ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน : “รื่นวดี สุวรรณมงคล” ชูโรดแมป สร้างระบบนิเวศน์ หนุนบจ.ไทยรับการลงทุนในโลก ESG

ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน : “รื่นวดี สุวรรณมงคล” ชูโรดแมป สร้างระบบนิเวศน์ หนุนบจ.ไทยรับการลงทุนในโลก ESG

22 พฤศจิกายน 2020


งานสัมมนาขึ้นสู่ปีที่ 10 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า Facing the Future of ESG: Thailand’s Next Steps toward Sustainability: ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยมีวิทยากรดังนี้ 1. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3. ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4. ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บมจ. พีทีที โกลบอลเคมิคอล จากัด 5. นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน 6. นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ TCP 7. ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 8. นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Sustainable Initiatives of the SEC” ได้กล่าวว่า

“ดิฉันในฐานะที่เป็นอดีตคน ก.ล.ต. เก่าในยุคแรกๆ อ.เอกกมล (คีรีวัฒน์), ท่าน ดร.ประสาร (ไตรรัตน์วรกุล), ท่านปกรณ์ (มาลากุล ณ อยุธยา ) ที่สอนมา ตอนดิฉันออกจากสำนักงานฯ ปี 2547 สิ่งหนึ่งที่จำได้มาเสมอและปฏิบัติต่อเนื่องในส่วนราชการ คือ หลักของ CG”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นางสาวรื่นวดี กล่าวย้ำว่า ชีวิตการทำงานยึดปฏิบัติหลักของบรรษัทภิบาล (corporate governance หรือ CG) โดยเฉพาะหลักการทำงานที่ไม่ขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflict of interest หรือ COI) และก็เรื่องของความโปร่งใส ซึ่งวันนี้กลับมาบ้านหลังนี้อีกครั้งในปี 2562 นั้น จากคำว่า CG ได้ขยายมาถึง ESG เพื่อมาตอบโจทย์ของสังคมในยุคปัจจุบันและในอนาคต

สำหรับเรื่อง ESG อนาคตประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดทุน เพราะว่าเป้าหมายหลักสำคัญที่ต้องพัฒนาตลาดทุนไปสู่ความยั่งยืน และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์เรื่อง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN SDGs ด้วย

สิ่งที่เตรียมมากล่าวในมุมมองของตลาดทุน จะมีส่วนของภาพใหญ่ตลาดทุนโลกใบนี้ ส่วนของตลาดทุนในภูมิภาค และในส่วนของตลาดทุนไทย ที่มีความคืบหน้ามาก เห็นได้จากสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทจดทะเบียนไทยหลายแห่ง ได้ติดอยู่ในดัชนีความยั่งยืน DJSI ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชม

ก.ล.ต. เดินตามเทรนด์ ESG ในตลาดทุนโลก

หากดูข้อมูลจาก Global Risk Report ฉบับล่าสุด หยิบยกประเด็นความเสี่ยงเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นความเสี่ยงสูงสุด โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบสูงไม่ว่าเรื่อง Climate Change เรื่องของความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพต่างๆ เรื่องวิกฤติของน้ำ เรื่องโรคติดต่อต่างๆ

สำหรับตลาดทุนไทยมีการตอบรับประเด็นเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และก.ล.ต.ก็มีหน้าที่ทำให้มีความเข้มข้นขึ้นในส่วนนี้ โดยจะขอฉายภาพมุมมองจากองค์กรกำกับดูแลตลาดทุนโลก ซึ่งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ได้มีการประชุมของคณะกรรมการ President Committee ของ IOSCO ซึ่ง ก.ล.ต. ของสวีเดนเป็นประธาน เป็นคนทำในเรื่องของ ESG ของตลาดทุน

โดยจะขอฉายภาพว่า องค์กรกำกับตลาดทุนโลกมองเรื่องใด จากภาพแรกเป็นข้อมูลการสำรวจความเห็นขององค์กรกำกับดูแลตลาดทุน 32 แห่ง และภาคเอกชนกว่า 130 รายทั่วโลกที่ต้องการเห็นต่อภาพรวมของการขับเคลื่อน ESG ขององค์กรกำกับดูแลตลาดทุน ที่ IOSCO จัดทำเมื่อเดือนเมษายน 2563 หลังโควิดฯแค่ 1 เดือน โดยในด้านที่หนึ่งบทบาทด้าน ESG ของหน่วยงานกำกับดูแลต่างประเทศ สิ่งที่อยากเห็นเป็นอันดับแรก เน้นประเด็นสำคัญเรื่องความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุนที่ยั่งยืน ซึ่งได้มีการตอบรับถึง 83%

ฉะนั้น สิ่งที่สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำ (แบบรายงาน) One Report ซึ่งจะเริ่มรายงานในวันที่ 1 มกราคม 2565 นั้น เพราะต้องการให้ให้สิ่งดีๆ ที่บริษัทจดทะเบียนทำมาในเรื่อง ESG มีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นระบบชัดเจน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

“เพราะนักลงทุนโดยเฉพาะสถาบัน จะได้หยิบนำไปใช้เป็นปัจจัยเรื่องของการลงทุนที่เน้นเรื่อง ESG เราไม่ได้บอกว่าเป็นภาระ ก.ล.ต. ไม่ได้เพิ่มภาระให้ภาคเอกชน แต่ทำให้ภาระต่างๆลดลงไป ต่อไปจะเห็นการทำโรดแมป regulatory guillotine ให้ลดน้อยลงจำนวนมากในรอบอีก 2 ปีข้างหน้า จะทำเป็นภาพใหญ่ โดยไม่เป็นชิ้นๆ อีกต่อไป ซึ่งขอให้ติดตาม regulatory guillotine ของก.ล.ต.ในยุคใหม่”

ผลสำรวจหัวข้อที่อยากเห็นอันดับสอง คือ ต้องมีมาตรการป้องกัน greenwashing (การฟอกเขียว) 45% ซึ่งการจะมาอุปโลกน์บอกว่า ผลิตภัณฑ์ บริการของตัวเองเป็นสีเขียวแท้ แต่จริงๆ อาจจะไม่ใช่ เพราะคนเหล่านี้ก็อยากเห็นว่าจะมีมาตรการป้องกันในส่วนนี้อย่างไร

อันดับถัดมาเรื่องการกำหนดความเสี่ยงด้าน ESG เป็นความเสี่ยงทางการเงิน ให้น้ำหนัก 41%

“ในช่วงที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของตลาดทุนเมื่อปีแล้ว ได้มีขึ้นโอกาสเวทีพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในตลาดทุน จำได้ว่ามีวิทยากรท่านหนึ่งพูดถึง ESG ไว้ว่า “ESG is matter of การบริหารจัดการความเสี่ยง” ซึ่งดิฉันดีใจมากๆ ที่มีการมองเห็นในจุดนี้และเป็นสิ่งที่ผลการสำรวจของทั้งโลก ก็มองเห็นกันอย่างนี้

สำหรับการสำรวจด้านที่ 2 รูปแบบการดำเนินงาน ผลสำรวจสะท้อนความต้องการเห็น การใช้ soft laws ควบคู่กับการออกหลักเกณฑ์ โดยเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากสุดคือ คู่มือมากกว่า ซึ่งมีสัดส่วน 34%

ด้านข้อที่ 3 การเปิดเผยข้อมูล ESG พบว่าเกือบ 1 ใน 3 ใช้รูปแบบเป็น comply or explain การปฏิบัติตามหรืออธิบายในเรื่องของการกำกับดูแลกิจการ

และข้อสุดท้าย ความคาดหวังของภาคเอกชนที่ร่วมตอบแบบสอบถาม บอกว่า อยากเห็นหน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลแบบมีการเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุด เพราะฉะนั้นเทรนด์ที่ ก.ล.ต. ดำเนินการมาอยู่แล้วตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันและอนาคต ก็มาจากเทรนด์ในวงการของ IOSCO โลกนี้ เรื่องรองลงมา เอกชนอยากเห็นหน่วยงานกำกับดูแลเข้าไปออกมาตรการป้องกัน greenwashing

ในส่วนนี้ก็เป็นภาพใหญ่ของโลกใบนี้

โรดแมป ESG ของตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียน

ในส่วนของภูมิภาคอาเซียน นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า ได้เข้ามาทำต่อเติมจากส่วนของท่านเลขาฯ ก.ล.ต. รพี (สุจริตกุล) ซึ่งในเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว (2562)ที่ภูเก็ต ได้มีการผลักดัน ACMF Sustainable Capital Market Roadmap ด้วยกันในเหล่าผู้กำกับในอาเซียนและมี ADB (ธนาคารพัฒนาเอเชีย) เข้ามาเป็นส่วนช่วย โดยโรดแมปในมุมมองของอาเซียน จะเน้นการจัดความสำคัญ 4 ด้านในการสร้างพื้นฐานที่ดี

“เรื่องของการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนก็กลับเข้ามาเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีความท้าทายในการกำหนด taxonomy (กฎหมายการจัดหมวดหมู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม) เพราะในยุโรปเขาก็มี taxonomy อันหนึ่ง แล้วในส่วนของอาเซียน จำเป็นต้องมีอีกไหม อย่างไรหรือไม่ เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมาดู เพื่อป้องกันในเรื่องของ greenwashing”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

สำหรับความสำคัญที่ 2 เรื่องของ การเข้าถึง การสร้างการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งก.ล.ต.ได้ร่วมกับภาคเอกชนทำงานด้วยกัน เพราะเอกชนก็ต้องมีส่วนขับเคลื่อนร่วมกัน

ส่วนความสำคัญที่ 3 คือ สร้างการตระหนักรู้ การจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ในส่วนนี้ก็มีความจำเป็นมากๆ ซึ่งเรื่องนี้คิดว่าในปีหน้า(2564) ก.ล.ต. จะมีความท้าทาย ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนสถาบันจะขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้อย่างถ่องแท้

“ประเด็น คือ จะทำอย่างไรที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ด้วย จริงๆ เขาก็ให้และให้ด้วยอย่างมากขึ้น ซึ่งก็คงต้องหารือกับผู้จัดการกองทุนของ บลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) ต่างๆ ว่า จะมาออก ESG Fund มากขึ้นไหม ซึ่งก็มีบางรายร่วมศึกษาเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน”

“ความท้าทายใน ก.ล.ต. ในปีหน้า ต้องทำให้ความรู้สึกของผู้ลงทุนรายย่อยก้าวข้ามผลกำไรที่ไปสู่ความยั่งยืน ให้ส่วนนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการลงทุน ซึ่งต้องดำเนินการกันต่อไป”

เรื่องสุดท้ายที่เป็นความสำคัญในกลุ่มอาเซียนที่พูดกัน คือ เรื่องของความเชื่อมโยงความร่วมมือหรือ increasing connectivity ซึ่งพูดกันชัดว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลัก คือว่า ภาครัฐทำคนเดียวไม่ได้ จะต้องทำด้วยกันทั้งในส่วนของภาคเอกชนและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ

ส่งเสริมระบบนิเวศน์รองรับการลงทุนในโลก ESG

สำหรับในส่วนตลาดทุนของประเทศไทย ได้แก่ การพัฒนาระบบนิเวศน์ของการเงินที่ความยั่งยืนของไทย ที่ทำให้จะเป็นภาพใหญ่เป็นวงจร เพราะ ก.ล.ต. มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศน์

“ดิฉันขอย้ำว่า เราไม่ได้เข้าไปร่วมดำเนินการด้วย ดิฉันฉายภาพนี้ขึ้นมา เราเห็นผลผลิต เราเห็นความร่วมมือความสำเร็จค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของดิฉันที่ต้องทำให้เกิดความจริงจังมากๆ ขึ้นไป ซึ่งมีเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ด้วย มีเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอยู่ด้วย”

นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า ระบบนิเวศน์ที่ ก.ล.ต. มองมี 5 ด้านสำคัญ ดังนี้

หนึ่งผลิตภัณฑ์ วันนี้น่าจะดีใจมากๆ เรื่องของ sustainable finance การเงินเพื่อความยั่งยืนเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับการตอบรับอย่างมากที่สุด ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่เป็น green bond, social bond, social impact bond หลากหลาย ณ วันนี้ประเทศไทยมีการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งหมด 12 บริษัท มูลค่ารวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก็มีแผนชัดเจนได้ออกพันธบัตรรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (sustainability bond), รัฐวิสาหกิจ แม้กระทั่ง ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ก็ออก green bond การเคหะแห่งชาติก็ออก social bond ในการระดมทุนจากการขายพันธบัตรเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ภาคเอกชนก็ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ได้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ESG related bond ทั้งหมดแล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นเดือน พฤษภาคม 2562 จนถึงเดือน พฤษภาคมปีนี้ และได้ขยายเวลาให้ถึงเดือน พฤษภาคม ปีหน้า โดย ก.ล.ต. จะพิจารณาขยายเป็นปีๆ ไป

นางสาวรื่นวดีกล่าวเพิ่มว่า ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ social enterprise (SE) ซึ่งรัฐบาลออกพ.ร.บ. วิสาหกิจเพื่อสังคม สำนักงาน ก.ล.ต. ก็มากำหนดไว้ว่า SE เหล่านี้มาทำประโยชน์ให้ประเทศชาติในเรื่องของสังคม สามารถมาระดมทุนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล และวันนี้เป็นที่น่ายินดี ที่มี SE หลายแห่งที่มีคุณสมบัติตามวิสาหกิจเพื่อสังคมมาระดมทุนผ่านตลาดทุนด้วยแล้ว

สองเป็นเรื่อง local reviewer ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกัน greenwashing ซึ่งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่การให้บริการ green bond verifier ตามมาตรฐานของ CBI (Climate Bonds Initiative :องค์กรอิสระระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม) ซึ่งถือว่า ทริสเป็นผู้ประเมินตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรายแรกในไทย

“เราเพิ่งพูดกันเรื่องนี้เมื่อ 7-8 เดือน ตอนนี้มีความเป็นรูปธรรมขึ้นมาอย่างเร็ว เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า เหมือนรถที่สตาร์ทไว้และเครื่องก็พุ่งไปอย่างรวดเร็ว กลไกพวกนี้ก็มาเรียบร้อย ซึ่งก็มีคำถามว่า จะมีบริษัทอื่นทำเป็นแห่งที่สองได้ไหม ซึ่งก็บอกตรงนี้เลยว่า เรื่องนี้เป็นความต้องการของตลาด ดิฉันเป็นแค่ผู้สร้างระบบนิเวศน์ให้ ส่วนจะเกิดไม่เกิด ขึ้นอยู่กับส่วนของความสนใจของผู้ประกอบการ”

ยกระดับนักลงทุนรายย่อยเข้าถึงการลงทุนตราสาร ESG

สาม คือ นักลงทุน วันข้างหน้านักลงทุนรายย่อยจะมีโอกาสเข้ามาลงทุน ในส่วนนี้ ซึ่งก็จะมีไกด์ไลน์ของ บลจ. ในส่วนของกองทุนรวมด้าน ESG, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มีในส่วนของ ESG ด้วย ส่วนนักลงทุนสถาบันที่ ก.ล.ต. ทำเรื่อง I Code นั้น วันนี้เป็นที่น่ายินดีมีทั้งหมด 68 แห่งแล้ว และกลางปีที่แล้ว ก.ล.ต. ก็ไปร่วมงานกับ กบข. ที่จัดทำเรื่องของ negative risk เป็นพลังมหาศาลของนักลงทุนสถาบัน

ส่วนที่สี่ bulletin platform เพื่อให้นักลงทุนเปรียบเทียบข้อมูลเรื่อง green bond ได้ง่าย ซึ่งเฉพาะส่วนของผู้ออกตราสาร (issuers) ในประเทศไทย ขณะนี้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ก็ได้ทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งในเว็บไซต์จะเห็นตารางมี 12 บริษัทเรียงเปรียบเทียบกัน เช่น คูปองต่างกันตรงไหน ทำให้ตัดสินใจลงทุนได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ทำความเชื่อมโยงกับ ก.ล.ต. ประเทศลักเซมเบิร์ก และทำข้อตกลงกับตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก โดยอนุญาตให้บริษัทไทยที่ออก green product สามารถนำข้อมูลไปโพสใน bulletin ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์กได้ ซึ่งเป็นการช่วยโปรโมทให้นักลงทุนสถาบันในยุโรปสามารถมองเห็นประเด็นของประเทศไทย และจะได้พิจารณาว่าน่าสนใจจะลงทุนหรือไม่ และ สบน. จะนำพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน ไปโพสต์ในตลาดลักเซมเบิร์กกรีนในเร็วๆนี้

ก.ล.ต. เลือกจับมือกับตลาดลักเซมเบิร์ก เนื่องจากเป็นตลาดกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และขอความร่วมมือกับก.ล.ต.ลักเซมเบิร์กจึงถือว่าเป็นเกทเวย์ที่สำคัญ

“เป็นที่น่ายินดีอีกที่ลักเซมเบิร์กกรีนจะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้เรา เป็นสิ่งที่ได้พูดคุยกันในฐานะ SEC ที่ต้องการโปรโมททั้งในส่วนของในประเทศและต่างประเทศที่ทำงานร่วมกันต่อไป”

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า ส่วนที่ห้า คือ การให้บริษัทจดทะเบียนขนาดกลางและขนาดเล็กผสาน ESG เข้าไปในองค์กร เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 บริษัทจดทะเบียนจะต้องทำแบบรายงาน One Report ต่อ ก.ล.ต. เพราะต้องการให้บริษัทจดทะเบียนที่ทำ ESG อยู่แล้ว ปรากฏต่อสายตาผู้ลงทุนและเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบกันได้อย่างง่าย

เมื่อเร็วๆนี้ ก.ล.ต. ได้ทำจดหมายถึงบริษัทขนาดใหญ่ราว 10 บริษัท ที่มีแบบรายงานการเปิดเผยข้อมูลที่ดี ขอมาเป็นตัวอย่างให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน โดย ก.ล.ต. จะไปโพสต์ในเว็บไซต์ต่อไป

นอกจากนี้ ก.ล.ต. กำหนดให้ผู้แนะนำการลงทุนหรือ IC จะต้องเข้ารับการอบรมเรื่อง ESG ด้วยเพื่อนำไปแนะนำต่อผู้ลงทุนรายย่อย

ย้ำวันนี้ต้องทำงานร่วมกันสร้างความยั่งยืน

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า ด้านสุดท้าย cooperation ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน จากที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้รับความร่วมมือจาก 12 องค์กร ของตลาดทุน รวมทั้งธปท. ในการจัดทำโครงการเสริมสร้างธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติเมื่อปีที่แล้ว และเป็นที่มาที่สมาคมบริษัทจดทะเบียนตั้งเครือข่าย TRBN (เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย) ขึ้น และทำโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกัน มี ธปท. ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์ ทำเรื่องของความยั่งยืนด้วยกัน

“ในกรอบของ cooperation นั้น ดิฉันคงจะข้ามไปถึงในส่วนของ UNDP (สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) ด้วย เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยเป็นที่รับรู้ว่าภาคเอกชนของประเทศไทย ผู้นำของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่แล้ว มีความรับผิดชอบ ทำงานในฐานะเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และมีธรรมาภิบาลที่ดี”

นางสาวรื่นวดีกล่าวสรุปว่า สิ่งหนึ่งที่ ก.ล.ต. พูดเสมอว่า เป็นองค์กรดูแลตลาดทุนเพื่อให้ทุกคนมั่นใจว่า วันนี้ความหมายของคำว่า “มั่นใจ” นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็อยากชวนเชิญให้ “มั่นใจ” ว่า ก.ล.ต. จะทำงานร่วมกับท่าน เพื่อทำให้ตลาดทุนไทยไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม

  • ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน: “ศรีกัญญา ยาทิพย์” ไม่มี One Size Fits All สำหรับนักลงทุนอย่างรับผิดชอบ ผลตอบแทนต้องสมดุลกับผลสังคม