เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน “Quarterly Economic Assessment and Outlook” ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ซึ่งแม้ว่าจะจัดเป็นประจำสำหรับการให้ข้อมูลของเศรษฐกิจไทยแก่นักลงทุนในประเทศไทย และเปิดโอกาสให้ซักถามและสื่อสารนโยบายกับ ธปท. โดยตรง แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังและซักถามไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ นับเป็นการสื่อสารครั้งแรกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยและนโยบายการเงินของ ธปท. อย่างเป็นทางการภายหลังการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 และในรอบ 3 ปีครึ่งภายหลังจากคงดอกเบี้ยไว้ครั้งล่าสุด โดยให้เหตุผลว่า ความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับที่ผ่านมาลดน้อยลงและเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต แม้ว่าจะมีกรรมการ 2 รายเห็นว่าควรจะต้องติดตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้าในอนาคตต่อไปอีกสักระยะ
ความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาก อยู่ในช่วงปี 2551 ที่เกิดวิกฤติการเงินโลกในสหรัฐอเมริกา กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 3.75% ในช่วงพฤศจิกายน 2551 เหลือเพียง 1.25% ในเดือนเมษายน 2552 หรือลดดอกเบี้ยไป 2.5% ภายในระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจนหดตัวต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 หลังจากนั้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมาที่ระดับปกติ ดอกเบี้ยนโยบายทยอยปรับขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางปี 2553 จนกลับขึ้นมาที่ระดับ 3.5% ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2554 ก่อนจะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีหดตัวไป 4%
แม้เศรษฐกิจในช่วงปีถัดมาจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ แต่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติการเมืองในช่วงกลางปี 2556 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ ชะลอตัวลงจนอยู่ในระดับที่ไม่ได้ขยายตัวอีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้ กนง. จึงทยอยลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจจนมาอยู่ที่ระดับ 1.5% ในช่วงต้นปี 2558 และคงระดับดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้เกือบ 4 ปี อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าแม้ว่าในช่วงแรกจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ กลับมาที่ระดับ 2.5-3% ในช่วงปี 2558-2559 แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2560 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยพลิกกลับมาอยู่ที่ประมาณ 4% จากอานิสงส์ของเศรษฐกิจการค้าโลกที่กลับมาเติบโตอีกครั้ง และทำให้นโยบายการเงินอาจจะผ่อนคลายเกินความจำเป็น
รักษา “เสถียรภาพการเงิน” เป้าหมายหลัก – สะสม “พื้นที่นโยบาย” เป้าหมายรอง
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีคำถามถึงความชัดเจนของการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณและทิศทางนโยบายเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อของ ธปท. ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและไทยกำลังชะลอตัวลง เป้าหมายและความพอเพียงของพื้นที่นโยบายสำหรับการรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจในอนาคต และความคุ้มค่าของการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เริ่มต้นกล่าวถึงความกังวลด้านเสถียรภาพระบบการเงินว่า แม้ปัจจุบันเสถียรภาพการเงินของไทยโดยรวมจะอยู่ในระดับที่ดี แต่เวลาพูดถึงเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงินในหลักการ ธปท. จะไม่สามารถวางใจ เพราะเสถียรภาพเวลาไม่ได้มีปัญหาทุกคนไม่รู้สึกว่ามีปัญหา แต่เมื่อไหร่ที่มีปัญหามักจะช้าเกินไปแล้ว ดังนั้น มาตรการเรื่องเสถียรภาพเป็นมาตรการที่ต้องทำล่วงหน้า เป็นมาตรการเชิงป้องกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการในภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือมาตรการสินเชื่อบัตรเครดิต หรือการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เข้มงวดขึ้น
“ที่เราไม่สามารถวางใจวางใจได้เต็มที่เพราะไม่ใช่เพียงเฉพาะข้อมูลตัวเลขที่จับต้องได้ที่ทำให้เรากังวล แต่พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบการเงินที่ไม่ค่อยได้พูดถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นธนาคารเงาที่ใหญ่ของระบบการเงินไทย วันนี้เงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์คิดเป็น 10% ของเงินฝากทั้งระบบ หรือพฤติกรรมการออกหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราเห็นพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ โดยมองว่าสินเชื่อเหล่านี้เป็นเพียงสินเชื่อชั่วคราว อาจจะวิเคราะห์โครงการใหญ่ๆ เพียง 1 ปี และคาดว่าบริษัทเหล่านี้จะไปหาแหล่งเงินจากตลาดทุนหรือออกตราสารหนี้ หรือแม้กระทั่งภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่แตกต่างจากกรณีการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นหรือการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าความเป็นจริง ที่ว่ามีคนที่มีเงินเย็นและพยายามหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ในกรณีของสินเชื่อที่อยู่อาศัยกลายเป็นคนไปกู้เงินมาเพื่อแสวงหาผลตอบแทน กระบวนการปล่อยสินเชื่อก็มีเงินทอน มีการแข่งขันกันจนเกินพอดี การประเมินราคาหลักประกันที่เกินพอดี หนี้เสียในกลุ่มนี้ก็สูงขึ้น พวกนี้เป็นสัญญาณจากพฤติกรรมว่ามีการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไปในระบบการเงินไทย ดังนั้น ธปท. จะต้องใช้มาตรการหลายอย่างเข้ามาดูแลร่วมกัน และแม้ว่า ธปท. จะออกมาตรการ macro prudential ซึ่งเป็นเหมือนฝายกั้นน้ำ แต่อีกด้านหนึ่งนโยบายการเงินในภาพใหญ่ที่เป็นเหมือนน้ำ เป็นปริมาณเงินที่เข้าสู่ระบบ ก็ต้องสอดคล้องกัน เพราะเรามีภาคที่เป็นธนาคารเงาอยู่มากพอสมควร ถ้ามันมากจนเพี้ยนก็จะเป็นปัญหาในระยะต่อไป กนง. จึงให้ความสำคัญการป้องกันไม่ให้ผลข้างเคียงมันสร้างความเปราะบางให้เป็นปัญหาของระบบการเงินไทย” ดร.วิรไทกล่าว
ขณะที่เป้าหมายนโยบายภายใต้กรอบเงินเฟ้อและระดับการสะสมพื้นที่นโยบายที่เหมาะสม ดร.วิรไทกล่าวว่า ธปท. ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องเป็นที่ระดับหรือมีพื้นที่นโยบายเท่าไหร่ เพราะว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคจะต้องประสานนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน รวมไปถึงบริบทของการใช้นโยบายในแต่ละช่วงเวลาด้วย ดังนั้น ความจำเป็นของการดำเนินนโยบายแต่ละรูปแบบจะแตกต่างกันไป แต่สำหรับนโยบายการเงินในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงรุนแรง การค่อยๆ ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะไม่ส่งผลเท่าไหร่ แต่ต้องมีพื้นที่นโยบายที่มากและทำได้ค่อนข้างแรง เช่น ย้อนกลับไปช่วงปี 2551 ที่มีวิกฤติการเงินโลก กนง. ได้ปรับลดนโยบายค่อนข้างมากอย่างรวดเร็ว หรือช่วงปี 2558 ที่มีวิกฤติการเมืองในประเทศจนเศรษฐกิจชะงักงันหมดและนโยบายการคลังไม่สามารถใช้ได้เลย เพราะรัฐบาลยังมีปัญหาเรื่องการจัดทำงบประมาณ กนง. ก็ตัดสินใจดำเนินการที่ค่อนข้างแรงคือลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดต่อกัน
ดังนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพ ถ้ามีโอกาสก็ต้องสะสมพื้นที่นโยบาย แต่แน่นอนว่ามุมมองของนโยบายการเงินยังเป็นการผ่อนคลายอยู่ การใช้คำว่าสะสมพื้นที่นโยบายอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องไปเรื่อยจนถึงระดับที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เป็นเป้าหมายรองของการตัดสินนโยบาย ส่วนเป้าหมายหลักจะเป็นการชั่งน้ำหนักเรื่องของเงินเฟ้อ เรื่องการเติบโตตามศักยภาพของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพการเงิน
“บริบทของเศรษฐกิจโลกและไทยที่เปลี่ยนแปลงไปสำคัญ เศรษฐกิจชะลอลง มีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น แต่ค่ากลางของคาดการณ์ หรือ baseline ของ ธปท. ยังคิดว่าอยู่ที่ประมาณ 4% เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงก็จริง แต่ถ้าดูอัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกาก็ต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ การจ้างงานก็เพิ่มขึ้น ในยุโรปก็เช่นเดียวกัน เห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ดังนั้น เวลาดูตัวเลขจากข่าวต่างๆ ว่าจะมีการถดถอยของเศรษฐกิจแรงๆ หดตัวแรงๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นสถานการณ์พื้นฐานในการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของสถาบันหรือธนาคารกลางต่างๆ ฉะนั้น โดยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยก็คาดว่าจะเติบโตสอดคล้องกับศักยภาพ แต่ความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ เราก็ต้องพร้อมใช้เครื่องมือต่างๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นี่เป็นหลักการที่ กนง. ใช้แนวนโยบายแบบขึ้นอยู่กับข้อมูลและสถานการณ์ หรือ data dependent เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเปิดขนาดเล็ก ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้กระทบกับไทยได้ง่ายและหลายรูปแบบ เป็นเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มประเทศเหล่านี้จะไม่ได้พวก dot plot คาดการณ์ระดับนโยบายการเงินที่เหมาะสมในอนาคตมากนัก เพื่อแลกกับความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายในสถานการณ์ต่างๆ เช่นเดียวกับเรื่องการเปิดเผยผลการออกเสียงของ กนง. รายบุคคลว่าอาจจะทำให้การถกเถียงไม่อิสระหรือตรงไปตรงมา เพราะเมื่อเปิดเผยออกไปอาจจะทำให้แรงกดดันไปตกอยู่กับกรรมการแต่ละคนและกระทบการตัดสินใจได้” ดร.วิรไทกล่าว
ดร.วิรไทกล่าวต่อไปถึงกรอบนโยบายแบบเป้าหมายเงินเฟ้อว่า ถ้าดูพัฒนาการของธนาคารกลางต่างๆ ในโลกคิดว่าไปในทิศทางเดียวกัน เพราะทุกคนมองกรอบเป้าหมายที่ยืดหยุ่นมากขึ้นในหลายมิติ ตั้งแต่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่แทนที่จะทำเป็นเป้าหมายเพียงจุดเดียว ก็จะทำเป็นกรอบสูงสุดต่ำสุดเพิ่มมากขึ้น ระยะเวลาการปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายก็ยาวขึ้น ในหลายธนาคารกลางจะให้ความสำคัญกับเป้าหมายระยะปานกลางมากขึ้น และมีเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินที่เข้ามามีปัจจัยมากขึ้น และทุกธนาคารกลางได้ตระหนักว่าพัฒนาการของเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น เทคโนโลยีที่กระทบกับราคาสินค้าหลายประเภทถูกลง ราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีการขุดเจาะจากหินน้ำมัน หรือ shale oil ได้ หรือเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงจากที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น
หากกลับมาดูเงินเฟ้อหรือตระกร้าเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ระดับ 1% แต่ประชาชนจะบอกว่าไม่รู้สึกว่าราคาถูกลงแต่กลับรู้สึกว่าแพงขึ้น แต่ถ้าหากไปแยกตระกร้าสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อจะเห็นชัดเจนว่า มีสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเหล่านี้ที่ถ่วงอัตราเงินเฟ้อของไทยให้ต่ำลงค่อนข้างมาก เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์จอแบน ซึ่งไม่ได้เป็นสินค้าที่ประชาชนจับจ่ายใช้สอยทุกวันแต่กลับอยู่ในตระกร้าที่คำนวณเงินเฟ้อ ฉะนั้น เรื่องพัฒนาการเงินเฟ้อจะเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอีกมาก และเชื่อมโยงกลับมาในการกำหนดนโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป อนึ่ง หากดูการกำหนดกรอบนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อช่วงที่ผ่านมา ธปท. ทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังชัดเจนว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะเป็นกรอบระยะปานกลาง คือเป็นของปีปฏิทินถัดไป จากเดิมที่จะเน้นไปในแต่ละปีปฏิทิน
“นโยบายทุกอย่างมีต้นทุน ทำอย่างหนึ่งก็เกิดผลข้างเคียงอีกอย่าง ถ้าเรามีเป้าหมายแบบจุดเดียว เลขตัวเดียวแล้วพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เงินเฟ้อตรงตามเป้าหมาย จะสร้างผลข้างเคียงได้ค่อนข้างมากในเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน ดังนั้นต้องชั่งน้ำหนักการตัดสินนโยบายด้วย เป็นการดำเนินนโยบายที่ต้องมีความรับผิดชอบ เนื่องจากเราเป็นประเทศเปิดขนาดเล็กที่รับผลกระทบจากภายนอกได้ง่าย เราต้องประเมินบริบทของสถานการณ์แต่ละช่วงเวลามากกว่าการทำนโยบายแบบยึดกฎ หรือ rule-based policy เพียอย่างเดียว ช่วงหลังก็เห็นหลายประเทศเริ่มกังวลกับปัจจัยข้างเคียงเหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางที่ต้องทำทั้งนโยบายการเงินและการกำกับสถาบันการเงินพร้อมกัน แตกต่างจากธนาคารกลางที่ทำหน้าที่นโยบายการเงินอย่างเดียว และมีอีกองค์กรที่ดูแลสถาบันการเงินเฉพาะ แบบนั้นที่จะเน้นการใช้กฎได้ง่าย” ดร.วิรไทกล่าว
ประเมินเศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพ – กังวลระบบการเงินเสี่ยงขึ้น
ด้านนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวสรุปถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า การประชุมนักวิเคราะห์บอกว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 4.2% และ 4.0% ในปี 2561 และปี 2562 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องตามรายได้นอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัว รวมถึงมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน สำหรับการส่งออกสินค้าชะลอลงจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้า แต่ผลดีจากการย้ายคำสั่งซื้อและการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยจะเป็นปัจจัยสนับสนุนในระยะต่อไป โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวที่ 7.0% และ 3.8% ในปี 2561 และปี 2562 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกบริการขยายตัวชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง แต่ล่าสุดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นแล้ว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 อยู่ที่ 1.1% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของนโยบายการเงิน ในปี 2562 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 1.0% โดยอาจจะต่ำกว่า ที่ประเมินนี้ได้จากความเสี่ยงเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่มีมากขึ้น สำหรับเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่ยังไม่ปรับดีขึ้นชัดเจนจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นจนประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากประชาชนก่อหนี้มากขึ้นเพื่อการบริโภคและไม่จูงใจให้เกิดการออม
“เรื่องเสถียรภาพระบบการเงินพบเห็นว่าในหลายมิติเสี่ยงขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ แม้ว่าการขยายตัวของสินทรัพย์จะชะลอลงหลังจากมีมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้นช่วงกลางปี 2560 แต่จะเห็นว่าโครงสร้างปรับเปลี่ยนไปโดยมีการให้กู้ยืมกันระหว่างสหกรณ์มากขึ้น และทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันและความเสี่ยงเชิงระบบมากขึ้น ในแง่ที่ว่าหากสหกรณ์บางแห่งมีปัญหาก็จะทำให้สหกรณ์อื่นๆ มีปัญหาตามได้ ขณะที่ในมุมของธุรกิจขนาดใหญ่ 20 แห่งแรกพบว่ามีการเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญกับระบบการเงิน ผ่านการออกตราสารหนี้และการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น หรือในด้านอสังหาริมทรัพย์ที่แม้ว่าจะมีมาตรการเฉพาะออกมา แต่อัตราส่วนสินเชื่อต่อรายได้ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่รวมทั้งต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะอุปทานคงค้างในระยะต่อไปอีก นอกจากนี้ ธปท. เริ่มเห็นสัดส่วนของการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยมูลค่าเงินโอนเพื่อการซื้อขายอาคารชุดในไตรมาส 3 ของปี 2561 อยู่ที่ระดับ 68,000 ล้านบาท คิดเป็น 31% ของการซื้อขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 2558-2560 ที่ประมาณ 24%” นายทิตนันทิ์ กล่าว
ในการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด (วันที่ 19 ธ.ค. 2561) กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่ที่ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเห็นว่า การลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงจะช่วยลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้าง policy space สำหรับอนาคตเมื่อมีโอกาส ทั้งนี้ กนง. เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะยังมีความเหมาะสมในระยะข้างหน้า และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะค่อยเป็นค่อยไปโดยอาจไม่ต่อเนื่องเช่นในอดีต โดยจะประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูลเป็นสำคัญ ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เช่น ผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจมากกว่าคาด และการที่สหราชอาณาจักรอาจออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit)
การสื่อสารนโยบายการเงินในยุค “วิรไท สันติประภพ”
อนึ่ง การสื่อสารนโยบายของ ธปท. กับสื่อมวลชนจะมีเพียง 3 รูปแบบที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายการเงินโดยตรง ได้แก่ 1) เอกสารและการแถลงข่าววันที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ press statement 2) รายงานนโยบายการเงิน หรือ monetary policy report ซึ่งจะเป็นการทบทวนการคาดการณ์และสรุปภาวะเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละช่วงของปี ปีละ 4 ครั้ง และ 3) รายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อ หรือ edited minutes ซึ่งเป็นการสรุปรายละเอียดการประชุม เช่นกรรมการที่ร่วมประชุม ประเด็นการตัดสินใจของ กนง. ที่ละเอียดกว่าการแถลงข่าว เป็นต้น
ทั้งนี้ รูปแบบการสื่อสารจะเริ่มต้นจากกำหนดการประชุม กนง. ที่จะกำหนดล่วงหน้า โดยจะประชุมในวันพุธทุกๆ 6 สัปดาห์ หรือปีละ 8 ครั้ง และแถลงข่าวเฉพาะผลการประชุมที่เกี่ยวกับนโยบายการเงินในเวลาบ่ายสองโมงตรงของวันดังกล่าว โดยไม่เปิดเผยการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากกังวลว่าอาจจะกระทบกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงิน และเลือกจะไปเปิดเผยในรายงานนโยบายการเงินที่มีกำหนดการแถลงข่าวครั้งเว้นครั้งของการประชุม กนง. ในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ถัดไปหลังการประชุม กนง. แทน และสุดท้าย รายงานการะชุม กนง. ฉบับย่อจะเปิดเผยในวันพุธ 2 สัปดาห์หลังจากการประชุม กนง.
ในปี 2560 ธปท. ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารนโยบาย โดยเริ่มเปิดเผยการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจพร้อมกับการแถลงข่าวผลการประชุม กนง. เพื่อความชัดเจนของการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ขณะที่ยังคงการเปิดเผยและแถลงข่าวรายงายนโยบายการเงินตามกำหนดการเดิมต่อไป ก่อนที่ต่อมาในปี 2561 จะย้ายการแถลงข่าวและการเปิดเผยรายงานนโยบายการเงินไปเปิดเผยพร้อมกับรายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อใน 2 สัปดาห์ภายหลังการประชุม กนง. แทน และในปี 2562 ธปท. ได้ยกเลิกการแถลงข่าวรายงานนโยบายการเงินและนำมารวมกับงาน Quarterly Economic Assessment and Outlook เพื่อปรับปรุงกระบวนการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้รับฟังความเห็นของนักลงทุน เพิ่มเติมไปจากมุมมองของ ธปท. เท่านั้น