ThaiPublica > เกาะกระแส > สรุป 11 ข้อ หลักเกณฑ์ Soft Loan ธปท.ช่วยเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท

สรุป 11 ข้อ หลักเกณฑ์ Soft Loan ธปท.ช่วยเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท

20 เมษายน 2020


เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ พ.ศ. ๒๕๖๓” โดยมีรายละเอียดดังนี้

วัตถุประสงค์ คุณสมบัติเอสเอ็มอี และรายละเอียดเบื้องต้น

  1. วัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือจากมาตรการที่รัฐกำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติอันเป็นการระงับ ยับยั้ง และแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ให้ดำเนินการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้
  2. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คือวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจที่มีลักษณะตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
  3. ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราวภายในวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี โดยอาจรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินที่สถาบันการเงินผู้กู้เป็นผู้ออกก็ได้
  4. ให้สถาบันการเงินยื่นคำขอกู้ยืมเงินต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือต่อไปและยังมีวงเงินเหลืออยู่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกคราวละไม่เกิน 6 เดือนก็ได้แต่ไม่เกิน 2 คราว
  5. ในการให้กู้ยืมเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้สถาบันการเงินผู้กู้ต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ แต่หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างภาระโดยไม่จำเป็นในการยื่นคำขอ หรือกำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องต้องขออนุญาต
  6. ให้สถาบันการเงินชำระคืนเงินที่ได้กู้ยืมตามพระราชกำหนดนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับเงินกู้

รายละเอียดการกู้เงินของเอสเอ็มอี

  1. การให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ สถาบันการเงินต้องดำเนินการตามเงื่อนไขดังนี้
    • วงเงินที่ให้กู้ยืมต้องเป็นการให้สินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 แต่ไม่รวมถึงยอดหนี้คงค้างของวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ วงเงินสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ และวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิต ทั้งนี้ วงเงินที่ให้กู้ยืมดังกล่าวต้องไม่มีผลกระทบต่อวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่เดิม
    • คิดอัตราดอกเบี้ยในส่วนสินเชื่อสำหรับระยะเวลา 2 ปีแรกในอัตราไม่เกิน 2% ต่อปี โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้เป็นระยะเวลา 6 เดือนแรกนับแต่วันที่ผู้ประกอบวิสาหกิจได้รับสินเชื่อเพิ่มเติม
    • ในการให้กู้ยืมเงินตามวรรคหนึ่ง ให้สถาบันการเงินได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด และการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ อันเนื่องมาจากการให้กู้ยืมเงินตามมาตรการในพระราชกำหนดนี้
  2. ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้สถาบันการเงินชะลอการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาทหรือลูกหนี้อื่นได้ และการชะลอการชำระหนี้มิให้ถือว่าเจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้หรือลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้

การชดเชยความเสียหายและดอกเบี้ย

  1. ให้มีคณะกรรมการกำกับการจ่ายเงินชดเชย ซึ่งจะสิ้นสุดลง เมื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการเสร็จสิ้นแล้ว ประกอบด้วย
    • ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ
    • เลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ
    • รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย เป็นกรรมการ
    • ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นกรรมการ
    • ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการ
    • ให้พนักงานที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย เป็นเลขานุการ
  2. ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
    • กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการจ่ายเงินชดเชยให้แก่สถาบันการเงิน
    • ตรวจสอบการคำนวณเงินชดเชยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม
    • แจ้งให้กระทรวงการคลังทราบถึงจำนวนเงินชดเชยและสถาบันการเงินที่ได้รับเงินชดเชย
  3. ในกรณีที่สถาบันการเงินได้รับความเสียหายจากการให้กู้ยืมเงินให้สถาบันการเงินที่ได้รับความเสียหายได้รับชดเชยความเสียหายตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า
    • 70% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตามพระราชกำหนดนี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50ล้านบาท
    • 60% ของจำนวนเงินที่สถาบันการเงินต้องกันสำรองเพิ่มเติมจากยอดหนี้รวมของลูกหนี้คูณด้วยอัตราส่วนของยอดหนี้ใหม่ตามพระราชกำหนดนี้กับยอดหนี้รวม สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจที่มีวงเงินสินเชื่อเกิน 50ล้านบาท
    • ดอกเบี้ยที่ไม่เรียกเก็บใน 6 เดือนแรกให้สถาบันการเงินได้รับการชดเชยพร้อมกับกำหนดการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายนี้ด้วย
    • เมื่อครบ 2 ปี 6 เดือนนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการคำนวณเงินชดเชยตามแล้วเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไป
    • สถาบันการเงินใดมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความเสียหาย จ านวนความเสียหาย หรือค่าชดเชยให้เสนอข้อโต้แย้งนั้นต่อคณะกรรมการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการได้รับเงินชดเชย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด