
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงความก้าวหน้าของการวิเคราะห์โครงการภายใต้กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรืองบเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ที่ต้องกลั่นกรองให้แล้วเสร็จรอบแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 นี้ และคาดว่าจะแบ่งการอนุมัติเงินกู้ฯ ออกเป็น 2-3 รอบ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรอบแรกที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2563
- สภาพัฒน์เตรียมเนรมิต “สแกน” โครงการเงินกู้ 4 แสนล้านรอบแรก 43,851 โครงการ 1.36 ล้านล้านบาท
- เจาะโครงการเงินกู้โควิด 4 แสนล้าน “หน่วยงานไหน จังหวัดอะไร” ขอมากสุด! พุ่ง 2 เท่า
- สภาพัฒน์เปิดเผยข้อมูลโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ผ่านเว็บไซต์ THAIme – ชวนประชาชนร่วมตรวจสอบ
- สภาพัฒน์แจงกรอบฟื้นฟู 4 แสนล้าน เน้น “เกษตรปลอดภัย-ท่องเที่ยวสุขภาพ” เสนอโครงการใน 2 สัปดาห์
อนึ่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ส่วนราชการต่างๆ ได้เสนอโครงการเข้ามา 40,000 โครงการ วงเงินกว่า 1.36 ล้านล้านบาท ก่อนที่สภาพัฒน์ในฐานะหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ได้คัดเลือกโครงการต่างๆ และได้ข้อสรุปในวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ประกอบด้วย แผนงาน 3.1 พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แผนงาน 3.2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน แผนงาน 3.3 ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน และ แผนงาน 3.4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การใช้จ่ายเงินกู้ฯ 400,000 ล้านบาท มีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
-
1) สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ท่องเที่ยวชุมชน กองทุนหมู่บ้าน และโลจิสติกส์
2) การลงทุนกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค (NEC, NeEC, CWEC, SEC) เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต เน้นเกษตรสมัยใหม่ เศรษฐกิจชีวภาพ ท่องเที่ยวคุณภาพ
3) กระตุ้นการอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวในประเทศ โดยจำแนกเป็น 4 แผนงาน
จากข้อเสนอโครงการตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2563 พบว่ามีจำนวนข้อเสนอโครงการ/แผนงานรวมทั้งสิ้นกว่า 46,429 โครงการ เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1.456 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2563) โดยคณะทำงานได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการ/แผนงานในรอบแรกแล้ว มีข้อเสนอรอบแรกที่จะเสนอเข้า ครม. รวมวงเงิน 101,482.28 ล้านบาท จำนวน 213 โครงการ ตามเป้าหมาย 3 ประการ ประกอบด้วย
- แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 58,069.70 ล้านบาท (ร้อยละ 57.22 ของวงเงินรอบแรกทั้งหมด) จำนวน 129 โครงการ ตัวอย่างเช่น
- เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” (แผนงาน 3.2) มูลค่า 4,953.79 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะจ้างงานเกษตรกรราว 9,188 คน โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (แผนงาน 3.2) ซึ่งเป็นการใช้ big data เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน มูลค่า 2,88 ล้านบาท โดยคาดว่าจะจ้างงานประชาชนในพื้นที่ ราว 14,510 คน โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (แผนงาน 3.2) มูลค่า 1,080.59 ล้านบาท จ้างงานประชาชนราว 15,548 คน ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 710,518 คน
- เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (แผนงาน 3.4) ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยการผลิตและการดำรงชีพของประชาชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางดิจิทัล ประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนและรองรับการพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มศักยภาพและยกระดับสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกษตรกรทุกพื้นที่สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง และผู้บริโภคก็ซื้อสินค้าเกษตรได้โดยตรงเช่นกัน โดยรอบแรกจะบูรณาการแผนงาน/โครงการของหน่วยงานทั้งในส่วนจังหวัดและส่วนราชการ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย
- แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน วงเงิน 20,989.81 ล้านบาท (ร้อยละ 20.68) จำนวน 77 โครงการ
- โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด (แผนงาน 3.1) มูลค่า 13,904.50 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 8,293.43 ล้านบาท
- โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน มูลค่า 900.00 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างงานให้เกษตรกรประมาณ 600 คน
- ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและการแพทย์ (แผนงาน 3.1) มูลค่า 1,264.40 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2,500 คน
- โครงการยกระดับนวัตกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาด ท่องเที่ยวคุณภาพตามวิถีนิวนอมอล (Innovative CBT for New Normal) (แผนงาน 3.1) มูลค่า 460 ล้านบาท โดยคาดว่าจะกระจายรายได้สู่ชุมชน นักศึกษา/บัณฑิตตกงานและผู้ประกอบการประมาณ 65 ล้านบาท
- แผนงานกระตุ้นการอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยว 22,422.77 ล้านบาท (ร้อยละ 22.10) จำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการ “เราไปเที่ยวกัน” 2) โครงการ “เที่ยวปันสุข” และ 3) โครงการ “กำลังใจ” โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ประมาณ 52,400 ล้านบาท
อนึ่ง มีโครงการที่เป็นโครงการของจังหวัดภายใต้แผนงาน 3.2 เดิมที่เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่แทรกอยู่ในแผนงานต่างๆ วงเงิน 924.38 ล้านบาท จำนวน 162 โครงการ (จากที่เสนอเข้ามา 3,118.6 ล้านบาท 461 โครงการ) โดยแบ่งเป็นรายภาคดังนี้
- ภาคเหนือ 23 โครงการ วงเงิน 134,492,725 บาท
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 66 โครงการ วงเงิน 381,737,489 บาท
- ภาคกลาง 31 โครงการ วงเงิน 91,287,690 บาท
- ภาคตะวันออก 3 โครงการ วงเงิน 34,478,800 บาท
- ภาคใต้ 29 โครงการ วงเงิน 148,995,914 บาท
- จังหวัดใต้ชายแดน 10 โครงการ วงเงิน 133,391,850 บาท
อนึ่ง การใช้เงินกู้ฯ นี้ จะช่วยประคองสถานการณ์ไม่ให้ GDP ของประเทศไทยหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือหดตัวอยู่ประมาณร้อยละ 5-6 ขณะเดียวกันก็จะช่วยขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับมาฟื้นตัวและเดินหน้าได้ต่อไป โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้
- การจ้างงาน ช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 410,415 ราย
- สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน/ตำบล 79,604 หมู่บ้าน 3,000 ตำบล
- การท่องเที่ยว จะช่วยพัฒนาต้นแบบสำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระหว่างและหลังวิกฤติโควิด-19 กว่า 6 พื้นที่
- ผู้ประกอบการและแรงงานได้รับการพัฒนากว่า 11,000 ราย, บริษัทนำเที่ยวได้ประโยชน์ 13,000 ราย, การเข้าพัก 5,000,000 ห้อง/คืน, การเดินทาง 2,000,000 คน/ครั้ง
- มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ จำนวนกว่า 3.2 ล้านคน/ครั้ง
- การเกษตร เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเอง กว่า 95,000 ราย จากการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและน้ำ, เกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์จากการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 5,450 แปลง มีจำนวน 262,500 ราย และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี, เกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2.4 แสนไร่, เกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 5 ล้านไร่
- พื้นที่ป่าไม้ แหล่งน้ำชุมชน จะมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นกว่า 1.7 แสนไร่, พื้นที่กักเก็บน้ำ 7,900 ล้านลูกบาศก์เมตร
- เกิดดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบโลจิสติกส์, ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว และดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านสินค้า