ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐกระตุ้นคนไทยมีลูกมากขึ้น เพิ่มลดหย่อนภาษี – ค่าฝากครรภ์ทำคลอด 120,000 บาท/คน

รัฐกระตุ้นคนไทยมีลูกมากขึ้น เพิ่มลดหย่อนภาษี – ค่าฝากครรภ์ทำคลอด 120,000 บาท/คน

5 พฤศจิกายน 2017


จากปัญหาเด็กแรกเกิดมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยรายงานสถานการณ์ประชากรไทยปี 2558 “โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน” ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้หญิงจำนวนมากมีบุตรน้อยลง กล่าวคือผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี เคยมีจำนวนบุตรเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3 คน ในปี 2507 แต่ในปัจจุบันกลับมีจำนวนบุตรเฉลี่ย 1.6 คน ยิ่งไปกว่านั้นมีการคาดการณ์ว่าจะลดน้อยลงไปอีก โโยคาดว่าในปี 2583 จะเหลือเฉลี่ย 1.3 คน

รายงานนี้ระบุอีกว่า โดยภาพรวมแล้วเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2545-2557 มีจำนวนเฉลี่ยปีละเกือบ 800,000 ราย มีการคาดการณ์ว่าหากแนวโน้มเป็นเช่นนี้ จำนวนการเกิดจะลดลงต่ำกว่า 500,000 ราย ภายใน 25 ปีข้างหน้า

โครงสร้างประชากร ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 คนไทย 66 ล้านคน แบ่งเป็นวัยเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 11.5 ล้านคน, วัยทำงานอายุ 15-59 ปี 43.2 ล้านคน และวัยชราอายุเกิน 60 ปี 11.3 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสังคมผู้สูงอายุ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องระบบสาธารณสุข และสวัสดิการต่างๆ เพื่อรองรับปัญหาในอนาคต รวมทั้งการจัดเตรียมมาตรการภาษีสนับสนุนการมีบุตร โดยการปรับเพิ่มค่าลดหย่อนภาษี

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 นางแพตริเซีย มงคลวนิช รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ (ระดับ 10) กรมสรรพากร กล่าวในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรทั่วประเทศ ถึงมาตรการภาษีของกรมสรรพากรในปี 2561 ที่สำคัญมี 4 มาตรการดังนี้

1. มาตรการภาษีสนับสนุนการมีบุตร โดยกรมสรรพากรจะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ที่มีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท เพิ่มจากมาตรการเดิมที่เพิ่งจะมีผลบังคับในปีภาษี 2560 ที่ให้หักลดหย่อนบุตรได้ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวน นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้เสียภาษีนำค่าฝากครรภ์ และค่าทำคลอดตามที่จ่ายจริง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป มาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท

ดังนั้นบุตรที่เกิดก่อนปี 2561 หักลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ หัวละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวน แต่ถ้าบุตรที่คลอดหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป นอกจากหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาทแล้ว ผู้เสียภาษียังนำค่าฝากครรภ์-ทำคลอดมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี รวม 90,000 บาท เฉพาะบุตรคนที่ 2 เท่านั้น ที่คลอดหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ คนละ 60,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นแฝด 2, แฝด 3 หรือคลอดลูกหัวปีท้ายปี สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ หัวละ 60,000 บาท ส่วนค่าฝากครรภ์ ค่าทำคลอด กรมสรรพากรให้หักลดหย่อนได้ปีละไม่เกิน 60,000 บาท

2. มาตรการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีการประกอบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการ e-Commerce จัดตั้งสถานประกอบการในไทย จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้านำเข้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกเว้นและจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในต่างประเทศ

3. มาตรการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการบริจาคเงินให้สถานศึกษาและวัด โดยกำหนดให้สถานศึกษาและวัดที่ได้รับเงินบริจาคหรือทรัพย์สินต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี 13 หลัก และต้องบันทึกข้อมูลการรับบริจาคบนระบบ e-Donation โดยผู้เสียภาษีจะนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีได้ เฉพาะเงินบริจาคที่บันทึกอยู่ในระบบ e-Donation ของกรมสรรพากรเท่านั้น

4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ กำหนดให้ผู้มีเงินได้นำค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายให้กับบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยมาหักลดหย่อยภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยให้เริ่มหักลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป