ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > “ใช้เงินเยอะแต่สะเปะสะปะและขาดพลัง” สำรวจ 1 เดือนหลังนายกฯ ส่งจดหมายถึงมหาเศรษฐีช่วยโควิด-19

“ใช้เงินเยอะแต่สะเปะสะปะและขาดพลัง” สำรวจ 1 เดือนหลังนายกฯ ส่งจดหมายถึงมหาเศรษฐีช่วยโควิด-19

22 พฤษภาคม 2020


ครบ 1 เดือนเต็มที่นายกรัฐมนตรีของไทย “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีไทย ใจความสำคัญพูดถึงการขอแรงให้บรรดาเศรษฐีแถวหน้าในฐานะผู้อาวุโสของสังคม ได้ช่วยกันคิดและลงมือทำโครงการช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มทุกภาคส่วน ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ไม่ว่าจะด้านใดด้านหนึ่ง หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่ง โดยภาครัฐยินดีเปิดไฟเขียวอำนวยความสะดวก

มีมหาเศรษฐีหลายคนทยอยตอบรับคำเชิญอย่างเป็นทางการ พร้อมร่างเมกะโปรเจกต์ระดับร้อยล้านพันล้าน แปะมือกับนายกรัฐมนตรี กับอีกบางส่วนยินดีและเต็มใจเข้าร่วม แต่ขอเวลาไปคิดแผนงานที่ชัดเจนก่อน เฉพาะตัวเลขการประกาศเจตนารมณ์ของมหาเศรษฐี  เท่าที่มีการเปิดเผยจดหมายตอบกลับนายกรัฐมนตรีในนามบุคคลและในนามตระกูล ในสาธารณะ รวมมูลค่าการช่วยเหลือที่ผ่านมาและสัญญาว่าจะช่วยกว่า 5,000 ล้านบาท โดยตระกูลที่ประกาศตัวเลขโครงการช่วยเหลือสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล ตระกูลจิราธิวัฒน์ 2,200 ล้านบาท กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ 1,400 ล้านบาทและกลุ่มซีพี 700 ล้านบาท

อ่านจดหมายมหาเศรษฐีตอบนายกฯ

เนื้อหาส่วนใหญ่ของจดหมายมหาเศรษฐีถึงนายกรัฐมนตรี ระบุการดำเนินการช่วยเหลือสังคมและการบริจาคที่ผ่านมา มากที่สุดจะเป็นการบริจาคเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์และงานด้านสาธารณสุข ตั้งแต่ หน้ากากอนามัยไปจนถึงเครื่องช่วยหายใจ  การให้การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน แจกถุงยังชีพ ข้าวกล่องสำหรับผู้เดือดร้อน ฯลฯ

ขณะที่แผนการให้การช่วยเหลือสังคมในอนาคต มหาเศรษฐีส่วนใหญ่ระบุแนวทางการช่วยเหลือในการสร้างอาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เช่น โครงการ “พึ่งตน พึ่งชาติ” ของตระกูลอยู่วิทยา ที่จะใช้เงินถึง 300 ล้านบาทในการปลูกฝังการหาเลี้ยงชีพแบบพึ่งพาตนเอง  โครงการ “พลิกวิกฤติ สร้างโอกาส สร้างอาชีพกับ TOA” จัดอบรมหลักสูตรวิชาชีพช่างทาสีเพื่อสร้างอาชีพใหม่โดย TOA ของ ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ  ฯลฯ

ประเด็นงานพัฒนาที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับแผนงานในอนาคตที่มหาเศรษฐีจะช่วยเหลือคือ ประเด็นเรื่องน้ำ ได้แก่ โครงการปลูกน้ำของกลุ่มซีพี ในการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานแก้มลิง 4.0 หรือการประกาศเจตนารมณ์ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่จะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ฯลฯ

กระนั้น ในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี การดำเนินการภายในกระบวนการธุรกิจและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งที่เคยดำเนินการอยู่แล้วและความริเริ่มใหม่ อย่างการอนุมัติเงิน 1,500 ล้านบาทเพื่อซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรของกลุ่มเซ็นทรัล   โครงการเพื่อการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ของกลุ่มคิงเพาเวอร์ บนหน้าอกชุดแข่งของทีมเลสเตอร์ซิตี้ ในฤดูกาล 2020-2021 และป้ายดิจิทัลในสนามคิงเพาเวอร์ มูลค่า 622 ล้านบาท ฯลฯ

“ไทยพับลิก้า” ชวนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะนี่เป็นครั้งแรกของการบริหารจัดการภาครัฐ ที่ผู้นำสูงสุดดึงเอาภาคเอกชนมาร่วมทำงานเรียงตัวเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ในนามองค์กร

นับวันเส้นแบ่งระหว่างภาครัฐกับเอกชนจะจางลง ธรรมาภิบาลเริ่มไม่อยู่ในความสนใจของผู้คน และจดหมายเปิดผนึกของนายกฯ ฉบับนี้คือการเปิดประตูไปสู่ข้อครหาที่ยากจะหลีกพ้น

เส้นแบ่งระหว่างรัฐกับธุรกิจ

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงินและธุรกิจที่ยั่งยืน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด มองว่าทุกวันนี้เราคิดถึงเรื่องธรรมาภิบาลกันน้อยลง และไม่ค่อยคิดเรื่องเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับเอกชนกันแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับหลายประเทศ เวลารัฐประกาศว่าจะทำอะไรกับธุรกิจจะโดนตั้งคำถามทันทีว่า รัฐกำลังเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจใดอย่างเฉพาะเจาะจงไหม เพราะฉะนั้นรัฐกับเอกชนก็จะระวังมาก โดยเฉพาะรัฐเองจะระวังไม่ทำอะไรที่เป็นการเปิดประตูไปสู่ข้อครหา ตั้งแต่เรื่องเอื้อประโยชน์ ไปจนถึงผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่ภาคเอกชนเองก็จะระมัดระวัง ไม่สร้างการมีส่วนร่วมในนามองค์กรธุรกิจ แต่จะเกาะกลุ่มในนามสมาคมหรือตัวแทนอุตสาหกรรม

“เอกชนบ้านเราระวังตัวเองอยู่แล้วในระดับหนึ่ง อย่างช่วงโควิดนี้ก็จะนำเสนอข้อคิดเห็นในนามสมาคมนักธุรกิจหรือหอการค้า เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าปกติเราระวังกันเรื่องพวกนี้ แต่การที่นายกรัฐมนตรีส่งจดหมายเปิดผนึกในนามของตัวเอง ไม่ใช่ในนาม ครม. มองว่าเป็นการส่งจดหมายแบบส่วนตัวถึงส่วนตัว เพราะระบุชื่อเศรษฐีเป็นรายบุคคล ไม่ได้ส่งถึงบริษัทใหญ่ในเครือ การส่งถึงเจ้าตัวแบบนี้ มันไม่เหมาะสมอยู่แล้ว”

คำถามชวนคิดต่อก็คือว่า ทำไมนายกฯ ถึงเลือกทำแบบนี้ ถ้าตอบแบบโลกสวยก็คือ นายกฯ คงไม่ได้คิดอะไรมาก ซึ่งความที่คิดน้อยนี่เองจะสะท้อนไปถึงประเด็นธรรมาภิบาล และพอประเมินได้ว่า อย่างน้อยรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ค่อยสนใจเส้นแบ่งที่เหมาะสมระหว่างรัฐกับเอกชนอีกต่อไปแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงินและธุรกิจที่ยั่งยืน ภาพ:https://www.facebook.com/SarineeA

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับเอกชน 2 เหตุผลง่ายๆ เพราะ 1. รัฐไม่ใช่เอกชน และ 2. มันต้องมีเรื่องความเท่าเทียม อันนี้เป็นประเด็นใหญ่

“เราแทบไม่ต้องไปหาคำตอบว่า ข้อกล่าวหาเรื่องคำครหา เรื่องต่างตอบแทน ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น ไม่ต้องบอกว่าจริงหรือไม่จริง เพราะในสังคมสมัยใหม่แค่มีคนตั้งข้อสงสัยก็ไม่ดีแล้วถูกไหม มันเป็นความเข้าใจของคนว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แล้วอาจนำไปสู่สถานการณ์แบบนี้ มันก็ไม่ได้แล้ว ถึงต้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดตั้งแต่ต้น แล้วทำไมต้อง 20 มหาเศรษฐีกลุ่มนี้ ความเป็นจริงก็ไม่ใช่เป็น 20 คนที่รวยที่สุดหรอก เอาจริงๆ นะ บางคนรวยสุดคุณก็ไม่ส่งไปหาเขา มันจึงนำไปสู่ข้อครหาในตัวมันเองอยู่แล้วว่า มันมีอะไรลับลมคมในหรือเปล่า คุณปฏิเสธไม่ได้ ว่ามันมีหรือไม่มี เศรษฐีหลายคนที่อยู่ในลิสต์เชื่อว่าก็คงไม่ได้อยากมาเอาประโยชน์อะไรตรงนี้หรอก ก็เชื่อว่าเขามีเจตนาที่ดี เขามีโครงการ CSR อยู่แล้ว แต่พอส่งจดหมายไป มันก็หนีไม่พ้นคำครหาอยู่ดี”

แทนที่จะประกาศนโยบายความช่วยเหลือที่ไม่เฉพาะเจาะจง มีกลไกที่ชัดเจนว่า นักธุรกิจจะรวยมากรวยน้อย เขาสามารถเข้ามาสร้างความร่วมมือกับรัฐได้ รัฐยินดีเปิดพื้นที่ให้กับทุกคน และอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสมกับโครงการที่เอกชนทำ แต่อยู่ภายใต้กติกาของรัฐ เป็นการขยายผลจาก CSR ที่เอกชนทำอยู่เดิม เน้นความโปร่งใส เปิดกว้าง และไม่เลือกปฏิบัติแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคล

ธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องตั้งคำถาม

สฤณีวิเคราะห์ว่า ในช่วง 5-6 ปีมานี้ เรามีนายกฯ ที่แทบจะไม่ได้คิดอะไรกับเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับเอกชนเลย ออกจะภูมิใจด้วยซ้ำที่ทำแบบนี้ สังเกตได้จากโครงการประชารัฐที่กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เวลารัฐคิดจะทำอะไร ก็เชิญภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม แถมไม่ได้เชิญแบบเปิดกว้าง มีการกำหนดกติกาอย่างทางการ แต่เลือกที่จะส่งเทียบเชิญบรรดาเจ้าสัวมาเลย “มันกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แย่แล้วนะ”

“ถ้าเราเลือกมองว่าการส่งจดหมายของนายกฯ ถึงผู้มีอันจะกินเป็นการสร้างภาพ เป็นการตั้งประเด็นขึ้นมา ให้คนเห็นว่ารัฐบาลพยายามคิดทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด ถ้าคิดแค่นี้ มันก็ยังไม่อันตราย เท่ากับประเด็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จากการเอื้อประโยชน์ต่างตอบแทนในอนาคต เพราะฉะนั้นจดหมายเปิดผนึกของผู้นำประเทศมันจึงดูประหลาด ไม่เหมาะสมมากๆ อย่างรุนแรง

เราต้องตั้งคำถามว่า ระหว่างส่งจดหมายกับไม่ส่งแล้วผลลัพธ์จะเป็นยังไง นี่คือคำถามที่ทุกคนมีสิทธิ์ตั้ง ว่าจะมีเหตุการณ์เชื่อมโยงอะไรตามมาอีก อย่างเช่น พอส่งจดหมายไปไม่กี่วัน ห้างสรรพสินค้าก็เตรียมเปิดให้บริการตามปกติ เราไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร แต่เรามีสิทธิ์ตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกตว่าแล้วมันเชื่อมโยงไหม หรือก่อนคุณส่ง คุณคุยกับเขามาแล้วก่อนหน้านั้นใช่ไหม อันนี้คิดแบบกังวลเยอะๆ หรือการตั้งคำถามแบบว่า จริงๆ แล้วจดหมายทำทีหลังหรือเปล่า เอาเข้าจริงคุณคุยอะไรกันมาก่อนหน้าใช่ไหม แล้วเราไม่รู้ คือทุกอย่างมันมีโอกาสเป็นไปได้หมด”

เธอชี้ว่ามันไม่เหมาะสมในหลายระดับ ที่ผู้นำสูงสุดของประเทศคิดอ่านทำอะไรแบบปัจเจกบุคคลกับปัจเจกบุคคลของภาคเอกชน และเรื่องน่าตกใจคือ บางข้อความในออนไลน์ระบุว่า นายกฯ ยอมเสียสละตัวเองมาขอความช่วยเหลือนักธุรกิจใหญ่เพื่อช่วยประชาชนให้ก้าวผ่านความทุกข์ยาก ซึ่งมันเป็นประเด็นของความพยายามที่จะเชื่อมโยงเรื่องของบุญคุณ การกุศล และระบบอุปถัมภ์ เข้ากับการใช้ตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งแปลว่า รัฐบาลอาจไม่มีสติปัญญา ไม่มีกำลัง และไม่มีอำนาจไปกำกับควบคุมธุรกิจ

บทบาทของรัฐคืออะไร คือการกำกับธุรกิจให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปเชียร์แขก ช่วงวิกฤติโควิด มีหลายเรื่องที่รัฐออกหน้ากำกับดูแลได้ ในต่างประเทศก็มีให้เห็นตัวอย่าง เช่น ไม่ให้ธุรกิจเลิกจ้างคน รัฐเข้ามาช่วยเหลือ ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้เอกชนเอาไปจ่ายเงินเดือน หรือบางประเทศบอกเลยว่า ถ้าไม่เลิกจ้าง รัฐจะออกเงินส่วนหนึ่งสมทบกับเงินเดือนลูกน้อง สิ่งเหล่านี้คือประเด็นของรัฐที่สามารถใช้อำนาจกำกับ

5 ความเสี่ยง 3 ข้อเสนอแนะ

สฤณีสรุปประเด็นสำคัญที่ถือเป็นความเสี่ยงจากการออกจดหมายเปิดผนึกของนายกฯ ว่า

  1. ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ อนาคตต่างตอบแทนหนีไม่พ้น อาจนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
  2. โครงการ CSR ของภาคเอกชนที่เข้าร่วม อาจเข้าข่าย “หวังดีแต่ประสงค์ร้าย” เพราะสิ่งที่เอกชนตั้งใจทำ อาจสุ่มเสี่ยงไม่ดี เหมือนการสร้างฝาย ไม่ใช่ทุกบริษัททำแล้วจะเวิร์ก บางพื้นที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลดี
  3. ความคลุมเครือของนโยบายสาธารณะบางโครงการ เช่น โครงการประชารัฐบางโครงการ ที่เอางบของรัฐไปช่วยเหลือเอกชนทำการตลาด แล้วขึ้นป้ายว่าเป็น CSR ถือเป็นความเสี่ยงที่อันตราย ที่เอกชนทำ CSR แล้วเอาเงินรัฐไปสนับสนุน
  4. การทำ CSR ของภาคเอกชน ต้องระวังการล้ำแดนนโยบายสาธารณะ เพราะอาจเข้าข่ายเป็น political CSR ไม่มีกลไกรับผิดจากการกินพรมแดนเข้ามาในหน้าที่ของรัฐ และรัฐอาจไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง เพราะถูก CSR เอกชนแย่งงาน กลายเป็นปัญหาทางการเมืองไปเลย จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง
  5. ตัวเลขที่สวนทางกันระหว่างความร่ำรวยของบรรดามหาเศรษฐีที่ฟอร์บสจัดอันดับ ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นทุกปี แต่รอบ 5 ปีมานี้ ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยกลับถ่างกว้าง สภาพเศรษฐกิจโดยรวมแย่ลง คนมีรายได้ลดลง

“ประเด็นนี้เห็นชัดเลย ภาพความเหลื่อมล้ำมันแย่กว่าเดิมเรื่อยๆ รัฐที่สนใจความเหลื่อมล้ำยิ่งต้องระวังตัวว่าจะไปวางนโยบายอะไร จะออกมาตรการอะไรต้องระวัง ไม่นำไปสู่การให้ผู้มีอิทธิพลมากำหนดนโยบายมากขึ้น แต่ถามว่าจดหมายนายกฯ จะไม่มีผลต่อการกำหนดนโยบายเลยเหรอ มันก็พูดยาก ที่แน่ๆ คือการทำ CSR เดี่ยวๆ ที่ไม่ได้เชื้อเชิญไปจากภาครัฐ มันจะดีกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องของสมัครใจ ไม่มีภาระความรับผิด”

ถ้าย้อนไปดูกลไกการทำงานของรัฐในหลายปีที่ผ่านมา พูดไม่ได้ว่าโปร่งใสมากขึ้น เพราะเราแทบไม่รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังของแต่ละนโยบายที่ออกมา อย่างเช่น บางคนตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปเป็นการปลูกข้าวโพดหรืออ้อยแทน โดยออกมาเป็นมติ ครม. มันอาจเป็นแนวคิดที่ดี ผ่านการคิดอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าข้าวโพดและอ้อยเป็นพืชที่ดีที่สุด มันมีเหตุผลที่มาที่ไป แต่เราไม่เห็นที่มาของการกำหนดนโยบาย

“เราไม่ควรจำยอมให้อยู่ในสภาวะคลุมเครือแบบนี้ สุดท้ายการดำเนินนโยบายสาธารณะ ควรจะโปร่งใสมากขึ้น สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมากขึ้น และคาดหวังให้ CSR ภาคเอกชนทำแบบมองการณ์ไกลมากขึ้น ทำแบบเคารพบทบาทหน้าที่ ไม่ไปก้าวก่ายความรับผิดชอบของภาครัฐ พูดง่ายๆ คุณทำให้ชุมชนเข้มแข็ง แต่รัฐอ่อนแอ มันก็ไม่ใช่ ไม่มีประโยชน์ ธุรกิจฉลาดก็ต้องคิดโครงการทำยังไงให้ชุมชนก็เข้มแข็ง รัฐก็เข้มแข็งไปด้วย ทำได้ไหมแบบนี้ ทุกวันนี้เราหาเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับเอกชนแทบไม่เจอ ไม่รู้มันอยู่ตรงไหน หลายคนเริ่มเกิดคำถามว่าทำไมมันหายไป พอหลายคนเริ่มเอ๊ะ… มากเข้า ก็แปลว่าธรรมาภิบาลมันเริ่มไม่อยู่ในความสนใจของคนแล้ว เราเริ่มเคยชินกับการที่ให้ธุรกิจมีอิทธิพลกับรัฐ”

ข้อเสนอะแนะของสฤณีสำหรับการทำ CSR ของภาคเอกชนในภาวะไม่ปกติคือ

  1. มองที่ตัวธุรกิจก่อน ดูแลผู้มีส่วนได้เสียภายใน แบ่งเบาภาระเฉพาะหน้าของผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ในธุรกิจ เช่น ให้พนักงานทำงานที่บ้าน โดยจ่ายเงินเดือนเต็มเดือน ไม่ลดคนถ้ามีสายป่านยาวพอ แบ่งเบาภาระค่าเช่าคู่ค้า
  2. มองไกลออกมา ดูแลผู้มีส่วนได้เสียภายนอก เช่น บริจาคเงินช่วยเหลือทางการแพทย์ ให้ความดูแลบุคลากรทางการแพทย์และ อสม. ที่เป็นหน่วยหน้าในสถานการณ์โควิด
  3. มองไกลๆ ออกไป เปลี่ยนกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยง เช่น มองว่าการมีโรคระบาดไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ในงานวิจัยความยั่งยืน ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคระบาดจากสัตว์ป่าสู่คน ไฟป่า รวมถึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โควิดทำให้มองเห็นความเสี่ยงในประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มากขึ้น ทำให้ธุรกิจพยายามโฟกัสที่ประเด็นความยั่งยืน เห็นได้ชัดกว่าเดิม และได้คิดกลยุทธ์อะไรใหม่ๆ ที่จะนำพาโลกและธุรกิจออกจากความไม่ยั่งยืน

โควิด-19 เป็นสถานการณ์ภัยพิบัติ การที่รัฐจะระดมความช่วยเหลือทุกภาคส่วน อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพราะไม่ใช่สถานการณ์ปกติ และไม่กระทบกับโครงสร้างหลักในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าความช่วยเหลือจาก 20 มหาเศรษฐีจะสะเปะสะปะ ขาดพลัง แม้ใช้งบประมาณสูงก็ตาม

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

ช่วงวิกฤติการระดมพลอยู่ในวิสัยที่ทำได้

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ที่ปรึกษาทางด้านธรรมาภิบาลและความยั่งยืน มองว่า สถานการณ์โควิดเป็นเหตุการณ์ที่จัดเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่งทางด้านสุขภาพของผู้คน ที่มีผลกระทบไปทั้งโลก การที่รัฐบาลในประเทศหนึ่งๆ จะระดมความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน จึงอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพื่อมาร่วมกันรับมือกับการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่ปกติ มิได้เกี่ยวโยงกับการพัฒนาระยะยาว ที่เป็นเรื่องของโครงสร้างการพัฒนาประเทศ

ส่วนการจะระบุกลุ่มเป้าหมายในการขอความช่วยเหลือว่าจะเป็นกลุ่มใดนั้น ขึ้นอยู่กับทีมงานของรัฐบาลในการมองประเด็นที่ต้องการดำเนินการ แต่โดยหลักทั่วไปมีเกณฑ์ที่พิจารณาคือ ความพร้อมด้านทรัพยากรของผู้ให้ความช่วยเหลือ ความครอบคลุมต่อประเด็นปัญหาที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล

โดยทั่วไปบทบาทของ CSR ในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด ถือเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ ที่จัดเป็นภัยพิบัติ ทำให้ CSR ที่กิจการดำเนินอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์นี้ได้ การออกแบบ CSR สำหรับสถานการณ์โควิดจึงมีความจำเป็น เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการและการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

“ในสถานการณ์โควิด รูปแบบ CSR จะต้องตอบโจทย์พัฒนาการของสถานการณ์ในแต่ละช่วง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก ได้แก่ ช่วงรับมือ (response) ช่วงฟื้นฟู (recovery) และช่วงปรับตัวสู่ภาวะปกติ (resilience)”

เขาอธิบายว่า ความช่วยเหลือของภาคธุรกิจในช่วงรับมือ มักอยู่ในรูปของการบริจาคเงิน สิ่งของเครื่องใช้ โดยเฉพาะเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ ทั้งนี้ บทบาทของภาคธุรกิจจะทวีความสำคัญมากขึ้นในช่วงฟื้นฟู ที่ความช่วยเหลือจะแปรสภาพจากการบริจาคไปเป็นความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น และเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นในช่วงปรับตัว และจะดำเนินไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ

ที่มา: สถาบันไทยพัฒน์

ดร.พิพัฒน์อธิบายถึงแนวคิดของ CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร), SD (การพัฒนาอย่างยั่งยืน) และการรับมือกับประเด็นความเสี่ยงผ่าน ESG (สิ่งแวดล้อม, สังคม, ธรรมาภิบาล) ว่า องค์กรธุรกิจแต่ละแห่งจะมีระดับความเข้มข้นของการดำเนินงานที่แตกต่างกันไป

บางแห่งให้ความสำคัญต่ำ ก็ดำเนินการเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อผู้มีส่วนได้เสีย เช่น การลดคาร์บอนฟุตพรินต์ การจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เป็นองค์กรที่ได้ชื่อว่า “มีความรับผิดชอบ” เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน หรือที่จะกระทบต่อชื่อเสียงองค์กร

บางแห่งให้ความสำคัญมากขึ้น ก็ดำเนินการโดยการส่งมอบประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น การพัฒนาทักษะให้แก่พนักงานในเชิงรุก การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สร้างเสริมสุขภาวะ หรือเพิ่มวุฒิภาวะให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เป็นองค์กรที่ได้ชื่อว่า “มีความยั่งยืน” และมุ่งหวังให้มีผลประกอบการที่โดดเด่นในระยะยาว

ขณะที่บางแห่งให้ความสำคัญสูง ก็ดำเนินการในลักษณะที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยใช้สมรรถภาพขององค์กร ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม มิใช่เพียงแค่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ เช่น การให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในการยกระดับสุขภาวะ การได้รับการศึกษา การเข้าถึงแหล่งทุนอย่างทั่วถึง การจ้างงานและการพัฒนาทักษะผู้ว่างงานหรือตกงาน เป็นองค์กรที่ได้ชื่อว่า “มีจิตสาธารณะ” และช่วยเสริมสร้างความเป็นปกติสุขของสังคมส่วนรวม

“ซึ่งการดำเนินการของธุรกิจทั้ง 3 ระดับ มิได้เกี่ยวข้องกับสมรรถนะของรัฐบาล หรือการกะเกณฑ์ของรัฐที่กำหนดให้ภาคเอกชนต้องทำ เพราะถึงไม่มีรัฐบาล เอกชนก็ยังคงดำเนินบทบาทในลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว”

เนื่องจากรัฐบาลออกเป็นจดหมายเปิดผนึก ขอรับความช่วยเหลือ โดยมิได้ระบุความต้องการเป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องปกติที่การเสนอให้ความช่วยเหลือจะมาในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่การบริจาค การนำโครงการที่บริษัทดำเนินอยู่แล้วมานำเสนอ (ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่เหมาะกับสถานการณ์) การใช้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจมาเป็นทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือ ฯลฯ ซึ่งเป็นได้สูงที่จะมีความซ้ำซ้อน สะเปะสะปะ และขาดพลัง แม้จะดูมีตัวเลขงบประมาณช่วยเหลือที่สูงก็ตาม

“ผมคิดว่ารัฐบาลสามารถทำได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยการวางแนวให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการทำงานในแบบกลุ่มความร่วมมือ ในลักษณะของการทำงานวิถีกลุ่ม (collective action) เพื่อเสริมพลังของการช่วยเหลือ การบรรเทาความเดือดร้อน การฟื้นฟูหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ที่ซึ่งทรัพยากรขององค์กรใดองค์กรเดียวไม่สามารถใช้ให้เกิดผลได้เพียงลำพัง อย่างไรก็ดี แม้รัฐไม่ออกมาขอความช่วยเหลือเอกชนในลักษณะจดหมายเปิดผนึก ธุรกิจก็มีบทบาทที่ต้องดำเนินการตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าวอยู่แล้ว”

เขาย้ำว่า สำหรับบรรดาธุรกิจที่เข้ามาช่วยเหลือ จะมีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น หากรัฐมีจุดยืนที่แน่ชัดว่าต้องการทำเพื่อส่วนรวม และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ตลอดทั้งกระบวนการดำเนินงาน ก็จะสะท้อนได้ว่ามีความสามารถในการกำกับนโยบายภาครัฐ และมีประสิทธิภาพในการดูแลช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุดในสถานการณ์โรคระบาด

ใน 2 มุมมองของ 2 ผู้เชี่ยวชาญ คนหนึ่งมองว่า ระยะห่างทางสังคม (social distancing) ระหว่างรัฐและเอกชน เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพื่อป้องปรามข้อครหาและการเอื้อประโยชน์ระยะยาว

ขณะที่อีกคนหนึ่งมองว่า ระยะร่นทางสังคม (social shorten distancing) ระหว่างรัฐและเอกชน ก็เป็นเรื่องจำเป็นในภาวะคับขัน ตราบเท่าที่รัฐยังไม่สูญเสียตัวตน และหมั่นทำตัวเองให้โปร่งใสมากพอ

การรักษาระยะที่พอเหมาะจึงอาจเป็นคำตอบของการยืนระยะในการแสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจท่ามกลางการรับมือกับวิกฤติที่ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการพลิกฟื้น