ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน : “นุชรี อยู่วิทยา” 60 ปี จากปณิธานผู้ก่อตั้ง สู่การหล่อหลอมให้ TCP เป็นองค์กรช่วยเหลือสังคม

ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน : “นุชรี อยู่วิทยา” 60 ปี จากปณิธานผู้ก่อตั้ง สู่การหล่อหลอมให้ TCP เป็นองค์กรช่วยเหลือสังคม

24 พฤศจิกายน 2020


งานสัมมนาขึ้นสู่ปีที่ 10 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า Facing the Future of ESG: Thailand’s Next Steps toward Sustainability:ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยมีวิทยากรดังนี้ 1.ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย 2.นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4.ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บมจ. พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด 5.นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน 6.นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ TCP 7.ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 8.นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจ TCP บรรยายในหัวข้อ “Leaderships Lessons: Growing Sustainable Companies” ถอดรหัสผู้นำ : บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน ว่าตลอดระยะเวลา 60 ปีของกลุ่มธุรกิจ TCP นับตั้งแต่การก่อตั้งของนายเฉลียว อยู่วิทยา (คุณพ่อของนางสาวนุชรี) บริษัทยังคงยึดมั่นในแนวคิดของการช่วยเหลือสังคมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“เพราะอะไรคุณพ่อถึงช่วยเหลือสังคม ในสมัยเด็กคุณพ่อยากจนถึงขั้นข้นแค้นเลย เข้าใจดีว่าคนที่ต้องการและคนที่ขาดแคลนรู้สึกอย่างไร นี่เป็นจุดหลักที่ทำให้คุณพ่อดำเนินธุรกิจโดยมีการช่วยเหลือสังคมมาตลอด แม้ท่านอาจไม่ได้ช่วยเหลือทุกเรื่อง แต่ก็ช่วยสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ช่วยเหลือในส่วนที่ตัวเองพอทำได้”

นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจ TCP

นางสาวนุชรี กล่าวต่อว่า “ในอดีตที่คุณพ่อมีโอกาสรับเสด็จรัชกาลที่ 9 ทำให้ได้ลงพื้นที่ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล และเห็นปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ต่อมาบริษัทจึงพัฒนาโครงการอีสานเขียว และสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินกว่าล้านบาท อีกทั้งไปร่วมกับมูลนิธิแพทย์อาสาฯ โดยซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้หมู่บ้านในต่างจังหวัด”

“นอกจากครอบครัวเราจะได้เห็นสิ่งที่คุณพ่อทำแล้ว พนักงานในสมัยนั้นก็ได้เห็น ซึ่งบางคนก็ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันนี้ ก็ได้เห็นสิ่งที่คุณพ่อได้ทำ และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งหล่อหลอมให้บริษัทเราเองมีแนวคิดในการช่วยเหลือสังคมโดยที่เราไม่รู้ตัว”

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TCP ยังคงดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมกว่า 1,000 โครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการกระทิงแดงสปิริต ชวนอาสาสมัครมาทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ รวมถึงโครงการช่วยเหลือสังคมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ

นางสาวนุชรี กล่าวต่อว่า เมื่อธุรกิจทำ CSR มาอย่างต่อเนื่องจนถึงจุดที่ตั้งคำถามว่าสิ่งที่ได้ทำตอบโจทย์สังคมจริงหรือไม่ และเริ่มกลับมามองตัวเองถึงการทำงานเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง

“นี่เป็นที่มา ที่ทำให้เราเกิดกรอบแห่งความยั่งยืนขึ้นมาโดยเราพูดคุยกับพนักงานทุกระดับ พยายามเน้นว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่สำหรับองค์กรเรา จนมาเป็นกรอบที่เราสร้างขึ้น 3 เสาหลัก คือ Integrity Quality และ Harmony”

เสาแรกคือ Integrity เปรียบเหมือนขาของความมั่นคงที่ต้องจับมือกับพันธมิตรและคู่ค้าทางธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจ TCP เริ่มจากคุยกับคู่ค้าว่า เราต้องมองภาพใหญ่ของอนาคตว่าจะสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร

บริษัทเริ่มต้นจากการสร้างแบบฟอร์มให้ประเมินถึงประสิทธิภาพของคู่ค้า รวมถึงกรอบแห่งความยั่งยืนว่าเป็นอย่างไร เพราะการประเมินตัวเองจะทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงเรื่องความยั่งยืน

ส่วนการปรับตัวในองค์กร บริษัทสร้างเว็บไซต์เพื่อให้ทุกคน รวมไปถึงบุคคลภายนอก สามารถร้องเรียนธรรมาภิบาลขององค์กรว่าเพียงพอหรือไม่และมีจุดไหนที่ต้องปรับปรุง นอกจากนั้นยังทำให้พนักงานมองเห็นความยั่งยืนเป็นภาพเดียวกันผ่านช่องทางแชตบอท (Chatbot) เพื่อคุยกับพนักงานโดยยกตัวอย่างว่าหากเจอกรณีแบบนี้จะตัดสินใจอย่างไร เพื่อสะท้อน Code of Conduct ของพนักงาน

เสาหลักที่สองคือคุณภาพของสินค้าซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจ

นางสาวนุชรีได้ยกตัวอย่างการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผลิตสินค้าตามมาตรฐานอย.ที่ได้รับสัญลักษณ์ว่าเป็นสินค้าที่ลด ‘หวาน มัน เค็ม’ และตั้งเป้าว่าภายในอนาคตจะต้องมีสินค้าจำนวนครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ได้รับสัญลักษณ์ดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในระยะยาว

ในช่วงโควิด-19 บริษัทให้ความสำคัญกับ ‘พนักงาน’ โดยการหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ให้ความรู้กับพนักงาน ที่สำคัญคือเป็นบริษัทแรกๆ ที่ปรับตัวไปใช้หน้ากากผ้า

เสาหลักที่ 3 คือ Harmony โดยนางสาวนุชรีเปรียบว่าเป็นอากาศที่หายใจกล่าวคือสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว

“โครงการหนึ่ง ซีอีโอของเราเข้าไปทำโครงการที่จังหวัดแพร่ แถบนั้นไม่มีน้ำใช้ แต่เขามีอ่างเก็บน้ำ มีท่อส่งน้ำ เราได้พันธมิตรที่ดีและหลากหลาย ทั้งมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ช่วยต่อท่อ ซ่อมอ่างเก็บน้ำที่ชำรุดและแก้ระบบการส่งน้ำ สุดท้ายแล้วทุกคนมีความสุข”

นอกจากนั้นในบริเวณโรงงานที่ปราจีนบุรีพื้นที่ 2,000 ไร่ เราตั้งใจที่จะขุดบ่อน้ำเก็บเอาไว้ใช้ผลิตน้ำ เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นหัวใจของการผลิตของเรา เราปล่อยให้มันขาดไม่ได้ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้ขาดไม่ได้อย่างเดียว เราคิดเลยว่า…แล้วเราจะแย่งน้ำจากชาวบ้านหรือไม่ รวมทั้งในอนาคตเวลาหน้าแล้งด้วย จนเราพัฒนาระบบขึ้นมา สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดหน้าแล้ง โดยไม่พึ่งน้ำจากภายนอก และในยามที่น้ำเหลือ เราก็ดึงน้ำเข้ามาเก็บ

“โรงงานของเราตั้งอยู่ที่ปราจีนบุรี มีบริษัทในธุรกิจคือ DURBELL เราเลยสร้างให้เกิดชุมชนที่ยั่งยืนโดยจัดทำโครงการเกษตรอินทรีย์วิถียั่งยืน เราตั้งเป้าไว้ว่าเราจะช่วยเหลือชุมชนบริเวณโรงงานปราจีนบุรี ให้เขาผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะเชื่อว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตอบโจทย์สุขภาพของผู้บริโภค ตอบโจทย์การทำงานนอกโรงงาน เราให้คำมั่นไว้ว่าภายใน 5 ปี วิสาหกิจชุมชนที่เราทำงานร่วมกันเขาจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 1 ล้านบาท”

นอกจากนี้โครงการที่เกี่ยวกับอาหารกลางวัน เราได้พาร์ทเนอร์ในการสร้างระบบสนับสนุนเกษตรอินทรีย์เพื่ออาหารกลางวัน ถ้าโรงเรียนเข้าใจและสามารถดูแลระบบที่เราวางไว้ได้ เด็กนักเรียนจะมีอาหารที่มีคุณภาพ ลดรายจ่ายที่สำคัญ และเกิดความยั่งยืนในชุมชน

“ส่วนกระบวนการผลิต เราลดการใช้บรรจุภัณฑ์ พยายามทำให้ขวดบางลง แต่แข็งแรงเท่าเดิมทั้งหมด เป็นกระบวนการภายในเพื่อจะพัฒนาไปในทิศทางที่เราอยากให้มันเป็น”

นอกจากนั้นยังมีเรื่องโซลาเซลล์ที่กลุ่มธุรกิจ TCP นำมาใช้เพื่อลดการใช้ทรัพยากร

นางสาวนุชรี กล่าวต่อว่า กรอบของความยั่งยืนมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามการดำเนินงาน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือปลายทางของการสร้างความยั่งยืนแห่งอนาคต

“ถ้าถามว่าเราทำไปแล้วได้อะไร พอเรามานึกหน้าเพื่อนพนักงาน ก็เห็นเขาน่าจะมีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ส่วนหนึ่งเล็กๆอยู่ในองค์กร แต่เขาเป็นส่วนหนึ่งที่มีพลังในการหยิบยื่นความช่วยเหลือที่จะสร้างเศรษฐกิจ หรือสร้างสิ่งดีๆที่บางครั้งแล้ว มันวัดไม่ได้ด้วยตัวเงิน และสังเกตเห็นได้ว่า แววตามีประกายนี่คือสิ่งที่เราได้”

“ในฐานะที่เราช่วยเหลือสังคมทำ CSR มานาน เราเพิ่งจะทำกรอบความยั่งยืนแค่ 3 ปี เรายังเป็นเด็กตัวน้อยๆที่กำลังเดินอยู่ เราก็คิดว่าหนทางนี้ต้องใช้เวลา และต้องใช้ความรู้จากเพื่อนๆทั้งหลายที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เรามีความแข็งแกร่งเกิด นี่เป็นแนวทางที่ใช่สำหรับอนาคต”

อ่านเพิ่มเติม