ThaiPublica > เกาะกระแส > ขุนคลัง เผย ธปท. เตรียมขยายวงเงิน โอนผ่าน “พร้อมเพย์” ฟรี ครั้งละ 7 แสนบาท ภายใน 2 เดือน

ขุนคลัง เผย ธปท. เตรียมขยายวงเงิน โอนผ่าน “พร้อมเพย์” ฟรี ครั้งละ 7 แสนบาท ภายใน 2 เดือน

27 สิงหาคม 2018


นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ครั้งที่ 4/2561 ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 กระทรวงการคลัง

หลังการประชุม นายอภิศักดิ์กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกโครงการเดินหน้าไปได้ด้วยดี โครงการพัฒนาระบบพร้อมเพย์ และขยายการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2561 มีผู้มาลงทะเบียนพร้อมเพย์รวมทั้งสิ้น 44.3 ล้านราย โอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ 525 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.6 ล้านล้านบาท วงเงินโอนเฉลี่ยไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ

“สาเหตุที่มีผู้มาใช้บริการพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เกิดขึ้นหลังจากธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ การประชุมวันนี้ตนจึงได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อขยายวงเงินในการโอนเงินเพิ่มเป็น 700,000 บาทต่อรายการ ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า จากนั้นอีก 2 เดือนถัดมาให้ขยายขึ้นเป็น 2 ล้านบาทต่อรายการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ในปริมาณมากๆ ซึ่งจะไปสอดรับกับแผนการพัฒนาระบบการชำระเงินของตลาดทุน” นายอภิศักดิ์กล่าว

  • พร้อมเพย์: ระบบชำระเงินของโลกยุคใหม่
  • ธปท. ไฟเขียวบริการ “Request to Pay” ผ่านพร้อมเพย์ เพิ่มช่องชำระเงิน เริ่ม 17 ก.พ. 2561
  • เริ่มแล้ว e-Donation บริจาคเงินออนไลน์ผ่านแบงก์-ไม่มีค่าธรรมเนียมออกใบอนุโมทนาลดหย่อนภาษีทันที
  • นายอภิศักดิ์กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกราย เข้ามาลงทุนเรื่องระบบการชำระเงิน ซึ่ง e-Wallet ก็เป็นแนวทางหนึ่ง โครงการนี้เปิดให้บริการไม่ถึง 2 เดือน มียอดการทำรายการสะสม 1.9 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2561 ประมาณ 17% บริการชำระบิลข้ามธนาคาร (Cross-Bank Bill Payment) ข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2561 มี Biller ID มาลงทะเบียน 15,150 หมายเลข และมียอดการทำรายการสะสม 1.1 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 52% ส่วนบริการ Pay Alert (Request To Pay) มียอดทำรายการสะสม 53,000 รายการ เพิ่มขึ้น 7%

    “ก้าวต่อไปในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ก็จะมีการต่อยอดระบบพร้อมเพย์ โดยให้การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค พัฒนาระบบแอปพลิเคชัน เข้ามาเชื่อมโยงกับระบบพร้อมเพย์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการสามารถสั่งจ่ายเงินชำระค่าสาธารณูปโภคโดยตรงผ่านพร้อมเพย์ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม” นายอภิศักดิ์กล่าว

    ถัดมาเป็นโครงการบริจาคเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เริ่มเปิดให้บริการประมาณ 2 เดือน ข้อมูลจากหน่วยรับเงินบริจาค ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2561 มีผู้บริจาคเงินผ่าน QR code ทั้งสิ้น 2,636 ราย คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,236,717 บาท บริจาคเป็นเงินสดผ่านโครงการ e-Donation ประมาณ 10,529 ราย คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 78.4 ล้านบาท กรมสรรพากรแจ้งต่อที่ประชุมว่าในอนาคตกรมสรรพากรจะให้ผู้เสียภาษี นำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีได้ เฉพาะที่บริจาคเงินผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาเรื่องการปลอมแปลงใบอนุโมทนาบัตร หรือการทุจริตเงินบริจาคได้

    สุดท้ายเป็นโครงการพัฒนาระบบ e-Payment ภาครัฐ เช่น โครงการจ่ายเงินสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการเพิ่มรประสิทธิภาพการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ แต่ที่กำลังเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาเครื่องรูดบัตร (EDC) ให้สามารถแยกรายงานมูลค่าสินค้ากับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อให้กรมสรรพากรสามารถรับรู้ยอดขายและ VAT ได้ทันที (realtime) ทุกครั้งที่รูดบัตร ข้อมูลจะออนไลน์เข้าสู่ระบบของกรมสรรพากร โดยจะเริ่มจากผู้ที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรูดซื้อสินค้า ซึ่งจะได้รับสิทธิในการคืน VAT ตามกำหนดการเดิมนั้นตนจะให้เริ่มในเดือนตุลาคม 2561 แต่กรมสรรพากรเตรียมพัฒนาระบบไม่ทัน จึงให้เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งอาจใช้รูปแบบนี้กับการออกแบบนโยบายภาษีในอนาคตได้ เช่น โครงการช็อปช่วยชาติ อาจจะไม่ต้องไปยืนรอคิวเพื่อขอใบกำกับภาษี เครื่อง EDC สามารถออนไลน์ข้อมูลไปที่กรมสรรพากรได้ทันที

    นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลังยังมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. … เพื่อรองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย (e-Withholding Tax) หากผู้เสียภาษีชำระค่าภาษีผ่านระบบนี้ ปกติต้องหักนำส่งกรมสรรพากรในอัตรา 3% ปรับลดเหลือ 1-2% นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันเรื่องการฟอกเงิน การพนัน ยาเสพติด การทุจริตคอร์รัปชัน หากกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบพบหากเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน กรมสรรพากรก็ส่งข้อมูลให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ส่งจะส่งให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) เป็นต้น