ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์เตรียมเนรมิต “สแกน” โครงการเงินกู้ 4 แสนล้านรอบแรก 43,851 โครงการ 1.36 ล้านล้านบาท

สภาพัฒน์เตรียมเนรมิต “สแกน” โครงการเงินกู้ 4 แสนล้านรอบแรก 43,851 โครงการ 1.36 ล้านล้านบาท

23 มิถุนายน 2020


ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มา: แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานความคืบหน้าการวิเคราะห์และกลั่นกรองแผนงานหรือโครงการที่ 3 ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 400,000 ล้านบาทว่า จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2563 มีข้อเสนอโครงการในรอบที่ 1 รวมทุกแผนงาน จำนวน 43,851 ข้อเสนอโครงการ วงเงินกว่า 1.36 ล้านล้านบาท

โดยแผนงาน 3.2 เป็นแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชนมีการขอเสนอโครงการมากที่สุด จำนวน 42,405 โครงการ และตามมาด้วย แผนงาน 3.1 คือโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถ พลิกฟื้นกิจกรรม ทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจ ที่สำคัญของประเทศจำนวน 1,259 โครงการ ตามลำดับ

ดร.ทศพร กล่าวว่า เนื่องจากข้อเสนอโครงการมีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงทำให้การวิเคราะห์โครงการของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ล่าช้าไปกว่ากำหนดอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าจะสามารถวิเคราะห์เสร็จในเบื้องต้นภายในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ และสามารถส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อพิจารณาได้ทันในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อนำส่งโครงการที่ผ่านการพิจารณาให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามกำหนดไว้ในวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563 ต่อไป

“ในช่วงก่อนที่จะให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้พิจารณานั้น สภาพัฒน์จะเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์ของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ผ่านทางระบบ ThaiME เพื่อใช้ประกอบ การกลั่นกรองโครงการต่อไป เพื่อให้เกิดความรอบคอบและโปร่งใส”

สำหรับกรณีที่ภาคส่วนต่างๆ ยังมีความกังวลว่าบางข้อเสนอโครงการอาจมีความไม่เหมาะสมและไม่คุ้มค่าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ขอยืนยันว่า คณะทำงานของสภาพัฒน์ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ประกอบด้วยนักวิชาการผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญจากหลายสาขา ได้วิเคราะห์โครงการโดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คือการใช้เงินกู้นี้จะต้องตรงตามวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั่วถึงเที่ยงธรรม เน้นความคุ้มค่าและมีมาตรการป้องกันการทุจริต