ThaiPublica > เกาะกระแส > “สภาพัฒน์” คาดโควิด-19 ทำตกงาน 8.4 ล้านคน – เกิน 80% อยู่ในภาค “ท่องเที่ยว-บริการ”

“สภาพัฒน์” คาดโควิด-19 ทำตกงาน 8.4 ล้านคน – เกิน 80% อยู่ในภาค “ท่องเที่ยว-บริการ”

28 พฤษภาคม 2020


ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไตรมาสแรกของปี 2563 โดยดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับไตรมาสแรกอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานแฝงร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะเดียวกัน การจ้างงานมีสัญญาณลดลงต่อเนื่องและค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยมีผู้มีงานทำ 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการศึกษา อนึ่ง ค่าจ้างที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2, ผลิตภาพแรงงานลดลงร้อยละ 1.0 เป็นการลดลงจากทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม

สัญญาณชั่วโมงทำงานลดลง – คาดโควิดทำตกงาน 8.4 ล้านคน

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่แสดงผลกระทบในจำนวนการจ้างงานภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงเดือนมกราคม-ต้นมีนาคม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ และผู้ประกอบการยังรอดูสถานการณ์ของผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อการจ้างงานคือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 9.0 นอกจากนั้น สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน

หากมองไปข้างหน้า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงาน พบว่า แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • แรงงานในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน
  • แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จากสงครามการค้า และต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขายในประเทศยังขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม หรือของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน
  • การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน

ภัยแล้งกระทบเกษตรกรอีก 6 ล้านคน

ผลกระทบจากภัยแล้งต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่กลางปี 2562 และต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 370,000 คน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดย ณ เดือนเมษายน ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 26 จังหวัด และมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อยและไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน

“คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน เนื่องจาก 1) สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้ และในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น 2) รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 3) ภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง”

“เคอร์ฟิว” ช่วย “อาชญากรรม-อุบัติเหตุ” ลดลง

ดร.ทศพรกล่าวต่อไปว่า สืบเนื่องจากผลของการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คดีอาญารวมลดลงจากคดีชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่ลดลง โดยไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 คดีอาญารวมลดลงร้อยละ 4.8 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยลดลงทั้งการรับแจ้งคดียาเสพติดร้อยละ 4.4 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ร้อยละ 5.3 คดีชีวิตร่างกายและเพศร้อยละ 13.7

“ผู้กระทำความผิดก่ออาชญากรรมยากขึ้น ขณะที่การลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนขาดรายได้ พบว่าในเดือนมีนาคม 2563 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าร้อยละ 0.7 จึงต้องให้ความสำคัญกับการเข้มงวดตรวจตราเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการกระทำผิดด้านการประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน”

ขณะที่การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลงทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563 โดยไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 6.4 และ 20.8 ตามลำดับ แต่มูลค่าทรัพย์สินเสียหายเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 และจากการจำกัดการเดินทาง ห้ามจำหน่ายสุรา การล็อกดาวน์ของจังหวัด ส่งผลให้เทศกาลสงกรานต์ปี 2563 เกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 60.8 และ 56.7 ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ประสบเหตุมีโอกาสเสียชีวิตสูง จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายอย่างเคร่งครัดและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง รวมทั้งการถอดบทเรียนการดำเนินมาตรการในช่วงจัดการโควิด-19 มาประยุกต์ใช้เพื่อบริหารจัดการและลดอุบัติเหตุทางถนนได้