ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าธปท.ชี้โลกอยู่ในภาวะ”ปริศนา” เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย และ การล่าหาผลตอบแทน – 5 ความเสี่ยงระยะสั้นต้องติดตาม

ผู้ว่าธปท.ชี้โลกอยู่ในภาวะ”ปริศนา” เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย และ การล่าหาผลตอบแทน – 5 ความเสี่ยงระยะสั้นต้องติดตาม

19 ตุลาคม 2017


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จัด Media Briefing โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้สรุปผลการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และธนาคารโลก (World Bank) จากที่เข้าร่วมประชุมประจำปี 2560 ระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก (2017 Annual Meetings of the World Bank Group and the International Monetary Fund) เมื่อวันที่ 13-15 ตุลาคม 2560

ดร.วิรไทกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นสอดคล้องกันว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน และเห็นการฟื้นตัวอย่างกระจายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปที่เป็นครั้งแรกที่ทุกประเทศเศรษฐกิจขยายตัว นอกจากนี้ยังเห็นการขยายตัวในตลาดแรงงานที่ดี การจ้างงานเพิ่มขึ้น การว่างงานลดลง และคาดว่าจะเป็นตัวช่วยสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และสุดท้ายเห็นว่าการฟื้นตัวได้ส่งผ่านไปยังการค้าโลก ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนคาดว่าการเติบโตของการค้าจะกลับมาสูงกว่าการเติบโตของโลกอีกครั้ง

เงินเฟ้อโลกต่ำ กดดันการดำเนินนโยบายการเงิน

ปัจจุบันยังมีประเด็นที่เป็นเหมือนปริศนา (Puzzles) ของเศรษฐกิจโลก คือภาวะเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย จากปกติเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจะต้องปรับตัวขึ้นตาม ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านของการจ้างงานไปยังค่าจ้างแรงงานยังไม่สูงนัก, กำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังสูงภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก, การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี ระบบ Automation และ e-Commerce ซึ่งกดดันอำนาจต่อรองราคาของผู้ผลิตไม่ให้ปรับขึ้นราคาได้มากนัก, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องการเงินออมมากขึ้น ซึ่งไปลดการใช้จ่ายในปัจจุบันลง, การขุดเจาะน้ำมันจากหิน (Shale Oil) ได้

สำหรับเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ โดยเงินเฟ้อไทยที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากปัจจัย 3 ด้าน คือ 1) ด้านอุปทานที่ราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง 2) แรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ไม่สูงมาก สะท้อนการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของระบบเศรษฐกิจ และ 3) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและการพัฒนาของเทคโนโลยี ซึ่ง ธปท. ได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ อย่างใกล้ชิด

ส่วนการปรับกรอบเงินเฟ้อที่อาจจะสูงเกินไปในภาวะที่เงินเฟ้อโลกต่ำยังต้องติดตามศึกษา แต่ในการประชุมมีมิติที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ผู้ดำเนินนโยบายหลายคนเริ่มเห็นว่าการดำเนินนโยบายต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น หลายประเทศมีการปรับเป้าหมายไปกรอบที่กว้างขึ้น รวมไปถึงช่วงเวลาการปรับตัวต่างๆ ที่อาจจะนานมากขึ้นจากอดีต นอกจากนี้ ด้วยความกังวลของเสถียรภาพการเงิน หลายฝ่ายคิดเห็นว่าแม้เงินเฟ้อจะยังต่ำอยู่ แต่ควรจะปรับนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้

ความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงินในภาวะที่เงินเฟ้อต่ำ ทำให้การทำนโยบายต้องมองรอบด้านมากขึ้น ของไทยเป็น Flexible Inflation Targeting ซึ่งเรามองหลายมิติมากขึ้น ธนาคารกลางหลายประเทศเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าเราอยากเห็นเงินเฟ้อกลับไปสู่กรอบเป้าหมายหรือใกล้เคียง ธปท. เองก็เช่นกัน ในขณะเดียวกันต้องเข้าใจเรื่องของ Trade-off ว่าถ้าทำให้เงินเฟ้อหรือเร่งเครื่องให้กลับไปสู่เป้าหมายเร็วมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง และผลข้างเคียงที่คนกังวลมากคือเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเฉพาะถ้าเงินเฟ้อต่ำและเศรษฐกิจไม่โต ความกังวลจะมากกว่านี้มาก แต่ในขณะนี้ที่เราเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น เงินเฟ้อต่ำไปบ้างต้องคำนึงเรื่อง Trade-off ก็มีคนพยายามพูดถึงกรอบการทำนโยบายการเงินที่แตกต่างออกไปอย่าง Price-Level Targeting คือไปมองที่ระดับราคา หรือไปมองระดับจีดีพีในรูปตัวเงิน คือ Nominal GDP แต่ในทางทฤษฎีและการยอมรับคิดว่ากรอบเงินเฟ้อเป็นกรอบที่เหมาะสม เพียงแต่ต้องปรับปรุงปรับเปลี่ยนเป้าหมาย วิธีการ กระบวนการ ให้สอดคล้องกับพลวัตของเงินเฟ้อมากขึ้น แต่ยังไม่เห็นใครยอมรับการเปลี่ยนไปใช้เป้าหมายอื่น”

สำหรับเครื่องมือของนโยบายการเงินภายใต้เป้าหมายนโยบายที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ดร.วิรไท กล่าวว่า “อัตราดอกเบี้ยเป็นกลไกหลัก แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายช่องทาง อัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นช่องทางหนึ่ง การออกพันธบัตร Discount Window การทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repurchase หรือ BRP) ยังมีเครื่องมืออยู่อีกหลายอัน รวมทั้งการใช้ Macro-prudential Policy ด้วย เรื่องสำคัญที่สุดอันหนึ่งคือการประสานนโยบายการเงินกับมาตรการทาง Macro-prudential เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องของเสถียรภาพการเงิน จะเห็นว่าที่ผ่านมา ธปท. กังวลเรื่องเสถียรภาพการเงิน เรื่องหนี้ครัวเรือน เราทำเรื่องมาตรการบัตรเครดิต เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) เรื่องกำกับสหกรณ์ ป้องกันไม่ให้เกิดจุดเปราะบาง”

ดร.วิรไทกล่าวต่อว่า “ถ้าเราสามารถจัดการปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินพวกนี้ได้ ทำให้การทำนโยบายการเงินมีข้อจำกัดน้อยลง แต่ถ้าปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินเป็นข้อกังวลใหญ่ การทำนโยบายการเงินก็ต้องคำนึงถึง Trade-off กับเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้นด้วย ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นปัญหากระเปาะความเสี่ยงต่างๆ เราถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับอื่นๆ เพื่อลดปัญหาส่วนนี้ และทำให้ Trade-off ของนโยบายการเงินไม่ต้องถูกกังวลมาก”

ทั้งนี้ ดร.วิรไท กล่าวว่า กรอบเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะยังคงใช้กรอบเป้าหมายเดิมที่ 2.5% บวกลบ 1% หรือกรอบเป้าหมายตั้งแต่ 1-4% ต่อปี

5 ความเสี่ยงระยะสั้นต้องติดตาม

ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงต้องติดตามมีอีก 5 ประเด็น 1) ดอกเบี้ยนโยบายของประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มปรับขึ้นสู่ภาวะปกติ หรือ Normalization ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น รวมไปถึงราคาสินทรัพย์ที่ลดลงอย่างรวดเร็วได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เคยพึ่งพาเงินถูกเหล่านี้ในช่วงที่นโยบายการเงินของประเทศหลักผ่อนคลายและอาจจะมีปัญหาสภาพคล่องตามมา

2) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) ที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ของคาบสมุทรเกาหลี รัสเซีย ฯลฯ ซึ่งมีแนวโน้มไปสู่การเผชิญหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะมีการเจรจาหาทางออกร่วมกัน

3) นโยบายกีดกันการค้าของหลายประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าหากมีมาตรการออกมาอย่างรุนแรงกว่าที่คิดอาจจะไปกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตที่รวดเร็วและไม่คาดคิด (Abrupt) ได้, 4) เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่กำลังปรับโครงสร้างทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

และ 5) ความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ (Cyber Risks) ซึ่งมีการถกเถียงกันมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้ รวมไปถึงมีการเสนอแนะให้ต้องเตรียมการรับมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากรที่ยังขาดแคลนหรือมาตรการดูแลภายในต่างๆ

กังวลโลก Hunt for Yield กระทบเสถียรภาพระบบการเงิน

ดร.วิรไท กล่าวว่า ที่ประชุมยังกล่าวถึงเสถียรภาพการเงิน (Financial Stability) ของโลกว่าความเสี่ยงของธนาคารขนาดใหญ่ปรับลดลงและมีฐานทางการเงินที่ดีขึ้น หลังจากถูกปรับโครงสร้างและกำกับดูแลครั้งใหญ่ภายหลังวิกฤติการเงินโลก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวได้ย้ายไปสู่สถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) มากขึ้นอันเป็นผลจากดอกเบี้ยของโลกที่ต่ำเป็นระยะเวลานานและมีสภาพคล่องจากการอัดฉีดสูง ซึ่งสร้างความเปราะบางในส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจโลกเป็นกระเปาะๆ และอาจจะได้รับผลกระทบหากนโยบายการเงินเริ่มปรับเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุน (Search for Yield) รุนแรงขึ้นเป็น “การล่า” หาผลตอบแทน (Hunt for Yield) ตัวอย่างเช่น การลงทุนในตราสารหนี้จากเดิมที่จะกระจายไปตามตราสารในระดับความน่าเชื่อถือ (Rating) เพื่อการลงทุน (Investment Grade) ต่างๆ ปัจจุบันนักลงทุนกลับมาลงทุนอยู่ที่ระดับ rating ต่ำสุดของตราสารระดับเพื่อการลงทุนประมาณ 40-50%, หลายประเทศเริ่มกลับมาออกตราสารในสกุลเงินและตลาดต่างประเทศมากขึ้น หลังจากที่ผิดนัดชำระหนี้ไปในช่วงวิกฤติและทำให้ไม่สามารถออกตราสารรูปแบบดังกล่าวได้ รวมไปถึงประเทศที่ไม่เคยออกตราสารดังกล่าวอย่างกลุ่มประเทศแอฟริกาเริ่มหันมาออกตราสารในสกุลเงินต่างประเทศมากขึ้น สะท้อนถึงพฤติกรรมที่ประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมากขึ้น

“ที่ประชุมไม่ได้กล่าวไปถึงว่าจะเกิดเป็นวิฤติอีกหรือไม่ แต่มองว่าไม่อยากให้เห็นการถอยหลังของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาหลังช่วงวิกฤติครั้งล่าสุด ซึ่งปกติมีปัญหาการการก่อหนี้ที่สูงและประเมินความเสี่ยงต่ำ อันแรกคือความเสี่ยงของการต่ออายุตราสาร หรือ Rollover ที่หากอายุของตราสารไม่สอดคล้องกันมากอาจจะเป็นปัญหา ขณะที่การออกตราสารในรูปเงินต่างประเทศอาจจะได้รับผลกระทบจากการปรับนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและภาระหนี้ในรูปสกุลเงินท้องถิ่นได้”

สำหรับประเทศไทยหลังจากที่มีการออกตั๋วบีอีก่อนหน้านี้จำนวนมากหน่วยงานต่างๆ ก็ปรับหลักเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้น นักลงทุนเองก็ระวังมากขึ้น สะท้อนจากต้นทุนการกู้ยืมที่มากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนต่างๆ ของระบบการเงินหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เฝ้าระวังรวมทั้งออกมาตรการต่างๆ เช่น การกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ เกณฑ์การทำสินเชื่อบัตรเครดิตที่ได้ออกไป ส่วนเรื่การลงทุนต่างประเทศของไทยพบว่าออกไปบ้างแต่ไม่น่ากลัว เนื่องจากมีปริมาณน้อยและส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจอยู่ต่างประเทศซึ่งมีภาระการใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศที่สอดคล้องกัน รวมทั้งส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างไทยและต่างประเทศไม่ได้สูงเหมือนช่วงปี 2540 ที่ต่างกันกว่า 8% ตอนนี้ใกล้เคียงกันหรือเท่ากันด้วยอย่างพันธบัตรไทยกับสหรัฐอเมริกาในบางช่วงเวลา ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีกันชนที่ดีอย่างการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงทำให้เวลาสหรัฐอเมริกาปรับนโยบายและเงินดอลลาร์ขาดแคลนขึ้น ไทยก็ยังมีทุนสำรองเพียงพอที่จะรับมือ

อีกประเด็นที่ที่ประชุมแสดงความกังวลคือความผันผวนของราคาสินทรัพย์ค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริง รวมไปถึงราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าจะมีข่าวที่ควรกระทบต่อราคาสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจจะเกิดจากการคาดการณ์ความเสี่ยงที่ผิดพลาดและในอนาคตอาจจะต้องมีการปรับตัว (Correction) ของตลาดการเงินที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลถึงการก่อหนี้ที่สูงขึ้นในกลุ่มครัวเรือนและธุรกิจที่ไม่ใช่ภาคการเงิน ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการกู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ สุดท้ายที่ประชุมแสดงความกังวลต่อภาคการเงินของจีนหากปัญหาต่างๆ ไม่คลี่คลายอย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและของจีนเองได้ แม้ว่าปัจจุบันธนาคารเงาหรือ Shadow Banking จะปรับลดลง แต่การก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจจีนยังอยู่ในระดับสูงจากอัตราส่วนหนี้ต่อทุน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและท้าทาย

ระยะยาวเทคโนโลยีแย่งงานคน

ดร.วิรไท กล่าวต่อไปว่า แม้เศรษฐกิจโลกในระยะสั้นจะฟื้นตัวชัดเจนและลดความกังวลไปมาก แต่ในระยะยาวที่ประชุมเห็นว่ามี 2 ประเด็นที่ต้องจับตามอง คือ 1) การพัฒนาของเทคโนโลยีอาจจะกระทบต่อตลาดแรงงานและอนาคตของงานของโลก (Future of Job) ซึ่งปัจจุบันกำลังเกิดขึ้นในหลายภาคเศรษฐกิจ ขณะที่ในกลุ่มเทคโนโลยีของภาคการเงิน หรือ FinTech แม้ว่าจะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนอีกจำนวนมากให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ แต่อีกด้านหนึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ตามมาด้วย และ 2) ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศจะปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“โดยสรุปผู้ดำเนินนโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คือ นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เหมือนกับที่นางคริสทีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการ IMF กล่าวว่า“Don’t Miss This Opportunity” คืออย่าพลาดโอกาสในจังหวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ต้องฉวยโอกาสตอนนี้ปฏิรูปเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่การปรับเปลี่ยนของปฏิรูปควรจะทำให้ช่วงที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น” ดร.วิรไท กล่าว