ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.เผยเศรษฐกิจเม.ย. ดิ่งทุบสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จากเครื่องยนต์ดับ

ธปท.เผยเศรษฐกิจเม.ย. ดิ่งทุบสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จากเครื่องยนต์ดับ

29 พฤษภาคม 2020


ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายนว่า เป็นเดือนแรกที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากมาตรการปิดเมืองเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัาโควิด-19 สิ่งที่สังเกตเห็นชัดเจนคือ เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเกือบทุกเครื่องยนต์หดตัว มีเพียงการใช้จ่ายของภาครัฐที่ขยายตัว เสถียรภาพของเศรษฐกิจมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน

เดือนเมษายนนี้มีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวที่เป็นประวัติการณ์ หวังว่าจะไม่มีประวัติการณ์หลังประวัติการณ์ แนวโน้มพฤษภาคมคิดว่าการหดตัวยังสูงอยู่ แต่คงปรับดีขึ้นจากการคลายมาตรการปิดเมือง โดยเฉพาะในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคงเหมือนเดิมเป็นศูนย์ก็เป็นผลลบอยู่แล้ว อีกอันการส่งออกก็ยังไม่เห็นตัวเลข แต่ในประเทศอาจจะปรับดีขึ้นได้บ้างจากการโอนเงินเยียวยาของรัฐที่มากขึ้นและการคลายการปิดเมือง น่าจะมีผลบ้างแต่อาจจะยังไม่ชัดเจนมาก และอาจจะต่อเนื่องไปถึงเดือนมิถุนายน แต่อย่างที่คาดว่าไตรมาสสองคงเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจหดตัวลึกที่สุดอยู่แล้ว” ดร.ดอน กล่าว

แรงงานถูกลดเงินเดือนพุ่ง 5 เท่า

ดร.ดอน กล่าวต่อไปว่า สำหรับตลาดแรงงานที่ธปท.ค่อนข้างกังวล ในระยะที่ผ่านมาข้อมูลผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติอาจจะขาดหายไปไม่สามารถนำมาประกอบการวิเคราะห์ได้ เพราะไม่สามารถออกไปสำรวจได้ โดยข้อมูลที่ดีที่สุดที่มีคือข้อมูลประกันสังคม คือผู้ขอรับสิทธิประโยชน์การว่างงาน ทั้งที่ถูกเลิกจ้างหรือว่างงานจากสาเหตุอื่น โดยในเดือนเมษายนตัวเลขสัดส่วนของผู้ขอรับสิทธิฯต่อผู้ประกันสังคมทั้งหมดประมาณ 11 ล้านคน กระโดดขึ้นไปอย่างมาก โดยกลุ่มที่ว่างงานตามปกติเพิ่มขึ้นจาก 1.5% เป็น 1.8% ของผู้ประกันตนทั้งหมด ส่วนหากแยะเฉพาะกลุ่มที่ถูกเลิกจ้าง (ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มแรกด้วยและคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของผู้รับสิทธิว่างงานทั้งหมด) จะเพิ่มขึ้นจาก 0.25% เป็น 0.4% ของผู้ประกันตนทั้งหมด

“ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการและถูกลดเงินเดือนตามมาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าจาก92,264 คน ในเดือนที่ผ่านมาเป็น 465,218 คน จำนวนกิจการที่ขอรับสิทธิเพิ่มขึ้นจาก 445 กิจการเป็น 2,406 กิจการ ส่วนเดือนพฤษภาคมมีผู้มาขอสิทธิถึงวันที่ 17 พฤษาคมมีจำนวน 335,692 คน ส่วนหนึ่งยังไม่จบเดือนดีและมีผู้มาขอรับสิทธิล่วงหน้าด้วย ซึ่งต้องติดตามต่อไปให้ครบเดือนก่อน แต่คาดว่าจะมีผลกระทบค่อนข้างมากกับทั้งเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินในระยะข้างหน้า หากส่วนนี้กลับมาเปิดกิจการได้ก็อาจจะดีขึ้น แต่ผู้ว่างงานของประกันสังคมอันนี้อาจจะไม่ชั่วคราว”

ด้านแรงงานภาคเกษตร พบว่า รายได้เกษตรกรหดตัวมากขึ้นจากภัยแล้ง โดยหดตัวไป 10.1% สาเหตุหลักมาจากปริมาณผลผลิตที่ลดลงไปค่อนข้าง โดยผลผลิตหดตัวไป 13.2% ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงขยายตัว 3.5%

บริโภคหดตัวทุกประเภทสินค้า – ต่ำสุดตั้งแต่ธปท.เก็บสถิติ

ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบใหญ่และคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจไทย ในเดือนนี้หดตัวในทุกหมวดสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าคงทน กึ่งคงทน หรือไม่คงทน แตกต่างจากเดือนก่อนหน้าที่สินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ยังขยายตัวได้ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงอย่างทิ้งดิ่งเหมือนกันเป็นประวัติการณ์

“การหดตัวในทุกหมวดแบบนี้ทำให้ดัชนีการบริโภคของเอกชนติดลบ 15.1% และเป็นการหดตัวที่สูงสุดตั้งแต่ธปท.ทำดัชนีมา โดยเป็นผลจากมาตรการปิดเมือง เพราะข้อมูลการเคลื่อนย้ายคนไปสถานที่ต่างๆจากกูเกิ้ลจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่จะอยู่กับบ้านในเดือนเมษายน แต่เดือนพฤษภาคมก็อาจจะอุ่นใจขึ้นบ้างเพราะตัวเลขเบื้องต้นเริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาบ้างและมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนเกิดขึ้นบ้าง”

ท่องเที่ยวหดตัว 100% หลังปิดสนามบิน

ขณะที่ภาคท่องเที่ยวหดตัว 100% หลังจากปิดเมืองและห้ามเดินทางเข้าประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเลยแม้แต่คนเดียว ซึ่งทำให้ตัวเลขต่ำสุดในประวัติการณ์ และคิดว่าสถานการณ์แบบนี้จะยังคงอยู่อีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะภาคท่องเที่ยมีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก

“ถ้ายังมีมาตรการห้ามเดินทาง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคงไม่มีกลับมา แต่หากท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มผ่อนคลายขึ้นภาคท่องเที่ยวก็น่าจะดีขึ้นได้บ้าง แต่สถานการณ์แบบนี้อาจจะสืบเนื่องต่อไปอีกจนถึงเดือนมิถุนายนได้”

ส่งออกหดตัว 15.9% – คาดหดตัวเพิ่มอีก 2 เดือน

สำหรับการส่งออกหดตัว 3.3%  และหากไม่รวมทองคำจะหดตัว 15.9% เนื่องจากเดือนนี้มีการส่งออกทองคำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์สืบเนื่องจากราคาทองคำที่สูงขึ้นอย่างมาก สินค้าที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากคือรถยนต์ รองลงมาจะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน

“สาเหตุที่ทำให้ส่งออกหดตัวรุนแรง ส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์ของคู่ค้าที่หายไปในหลายประเทศ หลายประเทศปิดเมืองเข้มข้นที่สุดเหมือนกัน แต่หากมองไปข้างหน้าภาคส่งออกยังดูมีทิศทางไม่ค่อยดีเพราะเครื่องชี้นำไม่ว่าจะการค้าโลก หรือคำสั่งซื้อล่วงหน้าของผู้ประกอบการในประเทศจะเห็นว่าทิ้งดิ่งค่อนข้างมาก ดังนั้นสะท้อนว่าการส่งออกในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าน่าจะหดตัวมากขึ้น”

ความเชื่อมั่นธุรกิจดิ่ง – ลงทุนไม่ฟื้นเร็ว

ด้านการลงทุนของเอกชนหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยดัชนีการลงทุนหดตัว 6.1% ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว 8.7% และหากปรับฤดูกาลจะพบว่ากลับมาเป็นบวกขยายตัวได้ 1.9% อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งเพราะเดือนเมษายนปีนี้มีการเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ ทำให้การลงุทนโดยเฉพาะภาคก่อสร้างสามารถทำงานต่อเนื่องได้และปรับสูงผิดปกติจากปีที่ผ่ามมา ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังทิ้งดิ่งเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน และมีแรงกดดันในระยะข้างหน้าค่อนข้างสูง ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังหดตัวมากขึ้นสอดคล้องกันในอัตรา 17.2%

ภาครัฐขยายตัวเครื่องยนต์เดียว

การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวมากขึ้น แม้หักเงินโอนจากมาตรการเยียวยา ซึ่งมีส่วนช่วยพยุงการบริโภคของเอกชนเอาไว้ด้วยส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโรค COVID-19 ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ

บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากสุดในประวัติศาสตร์

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีความเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวก แต่ปรับลดลงต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางของอุปสงค์ในประเทศ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลรายได้จากการจ่ายเงินปันผลของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวลดลงมาก และดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ

ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลไม่ได้เยอะมาก แต่ปกติเดือนนี้จะไม่ใช้เดือนที่ขาดดุล ปกติจะขาดดุลในเดือนพฤษภาคม ปีนี้ติดลบเร็วกว่าปกติ และส่วนหนึ่งที่ติดลบไม่มากเพราะการส่งออกทองคำที่มากเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นหากหักออกไปแล้วจะกลายเป็นว่าขาดดุลมากสุดในประวัติศาสตร์ของไทย แต่ดุลการชำระเงินเป็นบวก คือ มีการไหลเข้าของเงินทุนจากนักลงทุนหรือสถาบันการเงินไทยที่นำเงินกลับจากต่างประเทศ  ส่วนนักลงทุนต่างชาติยังเป็นการขายสุทธิอยู่”

สุดท้ายสำหรับอัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินปรับลดลง 2 รอบจากมีมาตรการปรับลดเงินนำส่งกองทุน FIDF ของสถาบันการเงิน และการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในแง่ต้นทุนการกู้เงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนในระยะต่อไป