไปได้ การลงจอดแบบนุ่มนวลของเกาหลีเหนือจะมีลักษณะเป็นการพัฒนาสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่อาศัยแรงผลักดันจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในจีนและเวียดนาม เป้าหมายของโลกภายนอก ที่เข้าไปเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะมาจากการมีกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ๆเกิดขึ้น คนกลุ่มนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบอบการเมืองเก่า แต่จะแสดงบทบาท “ตัวแทนการเปลี่ยนแปลง” แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในประเทศคอมมิวนิสต์ต่างๆ แต่ปัญหาอยู่ว่า สิ่งที่เป็น soft landing นั้น ผู้นำเกาหลีเหนืออาจจะมองว่า คือ hard landing ของตัวเอง

ทางออกของวิกฤติ

ในเอกสาร Preventing North Korea’s Nuclear Breakout ผู้เขียนกล่าวว่า ในเมื่อเกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาใกล้จุดที่จะสามารถหลุดออกจากข้อจำกัดทางยุทธศาสตร์ สหรัฐฯควรจะดำเนินการด้านการทูตอย่างจริงจัง เป้าหมายเพื่อไม่ให้เกาหลีเหนือก้าวพ้นจากจุดดังกล่าว โดยการเจรจาให้เกาหลีเหนือไม่เพิ่มโครงการนิวเคลียร์มากกว่าที่มีอยู่ เช่น ไม่เพิ่มอาวุธใหม่ ไม่มีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์หรือขีปนาวุธ และไม่ส่งออกเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น

สหรัฐฯและจีนมีผลประโยชน์ร่วมกันในเรื่องที่จะไม่ให้เกาหลีเหนือพัฒนาข้ามจุดทางยุทธศาสตร์ ดังกล่าว ทั้งสหรัฐฯและจีนจึงสามารถร่วมมือทางการทูต เพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือแช่แข็งโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธ

ส่วนรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง ในการจัดการกับปัญหานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ทางเลือกที่ 1 คือการโจมตีทางทหารต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ เพื่อทำลายความสามารถของเกาหลีเหนือในเรื่องนี้ แต่ทางเลือกนี้มีความเสี่ยงสูง แม้จะเป็นการโจมตีที่จำกัด ก็อาจจะขยายตัวกลายเป็นสงครามใหญ่ในคราบสมุทรเกาหลี

อีกทางเลือกหนึ่งคือ การเจรจาเพื่อหยุดยั้งโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย สำหรับสหรัฐฯ ประโยชน์คือป้องกันไม่ให้เกาหลีเหนือก้าวข้ามความสามารถทางยุทธศาสตร์ สำหรับจีน ประโยชน์คือการรักษาให้ระบอบเกาหลีเหนือยังคงอยู่ และเกาหลีเหนือยังเป็นรัฐกันชนให้กับจีน

ความตกลงด้านนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน ก็สามารถเป็นแบบอย่าง ให้กับการเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือ การเจรจาเรื่องนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ ก็เพื่อซื้อเวลา และป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป การใช้ช่องทางการเจรจายังจะทำให้ความเสี่ยงลดลง ที่จะเกิดการปะทะทางทหารในคาบสมุทรเกาหลี ความเสี่ยงที่ว่านี้อาจมาจากการเข้าใจผิด หรือการคาดการณ์ผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง