ThaiPublica > Sustainability > CSR Movement > มหาเศรษฐีไทยช่วยอะไร (ไปแล้ว)ในโควิด-19

มหาเศรษฐีไทยช่วยอะไร (ไปแล้ว)ในโควิด-19

18 เมษายน 2020


พลันที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจะส่งจดหมายเทียบเชิญ 20 อันดับมหาเศรษฐีไทยมาหารือเพื่อขอความเห็นว่าจะสนับสนุนอย่างไรได้บ้างในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด-19 เมื่อเย็นวันที่ 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ไม่ทันข้ามคืนแฮชแท็ก #รัฐบาลขอทาน ก็ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งไทยเทรนด์บนทวิตเตอร์ และชุดรายชื่อของ 20 มหาเศรษฐีที่จะถูกออกจดหมายเทียบเชิญถูกอ้างอิงมากที่สุดมาจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีไทยล่าสุดของนิตยสารฟอร์บส์ ปี 2563 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีรายชื่อของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในลำดับที่ 16

  • นายกฯ เตรียมออกจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีไทยสัปดาห์หน้า ร่วมพลังสู้โควิดฯ
  • สำรวจ “นวัตกรรมฉุกเฉิน” สู้วิกฤติโควิด-19 ของภาคธุรกิจ รับมือระบาดระยะ 3
  • ฟอร์บส์ รวบรวม “พลังการให้” ของมหาเศรษฐีโลก รวมใจสู้วิกฤติโควิด-19(ตอน1)
  • ฟอร์บส์ รวบรวม “พลังการให้” ของมหาเศรษฐีโลก รวมใจสู้วิกฤติโควิด-19 (จบ)
  • “ไทยพับลิก้า” ชวนย้อนหลังสำรวจการช่วยเหลือของบรรดาตระกูลมหาเศรษฐีไทย นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ว่า “มหาเศรษฐีไทย” ใครทำอะไร ตระกูลไหนช่วยเหลืออะไรไปแล้วบ้างในวิกฤติโควิด-19 โดยรวบรวมจากข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะ

    พบว่า ตระกูลมหาเศรษฐีไทยส่วนใหญ่บริจาคเงินไปแล้วเฉลี่ย 20-50 ล้านบาท มีเพียงตระกูลเจียรวนนท์ ที่ยอดบริจาครวมการสร้างโรงงานหน้ากากอนามัยที่เพิ่งเปิดไปแล้วมีมูลค่ารวมสูงถึง 377 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่บริจาคช่วยเหลือในเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ และการบริจาคยังกระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ

    อย่างไรก็ตาม การบริจาคในภาพรวมเทียบกับสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินนั้นยังน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการให้และการบริจาคของบรรดามหาเศรษฐีในระดับโลก เช่น  เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งอะเมซอน ที่บริจาคเงินราว 3.2 พันล้านบาทให้กับคลังอาหารสหรัฐฯ ในช่วงวิกฤติ, บิล เกตส์ และภรรยา ที่บริจาคเงิน 8.1 พันล้านบาท สนับสนุนโครงการวิจัยยาต้านโควิด-19 หรือการช่วยเหลือการพัฒนาวัคซีนของ แจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ซึ่งนับรวมทั้งหมดกับเรื่องอื่นๆ ที่เขาช่วยเหลืออย่างการ

    รวมไปถึงการตอบสนองต่อปัญหาที่ค่อนข้างช้าเนื่องจากระบบการให้และการบริจาค ในขณะที่มหาเศรษฐีระดับโลกดำเนินการอย่างเป็นระบบและผ่านมูลนิธิ ทำให้เมื่อเกิดปัญหาสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที

    ทั้งนี้ หากประเมินโครงสร้างการให้และการบริจาคในต่างประเทศที่ทำได้เร็วมาก และสามารถใช้เงินบริจาคได้จำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างและระบบของการให้และการบริจาคทำผ่านมูลนิธิ ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์ในภาวะวิกฤติได้อย่างรวดเร็ว รู้ว่าจะทำอะไร รู้วิธีใช้เงิน รวมไปถึงกระบวนการทำงานร่วมกับภาคี ขณะที่รูปแบบการให้ของไทยยังเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคลและใช้ความสัมพันธ์เป็นฐาน

    เครือซีพี ตระกูลเจียรวนนท์ นอกจากทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนแล้ว ยังมอบชุดคลุมป้องกันเชื้อชนิดคลุมทั้งตัว 2,000 ชุด พร้อมหน้ากาก face shield 40,000 ชิ้นให้โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลที่ขาดแคลน

    ซีพีเอฟสนับสนุนงบฯ 200 ล้านบาท ส่งอาหารให้โรงพยาบาลรัฐ 88 แห่งทั่วประเทศทุกวัน ต่อเนื่องไปยังครอบครัวแพทย์-พยาบาล, ซีพีออลล์ เซเว่น อีเลฟเว่น มอบเงิน 77 ล้านบาท ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ 77 โรงพยาบาล และมอบชุด PPE 10,000 ชุด ให้ 5 โรงพยาบาล, ขณะที่แม็คโครประกาศรับซื้อผลไม้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนจากภัยโควิด

    กลุ่มทรู ติดตั้งโครงข่าย 5G ให้โรงพยาบาล และมอบซิมฮีโร่ให้บุคลากรทางการแพทย์ และยังร่วมกับคณะวิศวะจุฬาฯ-สตาร์ทอัป HG Robotics และ Obodroid ติดตั้งหุ่นยนต์ขนส่งอัจฉริยะช่วยทีมแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพบาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลรามาจักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลสนามวชิระภูเก็ต

    กลุ่มธุรกิจ TCP กระทิงแดง ตระกูลอยู่วิทยา มอบเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา มูลค่า 15 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลจุฬาฯ, มอบหน้ากากผ้าทางเลือก 120,000 ชิ้นให้บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศ และแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไป

    บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตระกูลสิริวัฒนภักดี มอบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากแอลกอฮอล์ให้สภากาชาดไทยและศูนย์ปฏิบัติการ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่โออิชิกรุ๊ปในเครือไทยเบฟ ร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริจาคเงิน อาหาร เครื่องดื่ม รวม 24 ล้านบาท ผ่านสภากาชาติไทยให้ 7 โรงพยาบาล (โรงพยาบาลจุฬาฯ, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลราชวิถี, สถาบันบำราศนราดูร)

    กลุ่มเซ็นทรัล ตระกูลจิราธิวัฒน์   มอบเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่า 30 ล้านบาท ให้โรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ

    เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล กรุ๊ป มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหารให้โรงพยาบาลศิริราช, พนักงานเซ็นทรัลพัฒนาทำหน้ากาก face shield 60,000 ชิ้น ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลกว่า 40 แห่งทั่วประเทศ, และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ สนับสนุนห้องพักให้ผู้บริหารและอาจารย์แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยทั่วไปของโรงพยาบาลตำรวจเข้าพักฟรี

    บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตระกูลรัตนาวะดี มอบเงินบริจาค 34 ล้านบาทให้ 5 โรงพยาบาล (โรงพยาบาลรามาธิบดี 20 ล้านบาท, โรงพยาบาลตำรวจ 5 ล้านบาท, โรงพยาบาลราชวิถี 4 ล้านบาท, สถาบันบำราศนราดูร 4 ล้านบาท, สถาบันโรคทรวงอก 1 ล้านบาท)

    นอกจากนี้ยังมอบเงิน 20 ล้านบาท ให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดซื้อเครื่อง ECMO และเครื่องช่วยหายใจเพื่อผู้ป่วยโควิด รวมทั้งส่งมอบข้าวกล่องวันละ 2,000 กล่อง ให้ 27 ชุมชนในกรุงเทพมหานคร

    คิง เพาเวอร์ ตระกูลศรีวัฒนประภา โดยมูลนิธิวิชัย ศรีวัฒนประภา มอบเงินรวม 45 ล้านบาท ให้ 3 หน่วยงานทางการแพทย์ (กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 5 ล้านบาท, สถาบันบำราศนราดูร 20 ล้านบาท, โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ 20 ล้านบาท)

     บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) ตระกูลตั้งคารวคุณ มอบเงินบริจาคจำนวน 1,000,000 บาท เพื่อสมทบทุนจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลหัวเฉียว โรงพยาบาลเอกชนเพื่อสังคม ในสังกัดมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และมอบโฟมล้างมือและเจลล้างมือแอลกอฮอล์ ตรา ทีโพล์ (Teepol) จำนวน  5,000 ชุด ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปช่วยเหลือและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

    บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ตระกูลโอสถานุเคราะห์  โครงการโอสถสภาพลังฮึดสู้เพื่อคนไทย ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ ต่อสู้กับการระบาดของเชื้อไวรัส บริษัทฯ ได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและสเปรย์แอลกอฮอล์ รวมมูลค่ากว่า 23 ล้านบาท มอบผลิตภัณฑ์สเปรย์ทำความสะอาดมือและเครื่องดื่มของโอสถสภา มูลค่ารวม 100,000 บาท ให้สถาบันบำราศนราดูร, มอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม รวมมูลค่า 180,000 บาท ให้โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลราชวิถี,

    บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตระกูลไชยวรรณ โดยคุณไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ มอบกรมธรรม์ประกันชีวิตกลุ่ม โครงการ “นักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19”  เพื่อคุ้มครองแพทย์และพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ติดโควิด-19 กรณีเสียชีวิตจากการติดโควิด-19 ทุนประกันรายละ 5,000,000 บาท โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ทุนประกันรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาทให้บุคลากรทางการแพทย์

    บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)  ตระกูลเพ็ชรอำไพ โดยคุณชูชาติ เพ็ชรอำไพ บริจาคเงิน 60 ล้านบาทให้ 7 โรงพยาบาลเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ (โรงพยาบาลจุฬาฯ, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลรามาธิบดี, สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์)

    บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจในกลุ่ม บี.กริม ของ ฮาราลด์ ลิงค์ มอบเงินบริจาค จำนวน6,500,000 บาท เพื่อสนับสนุนการทำประกันชีวิตให้กับบุคลากรทุกท่านของโรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งในส่วนแพทย์ พยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่อื่นๆ ทุกท่านที่ปฎิบัติหน้าที่ของโรงพยาบาล

    ตระกูลรัตนรักษ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านบาท ร่วมสมทบทุน “ช่อง 7 รวมใจสู้ภัยโควิด-19” โดยเงินทั้งหมดจะถูกนำไปจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และช่วยเหลือผู้ป่วย สำหรับ 10 โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

    คุณคีรี กาญจนพาสน์ และกลุ่มบริษัทบีทีเอส มอบเงิน 60 ล้านบาท สนับสนุนโครงการ “นักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19” ทำประกันชีวิตให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ

     บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ตระกูลภิรมย์ภักดี  บริจาคเงิน 50 ล้านบาท ให้ 26 โรงพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมกับสนับสนุนอาหารและน้ำดื่มเพื่อดูแลบุคคลากรทางการแพทย์

    ครอบครัวชินวัตร บริจาคชุด PPE และหน้ากากอนามัยให้โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาฯ

    บริษัท พลังงงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ของ สมโภชน์ อาหุนัย ร่วมกับพันธมิตร สนับสุนนเงินทุนทำประกันการแพทย์ 50,000 กรมธรรม์

    เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ของคุณฤทธิ์ ธีระโกเมน  ส่งอาหารกว่า 7,400 กล่องให้โรงพยาบาลรัฐ 34 แห่งทั่วประเทศทุกวัน รวมทั้งมอบเงินบริจาค 10 ล้านบาท สนับสนุนโครงการพัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบรวดเร็ว ผ่านคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    เดอะมอลล์ กรุ๊ป ตระกูลอัมพุช  มอบเงิน อุปกรณ์การแพทย์ และอาหาร รวม 20 ล้านบาท ให้ 5 โรงพยาบาลหลัก (โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลราชวิถี, และสถาบันบำราศนราดูร)

    ทั้งนี้ 20 อันดัน ยังมีอีกหลายตระกูลมหาเศรษฐีที่บริจาคและให้ความช่วยเหลือในวิกฤตินี้  เช่น  ธนาคารกรุงเทพ ตระกูลโสภณพนิช บริจาคเงิน 40 ล้านบาท ให้ 4 โรงพยาบาล (โรงพยาบาลรามาธิบดี,โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลจุฬาฯ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนแห่งละ 10 ล้านบาท) เครือเบทาโกร ตระกูลแต้ไพสิฐพงษ์  มอบเงินบริจาค 5 ล้านบาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ พร้อมเจลแอลกอฮอล์ 5 พันขวดให้ 5 โรงพยาบาล และมอบอาหารแช่แข็ง 3 หมื่นกิโลกรัม ให้ 22 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ขณะที่ตระกูลจันศิริ โดย  ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป   มอบผลิตภัณฑ์อาหาร 80,000 กระป๋อง มูลค่ารวม 1 ล้านบาท ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 20,000 ครัวเรือนในกรุงเทพฯ และมอบผลิตภัณฑ์แบรนด์ซีเล็คและฟิชโช่ มูลค่า 1 ล้านบาท ไปให้บุคลากรทางการแพทย์ฯ

    นี่คือส่วนหนึ่งของการให้และการบริจาค และน่าจับตาว่าหลังจากจดหมายเทียบเชิญจากนายกรัฐมนตรีไปถึงในสัปดาห์หน้า ความเคลื่อนไหวการช่วยเหลือในภาวะวิกฤตของมหาเศรษฐีไทยและตระกูลดังจะเป็นอย่างไร