ThaiPublica > เกาะกระแส > ช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในเมียนมาจากโมเดลแอฟริกาใต้ถอยกลับสู่รัฐประหาร

ช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในเมียนมาจากโมเดลแอฟริกาใต้ถอยกลับสู่รัฐประหาร

5 กุมภาพันธ์ 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : nytimes.com

เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพเมียนมา หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ทาท์มาดอว์ (Tatmadaw) ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี ควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวกว่า 50 คน รัฐประหารครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเวลาล่วงเลยมา 10 ปี ที่ระบอบทหารเมียนมายอมให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ประชาธิปไตยที่ยังมีการควบคุม” โดยในปี 2010 เมียนมามีการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

สาเหตุของรัฐประหาร

บทความใน lowyinstitute.com ชื่อ The coup in Myanmar กล่าวว่า เหตุผล “ที่เป็นทางการ” ของทหารเมียนมาในการทำรัฐประหาร คือจัดการกับการทุจริตอย่างกว้างขวาง ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 โดยกล่าวหาว่า มีการทุจริตรายชื่อคนมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งกว่า 8.6 ล้านรายชื่อ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาบอกว่า ไม่มีหลักฐานตามที่ทหารกล่าวหา

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้พรรคสันนิบาตรแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League of Democracy — NLD) ของนางออง ซาน ซูจี มีจำนวนที่นั่งเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภา ทำให้ครองอำนาจได้อีก 5 ปี ส่วนพรรคสนับสนุนทหารชื่อว่า พรรคเอกภาพสหภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party – USDP) ได้รับเลือกเข้ามาน้อยลง

เว็ปไซต์ 3aw.com.au ในออสเตรเลียรายงานว่า การที่พรรค USDP ของทหารเมียนมาได้รับเลือกเข้ามาน้อยลง ทำให้ทหารเมียนมามองว่า มีการทุจริตในการเลือกตั้ง นาย Bill Hayton จากสถาบัน Chatham House ของอังกฤษวิเคราะห์ว่า “เมื่อ 5 ปีที่แล้ว พรรค USDP ได้คะแนนเสียงแย่อยู่แล้ว แต่การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน พรรคนี้ทำได้แย่ลงไปอีก ได้คะแนนเสียงแค่ 6% เท่านั้น ทหารเมียนมาจึงไม่อาจจะยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้”

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า การแพ้การเลือกตั้งของพรรคทหาร USDP ทำให้พวกนายพลทหารเมียนมาเสียหน้า เพราะแสดงให้เห็นว่า คนเมียนมาปฏิเสธบทบาททางการเมืองของทหาร แต่ประเด็นนี้ ทหารเมียนมาก็รู้ดีอยู่แล้วว่า ประชาชนเมียนมาส่วนใหญ่สนับสนุนนางออง ซาน ซูจี และรัฐบาลประชาธิปไตย

เว็บไซต์ Aljazeera.com รายงานว่า ผลการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2020 ทำลายความหวังของพลเอกมิน ออง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของเมียนมา รัฐสภาของเมียนมามีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 664 คน ตามรัฐธรรมนูญ ทหารมีสิทธิ์แต่งตั้ง 166 คนหรือ 25% ของทั้งหมด อีก 498 คน มาจากการเลือกตั้ง

หากพลเอกมิน อ่อง หล่าย ต้องการจะเป็นประธานาธิบดี พรรค USDP ของทหารจะต้องได้รับเลือกเข้ามา 167 คน บวกกับที่นั่งที่ทหารแต่งตั้งเข้ามาอีก 166 คน ก็จะทำให้มีที่นั่งในรัฐสภารวมกัน 333 คน เป็นจำนวนที่เกิน 50% แต่การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 พรรค NLD ของนางอองซานซูจีได้รับเลือก 396 คน หรือ 83% ส่วนพรรคทหาร USDP ได้มา 33 คน หรือ 6.6%

บริษัททหารจำกัด

นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งมองว่า รัฐประหารที่เกิดขึ้น เพราะความจำเป็นที่ต้องรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่มีอยู่มหาศาลของทหารเมียนมา รายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติชื่อ The Economic Interests of the Myanmar Military (2019) ระบุว่า ผลประโยชน์เศรษฐกิจดังกล่าวประกอบด้วยบริษัท Myanmar Economic Holdings Limited (MEHL) และ Myanmar Economic Corporation (MEC)

ทั้ง MEHL และ MEC เป็นเจ้าของธุรกิจ 120 แห่งของเมียนมา ตั้งแต่ธุรกิจก่อสร้าง หยกและพลอย ประกันภัย การท่องเที่ยว ไปจนถึงธนาคาร นอกจากนี้ บริษัทของทหารเมียนมายังมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับเอกชน ที่เรียกว่า บริษัทพรรคพวก รายได้จากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ทหารเมียนมามีความเป็นอิสระ จากการตรวจสอบจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

รายงานของสหประชาชาติระบุว่า บริษัทของทหารเมียนมาทำธุรกิจการค้าหยกและพลอยโดยตรง ธุรกิจการซื้อขายหยกในโลก 90% มาจากเมียนมา มูลค่าการค้าหยกเมียนมาสูงถึง 31 พันล้านดอลลาร์ เกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าเป็นทางการของเศรษฐกิจประเทศ ที่ปีหนึ่งเป็นเงิน 69 พันล้านดอลลาร์ ส่วนการค้าพลอยของโลก 90% ก็มาจากเมียนมา พยกและพลอยของเมียนมา ส่วนใหญ่ส่งออกไปจีน

แต่บทความ The coup in Myanmar เห็นว่า ภัยที่จะสร้างความเสียหายแก่ผลประโยชน์เศรษฐกิจของทหารเมียนมา น่าจะมาจากท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่หลังจากเกิดรัฐประหาร โจ ไบเดน ขู่ว่าจะกลับมาคว่ำบาตรเมียนมาอีกครั้งหนึ่ง สหรัฐฯได้ยกเลิกการคว่ำบาตรเมียนมาในปี 2016 เมื่อมีการเลือกตั้งและรัฐบาลพลเรือน แต่ยังคงการคว่ำบาตรนายทหารเมียนมาบางคนอยู่

ความขัดแย้งพลเรือนกับทหาร

อีกแนวคิดหนึ่งที่อธิบายสาเหตุการเกิดรัฐประหาร คือความขัดแย้งระหว่างนางออง ซาน ซูจี กับพลเอกมิน อ่อง หล่าย ระหว่างพรรค NLD กับกองทัพเมียนมา ที่พัฒนามาถึงจุดแตกหัก ช่วง 5 ปีแรกของรัฐบาลพรรค NLD ความสัมพันธ์กับทหารก็ตึงเครียดมาตลอด และมาถึงจุดวิกฤติ เมื่อนางออง ซาน ซูจี นำพรรค NLD ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และกองทัพเมียนมาและพรรค USDP ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยถือว่าไม่ชอบธรรม เพราะมีการทุจริต

บทความใน The New York Times ชื่อ How a Deadly Power Game Undid Myanmar’s Democratic Hopes เขียนไว้ว่า การเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ระบอบเก่าจะยอมปล่อยอำนาจอย่างช้าๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาจกินเวลาหลายสิบปี ระบอบอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย จะดำเนินการแบบเคียงข้างกันไป หากสองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ภายใต้เงื่อนไขที่ดี เข้าใจร่วมกันถึงสิ่งที่เป็นจุดหมายปลายทาง ก็มีโอกาสที่สองฝ่ายจะทำงานร่วมกันได้สำเร็จ

ในปี 2011 โลกเรามีความหวังกับเมียนมา เมื่อกองทัพเมียนมาเริ่มมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือน คนทั่วไปการคาดหวังว่า การเปลี่ยนผ่านของเมียนมา จะเป็นไปในแบบโมเดลแอฟริกาใต้ เมื่อผู้นำคนผิวขาวยอมรับระบอบประชาธิปไตย ที่มาแทนระบอบเหยียดผิว (Apartheid) ขณะเดียวกัน เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีผิวดำคนแรก ก็ให้การปกป้องแก่ผลประโยชน์คนผิวขาว
นักรัฐศาสตร์มักจะเปรียบเทียบ “ช่วงเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตย” ว่า เหมือนกับสัญญาข้อตกลง เป็นข้อตกลงระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียของประเทศ ที่มองว่า ระบอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น จะดีกว่าระบอบเก่า แต่หากว่ากลุ่มมีอำนาจมองว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่เกิดประโยชน์อีกต่อไปแล้ว หรือเห็นว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวก็อาจมาถึงจุดจบ

นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า นางออง ซาน ซูจี ไม่ได้ทำหน้าที่แบบเนลสัน แมนเดลา ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้นำทหารเมียนมา ก้าวมาถึงจุดแตกหัก แต่บทความ The coup in Myanmar เห็นว่า ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างสองฝ่าย อยู่ในสภาพที่ยอมรับกันไม่ได้ หรือว่าเป็นความขัดแย้ง ที่ไม่สามารถหาจะหาทางออกใหม่ๆ ที่ผ่านมา นางออง ซาน ซูจี เองให้การปกป้องอย่างเปิดเผยแก่ทหารเมียนมา ในกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยเธอเองยอมต้องแลกกับเกียรติยศชื่อเสียงทางสากลของเธอ

อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต

บทความชื่อ The coup in Myanmarในlowyinstitute.com กล่าวว่า ชนวนที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดรัฐประหารในเมียนมา มีความไม่ชัดเจน การวิเคราะห์จากสาเหตุต่างๆ ล้วนมีคำตอบที่ยังไม่น่าพอใจ แต่สาเหตุจากความต้องการเป็นประธานาธิบดีของพลเอกมิน อ่อง หล่าย เป็นทฤษฎีที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะรัฐประหารเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากนายพลมิน อ่อง หล่าย

นอกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ควบคุมกองทัพ พลเอกมิน อ่อง หล่าย ยังคุมกองกำลังความมั่นคงทั้งหมดของเมียนมา รวมทั้งกำลังตำรวจ และหน่วยงานข่าวกรอง หลังจากรัฐประหาร พลเอก มิน อ่อง หล่าย เข้ามาอยู่ในฐานะที่จะกำหนดการเลือกตั้งครั้งใหม่ และอาจรวมถึงผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง

ส่วนจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในอนาคตต่อไปนั้น ปัญหาของเมียนมาดูจะเลวร้ายลงไปอีก หลังรัฐประหาร Thant Myint-U นักประวัติศาสตร์เมียนมาเขียนในทวิตเตอร์ว่า เมียนมาได้ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรงจากโควิด-19 ความยากจนที่แพร่ระบาดไปทั่ว และความขัดแย้งระหว่างกองกำลังติดอาวุธจำนวนสิบกว่ากลุ่ม

วิกฤติการเมืองใหม่จึงเป็นสิ่งสุดท้ายที่เมียนมาต้องการ “ประตูได้เปิดออกมาสู่อนาคตที่จะแตกต่างไปอย่างมาก ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกหมดหวัง ที่ไม่มีใครจะสามารถควบคุมสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้า”

เอกสารประกอบ
The coup in Myanmar: What do we know? lowyinstitute.org
My Myanmar’s military seized power in a coup, Aljazeera.com
The economic interests of the Myanmar military, un.org
How a Deadly Power Game Undid Myanmar’s Democratic Hopes, Feb 2, 2021, nytimes.com