ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ของขวัญปีใหม่ “บิ๊กตู่” ให้มนุษย์เงินเดือน 3 ล้านคนช็อปปิ้งช่วยชาติ – 63 ล้านคน แห้ว

ของขวัญปีใหม่ “บิ๊กตู่” ให้มนุษย์เงินเดือน 3 ล้านคนช็อปปิ้งช่วยชาติ – 63 ล้านคน แห้ว

27 ธันวาคม 2015


เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง และนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร แถลงข่าว "มาตรการของขวัญปีใหม่จากกระทรวงการคลัง" ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (กลาง) นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง (ซ้าย) และนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร (ขวา) แถลงข่าว “มาตรการของขวัญปีใหม่จากกระทรวงการคลัง” ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง

มาตรการช็อปปิ้งช่วยชาติ ของขวัญปีใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีครั้งนี้ต้องถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำมาตรการภาษีมาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางการตลาด เร่งผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 สามารถนำใบกำกับภาษีรวมมูลค่าไม่เกิน 15,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2558 ได้

ปกติในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ถือเป็นช่วงระยะเวลาของการใช้จ่ายเงินอยู่แล้ว แต่ถ้ามีมาตรการภาษีมาสนับสนุน ก็จะยิ่งทำให้ภาคครัวเรือนเร่งการจับจ่ายใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของมาตรการชุดนี้ โดยนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวนี้จะทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.1-0.2% ต่อปีภายใน 5-7 วัน

คนกลุ่มไหนบ้างที่ได้ประโยชน์จากมาตรการชุดนี้ ถ้าดูจากตารางที่นำมาแสดงจะเห็นว่า คนไทยทั้งประเทศมี 66 ล้านคน ที่อยู่นอกระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 56 ล้านคน มายื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 กับกรมสรรพากร 10 ล้านคน ในจำนวนนี้จ่ายภาษีจริงประมาณ 3 ล้านคนเท่านั้น ส่วนที่เหลือ 7 ล้านคนไม่เสียภาษี เพราะเป็นกลุ่มคนที่รายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน หรือ ปีละไม่เกิน 240,000 บาท เมื่อนำรายได้มาหักค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 30,000 บาท และหักค่าใช้จ่ายอีก 60,000 บาทแล้วเหลือเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร

มาตรการยกเว้นภาษี ช็อป

ดังนั้นคนไทย 66 ล้านคน ได้รับประโยชน์จากมาตรการช็อปปิ้งช่วยชาติ คือกลุ่มคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 ล้านคน อีก 63 ล้านคน ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ เพราะไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับกลุ่มผู้เสียภาษีที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มที่มีรายได้สุทธิเกิน 4 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป เสียภาษีที่อัตรา 35% ของเงินได้สุทธิ หากซื้อสินค้าหรือบริการครบ 15,000 บาท ได้ภาษีคืน หรือ ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล คนละ 5,250 บาท แต่คนกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักเพราะมีจำนวนแค่ 24,709 คน ทำให้รัฐบาลขาดรายได้ 130 ล้านบาท

เป้าใหญ่อยู่ที่กลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สุทธิ 150,000 -750,000 บาทต่อปี มีจำนวน 2.9 ล้านคน รัฐบาลยอมเฉือนรายได้ 3,435 ล้านบาท กระตุ้นให้คนกลุ่มนี้เพิ่มการใช้จ่ายเงิน

อีกกลุ่มเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้สุทธิต่อปีอยู่ในช่วง 150,000 – 300,000 บาทต่อปี มีจำนวน 1.6 ล้านคน หากซื้อสินค้าครบ 15,000 บาท ได้ภาษีคืนคนละ 750 บาท เหตุที่ได้ภาษีคืนน้อยเพราะเสียภาษีในอัตรา 5%

รองลงมาเป็นกลุ่มที่มีรายได้สุทธิ 300,000 – 500,000 บาทต่อปี มีจำนวน 8.3 แสนคน ปกติเสียภาษีที่อัตรา 10% เมื่อซื้อสินค้าครบ ก็ได้ภาษีคืน 1,500 บาท

ส่วนกลุ่มที่มีรายได้สุทธิ 500,000 -750,000 บาทต่อปี มีจำนวน 4.3 แสนคน เสียภาษี 15% หากซื้อสินค้าครบ ได้ภาษีคืน 2,250 บาท

ตัวอย่างใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ

กติกาช็อปเพื่อหักลดหย่อน

เลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการประเภทใด จึงมีสิทธินำใบกำกับภาษีมาหักลดหย่อนภาษี ยังเป็นประเด็นที่ผู้เสียภาษีต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะเหลือเวลาช็อปปิ้งไม่ถึง 7 วัน

กติกามาตรการหักลดหย่อนภาษี 15,000 บาท มีดังนี้

1.ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้เกิน 20,000 บาทต่อเดือน หรือปีละ 240,000 บาทเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ต่ำกว่า 240,000 บาทต่อปี และนิติบุคคล ไม่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีช็อปปิ้ง 15,000 บาท

2.ต้องซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558

3.ต้องขอให้ผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มรูปแบบ ระบุวันที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ กรอกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ของผู้ซื้อให้ถูกต้อง และเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด ผู้ซื้อควรเขียนชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ให้ชัดเจนเตรียมมาจากบ้าน ยื่นให้ผู้ขายออกใบกำกับภาษีฉบับเต็มรูปแบบ

4.ต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่เสีย VATในอัตรา 7%ของมูลค่าเท่านั้น

5.ส่วนสินค้าหรือบริการที่นำใบกำกับภาษีมาหักลดหย่อนภาษีไม่ได้ ได้แก่ สินค้าหรือบริการที่ยกเว้น VAT เช่น สินค้าส่งออก พืชผลทางการเกษตร และสินค้าหรือบริการที่เสีย VAT อัตรา 0% เช่น ค่าขนส่ง ค่ารักษาพยาบาล หนังสือเรียน ทองคำ (ยกเว้นค่ากำเหน็จ) เป็นต้น

6.สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมันและก๊าซสาหรับเติมยานพาหนะ นำใบกำกับภาษีมาหักลดหย่อนภาษีไม่ได้(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

รายการสินค้าที่หักลดหย่อยภาษี

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการนี้ให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเฉพาะบุคคลธรรมดาที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง มูลค่าไม่เกิน 15,000 บาท ระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 โดยผู้ซื้อต้องขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบจากร้านค้า เพื่อนำมาใช้หักลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ไม่รวมการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ ประเภทสุรา ยาสูบ เบียร์ ไวน์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ และสินค้าที่ยกเว้น VAT หรือเสีย VAT อัตรา 0% นำใบกำกับภาษีมาหักภาษีไม่ได้

“หลักการสำคัญของมาตรการนี้ คือ ผู้เสียภาษีต้องขอให้ผู้ขายสินค้าหรือบริการออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบการขอหักลดหย่อนภาษี โดยผู้ขายสินค้าหรือบริการต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT กับกรมสรรพากร ศัลยกรรม ซื้อทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ นำใบกำกับภาษีมาหักลดหย่อนไม่ได้ เพราะได้รับยกเว้น VAT ส่วนค่าไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ นำใบกำกับภาษีมาหักลดหย่อนไม่ได้ เพราะถือเป็นค่าบริการของเดือนก่อนหน้านี้ ส่วนอาบ อบ นวด นั้น หากสถานประกอบการยอมออกใบกำกับภาษีเป็นค่าอาหารหรือเครื่องดื่ม ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้” นายประสงค์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรมสรรพากรมีมาตรการป้องกันการสวมสิทธิอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ใช้เงินบริษัทหรือเพื่อนซื้อสินค้า แต่แจ้งให้ร้านค้าออกใบกำกับภาษีในนามตนเอง เพื่อนำมาหักภาษี นายประสงค์ตอบว่า “ไม่มี เจตนารมณ์ของมาตรการนี้ก็ต้องการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย”

ถามว่า มาตรการนี้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เท่าไหร่ อธิบดีกรมสรรพากรตอบว่า “ประมาณ 4-5 พันล้านบาท แต่ช่วยกระตุ้นเกิดการจับจ่ายใช้สอย คาดว่าในช่วงวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 จะมีเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1.4-1.5 แสนล้านบาท และจากการที่ผู้ซื้อขอใบกำกับภาษีจากร้านค้าเพื่อนำมาหักลดหย่อนภาษี ทำให้กรมสรรพากรเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น”

ดูเพิ่มเติมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2558