ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์เผย Q1/63 จีดีพีหดตัว -1.8% – คาดทั้งปีลบ 5-6% ใกล้เคียง “ต้มยำกุ้ง”

สภาพัฒน์เผย Q1/63 จีดีพีหดตัว -1.8% – คาดทั้งปีลบ 5-6% ใกล้เคียง “ต้มยำกุ้ง”

18 พฤษภาคม 2020


ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ไตรมาสแรกของปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกหดตัว -1.8 % เป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 32 ไตรมาส หรือ 8 ปี หรือตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนั้นหดตัวไป 4% และเป็นการติดลบครั้งที่ 2 นับตั้งแต่น้ำท่วมใหญ โดยอีกครั้งเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการเมืองเมื่อไตรมาสแรกของปี 2557 ที่หดตัวไป -0.4%

ในรายละเอียด การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและกึ่งคงทน สอดคล้องกับการชะลอตัวของฐานรายได้ที่สำคัญ ๆ ในระบบเศรษฐกิจและการลดลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 5.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลดลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง ร้อยละ 5.7 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ

การอุปโภคของรัฐลดลงร้อยละ 2.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า มีอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมอยู่ที่ร้อยละ 25.3 (สูงกว่าอัตรำเบิกจ่ายร้อยละ 22.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณก่อน) ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 9.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลงร้อยละ 22.1 สอดคล้องกับความล่าช้าของการประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 12.1 อัตราการเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 10.5 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 18.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 60,867 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 52,817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.9

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในไตรมาสนี้มีจำนวน 6.69 ล้านคน ลดลงร้อยละ 38 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส เมื่อรวมกับการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 0.515 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 38.2 ประกอบด้วย 1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 0.332 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.4 และ 2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 0.183 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 33.6 โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 51.50 ลดลงจากร้อยละ 71.26 ในไตรมาสก่อนหน้ำ และลดลงจากร้อยละ 78.62 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สุดท้ายสำหรับการผลิต สาขาเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 5.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการเพิ่มขึ้น 4 ไตรมาสติดต่อกัน ส่วนสาขาอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจาก 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 30-60 ลดลงร้อยละ 19, ผลผลิตฯเพื่อการส่งออก ขยายตัวร้อยละ0.8 และผลผลิตฯเพื่อบริโภคภายในประเทศ หดตัวร้อยละ 2.2 โดยมีกำลังการผลิตเฉลี่ยที่ร้อยละ 66.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 70.8

คาดปีนี้อย่างดีติดลบ 5-6%

ดร.ทศพร กล่าวต่อว่าสำหรับการประมาณการทั้งปี สภาพัฒน์ได้ประมาณการไว้เพื่อให้เห็นภาพและเพื่อการกำหนดนโยบายต่างๆได้ แม้ว่าในหลายประเทศเลือกที่จะชะลอประมาณการเศรษฐกิจหรือบางประเทศไม่ประมาณการเลย โดยสภาพัฒน์ประมาณเศรษฐกิจในปี 2563 จะอยู่ในช่วง -5% ถึง -6% หรือมีค่ากลางที่ -5.5% โดยอยู่บนหลายสมมติฐานตัวแปรมาก อันแรกคือการระบาดของโควิด-19 ของไทยจะต้องจบในไตรมาส 2 ของปี อันที่สองคือมาตรการผ่อนคลายต้องเริ่มต้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ซึ่งได้ทยอยผ่อนคลายมาแล้ว และเป็นปกติในไตรมาสที่ 3 และอันสุดท้ายคือเริ่มเดินทางติดต่อธุรกิจหรือท่องเที่ยวได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี

“คิดว่าไตรมาสที่ 2 จะหนักที่สุด เพราะทุกอย่างถูกปิดหมดเลย แต่ขณะนี้เริ่มคลี่คลายมากขึ้น หลังจากนั้นเมื่อหนักสุดแล้วก็คิดว่าจะค่อยๆลดลงหลังผ่อนคลายลง แต่จะใช้คำว่าประคองสถานการณ์ไปได้มากกว่า เพราะเกิดขึ้นไปทั่วโลก แต่ถ้าสถานการณ์แปรผันไปมากกว่านี้ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไป หรือการเบิกจ่ายของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปด้วย ตัวเลขติดลบ 5-6% ก็อาจจะเป็นไปได้ทั้งสองทาง คือถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจจะติดลบน้อยกว่า แต่ถ้าแย่กว่านี้ก็อาจจะติดลบมากกว่านี้ ส่วนการฟื้นตัวว่าจะมีลักษณะอย่างไร จากสถานการณ์ปัจจุบันคาดการณ์ไว้คือตัว U ที่ตกลงมาสักพักและขึ้นไป แต่จะแม่นไม่แม่นก็อย่าว่ากันเลย เพราะสถานการณ์ก็มีความไม่แน่นอนสูงมาก” ดร.ทศพร กล่าว

ทั้งนี้เศรษฐกิจที่หดตัว -5% ถึง -6% ถือว่าติดลบมากกว่าช่วงวิกฤติการเงินโลกที่เศรษฐกิจไทยหดตัว 0.7% ในปี 2552 และเกือบใกล้เคียงกับวิกฤติต้มยำกุ้งที่หดตัวมากที่สุดที่ -7.6% ในปี 2541

อย่างไรก็ตาม ดร.ทศพร กล่าวต่อว่าในปีหน้าคาดว่าจะมีการลงทุนภาครัฐและการอุปโภคภาครัฐเป็นตัวนำเศรษฐกิจได้ในขณะที่เครื่องยนต์ตัวอื่นหยุดลง แต่ลำพังงบประมาณแผ่นดินอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แม้ว่าจะปรับงบประมาณไปบ้างแล้ว แต่มันมีช่องว่างระหว่างรองบประมาณปี 2564 เข้ามาในเดือนตุลาคม ตอนนี้ก็มีงบเงินกู้เข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2563 ได้

“การบริหารเศรษฐกิจที่เหลือของปี 2563 จะมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณา ตัวที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือมาตรการสาธารณสุขต้องไม่ตก ต้องให้ความสำคัญของการส่งออกสินค้า เช่นอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการทำงานที่บ้าน  การเบิกจ่ายงบประมาณจะต้องให้อยู่ในอัตราที่กำหนดไว้คือไม่ต่ำกว่า 90% สำหรับงบประจำ และงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 55% ของรัฐวิสาหกิจต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 75% ”

รายละเอียดเพิ่มเติม

แจงกรอบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เร่งสร้างเศรษฐกิจใหม่

ดร.ทศพร กล่าวถึงกรอบการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องใช้จ่ายกับอะไรได้บ้าง แบ่งเป็นการเยียวยา 550,000 ล้านบาท โดยในช่วงระหว่างวิกฤติได้ประคองสถานการณ์ด้วยการเยียวยาประชาชนจากการตกงานหรือได้รับผลกระทบ ซึ่งจะหมดลงในเดือนมิถุนายน 2563 รัฐบาลจึงมองว่าต้องมีงบอีกก้อนมาฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากนั้นอีก 400,000 ล้านบาท และที่เหลือจะนำไปใช้กับระบบสาธารณสุข

“แน่นอนว่าประเทศไทยในวิถีชีวิตใหม่ จากเดิมที่เน้นไปหาห่วงโซ่อุปทานโลก แต่บทเรียนของโควิด-19 ก็ชัดเจนว่าต้องสร้างความมั่นคงให้กับประเทศตัวเองมากขึ้น ประเทศไทยเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เวชภัณฑ์ สาธารณูปโภค โลจิสติกส์ ต้องเตรียมให้มั่นคงไว้ก่อน แต่ถามว่าต่อไปเราจะเน้นเรื่องอะไร คงคาดเดาได้ยาก แต่ตอนนี้คิดว่ามีสองเรื่องที่มีความได้เปรียบ อันแรกคือด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง อันที่สองคือภาคเกษตรและการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ จะเชิญชวนให้มาซื้อสินค้าเกษตรที่สะอาดและปลอดภัย ชวนมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ปลอดภัย ต่อไปประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่ามาลงทุนและมาทำงาน”

ดร.ทศพร กล่าวต่อว่าสำหรับเงินกู้ส่วนของ 400,000 ล้านบาท จะต้องเน้นให้มากขึ้นเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและเน้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น จากการเน้นการส่งออกเพื่อสร้างการเติบโต ที่ผ่านมาต่างประเทศก็อาศัยประเทศไทยเป็นฐานการผลิต พอสถานการณ์เปลี่ยน นักลงทุนก็ออกไป โดยจะเน้นการสร้างอุตสาหกรรมหรือสาขาที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เช่นภาคเกษตร เศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อให้สามารถส่งออกและมีฐานการผลิตที่ยั่งยืนได้ และให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจชุมชนมากขึ้นที่ต้องตามกลับไปสร้างงานสร้างอาชีพ หลังจากที่ตกงานจากในเมืองกลับไป

“ในครม.ก็พูดกันว่า 4 แสนล้านบาทจะมากก็มาก จะไม่มากก็ไม่มาก เราอยากจะใช้เป็นหัวเชื้อเป็นเงินที่ลงไปเพื่อเพาะพันธุ์ใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ไปสู่การเกษตรชีวภาพ ใช้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และเศรษฐกิจของฐานราก ขณะนี้คณะกรรมการกลั่นกรองที่มีผมเป็นประธานจะเริ่มกลั่นกรองตามกรอบที่ครม.อนุมัติมาให้และคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงไปได้ในเดือนกรกฎาคม”

ดร.ทศพร กล่าวต่อไปว่ามีคำถามว่าเงิน 1 ล้านล้านบาทจะเพียงพอหรือไม่ คิดว่าน่าจะพอดูแลสถานการณ์ได้ แต่คิดว่าไม่น่าจะผิดพลาดเท่าไหร่ เพราะโอกาสจะระบาดรอบสองค่อนข้างน้อย เรายังเชื่อมั่นระบบสาธารณสุข และคิดว่าคนไทยยังให้ความร่วมมือระมัดระวังอยู่ และไม่คิดว่าจะเป็นเงินที่มาช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่เป็นการเยียวยามากกว่า คงไม่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นบวกได้

“ส่วนวงเงิน 550,000 ล้านบาทยังเหลือประมาณ 190,000 ล้านบาท หลังจากใช้เยียวยาแจกคนละ 5,000 บาทไป ส่วนแผนสาธารณสุขยังไม่ได้ใช้เลยกำลังรอให้ส่วนราชการเสนอโครงการเข้ามา แต่อีกด้านหนึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองจะลงไปทำแผนแต่ละกระทรวงว่าจะใช้อะไรบ้างอย่างไร โดยจะเร่งทำให้เสร็จในเดือนมิถุนายน”

ปี 2563 จาก 3.2% เป็น -5.5%

อนึ่ง สำหรับประมาณการปี 2563 สภาพัฒน์เคยประมาณครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะเติบโตได้ 3.2%  (ค่าประมาณการตั้งแต่ 2.7-3.7%)  โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญประกอบด้วย 1) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและลงทุน 2) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้า 3) การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และ 4) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการจีดีพีเป็น 2% (ตั้งแต่ 1.5-2.5%) หรือปรับลดลงไปถึง -1.2% โดยมีข้อจำกัดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19, ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณ แม้ว่ายังมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามแรงกดดันที่ลดลงจากมาตรการกีดกันการค้าและความเสี่ยงจากเรบกซิทแบบไร้ข้อตกลง 2) การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของการบริโภคและการลงทุน 3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และ (4) ฐานกาขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562