ThaiPublica > เกาะกระแส > สศช.คาด “เศรษฐกิจไทย” โตต่อเนื่อง หลัง Q4/61 ออกมาดีกว่าคาด เหตุภายในเข้มแข็ง – จับตาเสี่ยง “การเมือง-สงครามการค้า” จ่อปรับหลังเลือกตั้ง

สศช.คาด “เศรษฐกิจไทย” โตต่อเนื่อง หลัง Q4/61 ออกมาดีกว่าคาด เหตุภายในเข้มแข็ง – จับตาเสี่ยง “การเมือง-สงครามการค้า” จ่อปรับหลังเลือกตั้ง

18 กุมภาพันธ์ 2019


ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจปี 2561 โดยดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 เติบโตได้ 3.7% หลังจากชะลอตัวไปก่อนหน้านี้ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากภาคส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ได้ทยอยฟื้นตัวกลับขึ้นมา แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างการบริโภคและการลงทุนของเอกชนที่เติบโตกลับขึ้นมา โดยเฉพาะการลงทุนที่กลับมาเติบโตได้ 5.5% ซึ่งสูงสุดในรอบหลายปีและต่อเนื่องจากจาก 3 ไตรมาสแรกของปี 2561 ส่งผลให้ทั้งปี 2561 เศรษฐกิจยังเติบโตในระดับสูงที่ 4.1% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงสุด 3-4 ปีติดต่อกัน

รอปรับประมาณการณ์หลังเลือกตั้ง

ทั้งนี้ การลดลงของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของปี 2561 จากที่เคยประมาณการครั้งก่อนที่ 4.2% มีสาเหตุจากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวไปทั้งปี -1.2% โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีหดตัว -0.1% โดยสำนักงบประมาณได้ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีแล้วว่าเป็นปกติของปฏิทินงบประมาณที่ในไตรมาสที่ 4 ของปี หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ การเบิกจ่ายจะน้อยกว่าไตรมาสอื่นๆ เพราะต้องดำเนินการเรื่องงบประมาณที่เหลื่อมปีมาและบางรายการอาจจะยังมีเหลือจากปีก่อนหน้า ทำให้ไม่จำเป็นต้องจัดซื้อจัดจ้างทันที รวมไปถึงกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างใหม่ที่ในบางหน่วยราชการอาจจะยังไม่คุ้นชินและมีปัญหาการถูกร้องเรียนจนทำให้ต้องปรับรายละเอียดและจัดซื้อจัดจ้างใหม่หลายรอบ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้สภาพัฒน์และสำนักงบประมาณทบทวนกระบวนการต่างๆให้สามารถปฏิบัติได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

“หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เผชิญความเสี่ยงต่างๆในเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกันอย่างสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา พบว่าหลายประเทศหลักๆชะลอตัวไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยุโรปที่เติบโต 1.2% ต่ำสุดในรอบ 20 ไตรมาส ญี่ปุ่นที่ไม่เติบโตเลย จีนที่เติบโต 6.4% ต่ำสุดในรอบ 112 ไตรมาส สิงคโปร์เติบโต 1.9% ต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาส และไต้หวันที่เติบโต 1.8% ต่ำสุดในรอบ 10 ไตรมาส ขณะที่ไทยยังคงขยายตัวได้โดยมีแรงส่งจากปัจจัยภายในประเทศอย่างการบริโภคและการลงทุนเป็นสำคัญ โดยในภูมิภาคใกล้เคียงจะมีเวียดนามที่เติบโตมากขึ้นที่ 7.3% เนื่องจากเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงค์จากสงครามการค้าและรับการย้ายฐานการผลิตเข้าไป หรือเกาหลีใต้ เติบโตที่ 3.1% ฟิลิปปินส์ เติบโตที่ 6.1% และมาเลเซียเติบโตที่ 4.7%”

สำหรับประมาณการณ์เศรษฐกิจ ดร.ทศพร กล่าวว่าสภาพัฒน์ยังคงประมาณการณ์ส่วนใหญ่ไว้เท่าเดิมยกเว้นการส่งออกที่ปรับจาก 4.6% เป็น 4.1% โดยเป็นการปรับลดลงจากสมมติฐานด้านราคาตามราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ปริมาณการส่งออกยังคงเท่าเดิม สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคาดว่าเติบโตได้ 3.8% ขณะที่ปัจจัยอื่นๆที่ยังไม่ปรับประมาณการณ์ เนื่องจากต้องรอผลการเลือกตั้งของไทยให้มีความชัดเจนก่อน ซึ่งถือว่าเป็น 1 ในปัจจัยเสี่ยงสำคัญในระยะนี้ โดยคาดว่าหากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเรียบร้อยสามารถจัดรัฐบาลได้อย่างมั่นคงและมีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนและต่อเนื่อง การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในส่วนที่รอดูผลการเลือกตั้งก็จะกลับมาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ สงครามการค้าถือและความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกในประเทศต่างๆถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการที่สำคัญและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไปสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเรื่องแรกคือภาคการส่งออกที่จะต้องขับเคลื่อนให้สามารถเติบโตต่อไปได้ โดยต้องพยายามหาตลาดใหม่ในการส่งออก โดยคาดว่ามีเป้าหมายอยู่ที่ 5% เรื่องที่ 2 คือสนับสนุนการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยคาดว่าในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวระดับ 40 ล้านคนเป็นครั้งแรก และคาดว่าจะมีรายได้ 2.24 ล้านล้านบาท เรื่องที่ 3 คือการสนับสนุนการลงทุนของเอกชนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆของสำนักงานคณะกรรมการการลงทุน หรือบีโอไอ ซึ่งที่ผ่านมาทำหน้าที่ได้ดีแล้ว แต่ขณะนี้นักลงทุนหลายรายอาจจะยังรอผลการเลือกตั้งให้มีความชัดเจนก่อน สุดท้ายคือเรื่องภาครัฐที่ต้องเข้มข้นขึ้นให้สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย โดยงบลงทุนและใช้จ่ายจะต้องเกิน 70% ของงบประมาณ ขณะที่งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะต้องเกิน 80%”

“เมกะโปรเจค-บริโภค-ลงทุนเอกชน” หนุนเศรษฐกิจไทยปี 62

ด้านดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวเสริมว่าภาครัฐที่หดตัวหากดูรายละเอียดจะพบว่าเกิดจากการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าในที่ 2562 จะฟื้นตัวกลับมาได้ที่ 19.9% วงเงินลงทุนทั้งหมด 646,879 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสากิจที่สะท้อนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ยังคงเติบโตในระดับสูง โดยทั้งปีเติบโตได้ 8.7% และในไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 เติบโตได้ 4.3% นอกจากนี้ หากดูโครงการตามแผนปฏิบัติการของปี 2559 พบว่ามีโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ 14 โครงการ มูลค่าทั้งหมด 723,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 และปี 2559 ที่มีจำนวนโครงการ 4 และ 8 และมีมูลค่า 45,472 ล้านบาท และ 442,388 ล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ในแผนปฏิบัติการของปี 2560 และปี 2561 ยังมีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ 6 โครงการ มูลค่า 5,565 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในอนาคตยังมีความเสี่ยงที่รัฐบาลอาจจะไม่สามารถผ่านกฎหมายงบประมาณปี 2563 ได้ทันและส่งผลต่อการใช้จ่ายของภาครัฐในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ได้

ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ขณะที่ภาคการส่งออกที่หลายฝ่ายกังวลถือว่ายังเติบโตอยู่แม้ว่าจะชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ 9.7% เหลือ 7.7% โดยปริมาณการส่งออกชะลอลงจาก 5.4% เหลือ 4.2% อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์พบว่าทิศทางการค้าที่มีการส่งออกนำเข้าทดแทนกันในประเทศที่ไม่ถูกกีดกันทางการค้ากับจีนและสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด โดยพบว่าสินค้าที่อยู่ในกลุ่มมาตรการกีดกันทางการค้าเติบโต 4.8% ในไตรมาส 4 ของปี 2561 หรือเติบโตทั้งปีที่ 6.8% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 3% สวนทางกับสินค้าในกลุ่มที่อยู่นอกมาตรการที่หดตัวไป 1.1% ในไตรมาสที่ 4 ของปี แม้ว่าทั้งปีจะยังคงขยายตัวที่ 6.6% แต่ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 19.2%

ในด้านการลงทุนที่กลับมาฟื้นตัวสูงถึง 5.5% ซึ่งสูงสุดในรอบหลายปี ดร.วิชญายุทธ กล่าวว่าสอดคล้องกับระดับการใช้กำลังการผลิตที่กลับขึ้นมาในระดับ 68.46% สูงขึ้นจากปีที่แล้วที่ 67.12% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างพลาสติก ปิโตรเคมี และยานยนต์ใช้กำลังการผลิตสูงกว่า 80% แล้ว ขณะที่การขอส่งเสริมการลงทุนขยายตัวในระดับสูงเช่นเดียวกัน โดยทั้งปี 2562 มีมูลค่าคำขอที่ 901,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.8% และเฉพาะในเขตพื้นที่อีอีซีที่มีมูลค่า 683,900 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 137.4% และคาดว่าจะลงทุนบางส่วนได้ในปีนี้ ขณะที่การบริโภคที่ยังเติบโตในระดับ 5% เช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ยั่งยืนและกระจายตัว สะท้อนจากการจ้างงานที่ดีขึ้นในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น สินค้าเกษตรที่ราคาดีขึ้นในหลายชนิด ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้สนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปอยู่

“ถามว่าการบริโภคที่ยังเติบโตสูงเป็นผลจากมาตรการสวัสดิการของรัฐหรือไม่ ต้องดูว่างบประมาณที่ใช้ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเทียบกับการบริโภคทั้งหมดของประเทศก็ไม่ได้มากนัก ถือว่าเป็นมาตรการช่วยเหลือแต่คงไม่พอที่จะทำให้การบริโภคจะเติบโตจากแบบ 4% เป็น 5% ไม่ได้ ประกอบกับตัวชี้วัดอื่นๆอย่างการจ้างงานที่ดีขึ้นในเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ราคาสินค้าเกษตรที่ดี สะท้อนไปยังรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาช่วงปลายทางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าส่งผ่านลงไปได้จนถึงการจ้างงานแล้ว แต่เรื่องการกระจายตัวแน่นอนว่าโดยภาพรวมถือว่าฟื้นตัวกระจาย แต่อาจจะมีบางจุดที่เปราะบาง อย่างเกษตรกรในภาคใต้ที่มีปัญหาเรื่องราคายางอยู่ แต่เกษตรกรในภาคเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือก็ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร” ดร.วิชญายุทธ กล่าว

สำหรับรายละเอียด ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการ ในขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลชะลอตัว และการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 5.3 ต่อเนื่องจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และการสิ้นสุดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 9.8

ในขณะที่การใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน ขยายตัวเร่งขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีปริมาณค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ร้อยละ 23.2 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.4

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.4 อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 29.8

การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 และการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 ตามการลดลงของการลงทุนของรัฐบาล ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 4.6

ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 62,538 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 19.0) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 20.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 8.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 5.6) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 3.2) เป็นต้น

กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ร้อยละ -5.0) มันสำปะหลัง (ร้อยละ -7.5) ยางพารา (ร้อยละ -25.5) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ -16.8) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ -1.2) และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ -12.7) อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ -4.7) และกุ้ง ปู กั้งและล็อบสเตอร์ (ร้อยละ -6.3) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ขยายตัว ขณะที่ตลาดจีน สหภาพยุโรป (15) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9

ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 58,134 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 17.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออก และอุปสงค์ภายในประเทศ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าร้อยละ 2.7 และปริมาณการนำเข้าร้อยละ 4.6