ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน: “ภากร ปีตธวัชชัย” ESG ไม่ใช่ Nice to Have แต่เป็น Must Have อนาคตตลาดทุนไทย

ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน: “ภากร ปีตธวัชชัย” ESG ไม่ใช่ Nice to Have แต่เป็น Must Have อนาคตตลาดทุนไทย

23 พฤศจิกายน 2020


งานสัมมนาขึ้นสู่ปีที่ 10 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า Facing the Future of ESG: Thailand’s Next Steps toward Sustainability: ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยมีวิทยากรดังนี้ 1. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3. ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4. ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บมจ. พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด 5. นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน 6. นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ TCP 7. ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 8. นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” โดยเริ่มด้วยคำถามของสังคมไทยว่า “ตลาดทุนกับความยั่งยืนไปด้วยกันหรือไม่” และในโลกธุรกิจเองเปลี่ยนจากเดิม maximize profit มาเป็นความยั่งยืน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีผู้ส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย คนที่เกี่ยวข้อง และสังคม

“เหตุผลที่เกี่ยวข้องกับสังคม เพราะผลของการทำงานของตลาดทุน ผลของเศรษฐกิจกระทบทุกคน”

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)

กรอบความยั่งยืนที่ครอบคลุมของตลาดหลักทรัพย์ฯ

ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับเลือกให้เป็น sustainable stock exchange ติดอันดับต้นๆโลกเพราะเรื่องการรายงานข้อมูลที่ยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ในส่วนการดำเนินการของตลาดหลักทรัพย์ มีหลายด้าน คือ SET sustainability framework โดยการจัดทำงบประมาณคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

“ตลาดหลักทรัพย์เองมีกรอบการทำงานเรื่องความยั่งยืน เรามีการตั้งงบประมาณการ ทำแผนงานต่างๆ สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์คิดตั้งแต่แรกคือเกี่ยวข้องกับสังคม สิ่งแวดล้อม เราจะเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง เราเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกันมาวางแผนกัน”

ด้าน Human capital development ทรัพยากรที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังโควิด ได้แก่การทำงานของคน การดูแลคน การพัฒนาคนให้ในอนาคตมีทั้ง agility มีความคล่องตัวในการทำงาน มีความสามารถในการปรับเปลี่ยน ทำงานได้หลายอย่าง ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตแบบยั่งยืน

ด้าน green policy & green building อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการทำ zero emission ดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ จนเป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้รับรางวัลระดับ gold ในการดูแลสิ่งแวดล้อม

ด้านสุดท้าย partnership platform ทำคนเดียวทำได้ แต่ไปไม่ได้ไกล ถ้าจะทำไปให้ไกล ต้องมีความร่วมมือ ตลาดหลักทรัพย์ฯให้ความสำคัญมาตลอด ทั้งการทำงานร่วมกับสื่อ องค์กรธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแล

จาก CSR จุดเปลี่ยน สู่ ESG

ดร.ภากรกล่าวถึงการพัฒนามาสู่ความยั่งยืนของตลาดทุนไทยว่า ด้วยระบบเศรษฐกิจการเงินไทยช่วงปี 1997 ในวิกฤติต้มยำกุ้งขณะนั้น ปัญหาใหญ่ที่สุดคือการระดมทุน แต่นักลงทุนสถาบันต่างประเทศไม่มีใครเชื่อถือในข้อมูลเราเลย ไม่มีใครเชื่อเลยว่าเราจะมี investor protection ที่ดี ไม่มีใครเชื่อว่าไทยจะมีบอร์ดที่จะเข้ามา govern มาดูบริษัทจดทะเบียนให้ทำหน้าที่ที่เหมาะสม เราจึงเริ่มเห็นการพัฒนาเรื่อง corporate governance ในช่วงนั้น

“ตลาดทุนไทยช่วงปี 1997 เจอปัญหาใหญ่ที่สุดคือเราต้องการระดมทุน แต่นักลงทุนสถาบันต่างประเทศไม่มีใครเชื่อถือในข้อมูลเราเลย บริษัทจดทะเบียนไทยมีปัญหากับเรื่องความน่าเชื่อถือ การรายงานข้อมูล การปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้น ความน่าเชื่อถือของตัวเลขบัญชีต่างๆ ตอนนั้น ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) และกรรมการบริษัทจดทะเบียนได้ร่วมกันตั้ง IOD ขึ้นมา เราจึงเริ่มเห็นการพัฒนาเรื่อง corporate governance (บรรษัทภิบาล) ตั้งแต่ช่วงหลังปี 1997”

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)

ตลาดหลักทรัพย์ฯได้จัดดั้ง corporate governance center ต่อมาช่วงปี 2007-2012 ได้มีการจัดตั้ง Corporate Social Responsibility Institute เริ่มพัฒนากิจกรรมของบริษัทจดทะเบียน จุดนี้เป็นจุดที่น่าสนใจ เริ่มเห็นว่าการทำ CSR เป็นกิจกรรมที่บริษัทแทบไม่ได้ประโยชน์เนื่องจากเป็นอีเวนต์ ไม่ใช่ CSR ที่อยู่ในกระบวนการของธุรกิจที่จะยั่งยืนได้

“ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์มองเห็นปัญหาการทำ CSR ที่เกิดขึ้น แบบไม่ยั่งยืน จึงเริ่มให้ความสนใจกับประเด็น ESG ทำให้เกิดการพัฒนา ESG ในตลาดทุน โดยช่วงแรกได้มีการออกไกด์ไลน์ มีการให้ความรู้ จ้างผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาให้ความรู้กับบริษัทจดทะเบียนไทย ทำให้บริษัทจดทะเบียนได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว”

สิ่งที่ส่งผลให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนของตลาดทุนไทย ได้แก่ การมี Standard Setting การมีการฝึกอบรม(corporate sustainability in practice) การเปิดเผยข้อมูล(corporate sustainability disclosure) และมีการประเมินและคุณค่าที่เกิดขึ้นของกิจกรรม ESG (corporate sustainability assessment & recognition) ให้การตระหนักรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะต้องมีการทำจริง มีการเก็บข้อมูล มีการประเมินและให้รางวัล ยอมรับ

“ในอนาคตข้อมูลพวกนี้จะไม่ได้ถูกวิเคราะห์โดยใช้คน มันวิเคราะห์โดยปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence — AI) เพราะข้อมูลพวกนี้จะมีเยอะมากและทั่วโลก ถ้าเราต้องการจะให้มีคนประเมินข้อมูลพวกนี้ได้ บริษัทจดทะเบียนทำแล้วอย่าลืมบันทึก ส่งเข้ามา อย่าลืมเปิดแผยในฟอร์แมตที่เหมาะสม ฟอร์แมตที่แมชชีนอ่านได้”

ด้วยแผนงานของตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนไทยได้รับเลือกให้เป็น Sustainable Stock Exchange The Best in the World ด้านการเปิดเผยข้อมูล นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ทาง DJSI ยังได้เพิ่มบริษัทไทยอีกหนึ่งรายเข้าไปเป็นสมาชิก จนปัจจุบันตลาดทุนไทยมี 21 บริษัทที่เป็นสมาชิก DJSI ยิ่งกว่านั้น 7 บริษัทของไทยยังได้รับเลือกให้เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรมในโลก

ประเทศไทยมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยมีจำนวนบริษัทที่อยู่ใน DJSI มากเป็นอันดับ 8 ของโลก

“เราเป็นประเทศเล็กที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1997 และวันนี้ไม่ว่าจะเป็นตัวชี้วัดจากในประเทศหรือต่างประเทศ โดย 625 บริษัทใน corporate governance report assessment scores ของ IOD ติดในรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ปี 2563 จำนวน 124 บริษัท และอยู่ใน SETTHSI index จำนวน 58 บริษัท”

บริษัทเหล่านี้ได้รับความสนใจจากกองทุนรวมเข้าไปลงทุนกว่า 20 กองทุน มีมูลค่า NAV รวม 25,000 ล้านบาท

ดึงบริษัทกลาง-เล็กมีส่วนร่วม

โจทย์ของการสร้าง ESG ในทุกวันนี้ไม่ใช่แค่บริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น สิ่งสำคัญคือการทำให้บริษัทขนาดกลางและเล็กมีส่วนร่วมในการสร้าง ESG ด้วย

“แล้วเราจะนำบริษัทขนาดเล็กกับกลางให้มาสนใจกับ ESG ได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับวิธีรายงานข้อมูล วิธีที่จะทำให้เขานำข้อมูลไปใช้ได้ ต้องมี 2 อย่าง 1.suitability (ความเหมาะสม) บริษัทเล็กก็ให้ข้อมูลตามที่เขาต้องใช้วิเคราะห์ได้ 2. meaningful (มีความหมาย) ข้อมูลอะไรบ้างที่เขาต้องรายงานให้นักวิเคราะห์หรือนักลงทุนได้รู้ว่าเขาทำในเรื่องที่น่าสนใจและมีความหมาย”

นอกจากนั้นโจทย์ของบริษัทยังต้องเพิ่มเรื่องมูลค่าเพิ่มเข้าไป เนื่องจากปัจจุบันมีเอเจนซี่ที่วิเคราะห์มูลค่าเพิ่มในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ESG ด้วย ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงได้ร่วมมือกับ 2 เอเจนซี นำข้อมูลดังกล่าวมาแสดงในเว็บไซต์ settrade ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเห็นถึงมูลค่าเพิ่มของกิจกรรม ESG ของบริษัทแต่ละราย และปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกจะประเมินว่าบริษัทจดทะเบียนแต่ละอุตสาหกรรมข้ามประเทศ แต่ละรายทำเรื่อง ESG ได้ดีอย่างไร และจะทำให้ ESG มีความหมายมากขึ้นต่อเนื่อง

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)

“ข้อมูลจาก ESG เห็นเลยว่าเปลี่ยนจากแค่เริ่ม qualitative เป็น quantitative บอกเลยว่าเป็นมูลค่าเท่าไร ผมอยากจะฝากช่วยกันสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนทำเรื่องอะไรเกี่ยวกับ ESG ขอให้รายงาน แล้วรายงานให้อยู่ในฟอร์แมตมาตรฐานให้สามารถประเมินได้ง่าย”

“หลายคนพูดกันว่าบริษัทจดทะเบียนมันไม่น่าเซ็กซี่ ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยี แต่ท่านผู้ว่าฯ (ธปท.) ก็พูดไปแล้วว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยี บริษัทไทยเก่งเรื่องอะไร แล้วปรับเข้ากับ new normal ได้อย่างไร เช่น เรื่องเฮลท์แคร์ ฟู้ด นี่เป็นจุดขายของเราได้ สอง เรื่อง sustainability (ความยั่งยืน) ลองมาดูสิครับว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่ไหนในโลกที่ให้ความสนใจเรื่องนี้เหมือนประเทศไทย เพราะฉะนั้นประเด็นนี้จะใช้เป็นจุดขาย”

“นักลงทุน” ปัจจัยขับเคลื่อนหลัก

“ที่บอกว่าทำยังไงจะโปรโมทให้ บลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) หรือนักลงทุนสถาบันทั่วโลกเข้ามาลงทุนบริษัทไทย เพราะนี่คือบริษัทที่มีคุณภาพ นี่คือบริษัทที่อย่างน้อยมีเกณฑ์ในเรื่องความยั่งยืน ถ้าเราโปรโมทให้เขาเห็นคุณค่าได้ ผมว่านี่คือจุดขายของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยในอนาคต”

ในมุมของนักลงทุนก็ต้องลงทุนในบริษัทที่ได้รับการรับรองต่างๆ และมี ESG เป็นหนึ่งในข้อยืนยันเหล่านั้น

“แล้วนักลงทุนเขาแคร์ไหมกับตัวเลขพวกนี้ แคร์ไหมกับกิจกรรมที่ไปทำมา ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไป มีความไม่แน่นอนมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่นักลงทุนเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นคือบริษัทจดทะเบียนหรือภาคธุรกิจนั้นๆ ปรับตัวอย่างไรที่จะทำให้บริษัทมีกำไรได้อย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลายยังไงกับรายได้ สามารถปรับตัวได้เร็วยังไงบ้างกับความไม่แน่นอน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”

“ฝั่งนักลงทุนเขาจะบอกเลยว่ากำไรชั่วครั้งชั่วคราว เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เขาอยากเห็นคือบริษัทมีความยืดหยุ่น มีความอึดอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะต่างๆ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือเรามีข้อมูลให้เขาเห็นหรือยังว่าบริษัทของเรา หรือธุรกิจของเราสามารถคงความเปลี่ยนแปลงพวกนี้เอาไว้ได้ เรามีข้อมูลให้เขาสามารถวิเคราะห์ได้หรือยัง มีนักวิเคราะห์ที่มาดูเรื่องนี้หรือยัง”

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)

ดร.ภากรกล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูล พบว่า ในอดีตนักลงทุนรายย่อยมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องตัวเลขทางการเงินมาก เช่น ผลประกอบการ นโยบาย ฯลฯ แต่คนที่ให้ความสำคัญกับ ESG มีน้อย ผิดกับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศที่จะดู ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน

แต่หลังจากช่วงโควิด-19 กลับพบว่า นักลงทุนรายย่อยในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพ และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและ ESG ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ

“อยากจะเรียนทุกท่านนะครับ เรื่อง ESG ไม่ใช่ nice to have (มีไว้ก็ดี) แต่เป็นเรื่อง must have (ต้องมี) และจะเป็นจุดขายของตลาดทุนไทยในอนาคต ขอฝากเรื่องนี้ไว้กับทุกท่าน ขอบคุณครับ”

อ่านเพิ่มเติม