ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > จากร้านทองถึงร้านขายยา สรรพากรแจ้ง 20,000 ราย เข้าระบบTax e-Payment เครื่องมือตรวจเส้นทางการเงินผู้เสียภาษี

จากร้านทองถึงร้านขายยา สรรพากรแจ้ง 20,000 ราย เข้าระบบTax e-Payment เครื่องมือตรวจเส้นทางการเงินผู้เสียภาษี

1 กรกฎาคม 2016


ในอดีตมีเรื่องราวที่เล่าต่อๆกันมา กรณีนักธุรกิจยุคก่อนถูกกรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ลุยตรวจนับสต็อกสินค้าหรือนั่งนับชามก๋วยเตี๋ยวเพื่อประเมินภาษี แต่ทว่าในโลกยุคใหม่ รูปแบบการค้าเปลี่ยนไป ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มีขายเฉพาะหน้าร้านเหมือนในอดีต หลังร้านก็มีการนำสินค้าขึ้นโพสต์ขายออนไลน์ ในช่องทางต่างๆ การชำระเงินมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งโอนเงินผ่าน Mobile Banking บัตรเครดิต บัตรเดบิต ส่งมอบสินค้าทางไปรษณีย์ หรือส่งของโดยวินมอเตอร์ไซค์และจ่ายเงินสดเมื่อรับของ สต็อกสินค้าอยู่ไหนไม่มีใครรู้

เมื่อโลกการค้าเปลี่ยนสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ภายใต้กฎระเบียบทางการค้าใหม่ เป็นแรงกดดันให้กรมสรรพากรต้องปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่ โดยนำระบบ Tax e-Payment ไปเชื่อมโยงกับ National e-payment พร้อมกับออกกฎหมายบังคับให้ผู้เสียภาษีขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ชำระภาษีทุกประเภทผ่านธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 และทยอยนำผู้เสียภาษีทุกรายจ่ายภาษีผ่านแบงก์ภายในปี 2561

ผลจากการปฏิรูประบบการชำระเงินครั้งนี้ ทำให้ข้อมูลการทำธุรกรรมทางเงินรายบุคคลจากธนาคารพาณิชย์ไหลเข้ามารวมกับข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่กรมสรรพากรไปเชื่อมโยงไว้ก่อนหน้านี้ กลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในการประเมินภาษีได้อย่างแม่นยำ ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้กรมสรรพากรต้องเดินสายชี้แจงผู้ประกอบการเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งอธิบายให้ผู้เสียภาษีได้เข้าใจถึงข้อดีและข้อเสียของการลงบันทึกบัญชีให้ถูกต้องภายใต้ “โครงการเอสเอ็มอีบัญชีเดียว” ซึ่งเริ่มจากธุรกิจร้านค้าทองเป็นกลุ่มแรก

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าทอง 7,500 ราย เปลี่ยนรูปแบบในการประกอบธุรกิจจากบุคคลธรรมดามาเป็นบริษัทนิติบุคคล ไม่ใช่มาตรการบังคับหรือ “ไล่บี้ภาษี” แต่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเลือกได้ตามความสมัครใจ โดยกรมสรรพากรจะชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการประกอบธุรกิจในรูปแบบของบริษัท ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น หรือถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสามารถนำมาหักลดหย่อนได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งแตกต่างจากบุคคลธรรมดา ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ธุรกิจค้าทองหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 75% ของรายได้ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงของการทำธุรกิจค้าทองได้กำไรไม่ถึง 25% แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นนิติบุคคล ผลประกอบการมีกำไรสุทธิไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปี ได้รับยกเว้นภาษี กำไรสุทธิเกิน 3 แสนบาท เสียภาษีที่อัตรา 10% ในทางตรงข้ามขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี และสามารถนำขาดทุนสะสมมาหักภาษีได้อีก 5 ปี และที่สำคัญทำให้การจัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรม ลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

ธุรกิจขายยาและมูลค่าทางธุรกิจ-ปก

นายประสงค์กล่าวว่าถัดจากธุรกิจค้าทอง กลุ่มที่ 2 เป็นธุรกิจร้านขายยา ทั่วประเทศมีประมาณ 20,000 แห่ง ส่วนใหญ่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 8(25) แห่งประมวลประรัษฎากร ให้ผู้เสียภาษีกลุ่มนี้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ไม่เกิน 80% ของเงินได้พึงประเมิน หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ยกเว้นสถานพยาบาล ร้านขายยา และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาสัตว์และพืชไม่ต้องเสีย VAT

“แนวทางในการแก้ปัญหาให้กับธุรกิจร้านขายยาก็คล้ายกับร้านทอง คือ พยายามอธิบายให้ร้านขายยาเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการมาเป็นนิติบุคคลหรือบริษัทโดยสมัครใจ ไม่บังคับ ส่วนธุรกิจร้านขายยาประกอบธุรกิจในรูปแบบของบริษัทอยู่แล้ว ก็ต้องลงบันทึกบัญชีให้ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจภายหลังจากที่กรมสรรพากรนำระบบ Tax e-Payment มาใช้เต็มรูปแบบ”

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบผูกพันวงเงินรวม 1,300 ล้านบาท ให้กรมสรรพากรติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปีงบประมาณ 2561 ขณะนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สรรพากรเร่งทำการศึกษาปัญหาของกลุ่มธุรกิจยา เพื่อใช้บรรยายในงานสัมมนาให้ความรู้ทางด้านภาษีแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านขายยาในเดือนกรกฎาคม 2559 นี้ จากนั้นก็จะเชิญกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเป็นรายต่อไป

อย่างไรก็ตามถ้าดูข้อมูลสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ตลาดยามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 13.6% ต่อปี เฉพาะในปี 2555 ตลาดยาที่ใช้รักษามนุษย์มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 161,662 ล้านบาท ประกอบด้วยยาที่ผลิตในประเทศไทยมีมูลค่า 50,549 ล้านบาท และยานำเข้าจากต่างประเทศมูลค่า 111,113 ล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยทำประมาณการมูลค่าตลาดของธุรกิจร้านขายยาปี 2558 มีมูลค่าตลาดประมาณ 34,000-35,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของมูลค่าตลาดยาโดยรวม ที่เหลืออีก 80% ส่งไปขายให้โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ส่วนใหญ่เป็นยารักษาโรคเรื้อรังที่อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ธุรกิจขายยาและมูลค่าทางธุรกิจ

ในปี 2557 มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยาจาก อย. ทั้งสิ้น 23,372 ราย ประกอบด้วยผู้นำเข้ายา 920 ราย ผู้ผลิต 1,134 ราย และร้านขายยาทุกประเภท 21,318 ราย ในจำนวนนี้เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบันประมาณ 15,359 ราย

จังหวัดที่มีผู้ประกอบธุรกิจยามากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ได้รับใบอนุญาตจาก อย. ทั้งสิ้น 6,540 ราย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มร้านขายยาแผนปัจจุบัน 4,794 ราย ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ 355 ราย ร้านขายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ 98 ราย และร้านขายยาแผนโบราณ 474 ราย
2. กลุ่มผู้นำเข้ายาแผนปัจจุบัน 635 ราย และผู้นำเข้ายาแผนโบราณ 182 ราย
3. กลุ่มผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน 94 ราย และผลิตยาแผนโบราณ 289 ราย

ส่วนจังหวัดที่มีผู้ประกอบธุรกิจยามากเป็นอันดับที่ 2 คือ จังหวัดชลบุรี มี 811 ราย อันดับ 3 จังหวัดสมุทรปราการ 709 ราย อันดับ 4 จังหวัดนนทบุรี 675 ราย และอันดับ 5 จังหวัดปทุมธานี 560 ราย

สำหรับเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่มีร้านขายยามากที่สุด คือ เขตบางกะปิ มีร้านขายยาทั้งหมด 274 แห่ง เนื่องจากในเขตนี้มีบริษัทนำเข้าและโรงงานผลิตยารายใหญ่เปิดกิจการเป็นจำนวนมาก อันดับ 2 เขตจตุจักร มีร้านขายยา 197 แห่ง อันดับ 3 เขตบางเขน 188 แห่ง อันดับ 4 เขตบางขุนเทียน 162 แห่ง เขตวังทองหลาง 162 แห่ง และอันดับ 5 เขตคลองเตยและเขตดินแดง เขตละ 158 แห่ง เขตที่มีร้านขายยาแผนโบราณมากที่สุดคือเขตบางเขนและเขตดินแดง มีเขตละ 16 แห่ง

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรได้เปรียบเทียบความแตกต่างของธุรกิจยากับธุรกิจค้าทองว่า เนื่องจากประมวลรัษฎากรให้ธุรกิจร้านทองหักค่าใช้จ่ายได้ 75% ของรายได้ มีกำไร 25% ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงขายทองคำแท่งหนัก 1 บาท ได้กำไร 15 บาท แต่ขายทองรูปพรรณได้ค่ากำเหน็จ 500 บาท รายได้ของร้านทองจริงๆ มาจากการทำธุรกิจขายฝากทอง ทำให้ธุรกิจร้านทองแจ้งยอดขายต่ำกว่าความเป็นจริง หากแจ้งยอดขายตามความเป็นจริงก็ขาดทุน เพราะกำไรน้อยมาก ขณะที่ธุรกิจขายยา ประมวลรัษฎากรให้หักค่าใช้จ่าย 80% ของรายได้ ขณะที่ต้นทุนในการผลิตยาไม่เกิน 10% ของราคายา ส่วนที่เหลือ 90% เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานวิจัยยา ค่าสิทธิบัตร ค่าการตลาด ค่าคอมมิชชั่น และค่าใช้จ่ายในการพาหมอเดินทางไปดูงานวิจัยยาหรือสัมมนาในต่างประเทศ เป็นต้น

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สรรพากรแทบจะไม่มีความรู้เรื่องยา ยาที่ร้านขายยาสั่งมาขายในร้านมีหลายร้อยชนิด ยาใหม่ ยาเก่า ปะปนกันอยู่ในสต็อกยา ยาแต่ละยี่ห้อตัวแทนจำหน่ายให้ส่วนลดหรือกำไรไม่เท่ากัน อย่างเช่น ยากำพร้า ยาราคาถูก ขาย 100 เม็ด ได้กำไร 1 บาท บริษัทยาเองก็ไม่อยากผลิต ร้านขายยาก็ไม่อยากขาย เพราะได้กำไรน้อย ดังนั้น ยาที่เภสัชกรหรือ “หมอตี๋” แนะนำ ไม่ได้หมายความว่าเป็นยาที่มีคุณภาพการรักษาดีกว่า แต่เป็นยาให้ส่วนลดจำนวนมาก ส่วนยาที่ขายไม่ได้ เป็นยาเก่าใกล้หมดอายุ ก็ส่งคืนตัวแทนจำหน่ายยา บริษัทยานำกลับมาขายใหม่เป็นยาแถม นอกจากนี้ โรงพยาบาลแต่ละแห่งตั้งราคาขายยาไม่เท่ากัน โรงพยาบาลของรัฐได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลมาจ้างหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ แต่โรงพยาบาลเอกชนไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐ เพื่อความอยู่รอด จึงบวกค่าใช้จ่ายส่วนนี้เข้าไปรวมอยู่ในค่ายา นอกเหนือจากค่าบริการทางการแพทย์

“ปัญหาในการจัดเก็บภาษีร้านขายยา คือ ร้านขายยาส่วนใหญ่แจ้งรายได้กับสรรพากรพื้นที่ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ต้องเสีย VAT ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ซื้อยาด้วยเงินสด และก็ไม่ขอใบเสร็จ ตรงจุดนี้เองที่ทำให้กรมสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบรายได้ที่แท้จริงของธุรกิจร้านขายยาได้ ตรวจนับสต็อกยาก็ไม่ไหว เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้เรื่องยา การจัดเก็บภาษีขึ้นอยู่กับร้านขายยาจะแจ้งรายได้เท่าไหร่ก็ได้ หากกรมสรรพากรไม่เชื่อก็ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปไต่สวน แต่ก็ทำได้ระดับหนึ่ง เพราะไม่มีข้อมูลในการตรวจสอบยัน” แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าว

ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างว่า ร้านขายยายื่นแบบแสดงรายได้ 1.5 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายได้ 80% คือ 1.2 ล้านบาท หักค่าลดหย่อนส่วนบุคคล 30,000 บาท หากไม่มีค่าลดหย่อนอื่นๆ จะเหลือเงินได้สุทธิ 270,000 บาท เงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกได้รับยกเว้นภาษี เหลือเงินได้สุทธิ 120,000 บาท เพื่อนำไปคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้า ร้านขายยารายนี้จ่ายภาษีจริง 6,000 บาท แต่เนื่องจากเป็นเงินได้ที่อยู่นอกเหนือมาตรา 40(1) เจ้าหน้าที่สรรพากรต้องนำวิธีการคำนวณภาษีปกติมาเปรียบเทียบกับวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นต่ำในอัตรา 0.005% (เงินได้ทุกๆ 1,000 บาท เสียภาษี 5 บาท) วิธีไหนกรมสรรพากรได้เงินภาษีมากที่สุดให้ใช้วิธีนั้น ดังนั้น กรณีร้านขายยามีเงินได้ 1.5 ล้านบาท จึงต้องเสียภาษีขั้นต่ำให้กรมสรรพากร 7,500 บาท นี่คือสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวต่อว่า แต่หลังจากกรมสรรพากรเชื่อมโยงระบบ Tax e-Payment เสร็จเรียบร้อยเมื่อไหร่ ก็จะทำให้กรมสรรพากรมีเครื่องมือในการตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้เสียภาษี หากผู้เสียภาษีอยู่นอกระบบหรือยื่นรายได้ไม่ถูกต้อง วันนี้กรมสรรพากรให้โอกาสแก้ไขให้ถูกต้อง โดยไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ถ้าไม่แก้ไขปรับปรุง เกรงว่าในอนาคตจะเดือดร้อน ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้กรมสรรพากรต้องจัดสัมมนาชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เสียภาษีเป็นราย Sector เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต