ThaiPublica > คนในข่าว > “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่า ธปท. ลำดับที่ 21 … “ทำสิ่งที่ถูกต้องถึงคนอื่นจะไม่รู้ แต่เรารู้”

“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่า ธปท. ลำดับที่ 21 … “ทำสิ่งที่ถูกต้องถึงคนอื่นจะไม่รู้ แต่เรารู้”

29 กรกฎาคม 2020


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ก่อนปิดรับสมัครผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รอบที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ยื่นใบสมัคร 10 นาทีสุดท้ายก่อนปิดรับสมัคร

คนที่รู้จัก ดร.เศรษฐพุฒิ หรือ “ดร.นก” บอกว่าเขาเป็นคนชอบตัดสินในนาทีสุดท้ายจนกว่าจะมั่นใจเสมอ

ดร.นกเป็นคนสนุกสนาน เป็นนักคิด นักทำ นักวางกลยุทธ์ ที่มองเห็นปัญหาโครงสร้างของประเทศ

ประวัติ ดร.เศรษฐพุฒิ จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์เกียรตินิยมอันดับสูงสุดจาก Swarthmore College ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา

ช่วงปี 2529-2531 เข้าทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ธุรกิจของบริษัท แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นในปี 2535 ก็ย้ายไปเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก (World Bank)

ปี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤติต้มย้ำกุ้ง รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศหมดเกลี้ยง เพราะถูกนำไปใช้ในการปกป้องค่าเงินบาท มีการสั่งปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง ภาคธุรกิจเอกชนเกือบครึ่งค่อนประเทศ มีหนี้เสียมากมาย ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ จึงเดินทางไปเจรจา ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จนมีการจัดทำหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) หรือ LOI ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540 IMF อนุมัติวงเงินกู้ให้ไทย 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกำหนดเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบเข้มงวด ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มีคนตกงานจำนวนมาก

นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ประกาศลาออก นายชวน หลีกภัย เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เป็นสมัยที่ 2 มีนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายธารินทร์ระดมเทคโนแครต นักเรียนทุนรัฐบาล ตั้งขึ้นเป็นทีมงานที่ปรึกษารัฐมนตรี เช่น นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัด 3 กระทรวง ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนบริหารหลักทรัพย์ของรัฐ สำนักรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ, นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สศค., นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนักวิชาการคลัง 9 กรมบัญชีกลาง และนายอิสสราพันธุ์ เพ็ชรรัตน์ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีฯ ดูแลงานทางด้านการเมืองในขณะนั้น และยังมีนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ติดตามในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ

แต่ยังขาดมือประสานงานกับองค์กรการเงินระหว่างประเทศ นายธารินทร์จึงมอบหมายให้นายศุภชัย พิศิษฐวานิช ปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้น ไปทาบทาม ดร.วิรไท สันติประภพ ซึ่งทำงานอยู่ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และ ดร.เศรษฐพุฒิทำงานอยู่ที่เวิลด์แบงก์ กรุงนิวยอร์ก มา 9 ปี กลับมารับใช้ชาติ ในตำแหน่งผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) เมื่อปี 2541 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษานายธารินทร์ เพื่อเตรียมตัวไปเจรจากับ IMF ขอปรับเป้าหมายการดำเนินนโยบายการคลัง จากเกินดุล 1% ของ GDP มาเป็นขาดดุล 1.6% ของ GDP และเพิ่มเป็น 2.4 % ของ GDP ในเวลาต่อมา เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งยังมีส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญๆ อีกหลายมาตรการ เช่น การกู้เงินจากธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย มาใช้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Loans – SAL), การกู้เงินรัฐบาลญี่ปุ่นมาใช้ในโครงการมิยาซาวา, โครงการ 14 สิงหาคม 2541 เพิ่มทุนให้สถาบันการเงิน จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เข้ามาแก้ปัญหาหนี้เสีย

ปัจจุบันทีมงาน “ธารินทร์” ในห้วงการแก้วิกฤติต้มยำกุ้งขณะนั้น บัดนี้ต่างอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญๆ ของประเทศ

หลังจากยุบสภาเมื่อปี 2544 ดร.เศรษฐพุฒิก็กลับไปเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกอีกครั้ง จากนั้นทำงานที่บริษัท McKinsey & Co ในนิวยอร์ก เป็นเวลา 2 ปี ต่อมาช่วงปี 2548-2550 กลับประเทศไทยเพื่อดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สายงานวิจัยและสารสนเทศ

ต่อมาได้ออกมาอยู่ในภาคธุรกิจ โดยร่วมงานกับบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ปี 2550-2551 และยังเป็นอนุกรรมการจัดการลงทุน (investment committee) ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ในปี 2551 ช่วงที่โลกกำลังประสบปัญหาวิกฤติการเงิน ได้โยกไปทำหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด แต่ทำหน้าที่นี้ได้ราว 1 ปีก็ได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารไทยพาณิชย์ให้ทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ chief economist ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB Center for Economic and Business Intelligence) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้น กล่าวว่า การมีผู้เชี่ยวชาญคุณภาพชั้นนำมาร่วมงานกับธนาคาร ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ SCB Center for Economic and Business Intelligence จะยังประโยชน์ในเรื่องข้อมูลเศรษฐกิจและข้อมูลธุรกิจเพื่อใช้ในการตัดสินใจในการดำเนินงานให้กับธนาคาร บริษัทในกลุ่มฯ และลูกค้าของธนาคาร ซึ่งงานดังกล่าว ดร.เศรษฐพุฒิเป็นผู้มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากได้สั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อผนวกกับความเชี่ยวชาญและการยอมรับในฐานะนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทยแล้ว จะทำให้ข้อมูลงานวิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

ดร.เศรษฐพุฒิร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์จนถึงมกราคม 2554 จึงได้ออกมาก่อตั้งบริษัท ดิ แอดไวเซอร์ จำกัด และรับหน้าที่กรรมการผู้จัดการ นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิยังรับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา ซึ่งมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจหลายเรื่อง

ดร.เศรษฐพุฒิได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารทหารไทยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ให้เป็นกรรมการธนาคารประธานกรรมการสรรหากำหนดค่าตอบแทนและบรรษัทภิบาล รวมทั้งเป็นกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธปท. ดร.เศรษฐพุฒินั่งเป็นกรรมการ เช่น คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรรมการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และกรรมการบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมที่ปรึกษาชุดใหญ่ ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มา : www.thaigov.go.th

ด้วยเหตุนี้ ชื่อ ดร.เศรษฐพุฒิจึงปรากฏขึ้นในตอนเย็นวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 หลังจากที่ ดร.เศรษฐพุฒิเข้าร่วมการประชุมทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจชุดใหญ่ของนายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย ดร.เศรษฐพุฒิ ได้ยื่นใบสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ว่า ธปท. คนใหม่ ก่อนปิดรับสมัครเวลา 16.30 น.

ด้วยความเป็นนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของประเทศ ผ่านประสบการณ์การทำงานตามที่กล่าวข้างต้น จึงไม่แปลกใจที่ถูกทาบให้ลงสมัครและตัดสินใจในนาทีสุดท้ายนี้ โดยได้แสดงวิสัยทัศน์ไปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ก่อนจะชี้ขาดได้รับการเสนอชื่อให้ ครม. อนุมัติเป็นผู้ว่า ธปท. คนที่ 21 ลำดับที่ 24 ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยว่า “เซ็นแล้ว ก็ ‘เศรษฐพุฒิ’ ไง กรรมการเขาคัดกรองขึ้นมามาจากคุณวุฒิ คุณสมบัติ การแสดงทัศนคติ วิสัยทัศน์คะแนนเขาเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่ผมไปกำหนดใครได้ที่ไหน แล้วก็เป็นคนรุ่นใหม่ จะได้มีหน้าใหม่ๆ มาช่วยงานกันบ้าง ไม่อย่างนั้นทุกคนก็ไม่กล้ากันหมด ก็ต้องให้กำลังใจสนับสนุนกันต่อไป ซึ่งเขาก็มีการประเมินของหน่วยงานเขาอยู่แล้ว ผมจะไม่ไปก้าวล่วงหรอกอำนาจของใครของใครก็ว่ามา วันนี้ผมก็บอกทุกคนว่าเราทำงานการเมืองไปด้วย ก็ต้องสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเห็นว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างไร ภาษาไทยมีความไว้วางใจเชื่อมั่นกันมากยิ่งขึ้น วันข้างหน้าใครจะเป็นอะไรก็เป็นได้หมด วันนี้เป็นวันที่ทุกคนจะพิสูจน์ฝีมือของตนเองออกมา ผมก็พูดกับ ครม. ทุกคนเพราะเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว ครอบครัวที่ต้องทำให้กับลูกหลานของเรา ผู้ได้รับผลประโยชน์จากเรามี 60 ล้านคน ไม่ทำเพื่อเขาจะทำเพื่อใคร ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด”

อนึ่ง การเปิดรับสมัครผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ มีผู้สมัครทั้งสิ้น 6 คน ประกอบด้วย คนใน ธปท. 2 คน คือ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน และนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน และบุคคลภายนอก 4 คน ได้แก่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ อดีตคณะกรรมการ กนง., ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, นายสุชาติ เตชะโพธิ์ไทร อดีตกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา เจเอฟ จำกัด หรือ “เอเจเอฟ” และนางสาวต้องใจ ธนะชานันท์ อดีตรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการลงทุน เอเจเอฟ โดยนายสุชาติและนางสาวต้องใจไม่ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหา

…….

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เคยให้สัมภาษณ์ “BOT พระสยาม Magazine” เดือนกันยายน-ตุลาคม 2558 ในโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 21 ลำดับที่ 24 “ไทยพับลิก้า” ขอนำบทความสัมภาษณ์มาตีพิมพ์อีกครั้ง

หลายคนรู้จัก ‘ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์มากฝีมือ ผ่านบทบาทของการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ‘BOT พระสยาม MAGAZINE’ ฉบับนี้มีโอกาสได้สนทนากับเขาถึงประเด็นเรื่องบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจไทย หรือ ‘New Normal’ และยังมีอีกหลายแง่มุมของชีวิตนักเศรษฐศาสตร์คนนี้ที่คุณอาจคาดไม่ถึง

EXPERIENCE OF A LIFETIME

เมื่อตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่เส้นทางสายเศรษฐศาสตร์ ดร.เศรษฐพุฒิจึงมุ่งมั่นหาความรู้และประสบการณ์ในการทำงานอย่างเข้มข้น เขามีดีกรีเป็นนักเรียนทุนด้านเศรษฐศาสตร์จาก Swarthmore College และต่อมาได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกจาก Yale University ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในแง่ของประสบการณ์การทำงาน ดร.เศรษฐพุฒิเคยร่วมทีมอยู่ในองค์กรชั้นนำระดับโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ชื่อดังอย่าง McKinsey & Company รวมถึงเป็นเศรษฐกรไทยที่ทำงานอยู่ในธนาคารโลก (World Bank) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นานนับสิบปี ประสบการณ์ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ หล่อหลอมให้ ดร.เศรษฐพุฒิกลายเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทย

“ข้อดีอย่างหนึ่ง คือ มันช่วยให้ผมเกิดมุมมองที่หลากหลายมาก เวลาจะทำอะไร เราย่อมคิดถึงและเข้าใจมุมมองของคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ยกตัวอย่างสมัยวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ผมได้กลับมาช่วยงานที่กระทรวงการคลัง หลังจากที่เคยทำงานอยู่ใน World Bank คราวนี้เรากลับต้องมานั่งอีกฝั่งหนึ่งของโต๊ะ ต้องเจรจากับ IMF รวมถึง World Bank ด้วย ซึ่งดีเลย เพราะเราพอจะเข้าใจว่าเขาคิดอย่างไร ช่วยให้เราเห็นภาพระหว่างการเจรจาว่าจะประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง”

สำหรับบทบาทหน้าที่ในปัจจุบัน ดร.เศรษฐพุฒิเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ซึ่งเขายอมรับว่าประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานทั้งในฝั่งของภาคเอกชนและภาคราชการ ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ ล้วนมีส่วนช่วยเสริมสร้างให้เขามีมุมมองที่หลากหลาย เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานในโลกยุคปัจจุบัน

“แม้กระทั่งตอนออกนโยบายการเงิน ด้วยความเข้าใจในฐานะคนที่เคยถูกผลกระทบจากนโยบายว่าเป็นอย่างไร เพราะผมเองก็เคยทำงานอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกกำกับดูแล ผมจึงเข้าใจว่าการออกนโยบายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ นั้น พวกเขาจะคิดเห็นกันอย่างไร ตรงนี้แหละที่ช่วยให้เรามีมุมมองที่ครบทุกด้าน”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

CHALLENGE OF THE ‘NEWER NORMAL’

ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยกำลังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลายคนเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าเศรษฐกิจภายใต้ ‘บริบทใหม่’ หรือ ‘new normal’ ซึ่ง ดร.เศรษฐพุฒิมองว่านี่เป็นสภาวะปกติที่ทุกประเทศต้องเผชิญเมื่อระบอบเศรษฐกิจพัฒนาจนส่งผลให้ระดับรายได้ต่อหัวของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น การเติบโตจึงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“สำหรับประเทศไทยอาจถือว่าเราเจอภาวะ new normal นี้เร็วผิดปกติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างประชากรไทย aging เร็วมาก เปรียบเสมือนคนที่ ‘แก่ก่อนรวย’ คือ ประชากรวัยทำงานของเรามีจำนวนเพิ่มขึ้นในสัดส่วนน้อยลง แต่ประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ กลับยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร รวมถึงปัจจัยการผลิตอย่างเทคโนโลยีที่เราควรมี มันยังไม่มี สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต และระดับรายได้สำหรับประชากรส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่ดี แต่อัตราการเติบโตกำลังชะลอตัวลดลงแล้วเราจะสร้างความมั่งคั่งให้พวกเขาอย่างไร จะสร้างโอกาสให้เขาอย่างไร นี่คือปัญหา”

ดังนั้น โจทย์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวผ่านสภาวะ new normal ควรดำเนินไปในทิศทางใด ดร.เศรษฐพุฒิได้ให้ความเห็นว่า “ในเมื่อแทร็กเดิมหรือสิ่งที่เราทำกันมาตลอดเริ่มไม่ค่อยให้ผลตอบแทนดีเท่าเดิมมันจึงเริ่มหมดเสน่ห์ เราจึงต้องหาแทร็กอื่นที่จะนำไปสู่ ‘the newer normal’ ซึ่งดีกว่าของเดิมที่เรามี ส่วนรูปแบบของ the newer normal จะมีอะไรบ้างนั้นเราควรต้องไปหาแหล่ง source of growth ใหม่ เนื่องจากแหล่งเดิมไม่สามารถสร้างการเติบโตได้แล้ว ตัวอย่างเช่น เดิมภาคธุรกิจอาจกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่ออัตราการขยายตัวเริ่มลดลงภาคธุรกิจก็ควรปรับตัวไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นต้น”

ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายมิติ เช่น ตัวอย่างที่กล่าวถึงเรื่องโครงสร้างประชากร ซึ่ง ดร.เศรษฐพุฒิคิดว่าเป็นประเด็นที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของแบงก์ชาติ มีขอบเขตกว้างเกินกว่าที่หน่วยงานราชการเพียงแค่หน่วยงานเดียวจะรับผิดชอบได้

“ทางเลือกมันหนีไม่พ้นและมีอยู่ไม่กี่ทาง หลายเรื่องอย่างโครงสร้างประชากรถือเป็นปัญหาสะสม อยู่ดีๆ จะให้ประชากรในวัยทำงานเพิ่มขึ้นทันทีคงเป็นไปได้ยาก ถ้าจำนวนคนไม่เพิ่มขึ้น จึงมีเพียงทางเลือกเดียวที่เหลือ นั่นคือเราต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งต้องมาจากการลงทุนด้านนวัตกรรมและปัจจัยด้านการผลิตอื่นๆ ส่วนตัวผมคิดว่าแต่ละคนควรทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดในเรื่องที่พึงควรทำ ถึงแม้ปัจจุบันภาพรวมเศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่ก็ต้องเข้าใจว่าต้นตอของปัญหาหลายอย่างไม่ได้อยู่ที่นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว บทบาทของนโยบายการเงินย่อมมีข้อจำกัด ไม่ใช่ดาบกายสิทธิ์ที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง หากใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมหรือใช้ผิด มันจะเกิดความเสี่ยง และ downside มหาศาล”

ดร.เศรษฐพุฒิยังอธิบายเพิ่มเติมถึงหนทางแก้ไขเพื่อนำพาประเทศไปสู่ทางออกที่ดีกว่า “เรื่องแรกเราต้องปรับMฝ mindset ของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเอกชน ประชาชนหรือวิชาการ อย่าคอยให้ภาครัฐลงมือทำอย่างเดียว แต่ควรวางบทบาทให้รัฐเป็น facilitator ช่วยผลักดันกระบวนการต่างๆ ที่ภาคเอกชนและประชาชนดำเนินการ รวมถึง mindset เรื่อง sense of urgency จากที่เคยคิดว่าเป็นปัญหาในระยะยาว คราวนี้จะปล่อยผ่านไม่ได้แล้ว”

BEST LESSON LEARNED

เมื่อว่างจากการทำงาน กิจกรรมที่ ดร.เศรษฐพุฒิโปรดปราน คือ การอ่านหนังสือซึ่งเป็นความเคยชินมาตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้การอ่านก็ยังเป็นการผ่อนคลายที่ทำเป็นประจำ แต่ในวันที่เขาเหนื่อยล้าจากการทำงานจนไม่มีแรงพลิกหน้ากระดาษ เขาจะใช้วิธีการ ‘ฟังหนังสือ’ ผ่าน audio book โดยแนวที่ชอบเป็นหนังสือประวัติศาสตร์สงคราม เพราะทำให้เห็นกระแสหรือเทรนด์จากการตัดสินใจได้อย่างชัดเจน

ในฐานะนักอ่านตัวยง เราจึงขอให้ ดร.เศรษฐพุฒิแนะนำหนังสือที่น่าสนใจให้คนที่แบงก์ชาติอ่าน

“ก่อนอื่นผมขอชื่นชมคุณภาพของบุคลากรที่ทำงานในแบงก์ชาติ ก่อนหน้านี้ผมพอจะรู้มาบ้างว่าคนแบงก์ชาติเก่ง มีความสามารถ แต่เมื่อได้มาสัมผัสและร่วมงานกับน้องๆ หลายคน ผมประทับใจเกินคาด รวมถึงทัศนคติในการทำงานยิ่งทำให้ประทับใจและพูดชมได้เต็มปากเต็มคำ ซึ่งผมอยากเห็นคนกลุ่มนี้ได้มีบทบาทมากขึ้น สามารถฉาย skill ของเขาได้เต็มที่ ถ้าจะให้แนะนำหนังสือสำหรับคนแบงก์ชาติ โดยที่เราก็รู้จักคนแบงก์ชาติว่าอยากจะให้พวกเขาอ่านอะไร เพื่อจะช่วยเพิ่มมุมมองใหม่ๆ แก่เขา ผมคิดมาสองเล่ม”

เล่มแรกเป็นหนังสือ ชื่อ ‘A Demon of Our Own Design’ เขียนโดย Richard Bookstaber เนื้อหาหลักๆ บอกว่าทำไมวิกฤติการเงินจึงเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น จากเหตุการณ์ผันผวนตลาดครั้งเดียวในรอบ 100 ปี กลับเกิดขึ้นทุก 10 ปี เขาอธิบายว่าเป็นเพราะทุกอย่างในโลกทวีความซับซ้อนขึ้น ส่งผลให้ความเสี่ยงต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยส่วนตัวผมชอบนักเขียนคนนี้เพราะมีมุมมองน่าสนใจ เขาเติบโตมาจากสายงานของนักวิชาการ ทำงานเป็นอาจารย์อยู่ช่วงหนึ่งและผ่านการทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ใน Wall Street จึงเห็นตับไตไส้พุงเกือบทั้งหมด แต่ยังคงมีความเป็นนักวิชาการแฝงอยู่ เลยเป็นการผสมมุมมองที่ผมคิดว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนของแบงก์ชาติ ผมว่ามันช่วยเตือนสติพวกเราถึงการนำนวัตกรรมการเงินจากต่างประเทศมาใช้ บางทีเราอาจคิดว่าของใหม่ดี เก๋ เซ็กซี่ ซึ่งอาจไม่ดีเสมอไป เพราะเมื่อโยงกลับมาเรื่องการบริหารความเสี่ยง หาก innovation เข้ามาทำให้ตลาดมันเกิดประสิทธิภาพ เวลาเกิดข้อผิดพลาด มันย่อมสร้าง downside มหาศาลเช่นกัน หนังสือเล่มนี้จะช่วยเตือนสติถึงเรื่องพวกนี้ได้เป็นอย่างดี

หนังสือเล่มที่สอง ดร.เศรษฐพุฒิเกริ่นว่ามันจะช่วยเตือนสติอีกรูปแบบหนึ่ง ชื่อ ‘The Tyranny of Experts’ เป็นผลงานของ William Easterly ผู้เคยทำงานอยู่ฝ่ายวิชาการที่ World Bank ในช่วงที่ ดร.เศรษฐพุฒิทำงานอยู่ที่นั่น

“มุมมองของหนังสือเล่มนี้กำลังบอกเราว่าพวกที่ถูกฝึกเรื่องเทคนิคเยอะๆ หรือพวกเทคโนแครตมักจะชอบให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิดว่านโยบายต้องเป็นอย่างนี้ แล้วนำเอาไปปฏิบัติ ซึ่งอันที่จริงของพวกนี้ไม่ค่อยเวิร์ก เพราะผู้เชี่ยวชาญไม่มีทางรู้ทุกเรื่องได้ ทั้งสองเล่มนี้มีธีมของเนื้อหาใกล้เคียงกัน คือ อธิบายถึงความซับซ้อนของโลกในยุคปัจจุบันว่า complexity เกิดขึ้นสูงมากจนเราไม่มีทางกำหนดได้แน่นอนว่าทำอะไรลงไปแล้วจะเกิดผลอย่างที่เราคิดหรือไม่ ซึ่งมันมีศัพท์เรียกว่า emerging solution หรือ emerging behavior คือ อย่าไปคิดแทน ปล่อยให้กลไกต่างๆ ทำงานและโซลูชันจะโผล่ออกมาเอง”

เมื่อถามว่าเขาอยากจับปากกาเขียนหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่มหรือเปล่า ดร.เศรษฐพุฒิยอมรับว่ามีไอเดียนั้นอยู่แล้ว แต่การหา ‘เวลา’ สำหรับผลิตผลงานนั้นยากกว่าหลายเท่าตัว

“ผมยอมรับว่าการบริหารเวลาเป็นอะไรที่ยากครับ” เขาพูดอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับเล่าต่อว่า “ผมมองว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับมนุษย์เรา ผมจึงเป็นคนที่หวงเรื่องเวลามาก เลยเป็นที่มาของการอยากออกมาทำธุรกิจเอง แต่ก็เหมือนเราต้องกลับมาเรียนรู้ตัวเองอีกครั้งเพราะจากเดิมคิดว่าออกมาแล้วจะมีเวลามากขึ้น กลับกลายเป็นว่าเราบริหารเวลาได้ยากขึ้นไปอีก”

แม้เวลาจะมีค่ามาก แต่เขาก็ยังให้เวลากับกิจกรรมยามว่างสุดสัปดาห์ เขาเลือกที่จะอ่านหนังสือ วาดภาพ หรือแม้แต่นั่งเฉยๆ เพื่อให้เวลากับการคิด ที่บ้านพักหลังเล็กๆ เงียบสงบในจังหวัดนครนายกกับภรรยา ดูเป็นกิจกรรมที่แสนจะธรรมดาสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าเช่นเขา

THE BOTTOM LINE

บุคคลที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดในการใช้ชีวิตของเขาคือ คุณพ่อ “สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคุณพ่อ คือ ความสำคัญของ integrity ท่านสอนให้เราทำสิ่งที่ถูกต้องถึงคนอื่นจะไม่รู้ แต่เรารู้”

นอกจากนั้น ดร.เศรษฐพุฒิไม่ได้เจาะจงบุคคลต้นแบบว่าเป็นใคร แต่เขาได้เรียนรู้จากทุกคนรอบข้าง เช่น เพื่อนร่วมงานผู้ให้แนวคิดเรื่องการไม่ละเลยสิ่งเล็กน้อย ที่ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่มีผลต่อจิตใจของผู้ที่ร่วมงานด้วยกัน

สุดท้ายนี้ เราถามถึงเคล็ดลับเพื่อการมีความสุขและความสำเร็จ โดย ดร.เศรษฐพุฒิได้เล่าถึงสิ่งที่จะทำให้มีความสุขว่า “การรู้จักตัวเองและซื่อสัตย์ต่อตัวเองครับ อันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว เพราะผมก็เหมือนกับหลายคนที่ยังมีกิเลส เมื่อก่อนเวลาคนชวนไปทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูง ดูแลบริษัทขนาดใหญ่ คือ on paper เป็นงานที่ดูดีจริง แต่นั่นเป็นงานที่ผมชอบน้อยที่สุดและเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขน้อยที่สุดเช่นกัน ฉะนั้น มันจึงกลับมาที่ตัวเราควรต้องวัดจากข้างใน อย่าไปวัดว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวทิ้งท้ายถึงเคล็ดลับความสำเร็จสั้นๆ แต่ให้ข้อคิดว่า “มีใครล่ะที่ไม่ชอบความสำเร็จ คือความสำเร็จสำคัญนะ แต่ถ้าไปยึดติดกับมันมาก ชีวิตของเราคงไม่มีความสุขนักหรอก”