ThaiPublica > เกาะกระแส > นำเข้าวัคซีนโควิดฯ ใครเสียภาษีบ้าง?

นำเข้าวัคซีนโควิดฯ ใครเสียภาษีบ้าง?

12 กรกฎาคม 2021


กางข้อเท็จจริงกระบวนการจัดหาวัคซีนทางเลือก ใครเสียภาษีบ้าง? สรรพากร-กรมศุลฯ ชี้นำเข้าวัคซีนจ่ายเฉพาะ VAT-อากรขาเข้าได้รับยกเว้น ยันโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถเรียกเก็บ VAT จากประชาชนที่ได้รับวัคซีน

ต่อกรณีที่มีกระแสข่าวเผยแพร่กันในสื่อสังคมออนไลน์ กล่าวหาองค์การเภสัชกรรม ฟันกำไรจากการขายวัคซีนให้โรงพยาบาลเอกชน 88% หรือโดสละ 516 บาท รวมทั้ง กล่าวหารัฐบาลเรียกเก็บภาษีวัคซีนโมเดอร์นากว่า 100% ทำให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรมศุลกากร , กรมสรรพากร และองค์การเภสัชกรรม ทยอยต้องออกมาชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าวในช่วง 2 วันที่ผ่านมา

เริ่มจากนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ออกมายืนยันว่า “การนำเข้าวัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ปัจจุบันได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าเหลือ 0% ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2565 ตามที่ครม.มีมติ แต่ยังคงจัดเก็บเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7%”

ส่วนกรณีที่มีข่าวโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากประชาชนที่ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนนั้น นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า “ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1)(ญ) ระบุว่า “การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ได้รับยกเว้น VAT ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนจะไปเรียกเก็บ VAT จากการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนไม่ได้ แต่ถ้ามี “ภาษีซื้อ” ที่เกิดจากต้นทุนตอนที่ไปซื้อมา สามารถนำมาเป็นต้นทุนหักค่าใช้จ่ายได้ และถ้ามีกำไรก็ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเหมือนกับผู้ประกอบการทั่วไป”

ด้านองค์การเภสัชกรรมในฐานะผู้นำเข้าวัคซีน ยืนยันว่า “ไม่ได้ไปบวกกำไรจากการขายวัคซีนให้กับโรงพยาบาลเอกชนสูงถึง 88% ส่วนการกำหนดราคาขายวัคซีน “โมเดอร์นา” ให้กับโรงพยาบาลเอกชนในราคา 1,100 บาทต่อโดสนั้น เป็นราคาที่ได้รับจากบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ซึ่งรวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ เช่น ค่าเก็บรักษา ค่าขนส่ง ค่าประกันภัยรายบุคคลเข้าไปแล้ว” รวมทั้งยืนยันว่าไม่ได้ไปซื้อวัคซีนมาจากบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ในราคา 584 บาท/โดส ตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของราคานำเข้าได้ เนื่องจากมีข้อตกลงกับบริษัทซิลลิค ฟาร์มา

  • องค์การเภสัชแจงปมสั่งซื้อวัคซีน “โมเดอร์นา” เข็มละ 584 บาท “ไม่เป็นความจริง”
  • กล่าวโดยสรุปว่าในกระบวนการนำเข้าวัคซีนทางเลือก เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 กลุ่ม คือ องค์การเภสัชกรรม , โรงพยาบาลเอกชน และประชาชนที่ไปใช้บริการสั่งจองวัคซีนทางเลือก

    เริ่มจากองค์การเภสัชกรรมในฐานะผู้นำเข้าไปสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาจากบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากร กล่าวว่า ตามกระบวนการนำเข้าวัคซีน ก่อนที่องค์การเภสัชกรรมจะนำวัคซีนผ่านพิธีการศุลกากรออกจากด่านกรมศุลกากร ทางองค์การเภสัชกรรมจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของราคานำเข้า หรือ “CIF” ให้กับกรมศุลกากร ส่วนอากรขาเข้าได้รับการยกเว้น (ราคา CIF+อากรขาเข้า 0%+ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)

    ข้อสังเกต การนำเข้าวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมทอดแรกนี้จะมีภาษี VAT แฝงอยู่ 7% ของราคา CIF ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยราคานำเข้าได้ เพราะเป็นข้อมูลความลับของผู้เสียภาษี

    จากนั้นองค์การเภสัชกรรมนำต้นทุนจากการนำเข้าวัคซีนทอดแรก มาคำนวณรวมกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเก็บรักษา ค่าขนส่ง และค่าเบี้ยประกันภัยให้กับผู้ที่รับการฉีดวัคซีน กรณีเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เป็นต้น กำหนดออกมาเป็นราคาขายวัคซีนโมเดอร์นาให้กับโรงพยาบาลเอกชน โดสละ 1,100 บาท ซึ่งตรงนี้ยังไม่แน่ใจว่าองค์การเภสัชเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (Including Vat) ไว้แล้วหรือไม่

    แต่ถ้ารวม VAT เข้าไปในราคาขายส่งวัคซีนที่ 1,100 บาท/โดส ภายในราคาดังกล่าวจะประกอบไปด้วย ราคาต้นทุนวัคซีน 1,028 บาท บวก VAT อีก 72 บาท หากยังไม่รวม VAT (Excluding Vat) ต้องบวก VAT เพิ่มอีก 77 บาท ราคาจะอยู่ที่ 1,177 บาท ซึ่งจากการที่องค์การเภสัชกรรม ได้ประกาศราคาขายวัคซีนโมเดอร์นาให้โรงพยาบาลเอกชนที่ 1,100 บาท กรมสรรพากรเข้าใจว่าได้รวม VAT เข้าไปแล้ว

    ส่วนทอดสุดท้าย โรงพยาบาลเอกชนรับวัคซีนจากองค์การเภสัชกรรมในราคา 1,100 บาท/โดส นำมาฉีดให้ประชาชน คิดค่าบริการโดสละ 1,650 บาท ทอดสุดท้ายนี้ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (ญ) โรงพยาบาลเอกชนจะไปเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับประชาชนไม่ได้

    สำหรับส่วนต่างจากการให้บริการฉีดวัคซีน 550 บาท (1,650-1,100 บาท) เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่าย ค่าบริการ ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์แล้ว หากมีกำไร ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทั่วไป

    สรุป การนำเข้าวัคซีนทางเลือกมาฉีดให้กับประชาชนมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แฝงอยู่ เฉพาะในช่วงที่นำเข้าเท่านั้น ส่วนทอดอื่น ๆสามารถขอคืนภาษีได้ตามปกติ และทอดสุดท้าย ไม่สามารถเรียกเก็บ VAT จากประชาชนได้

    ไหน ๆ รัฐบาลก็ยกเว้นอากรขาเข้าวัคซีนและอุปกรณ์การแพทย์ไปแล้ว หากช่วยพิจารณายกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากกานำเข้าวัคซีนได้ ก็จะยิ่งเป็นการดี….