ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.แจงปรับโครงสร้างหนี้ 2.34 แสนล้าน – ส่องสินเชื่อรายจังหวัด อยู่ไหนบ้าง?

ธปท.แจงปรับโครงสร้างหนี้ 2.34 แสนล้าน – ส่องสินเชื่อรายจังหวัด อยู่ไหนบ้าง?

19 มีนาคม 2020


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธปท.แจงความคืบหน้าปรับโครงสร้างหนี้ 3 หมื่นราย 2.34 แสนล้านบาท ส่องรายจังหวัดหวั่นสินเชื่อท่องเที่ยวสูง เสี่ยงทรุดหนักหากโควิด-19 ไม่คลี่คลาย

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินผ่าน VDO conference เพื่อติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ และการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจระบาดรุนแรงมากขึ้น ด้านการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน พบว่า ช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังจาก ธปท. ออกมาตรการส่งเสริมให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 สถาบันการเงินทั้งระบบได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้แล้วประมาณ 30,000 ราย เป็นมูลค่า 234,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการพักหนี้เงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย ปรับระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น เพื่อลดภาระในการผ่อนหนี้ของลูกหนี้

สถาบันการเงินหลายแห่งได้จัดทำกระบวนการทำงานพิเศษ อาทิ ตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแบบ one stop service และออก product program สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มต่างๆ อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือแล้วยังค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ธปท. จึงกำชับให้ทุกสถาบันการเงินเร่งเข้าไปดูแลลูกหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้โดยเฉพาะ SMEs และรายย่อย ต้องปรับกระบวนการทำงานให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น และต้องสื่อสารนโยบายจากส่วนกลางลงไปยังสาขาและศูนย์ธุรกิจที่กระจายทั่วประเทศให้รวดเร็วและชัดเจน

นอกจากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงินเตรียมพร้อมแผนสำรองเพื่อให้บริการทางการเงินหลักสามารถดำเนินได้ต่อเนื่องในกรณีที่การระบาดรุนแรงขึ้น ซึ่งแผนสำรองต้องครอบคลุมการบริหารจัดการเงินสดให้ประชาชนเบิกถอนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ ดูแลให้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมที่จะเพิ่มขึ้นมาก ตลอดจนดูแลธุรกรรมตลาดเงินให้ดำเนินการได้อย่างราบรื่น

ธปท. จะทำงานร่วมกับสถาบันการเงิน สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารต่างประเทศ และสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าบริการทางการเงินหลักของประเทศจะดำเนินต่อไปได้ในกรณีที่สถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้น

ขณะที่ในวันที่ 19 มีนาคม 2563 นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาที่ตลาดพันธบัตรไทยมีความผันผวนสูงตามความตื่นตระหนกในตลาดการเงินโลก ธปท. ได้เข้าอัดฉีดสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรภาครัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้(19 มีนาคม 2563) ธปท. เข้าซื้อพันธบัตรรวมประมาณ 45,000 ล้านบาท รวมเป็นยอดการเข้าซื้อตั้งแต่ 13-19 มี.ค. 63 กว่า 100,000 ล้านบาท

ธปท. มีแผนลดวงเงินการประมูลพันธบัตร ธปท. ในระยะต่อไป เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรอีกทางหนึ่ง และยืนยันว่า ธปท. พร้อมที่จะเข้าซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความผันผวนของตลาดพันธบัตรและเสริมให้ตลาดมีสภาพคล่องในการซื้อขายอย่างเพียงพอ

จังหวัดท่องเที่ยวหนี้สูง เสี่ยงทรุดหนักหากโควิด-19 ไม่คลี่คลาย

ทั้งนี้หากส่องข้อมูลของสินเชื่อรายจังหวัดของธปท.พบว่าระบบการเงินไทยมีมูลค่าสินเชื่อคงค้าง ณ เดือนมกราคม 2563 วงเงิน 15.305 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเงินเบิกเกินบัญชี วงเงิน 890,256 ล้านบาท, เงินให้กู้ 12.345 ล้านล้านบาท และตั๋วเงิน 2.065 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยสินเชื่อส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกทม.ประมาณ 70% ของประเภทสินเชื่อนั้นๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะสำนักงานใหญ่ของธนาคารอยู่ในกทม.เป็นหลัก ยกเว้นเพียงเงินเบิกเกินบัญชีที่กว่า 70% อยู่ในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมกทม.และเปรียบเทียบเฉพาะสินเชื่อของต่างจังหวัดด้วยกันจะพบว่าสินเชื่อส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ตามจังหวัดท่องเที่ยว (จำแนกตามข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics) ได้แก่ ชลบุรี, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, พระนครศรีอยุธยา, ตราด, นครราชสีมา, ขอนแก่น, เชียงใหม่, เชียงราย, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ระนอง และสงขลา โดยมีสินเชื่อรวม 1.794 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41% ของสินเชื่อในต่างจังหวัดทั้งหมดที่ 4.413 ล้านล้านบาท