ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน : “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” แนะ ESG… Growth Engine ในอนาคต เอกชนต้องนำ-รัฐเป็น part of solution

ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน : “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” แนะ ESG… Growth Engine ในอนาคต เอกชนต้องนำ-รัฐเป็น part of solution

27 พฤศจิกายน 2020


งานสัมมนาขึ้นสู่ปีที่ 10 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า Facing the Future of ESG: Thailand’s Next Steps toward Sustainability:ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยมีวิทยากรดังนี้ 1.ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย 2.นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4.ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บมจ. พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด 5.นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน 6.นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ TCP 7.ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 8.นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ESG Empowering Sustainable Thailand’s Growth”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ESG Empowering Sustainable Thailand’s Growth” โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

เรื่อง ESG มี 3 ประเด็นหลักที่อยากจะพูดถึงเรื่อง ESG หรือ Environment, Social, Governance จากช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างชัดเจนว่า ประเทศไทยเติบโตแบบไม่ค่อยคำนึงถึง ESG ซึ่งการโตที่ผ่านมาเป็นเรื่องของระยะสั้นเป็นหลัก ทั้งในเรื่อง E หรือ environment ที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงตัวเลข เน้นจำนวนหัว แต่ก็มักไม่ค่อยคำนึงถึงผลข้างเคียงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกัน

ด้าน social (S) ก็เห็นเช่นเดียวกันว่าเราเน้นระยะสั้น ไม่ว่าเป็นด้านการกระตุ้นการบริโภคต่างๆ การกู้ยืมที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้ตัวเลขดีโดยที่ไม่คำนึงผลข้างเคียงระยะยาว ซึ่งก็คือ เรื่องของการก่อหนี้ครัวเรือนในระดับที่สูงมาก ซึ่งปัจจุบันเป็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย

“เรื่อง governance (G) จากที่ดูดัชนีชี้วัดต่างๆของโลก อย่างเช่น Corruption Perception Index — CPI (ดัชนีภาพลักษณ์การคอรัปชันในภาครัฐทั่วโลก) ตัวเลขล่าสุดของไทยอยู่ประมาณอันดับ 100 ถ้าผมจำไม่ผิด สิงคโปร์อยู่อันดับ 4 ของโลก และที่ผมรับไม่ค่อยได้ก็คือ เราตามหลังทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย”

“ถ้ามองไปข้างหน้า ก็ชัดเจนว่า เราไม่คำนึงถึง ESG ไม่ได้แล้ว”

มองไปข้างหน้าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอยู่แบบเดิม “ลำบาก”

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อไล่เรียงแต่ละเรื่องแล้ว เรื่อง environment (E) ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ เรื่องของ Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ที่เกิดขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่สร้าง greenhouse gas pollution (มลพิษจากก๊าซเรือนกระจก) จนติดอันดับสูงมากสำหรับขนาดเศรษฐกิจไทย เพราะว่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานของไทยต่ำมาก ในขณะเดียวกัน ไทยจะเป็นประเทศที่ถูกกระทบจาก Climate Change กับก๊าซเรือนกระจกมากทีเดียว ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นตามที่ IPCC (Intergovenmental Panel on Climate Change) คาดการณ์ไว้ ก็จะส่งกระทบต่อไทยในแง่การเกษตร ด้านความสามารถในการเพาะปลูกชัดเจน หรือถ้าน้ำทะเลสูงขึ้น ไทยที่เป็นประเทศที่พึ่งพิงเรื่องของการท่องเที่ยวก็จะถูกกระทบ ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะเป็นอยู่อย่างเดิมนั้น จะเป็นไปได้ค่อนข้างลำบากเมื่อเกิด Climate Change

“ไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดว่ามีโอกาสถูกน้ำท่วมเป็นอันดับที่ 7 ของโลก ผลที่เราเห็นก็ค่อนข้างแรง เมื่อปี 2554 ที่น้ำท่วมเศรษฐกิจไทยโตแค่ 0.1% หลังจากนั้น ปี 2556 ปี 2557 เราเปลี่ยนจากน้ำท่วมก็เป็นแล้ง เห็นว่าเกษตรกรรายได้หายไป 15,000 ล้านบาทจากเรื่องของภัยทางด้านสิ่งแวดล้อม”

ในด้านสังคม เมื่อมองไปข้างหน้า จะมีความเสี่ยงกระทบไทย คือ เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่อง IUU (การทำประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นประเด็นอีก และไทยจะโดนแน่ เนื่องจากโดยเฉพาะจากประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ที่เป็นพรรคที่ใส่ใจต่อสไตล์เรื่องอย่างนี้และให้ความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นโอกาสที่ประเด็นพวกนี้ที่เคยเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจและธุรกิจ จะถูกจับตาเป็นประเด็นมีค่อนข้างสูง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ESG: Growth Engine ในอนาคต

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า “จะเห็นว่าที่ผ่านมา โตแบบไม่คำนึงถึง ESG ในอนาคตความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความไม่ใส่ใจก็จะมีสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่Messageแรกของผม คือ”

“ถ้าเราจะโตแบบยั่งยืน เราจะต้องเปลี่ยนจากการโตแบบไม่คำนึงถึง ESG มาเป็นแบบโตโดย ESG หรือโตเพราะ ESG หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ เราต้องให้ ESG เป็นหนึ่งในเครื่องจักรขับเคลื่อนความเติบโต (growth engine) ของเราในอนาคต”

“ถามว่าฟังดูเวอร์ไหม ผมคิดว่าไม่ ถ้าเรานึกถึงธุรกิจที่มองว่ามีโอกาสเติบโตของไทยในอนาคต”

ธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตของไทย อันแรก คือ health, wellness (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) ที่เป็นกระแสในตอนนี้และเหมาะสมมาก เนื่องจากประเทศไทยได้รับการชื่นชมเรื่องจัดการโควิดได้ดี ภาครัฐจัดการเรื่องสาธารณสุขต่างๆ ได้ดี ซึ่งขณะนี้ทราบกันดีแล้วว่า ภาคท่องเที่ยวจะเติบโตแบบเดิมๆ ไม่เหมาะแล้ว การที่จะได้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอยู่เฉลี่ย 9 วัน วันละ 5,000 บาท ได้เงินมา 40,000 -50,000 บาทต่อคนต่อทริปเป็นไปไม่ได้มากนัก

“เราต้องคิดรูปแบบใหม่ ที่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ยาวใช้จ่ายมาก ซึ่งพวกนี้ก็เป็นพวกเกี่ยวกับสไตล์ wellness หรือแม้อาจจะเป็นเรื่องกระแสใหม่ๆ ก็ได้ ตอนนี้ทราบกันดีมีกระแสเรื่องทำงานที่บ้าน ทำงานที่ไหนก็ได้ หลายคนก็อยากมาอยู่ในไทย ผมเคยคุยกับพวกต่างชาติพวกที่ทำงานที่ไหนก็ได้ ก็อยากมาอยู่ที่ไทย ทำงานยาว จ่ายภาษีด้วย แต่ถ้าจะให้เขาหนีควันพิษ ไฟป่า ในแคลิฟอร์เนีย มาอยู่ไทยแล้วเจอฝุ่น PM2.5 ก็คงไม่ได้”

ส่วนอีกธุรกิจที่เป็นโอกาส คือ อาหาร ที่เป็นลักษณะอาหารออร์แกนิกที่ไม่ใช่แค่แบบที่โฆษณา แต่ต้องเป็นออร์แกนิกที่พิสูจน์ได้ ตรวจสอบย้อนกลับได้เป็นโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าในอนาคต และธุรกิจสุดท้ายที่พูดถึงกันมาก คือ ยานยนต์ EV หรือรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกประเทศเคลื่อนไปทางนี้ ทั้ง 3 ธุรกิจนี้จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มมูลค่าเพิ่มและเป็นแหล่งของการเติบโตในอนาคตได้

“ถ้าถามว่าเราไม่ทำแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็ลองดูตอนนี้ พระเอกส่งออกของเรา 3 ตัว ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีภัณฑ์ ซึ่งรวมกันก็มีสัดส่วน 50% ของมูลค่าการส่งออกของไทย ถ้าไม่ปรับตัว เราก็จะตกกระแส อย่างยานยนต์ที่เขาไปทาง EV แล้ว ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไอโฟนรุ่นใหม่ๆ จึงเน้นที่การรีไซเคิลได้ รีไซเคลก็เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้อิเล็กทรอนิกส์โตได้ในอนาคต ส่วนปิโตรเคมีมีกระแสต่อต้านพลาสติกอยู่แล้ว

“ถ้าเราไม่รับเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) มาใช้ ผมเชื่อว่าโอกาสที่ธุรกิจกระแสหลักเก่าๆ หรือทำส่งออกเก่าๆ ของเราทั้งหลายจะโตไปยั่งยืนเป็นไปได้ยากมากๆ พูดง่ายๆ ไม่มีทางเลือกเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตชิ้นเดิมๆ ทำแบบเดิมจะไม่สามารถขับเคลื่อนการเติบโตที่เรามีในอนาคตได้”

วิกฤติโควิดฯ โอกาสให้ปรับตัวกลับมาดีกว่าเดิม

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า วิกฤติโควิดฯ เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการปรับตัวเพื่อให้กลับมาดีกว่าเดิม ซึ่งหลายประเทศก็ได้ใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาส

ตัวอย่างเช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ที่สายการบินแอร์ฟรานซ์ และ KLM ก็เจอปัญหาเหมือนสายการบินทั่วโลก และต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่การช่วยเหลือของรัฐบาลฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ด้วยงบประมาณ 11 พันล้านดอลลาร์ ได้กำหนดเงื่อนไขหนึ่งสำหรับสายการบินที่ได้รับความช่วยเหลือ คือ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศลง 50% จะเห็นการตั้งเป้าหมายต้องการขับเคลื่อนไปสู่การเติบโตในเศรษฐกิจสีเขียวหรือคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ ที่มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือต่างๆ ก็มีเงื่อนไขที่พยายามจะปฏิรูปเศรษฐกิจให้ไปสู่โลกคาร์บอนต่ำมากขึ้น ประเทศใกล้ๆ ไทยก็มีเกาหลีใต้ที่ประกาศ Green New Deal เป็นการที่พยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปเป็นคาร์บอนต่ำมากขึ้น

“ถ้าเราจะไปด้าน ESG ที่จะให้ ESG เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตตัวใหม่ ก็คงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทาง ธปท. ก็ทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ก.ล.ต.(สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์), คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย), ตลท. (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) และกระทรวงการคลัง ร่วมกันในเรื่องความร่วมมือเรื่อง ESG”

ธปท. มีการผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ไทยผนวกปัจจัยที่เกี่ยวกับเรื่อง ESG ในการดำเนินธุรกิจด้วย โดยเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการลงนาม MOU กับธนาคารพาณิชย์ในเรื่องของ Sustainable Banking Guidelines (แนวทางการประกอบกิจการธนาคารอย่างยั่งยืน) เรื่องเกี่ยวกับ responsible lending หรือการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

เอกชนต้องนำ ESG อย่ารอภาครัฐ สุดท้ายต้องทำร่วมกันอยู่แล้ว

Messageที่สองคือ เรื่อง ESG อยากให้เอกชนทำเลย โดยไม่ต้องรอภาครัฐ เพราะเอกชนมีศักยภาพที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว ช่วงหลังได้เห็นบริษัทไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ จำนวน 22 บริษัท เข้าไปในระดับโลก 12 บริษัทด้วยกัน แสดงให้เห็นแล้วว่า จริงๆ บริษัทไทยมีศักยภาพมีความสามารถที่จะเข้าไปสู่เวทีโลกเกี่ยวกับเรื่อง ESG

สาเหตุที่บอกว่าอย่ารอภาครัฐ เนื่องจากเห็นว่าการทำที่ดีที่สุด คือ ต้องทำงานร่วมกัน เพราะไม่ว่าอย่างไร ภาครัฐและเอกชนก็ต้องทำงานร่วมกันอยู่แล้ว

“ผมไม่คิดว่าโซลูชั่นของการที่จะไปสู่ ESG จะเป็นโซลูชั่นที่ต้องใช้กลไกภาครัฐเป็นตัวนำตัวหลัก บ้านเราผมเห็นหลายที เวลามีปัญหาต้องให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งหลายที่เราก็เห็นว่า การที่มีปัญหาให้ภาครัฐเข้าไป อาจจะไม่ได้แก้ปัญหา อาจจะเป็นซ้ำเติมปัญหา”

โดยที่ผ่านมา การแก้ปัญหาของหน่วยงานกำกับจะเหมือนๆ กัน คือ หากเห็นปัญหาจะคิดว่าทางแก้คือ การออกกฏเกณฑ์หรือ regulation ซึ่งก็เป็นสิ่งที่อาจจำเป็น และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่ทุกอย่างจะเดินหน้าได้อย่างสำเร็จด้วยการอาศัยการออกกฎเกณฑ์หรือ regulation อย่างเดียว

“บ้านเราทราบกันดีว่า มีปัญหามี regulation มากเกินไป ซึ่งการละเลิกลด regulation เป็นโจทย์สำคัญในการที่จะให้เศรษฐกิจไทยโตได้ แต่ถ้าเราไปอิงหรือให้รัฐบาลสั่งให้ทำเรื่อง ESG ผมว่าโซลูชั่นที่ออกมาอาจเป็นโซลูชั่นที่ไม่ได้ตอบโจทย์ของเราอย่างที่ควร เงื่อนไขการแก้ปัญหาด้วยการ regulate มีมาก และโอกาสที่จะทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงและอย่างยั่งยืนไม่ง่าย เนื่องจากภาครัฐเองก็ขาดข้อมูล ขาดกรอบการทำงานในการดีไซน์ต่างๆ ที่อาจสะท้อนสภาวะตลาดที่ครบถ้วน และภาพในความเป็นจริง อาจจะขาดความเชี่ยวชาญในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ESG ที่เป็นเรื่องใหม่ด้วย”

ดร.เศรษฐพุฒิได้ยกตัวอย่างว่า ช่วงเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน จะเป็นช่วงการประชุมร่วมของของธนาคารกลางทั่วโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และหน่วยงานกำกับต่างๆ จะมีการประชุมผ่านวิดีโอกันบ่อยมาก ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่ถกกันบ่อยๆ คือ เรื่อง green เรื่อง environment ต่างๆ หน่วยงานงานกำกับของประเทศต่างๆ ได้เล่าว่า ประเทศเขาตอนนี้ทำไปแล้ว คือ เรื่อง Climate Change ที่ให้หน่วยงานที่กำกับทำ stress test (การทดสอบภาวะวิกฤติ) ซึ่งก็ฟังดูดีดูสำคัญ

“ผมคิดในใจก็อยากเห็น อยากทำ แต่มาลองนึกดู การจะทำให้ถูกทำให้ดี ที่ไม่ใช่แค่การปรับปรุง แล้วยังต้องรวมอะไรเข้ามาบ้าง ซึ่งข้อแรก ถ้าจะทำการทดสอบภาวะวิกฤติของ Climate Change เราก็ต้องมี base line scenario (ฐานการคาดการณ์) เรื่อง Climate Change ซึ่งในไทยมีไหม ผมจับพลิกจากของภาครัฐก็ไม่ค่อยเห็นหรือชัดเจนว่า เรามองเรื่อง Climate Change สิ่งที่จะเกิดขึ้นในไทยในอนาคตที่เกี่ยวกับ Climate Change เป็นอย่างไร ภาพตรงนี้ยังไม่ค่อยชัด ถ้าไม่มีฐานการคาดการณ์ที่เราจะตกลงกัน แล้วจะไปประเมินบนฐานอะไร

ข้อ 2 สมมติว่ามีฐานการคาดการณ์แล้ว และ Climate Change เกิดขึ้นแล้ว ในขั้นของการนำไปใช้ ผลกระทบจากฐานที่เรามองว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นต่างๆ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นยังไง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการตีความ การวิเคราะห์ ก็ยังไม่เห็นที่เป็นรูปธรรมและวิเคราะห์ก็ไม่ง่าย เพราะคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ก็มีน้อย อีกทั้งเรื่องการเห็นผลต่อเศรษฐกิจก็ยังไม่พอ จะต้องเห็นผลต่อธุรกิจต่อบริษัทว่าจะเป็นอย่างไร

“เราทราบกันดี ขนาดบริษัทข้ามชาติ บริษัทสากล ก็มีเรื่องที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตาม Task Force on Climate-related Financial Disclosures ผลกระทบที่แต่ละบริษัทจะเผชิญจาก Climate Change ขนาดระดับสากลยังมีน้อยมากเลย ไม่ต้องพูดถึงบริษัทไทย ถ้าบริษัทเองไม่ได้ทำ ไม่ทราบว่า climate exposure, climate related exposure เป็นยังไง แล้วแบงก์จะรู้ได้ยังไง ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แล้วกลับมาเราแบงก์ชาติในฐานะ regulator จะทำการทดสอบภาวะวิกฤติของ Climate Change แต่ละขั้นกว่าจะออกมาได้ ทำได้ยากมาก”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

“การที่จะให้รัฐนำในการออกกฎระเบียบต่างๆ อาจจะไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด ที่เราจะแก้ปัญหา ESG อย่างยั่งยืน ผมเชื่อว่า จำเป็นต้องใช้กลไกตลาดมาขับเคลื่อนให้ยั่งยืน จะมาจาก mandate หรือ จากนโยบายอย่างเดียวนั้น ไม่ได้ การตั้งมาตรฐาน การมี regulation ต้องเป็น part of solution ไม่ใช่เป็นตัวนำแล้วขับเคลื่อน เลยอยากจะขอเชียร์แนะนำให้ทางเอกชนอย่ารอ ให้นำเรื่องนี้เอง เพื่อที่จะได้โซลูชั่นที่ยั่งยืนในเรื่องของ ESG”

ต้องเปลี่ยนทัศนคติ แม้ไม่ง่าย แต่ประเทศไทยทำได้

สำหรับประเด็นสุดท้าย ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ESG ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อว่าทำได้ เพราะการเปลี่ยนทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ

หากดูประเทศสหรัฐที่เป็นประเทศทุนนิยม ยังสามารถเปลี่ยนวิธีคิดจากเมื่อ 50 ปีก่อน ที่มีมิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่า พูดไว้ว่า “The social responsibility of business is to increase its profits” ทำให้ทุกคนยึดเป็นปรัชญา และมองเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ คือ การคำนึงถึงคุณค่าของผู้ถือหุ้น และมีการสร้างภาพยนตร์ที่ให้ตัวเอกกล่าวว่า “greed is good” (โลภสิดี) สะท้อนว่ามองเฉพาะผู้ถือหุ้นเป็นหลัก (อ่านปาฐกถา “บรรยง พงษ์พานิช”)

ตอนนี้ บริษัทใหญ่ในอเมริกาที่ไม่ได้เป็นธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และไม่ใช่พวกเศรษฐกิจสีเขียว หรือพวกพรรคเดโมแครต แต่เป็นธุรกิจที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของอเมริกาออกมาพูดว่า “We commit to deliver value to all of them” them ในความหมายคือ ลูกค้า ผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ ลูกจ้าง ชุมชน เพื่อชุมชนธุรกิจในอนาคต

“ก็เห็นว่า อเมริกาซึ่งเป็นทุนนิยมยังเปลี่ยน โจทย์หรือวัตถุประสงค์ของบริษัท สะท้อนว่า ที่อเมริกา ทัศนคติเรื่องนี้เปลี่ยนได้ เราก็น่าจะทำได้”

“ไทยก็น่าจะมีโอกาส ผมนึกถึงวิกฤติปี 2540 มีหลายอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบธนาคาร ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทขนาดใหญ่เป็นปัญหาความล้มเหลวของบรรษัทภิบาล (corporate governance) ถ้าตอนนี้เรามองย้อนหลังกลับไปจะเห็นชัด ทุกคนคงรู้สึกพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ประเทศไทยตอนนี้ดีกว่าปี 2540 ในเรื่องของความเข้มแข็งของภาคเอกชน เรื่อง บรรษัทภิบาลดีกว่าก่อนเยอะอย่างเห็นได้ชัด เรื่องการใส่ใจบทบาทของคณะกรรมการบริษัท การมีกรรมการอิสระ บทบาทของตลาดทุน นักลงทุนในการตรวจสอบ ความโปร่งใสต่างๆ พวกนี้เห็นได้ชัด ซึ่งเรื่องพวกนี้มาจากปี 2540″

“รอบนี้เราเจอวิกฤติอีกรอบหนึ่ง เป็นวิกฤติโควิดฯ ซึ่งต้นตอคือ เรื่องเชื้อ เรื่องสุขภาพ เรื่องสาธารณสุข ก็อาจเป็นต้นตอเช่นกันว่า เราจะมาแก้ปัญหาเรื่อง ESG เหมือนกับที่เราแก้ปัญหาบรรษัทภิบาลเมื่อปี 2540 ”

อ่านเพิ่มเติม